ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้พูดถึง “ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม” (Cultural protocol) ซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ควบคุมการใช้ข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่ในวัสดุจดหมายเหตุของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเราพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างเช่น ชาวอะบอริจิน หรือชนพื้นเมืองอินเดียแดงในอเมริกา เป็นกลุ่มที่มีระเบียบปฎิบัติทางวัฒนธรรมของชนเผ่า ระเบียบดังกล่าวอาจจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ อายุ ตระกูล หรือสถานะทางสังคม และระเบียบดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมให้สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่แม้ต่อคนนอกกลุ่มหรือต่างวัฒนธรรมเอง ก็ต้องเรียนรู้ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในการเข้าถึงและใช้วัฒนธรรมระหว่างกัน
สำหรับประเทศไทย บางกลุ่มชาติพันธุ์ในบางชุมชนก็ไม่ได้มีระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน เช่น จากกรณีศึกษาของเอกสารงานวิจัยภาคสนามของ ศ.ไมเคิล มอร์แมน ที่ทีมงานได้ลงไปศึกษาระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุของ ศ.มอร์แมน เราพบว่าชุมชนแห่งนี้ไม่มีระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนนัก ในการควบคุมการใช้ข้อมูลทางวัฒนธรรมของชุมชน เมื่อต้องการนำข้อมูลทางวัฒนธรรมของชุมชนออกเผยแพร่ไปสู่สาธารณะชนในวงกว้างผ่านฐานข้อมูลดิจิทัลแบบออนไลน์ หน้าที่จึงตกอยู่ที่อยู่ดูแลและจัดการเอกสารว่าจะใช้เครื่องมือใดสร้างข้อกำหนดในการเข้าใช้ข้อมูลของชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะข้อมูลทางวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
นับเป็นเรื่องโชคดีที่เมื่อครั้งทำงานวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับเรื่อง “จริยธรรม การใช้ และสิทธิ ในการจัดการเอกสารจดหมายเหตุมานุษยวิทยา: กรณีศึกษาจากประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2553 เราได้พบกับ ดร.คิมเบอรี คริสเต็น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัยของเรา ดร.คริสเต็น เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาวัฒนธรรมวิพากษ์ เพศภาวะ และเชื้อชาติศึกษา (the Department of Critical Culture, Gender and Race Studies) และผู้อำนวยการโครงการดิจิทัลของศูนย์ศึกษาที่ราบสูงสำหรับอเมริกันอินเดียน (Digital Projects at the Plateau Center for American Indian Studies) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท (Washington State University) การทำงานของ ดร.คริสเต็นเน้นการทำงานแบบสหวิทยากร อันได้แก่ มรดกวัฒนธรรม, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ลิขสิทธิ์, จรรยาบรรณในการทำงานเปิดให้สาธารณชนเข้าถึง (ethics of openness) และการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มชนพื้นถิ่นและโดยเจ้าของวัฒนธรรม
ในครั้งนั้น ดร.คริสเต็นได้แนะนำให้เรารู้จักกับ “คลังจดหมายเหตุดิจิทัลเหตุมูกูร์ตู” (Mukurtu archives) ซึ่งเป็นคลังเอกสารจดหมายเหตุของชนพื้นเมืองอะบอริจิน ในออสเตรเลีย ที่พัฒนาและสร้างตามกรอบของระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่กำหนดโดยสมาชิกของกลุ่มชนพื้นเมือง คลังข้อมูลแห่งนี้เปิดพื้นที่ให้ชนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมบริหารจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของพวกเขาผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งถูกออกแบบตามระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ชนเผ่ายึดถืออยู่ เพื่อแก้ปัญหาให้กับสิ่งที่ชุมชนกังวล คือ การนำเข้าข้อมูล การเข้าถึง การใช้ และการผลิตซ้ำทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
ดร.คริสเต็นและทีมโปรแกรมเมอร์ ได้ลงไปทำงานภาคสนามเพื่อสร้างคลังจดหมายเหตุดิจิทัลแห่งนี้ให้กับชนพื้นเมืองอะบอริจิน แต่การจะได้คลังข้อมูลชิ้นนี้มา ต้องผ่านกระบวนการทำงานกับชนพื้นเมืองที่ยาวนาน โดยเฉพาะการศึกษาระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลและโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ป้อนข้อมูล และควบคุมการใช้มรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในคลังแห่งนี้
การออกแบบและสร้างคลังจดหมายเหตุดิจิทัลมูกูร์ตูนี้ ดร.คริสเต็น ได้ออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Traditional Knowledge Licenses and Fair-Used Label (TK) คือ การอนุญาตและข้อกำหนดการใช้ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นเครื่องมือในการควบคุมการเข้าใช้ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนพื้นเมือง เนื่องจากตระหนักว่าชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมมีระเบียบปฏิบัติในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน สัญลักษณ์ที่กำหนดก็เพื่อแสดงให้ผู้ใช้ทราบว่าเอกสารและข้อมูลแต่ละชิ้นมีการใช้ภายใต้ข้อกำหนดใดบ้างของชุมชน โดย ดร.คริสเต็น ได้ทำการศึกษาระเบียบปฏิบัติของชาวอะบอริจิน จากนั้นประมวลระเบียบปฏิบัติของชุมชนออกมาได้ 12 เงื่อนไข โดยแสดงสัญลักษณ์กำกับการใช้ข้อมูล ดังต่อไปนี้
Traditional Knowledge Attribution (TK A) หมายถึง ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ตามความประสงค์ ไม่ว่าเพื่องานศึกษาวิจัยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ และควรอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลนี้ให้ชัดเจนในรูปแบบลายลักษณ์อักษรว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนใด
Traditional Knowledge Attribution Non-Commercial (TK A-NC) หมายถึง ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่องานศึกษาวิจัยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และควรอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลนี้ให้ชัดเจนในรูปแบบลายลักษณ์อักษรว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนใด
Traditional Knowledge Community Owned Education (TK CO-E) หมายถึง ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาเท่านั้น และควรอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลนี้ให้ชัดเจนในรูปแบบลายลักษณ์อักษรว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนใด และหากผู้ใช้ต้องการเผยแพร่ข้อมูลชุดนั้นต่อไปอีกเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา ผู้ใช้จะต้องพูดคุยกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นธรรม รวมถึงเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงผลงานทางการศึกษาที่นำข้อมูลจากชุมชนไปใช้
Traditional Knowledge Community Owned Commercial (TK CO-C) หมายถึง ข้อมูลนี้ได้รับการกำหนดจากชุมชนเจ้าของข้อมูลให้ใช้ในเชิงพานิชย์ได้ โดยผู้ใช้ต้องติดต่อโดยตรงกับชุมชน เพื่อยืนยันว่าการนำไปใช้เพื่อการค้านั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการดูหมิ่นชุมชนเจ้าของข้อมูล ผู้นำข้อมูลไปใช้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขออนุญาตใช้ข้อมูลแบบครั้งเดียว นอกจากนี้ผู้ใช้ต้องอ้างแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน
Traditional Knowledge Public Domain Commercial (TK PD-C) หมายถึง ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติ แม้ชุมชนเจ้าของข้อมูลจะไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองตามกฎหมาย แต่ผู้ใช้ควรเคารพระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ควรนำไปใช้ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคาม หรือนำความเสื่อมเสียสู่ชุมชนได้ นอกจากนี้ต้องอ้างที่มาของข้อมูลให้ชัดเจนว่าชุมชนใดเป็นเจ้าของข้อมูลทางวัฒนธรรม
Traditional Knowledge Externally Owned Commercial (TK XO-C) หมายถึง ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แม้ชุมชนเจ้าของข้อมูลจะไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองตามกฎหมาย แต่ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้เก็บรักษาข้อมูล อันได้แก่ นักวิจัยหรือสถาบัน ผู้ใช้ต้องติดต่อกับนักวิจัยหรือสถาบันที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงเพื่อขอใช้ข้อมูล อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานควรใช้ด้วยความเคารพในระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชนด้วย และควรแจ้งให้สาธารณชนทั่วไปทราบว่าชุมชนใดเป็นแหล่งข้อมูลนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการนำวัตถุไปใช้ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคาม หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ชุมชนได้
Traditional Knowledge Community Use Only (TK CU) หมายถึง ข้อมูลนี้สงวนให้เฉพาะสมาชิกชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมใช้เท่านั้น และต้องใช้ภายใต้ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชน หากผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วยความบังเอิญ ชุมชนร้องขอมิให้ทำการดาวน์โหลด คัดลอก แก้ไข หรือเผยแพร่ข้อมูลนี้ หากไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาจากชุมชน
Traditional Knowledge External Use Only-Women General (TK XU-WG) หมายถึง ข้อมูลนี้อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะผู้หญิงภายในชุมชนเท่านั้น หากผู้ใช้เป็นสมาชิกของชุมชน จะสามารถเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลนี้กับผู้หญิงในชุมชนได้อย่างอิสระ ในขอบเขตบริบทของชุมชน หากผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วยความบังเอิญ ชุมชนร้องขอมิให้ทำการดาวน์โหลด คัดลอก แก้ไข หรือเผยแพร่ข้อมูลนี้ หากไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาจากชุมชน
Traditional Knowledge External Use Only-Women Restricted (TK XU-WR) หมายถึง ข้อมูลนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยมีเพียงสมาชิกเพศหญิงของชุมชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถใช้ข้อมูลหรือวัตถุชิ้นนี้ได้ หากผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วยความบังเอิญ ชุมชนร้องขอมิให้ทำการดาวน์โหลด คัดลอก แก้ไข หรือเผยแพร่ข้อมูลนี้ ข้อมูลนี้ไม่อนุญาตให้ใช้อย่างเสรีทั้งภายในและภายนอกชุมชน
Traditional Knowledge External Use Only-Men General (TK XU-MG) หมายถึงข้อมูลนี้อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะผู้ชายภายในชุมชนเท่านั้น หากผู้ใช้เป็นสมาชิกของชุมชน จะสามารถเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลนี้กับผู้ชายในชุมชนได้อย่างอิสระ ในขอบเขตบริบทของชุมชน หากผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วยความบังเอิญ ชุมชนร้องขอมิให้ทำการดาวน์โหลด คัดลอก แก้ไข หรือเผยแพร่ข้อมูลนี้ หากไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาจากชุมชน
Traditional Knowledge External Use Only-Men Restricted (TK XU-MR) หมายถึง ข้อมูลนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยมีเพียงสมาชิกเพศชายของชุมชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถใช้ข้อมูลหรือวัตถุชิ้นนี้ได้ หากผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วยความบังเอิญ ชุมชนร้องขอมิให้ทำการดาวน์โหลด คัดลอก แก้ไข หรือเผยแพร่ข้อมูลนี้ ข้อมูลนี้ไม่อนุญาตให้ใช้อย่างเสรีทั้งภายในและภายนอกชุมชน
Traditional Knowledge Multiple Community Owned (TK MCO) หมายถึง ข้อมูลนี้มีผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายชุมชน หากจะนำข้อมูลไปใช้ จำเป็นต้องพูดคุยและเจรจากับชุมชนที่มีรายชื่อเป็นเจ้าของ เพื่อขออนุญาต ผู้ใช้ควรตกลงกับชุมชนต่างๆ ที่เป็นเจ้าของ เกี่ยวกับแนวทางการใช้งาน และควรเคารพในระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมในการใช้ข้อมูล (รวมถึงสิทธิภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย)
เมื่อชนพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของข้อมูลนำเข้าข้อมูลในฐานข้อมูล เช่น อัพโหลดภาพถ่ายครอบครัว พืชพื้นเมือง อาหาร พิธีกรรม หรือเครื่องมือเครื่องใช้อันเกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อ เขาจะเลือกสัญลักษณ์กำกับข้อมูลชุดนั้นเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าควรใช้ข้อมูลหรือวัสดุชิ้นนั้นภายใต้เงื่อนไขใด
จากแนวคิดเรื่องข้อกำหนดการใช้ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นของคลังจดหมายเหตุดิจิทัลมูกูร์ตูแห่งนี้ ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาจึงนำเครื่องมือนี้มาปรับใช้กับการเผยแพร่ข้อมูลภูมิปัญาท้องถิ่นที่อยู่ในฐานข้อมูล ณ ปัจจุบัน โดยกำหนดว่า ในกรณีที่ชุดเอกสารหรือข้อมูลทางวัฒนธรรมใดๆ ที่อยู่ในเอกสารจดหมายเหตุ ไม่ได้มีระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมเฉพาะเจาะจงจากชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมควบคุมการเข้าถึงและใช้มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ (ทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้) เราพิจารณาใช้ข้อกำหนด 3 เงื่อนไขกำกับการใช้ข้อมูลชุดดังกล่าว คือ Traditional Knowledge Attribution (TK A) หรือ Traditional Knowledge Attribution Non-Commercial (TK A-NC) หรือ Traditional Knowledge Community Owned Education (TK CO-E)
ดังนั้น หากท่านกำลังใช้เอกสารจดหมายเหตุชุดใด ขอให้ดูเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำกับชุดเอกสารชุดนั้น เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลหรือการนำไปเผยแพร่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม