ศูนย์มรดกชาติพันธุ์ลีซู (Lisu Cultural Heritage Center - LCHC) ตั้งอยู่หลังวัดเกตุการาม วัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นเรือนไม้หลังเล็กอยู่ภายในบริเวณบ้านพักของ ดร.ไมเคิล วิกเคอรี (Michael Vickery) และ ดร.โอโตเม ไกลน์ ฮัทธิซิงค์ (Otome Klein Hutheesing) สามี-ภรรยา นักวิชาการคนสำคัญด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี
ด้วยภารกิจการติดตามกระบวนการจัดการภาพถ่ายและเอกสารภาคสนามของ ดร.วิกเคอรี และ ดร.ฮัทธิซิงค์ ทำให้ผู้เขียนต้องแวะเวียนเข้าไปที่ศูนย์ฯ อยู่บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาอย่างจริงจังกับ อะมีมะ แซ่จู (มีมี่) ผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ และเป็นบุตรบุญธรรมของ ดร.วิกเคอรี และ ดร. ฮัทธิซิงค์ ถึงความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์ฯ
ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2524 เมื่อครั้งที่ ดร.ฮัทธิซิงค์ เริ่มงานวิจัยทางวิชาการในภาคเหนือของประเทศไทยร่วมกับ ดร.ลีโอ อัลติง ฟอน เกอซอ (Dr. Leo Alting von Geusau) นักมานุษยวิทยาชาวดัตช์ที่กำลังศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ทั้งสองท่านได้เดินทางไปยังหมู่บ้านลีซู ที่บ้านดอยล้าน ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อการวิจัยภาคสนาม โดยความช่วยเหลือของ อาซือ ฮอบ์เดย์ (Asue Hobday) มิตรสหายชาวอาข่าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2533 งานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู บ้านดอยล้าน จึงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า “Emerging Sexual Inequality among the Lisu of Northern Thailand: The Waning of Dog and Elephant Repute”
ผลพวงของงานวิจัย ทำให้ ดร.ฮัทธิซิงค์ได้เก็บสะสมงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งบันทึกภาคสนามอันมีคุณค่าทางวิชาการที่บันทึกเรื่องราวของชาวลีซูที่บ้านดอยล้านไว้ด้วย
คุณอะมีมะ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบ้านดอยล้าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดให้ฟังว่า ดอยล้าน หรือ มู่หล่า เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2493-2494 ชาวบ้านกลุ่มแรกอพยพมาจากบ้านผาแดงหลวง บ้านห้วยส้าน บ้านใหม่พัฒนา และบ้านดอยช้าง เพราะได้รับคำบอกเล่าจากบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ พรานป่า และนักเดินทางว่า เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับปลูกฝิ่น ทั้งยังเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า ประกอบกับค่านิยมของชาวลีซูที่ว่า หากอยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่เดิมนาน ๆ และพื้นที่นั้นเริ่มเสื่อมโทรม ก็สามารถย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าได้เป็นปกติ ตลอดจนในช่วงเวลานั้น หมู่บ้านของชาวลีซูอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง กลุ่มผู้นำลีซูเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั้งจากการฆ่าตัวตายและลอบสังหาร บ้านหลายหลังประสบอัคคีภัย และผลผลิตฝิ่นไม่ดีนัก จึงเป็นเหตุให้ชาวลีซูอพยพย้ายถิ่นฐานออกมา
คุณอะมีมะให้ข้อมูลเสริมว่า ลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ส่วนมากอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก รวมไปถึงบางส่วนของประเทศจีน เมียนมา และอินเดีย โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ลีซูลาย (the flowery ) ที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และ ลีซูดำ (the black) ที่อยู่ในจีน เมียนมา และอินเดีย ความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มคือภาษา การแต่งกาย และการนับถือศาสนา
ใน พ.ศ. 2542 ดร.วิกเคอรี และ ดร.ฮัทธิซิงค์ ได้อุปการะคุณอะมีมะเป็นบุตรบุญธรรม การได้เติบโตมาในครอบครัวนักวิชาการ ทำให้เธอได้เห็นหนังสือ เอกสาร ภาพถ่าย ตลอดจนเครื่องแต่งกายและงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ ดร.วิกเคอรี และ ดร.ฮัทธิซิงค์ สะสมมาตลอดชีวิต จนกลายเป็นความผูกพัน จึงต้องการรวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ในห้องสมุดส่วนตัวเพื่อสะดวกในการค้นคว้าทางวิชาการของ ดร.วิกเคอรี เท่านั้น กระทั่ง พ.ศ. 2558 อะมีมะได้ยกระดับสิ่งที่เธอกำลังทำเป็นการจัดตั้งศูนย์มรดกชาติพันธุ์ลีซู โดยเธอให้เหตุผลว่า
1) ต้องการรวบรวมเอกสารและภาพถ่ายของ ดร.วิกเคอรี และ ดร. ฮัทธิซิงค์ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในวงวิชาการ
2) เป็นพื้นที่แสดงงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ตลอดจนให้ความรู้เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แก่ผู้สนใจทั่วไป
3) เป็นพื้นที่สำหรับชาวลีซูได้ศึกษาเรื่องราวของตนเองผ่านเอกสาร ภาพถ่ายเก่าของชุมชน ภาษาลีซู พืชและสมุนไพร และวัตถุจัดแสดงอื่น ๆ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้
4) เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างนักท่องเที่ยวกับหมู่บ้านลีซูที่บ้านดอยล้าน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ความโดดเด่นของศูนย์ฯ ที่เห็นได้ชัดคือการจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาวลีซูนับสิบชุดที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515-2543 ตลอดจนงานหัตถกรรมแบบลีซูที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น หูกระเป๋าลีซู กระเป๋าสะพายลีซูลายดั้งเดิม เครื่องประดับเงิน เป็นต้น
ด้านแผนงานในอนาคตของศูนย์ฯ นั้น คุณอะมีมะตั้งใจจะขยายพื้นที่ศูนย์ฯ ให้กว้างขวางกว่าเดิม แม้ต้องย้ายสถานที่ก็ตาม เพื่อรองรับผู้เข้าชมที่มีจำนวนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่าย และไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้าเหมือนเช่นปัจจุบัน ตลอดจนเริ่มต้นสำรวจงานหัตถกรรมแบบลีซูในหมู่บ้านอื่นนอกจากที่บ้านดอยล้าน เพื่อนำมาประยุกต์และออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องการเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างนักท่องเที่ยวกับหมู่บ้านลีซูต่าง ๆ เพราะในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยอาจเริ่มที่บ้านดอยล้านก่อนจะขยายไปยังหมู่บ้านลีซูพื้นที่อื่นต่อไป