ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา
ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา เป็นฐานข้อมูลที่สืบเนื่องมาจากโครงการฐานข้อมูลงานวิจัยภาคสนามของ ศ.ดร.ไมเคิล มอร์แมน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ด้วยตระหนักว่าการเก็บข้อมูลวิจัยภาคสนามเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของงานมานุษยวิทยา ข้อมูลที่นักมานุษยวิทยาได้จดบันทึกในระหว่างการทำงานภาคสนามจึงถือเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า ในด้านที่เป็นคลังความรู้ทางด้านมานุษยวิทยา รวมทั้งเป็นการบันทึกความทรงจำของสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หากมีการฟื้นคืนชีวิตให้บันทึกเหล่านี้ และเปิดให้สาธารณะได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาค้นคว้าข้อมูลผ่านฐานข้อมูลดิจิทัล ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์
ปี พ.ศ. 2550 ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อจัดหาและรวมรวมบันทึกภาคสนามของนักวิจัยและนักวิชาการที่ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โครงการวิจัยทางวัฒนธรรมจำนวนมากได้ดำเนินการโดยนักวิชาการจากแขนงอื่นๆ นักวิชาการอิสระ นักการศึกษา เจ้าของวัฒนธรรม และปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งได้บันทึกสื่อหลากหลายแบบเพื่อสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ฯ จึงได้แสวงหาวิธีการเพื่ออนุรักษ์บันทึกเหล่านี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาด้านสังคมศาสตร์ รวมไปถึงผู้ที่สนใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคม
บันทึกภาคสนามที่ได้รับการรวบรวมและจัดเก็บในคลังข้อมูลจดหมายเหตุฯ ได้แก่ บัตรบันทึก สมุดบันทึก ภาพถ่าย แผนที่ สไลด์ แถบบันทึกภาพ แถบบันทึกเสียง
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) จัดเก็บ จัดระบบ และสร้างชุดคำอธิบายจดหมายเหตุ
2) อนุรักษ์และสงวนรักษาเอกสารบันทึกภาคสนาม ทั้งในเชิงกายภาพและเนื้อหาด้วยกระบวนการดิจิทัล
3) ให้บริการข้อมูลผ่านฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และอื่นๆ สำหรับนักวิชาการของศูนย์มานุษยวิทยาฯ นักวิจัยจากหน่วยงานภายนอก และผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเอกสารในคลังจดหมายเหตุฯ
4) ให้บริการความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการจดหมายเหตุ แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ และองค์กรทางวัฒนธรรม
5) สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานจดหมายเหตุทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จดหมายเหตุมานุษยวิทยา
การจัดระบบและการให้คำอธิบายเอกสารจดหมายเหตุ
การจัดระบบเอกสารและการให้คำอธิบาย เพื่อการจัดเก็บและการค้นคืนข้อมูล จะให้คำอธิบายเอกสารตามมาตรฐานของ General International Standard Archival Description หรือ ISAD (G) ของสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ
งานวิจัยและพัฒนาคลังข้อมูล
เมื่อ พ.ศ. 2552 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างคลังจดหมายเหตุดิจิทัลงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทย หรือ Digital Archive of Research on Thailand (DART) คลังจดหมายเหตุดิจิทัลดังกล่าว ประกอบด้วยเอกสารและภาพบันทึกข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนาและเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งแผนที่และภาพแสดงพิกัดภูมิศาสตร์ แหล่งข้อมูลดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสามารถเข้าถึงเอกสารต้นฉบับ และเชื่อมโยงกับพิกัดภูมิศาสตร์ ภาพ และข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ สืบค้นเอกสารในโครงการ DART
นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ศูนย์ฯ ได้จัดงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับจดหมายเหตุมานุษยวิทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาและคุณค่าของจดหมายเหตุมานุษยวิทยา รวมถึงวิธีจัดการเกี่ยวกับสิทธิ์ต่างๆ เช่น ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ และสิทธิชุมชน การประชุมดังกล่าวสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานในการพัฒนานโยบายเนื้อหาดิจิทัล (digital content policy) และระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม (cultural protocols) ในการจัดการเอกสารที่เหมาะสมและการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ส่งผลกระทบกับเจ้าของวัฒนธรรม
ด้วยตระหนักในประเด็นเรื่อง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ของชุมชนอันเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลในเอกสารงานวิจัยภาคสนามเหล่านี้ ปี พ.ศ. 2554 โครงกาารฯ จึงได้ริเริ่มศึกษาและทำงานร่วมกับชุมชนอันเป็นแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อการเผยแพร่ข้อมูลของชุมชน โดยได้เริ่มต้นกับชุมชนไทลื้อที่บ้านแพด อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นชุมชนที่ศาสตรจารย์ไมเคิล มอร์แมน ได้เข้าไปทำงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2501-2532 และได้มอบวัสดุบันทึกภาคสนามจากการทำวิจัยในครั้งนั้นให้โครงการฯ การศึกษาชิ้นนี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทความทางวิชาการ เรื่อง 'Ethics, Access, and Rights in Anthropological Archive Management: A Case Study from Thailand' สืบค้นฐานข้อมูลโครงการวัฒนธรรมและสิทธิ
ติดต่อเรา
วิภาวดี โก๊ะเค้า
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20
ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
โทร +66 2 8809429 ต่อ 3822 แฟกซ์ +66 2 8809332
อีเมล์ wiphavadee.k@sac.or.th