ระเบียบปฎิบัติทางวัฒนธรรม (Cultural Protocols) คือ แนวทางในการปฏิบัติของกลุ่มวัฒนธรรม ระเบียบปฏิบัตินี้หมายรวมถึงจารีตประเพณีในอดีตและปัจจุบัน แบบแผนปฏิบัติ ความรู้ดั้งเดิม และกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตรปฏิบัติทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรม ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้เป็นแนวทางให้ผู้คนปฏิสัมพันธ์และปฏิบัติตัวในแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมเป็นหลักการทางจริยธรรมที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติในบริบทต่างๆ ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมจึงเป็นแนวทางที่อาจยืดหยุ่นและผันแปรตามกลุ่มวัฒนธรรมหรือสถานการณ์ของการใช้ เช่น

  • ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมว่าด้วยการรายงานข่าวเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในสื่อ (cultural protocols for indigenous reporting in the media) ระเบียบปฏิบัติและหลักการนี้ต้องการเป็นแนวทางให้สื่อมวลชนและนักข่าว ให้ความเคารพกลุ่มชนพื้นเมืองในการทำข่าว ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ เขียนข่าว รวมไปถึงการนำเสนอข่าวใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง เพราะการขาดความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่เป็นชนพื้นเมืองและไม่ใช่ชนพื้นเมือง อาจนำไปสู่การสื่อสารที่ล้มเหลว และความเข้าใจผิด (อ่านเพิ่มเติม)
  • ระเบียบปฏิบัติเมื่อต้องทำงานกับชนพื้นเมืองอะบอริจิน ในเรื่องการให้บริการสุขภาพและชุมชน ความรู้เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ผู้เข้าไปทำงานจำเป็นต้องเข้าใจอัตลักษณ์ของความเป็นชาวอะบอริจิน บริบททางวัฒนธรรม  ข้อกังวลทางวัฒนธรรม การสร้างความสัมพันธ์กับชนพื้นเมือง ความไว้วางใจ การใช้ภาษาที่เรียบง่าย  การไม่ตั้งสมมุติฐานเองเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของคนไข้ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าการคาดเดา (อ่านเพิ่มเติม)
  • ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอะบอริจินหรือชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในช่องแคบตอเรส (อ่านเพิ่มเติม)
  • ระเบียบปฏิบัติสำหรับการจัดการหรือใช้วัสดุจดหมายเหตุของชนพื้นเมืองอเมริกัน (Protocols for Native American Archival Materials)  (อ่านเพิ่มเติม)

ทำไมจึงต้องมีระเบียบปฎิบัติทางวัฒนธรรมควบคุมวัสดุจดหมายเหตุ?

          เนื่องจากเอกสารและวัสดุที่เก็บรักษาอยู่ในคลังเอกสารจดหมายเหตุ โดยเฉพาะเอกสารจดหมายเหตุมานุษยวิทยา มักมีเอกสารที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งบันทึกประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ และประวัติศาสตร์ที่หาค่ามิได้ของชุมชน สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่ออัตลักษณ์และความอยู่รอดของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมบางอย่างนั้นมีค่าทางการค้า เช่น สมุนไพรพื้นบ้าน อาหาร คติชน ศิลปะ เครื่องแต่งกาย ทั้งหมดนี้เรียก “ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม” ก็ว่าได้

          ด้วยเหตุนี้ชุดเอกสารจดหมายเหตุมานุษยวิทยาจึงมีลักษณะพิเศษบางประการที่แตกต่างจากชุดเอกสารจดหมายเหตุประเภทอื่น ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหรือกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมได้เพียงพอแล้วหรือ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นผู้สร้างและความเป็นเจ้าของ รวมถึงแนวคิดเรื่องความเป็นสาธารณะที่สถาบันทางวัฒนธรรมส่วนมากใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ คำถามดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องพิจารณาเหตุและผลในการเข้าถึงและควบคุมข้อมูลจดหมายเหตุเสียใหม่

          สำหรับชนพื้นเมืองผู้เป็น “เจ้าของ” วัฒนธรรม พวกเขาคิดว่าควรมี “ระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม” ที่ควบคุมการเข้าถึงและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ควบคุมการเข้าถึงและใช้แบบแผนปฏิบัติทางศาสนา วัตถุที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะข้อมูลที่อยู่ในเอกสารจดหมายเหตุอาจเป็นข้อมูลเฉพาะทางศาสนาหรือเป็นความลับและจำกัดให้ใช้ภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีเท่านั้น แม้การใช้บางอย่างจะได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แต่อาจผิดจารีตในบางชุมชน

         ทุกวันนี้เจ้าของวัฒนธรรม เช่น ชาวอะบอริจินหรือชนพื้นเมืองอเมริกันดั้งเดิม ต่างออกมายืนกรานว่าพวกเขาควรจะเป็นผู้ควบคุมว่าจะนำเสนอวัฒนธรรมของตนอย่างไร โดยเฉพาะกระบวนการในการอนุรักษ์ การจัดระบบเอกสาร รวมไปถึงการเผยแพร่เอกสารและวัตถุทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง โดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรม ที่บางครั้งขาดความระมัดระวังที่เพียงพอในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ในมรดกทางวัฒนธรรม (ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้)  เมื่อกฎหมายไม่สามารถป้องกันการใช้อย่างไม่เหมาะสมได้แบบร้อยเปอร์เซ็น ระเบียบปฎิบัติทางวัฒนธรรมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่หอจดหมายเหตุเริ่มพิจารณาเพื่อนำมาใช้ควบคุมการเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุที่มีข้อมูลทางวัฒนธรรม

การได้มาซึ่งระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม

         ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในแต่ละภูมิภาคมีผลต่อระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรม สิ่งที่ต้องจดจำในการทำงานร่วมกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมคือ แต่ละชุมชนมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในชุมชนเองก็อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน แม้จะพูดภาษาเดียวกัน แต่คำศัพท์หรือภาษาที่ใช้ก็อาจมีการให้ความหมายที่แตกต่างกัน

         การหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการจัดการเอกสารและการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมสามารถทำได้โดยการแสวงหาและฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่มีประสบการณ์และความรู้ วิธีที่ที่เราจะทราบว่าแต่ละชุมชนมีระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมอย่างไร คือการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม กระบวนการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของวัฒนธรรมได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ “ต้องทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” อันมีผลกระทบต่อชุมชน กระบวนการพูดคุยกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ที่จัดการข้อมูลระมัดระวังกับมุมมอง ความเชื่อ และความอ่อนไหวของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม

         สำหรับคลังข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เห็นว่าระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมเป็นทางออกที่สำคัญทางหนึ่งที่ควรนำมาใช้เพื่อควบคุมการจัดการและการเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุที่อยู่ในฐานข้อมูลฯ ดังนั้น กระบวนการที่คลังฯ กำลังทำอยู่ตอนนี้คือการลงไปทำงานกับชุมชนแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อศึกษาระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนที่ข้อมูลของพวกเขาปรากฎอยู่ในเอกสาร ที่ผ่านมาเราได้ลงไปศึกษาชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ที่บ้านแพด อ.เชียงคำ จ.พะเยา ซึ่งข้อมูลของชุมชนนี้ปรากฎอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุของไมเคิล มอร์แมน ซึ่งแม้ในขั้นแรกจะยังไม่ปรากฎระเบียบปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ชัดเจนนัก แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับการทำงานกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป (อ่านบทความเพิ่มเติม “การจัดการจดหมายเหตุวัฒนธรรมแบบชุมชนมีส่วนร่วม”)

เขียนโดย ธันวดี สุขประเสริฐ