“บันทึกภาคสนาม” ของนักมานุษยวิทยาเปรียบเสมือนกล่องสมบัติที่เต็มไปด้วยข้อมูลระหว่างการทำงานภาคสนาม ข้อมูลถูกบันทึกไว้ในสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น บันทึกประจำวัน ต้นฉบับลายมือที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ รายงาน ภาพถ่าย ภาพร่าง แถบบันทึกภาพและเสียง เป็นต้น
บันทึกภาคสนามไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นคลังความรู้ที่สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของงานวิจัยมานุษยวิทยา กระบวนการทำงานภาคสนาม อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ รวมถึงการเป็นแหล่งข้อมูลในการค้นคว้าสำหรับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม
ในขณะเดียวกัน บันทึกภาคสนามก็เต็มไปด้วย ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจระหว่างทำงานภาคสนาม ทั้งภาวะความกดดันขณะทำงานและการต้องเผชิญความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องราวส่วนตัว ทั้งที่เปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้ของบุคคลหรือชุมชน นักวิจัยอาจได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์พิธีกรรมบางอย่างที่สงวนเฉพาะคนในวัฒนธรรมหรือคนในครอบครัวเท่านั้น และบางครั้งต้องบันทึกเรื่องราวซุบซิบนินทาในหมู่บ้าน เรื่องชู้สาว คดีความ เพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจเป็นข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวพันกับประเด็นวิจัยอย่างคาดไม่ถึง
ยิ่งไปกว่านั้น บันทึกภาคสนามยังเป็นความทรงจำร่วม ระหว่างนักมานุษยวิทยาและคนในชุมชน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป บันทึกภาคสนามดังกล่าว กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต
ปี พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กลับไปที่บ้านแพด อ.เชียงคำ จ.พะเยา พื้นที่ทำงานภาคสนามของมอร์แมน การไปครั้งนั้นได้นำสำเนาภาพถ่ายและบันทึกจำนวนหนึ่งกลับไปที่พื้นที่ด้วย ประการแรก เพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเองว่าบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของของมอร์แมนนั้นมีชีวิตอย่างไรในปัจจุบัน ประการที่สอง เพื่อแจ้งให้ชุมชนทราบว่าศูนย์ฯ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนบ้านแพดไว้จำนวนหนึ่ง และปรารถนาจะให้ชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว
การได้พูดคุยกับชาวบ้านแพดในวันนั้นทำให้ผู้เขียนพบว่า มอร์แมนในความทรงจำของชาวบ้านนั้นไม่ใช่เพียงแค่ฝรั่งต่างชาติ แต่เปรียบเสมือนญาติพี่น้องคนหนึ่ง คำบอกเล่า ภาพถ่าย และจดหมายโต้ตอบ แสดงให้เห็นความทรงจำที่มีร่วมกันระหว่างชาวบ้านและมอร์แมน ภาพถ่ายที่มอร์แมนถ่ายไว้เป็นสิ่งที่เราถูกชาวบ้านร้องขอให้ทำสำเนามากที่สุด เพราะหลายภาพเป็นภาพที่บันทึกความทรงจำของครอบครัวพวกเขาในอดีตซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจไม่น้อย
จากจุดเริ่มต้นของการแสวงหาและรวบรวมบันทึกภาคสนามของนักมานุษยวิทยาเพื่อเป็นคลังข้อมูลทางวิชาการสำหรับต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในเวลาต่อมา เราพบว่าอีกด้านหนึ่งของคลังข้อมูลนี้ ได้เปิดพื้นที่ให้ชุมชนแหล่งที่มาของข้อมูลได้มองย้อนวันวานของตนเองผ่านบันทึกเหล่านี้ และได้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกทางประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ก็ตาม นี่อาจจะเป็นคำตอบว่าทำไมบันทึกภาคสนามของนักมานุษยวิทยาจึงมีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้