ศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน เป็นนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับชาวไทลื้อในประเทศไทยเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958-1989 ศ.มอร์แมนสำเร็จการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาในระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยโคลัมเบีย และระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยเยล ศ.มอร์แมนเริ่มต้นการทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตัน ดีซี ในปี ค.ศ. 1962 จากนั้นจึงย้ายมาประจำที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ในปี ค.ศ. 1968 จนเกษียณอายุการทำงาน ปี ค.ศ. 1993 ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศ.มอร์แมนได้ออกสำรวจภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และยังเป็นที่ปรึกษานักวิจัยและวิทยากรรับเชิญของมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ที่ปรึกษาบรรณาธิการวารสารเอเชียศึกษา (1965-1967) นักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (1981-1983) นักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัยเกียวโต (1992-1993 ) วิทยากรรับเชิญศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (2005) ฯลฯ หลังยุติบทบาทของการเป็นนักมานุษยวิทยาแล้ว ปัจจุบัน ศ.มอร์แมนประกอบอาชีพเป็นนักแสดงอิสระ และนักเขียนบทละคร
เอกสารบันทึกภาคสนามของ ศ.ไมเคิล มอร์แมน บันทึกในระหว่างการเข้ามาทำงานภาคสนามในประเทศไทย ในสองประเด็น ได้แก่ การศึกษาชุมชนไทลื้อที่บ้านแพด อ.เชียงคำ จ.พะเยา และการศึกษากระบวนการยุติธรรมและศาลในเขตจังหวัดภาคเหนือ เอกสารจำนวน 5655 ระเบียน ประกอบไปด้วยสไลด์ ภาพถ่าย บัตรบันทึก จดหมาย สมุดบันทึก เอกสารพิมพ์ แผนที โปสการ์ด และแถบบันทึกภาพ โดยจำแนกตามปีที่ ศ.มอร์แมนได้เข้ามาทำงานภาคสนามในประเทศไทย ได้แก่ ปี พ.ศ. 2501-2532