สำรวจบันทึกภาคสนาม Dr.Michael Vickery และ Dr.Otome Klein Hutheesing

          เมื่อวันที่ 13 ธค 59 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสำรวจภาพถ่ายจากการทำงานภาคสนามของ ดร.ไมเคิล วิกเคอรี่ (Michael Vickery) และ ดร. โอโตเม่ ไกล์น ฮัทธิซิงค์ (Otome Klein Hutheesing) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้พูดคุยกับคุณอะมีมะ แซ่จู หรือมิมี่ ผู้จัดการและผู้ก่อตั้งศูนย์ชาติพันธุ์และมรดกวัฒนธรรมลีซู และเป็นบุตรบุญธรรมของอาจารย์ทั้งสองท่าน คุณมิมี่ให้ข้อมูลว่า ดร.วิกเคอรี่ และ ดร.ฮัทธิซิงค์ มีภาพถ่ายจำนวนมากจากการลงพื้นที่ทำงานวิจัย ทั้งถ่ายภาพที่เกี่ยวกับพื้นที่ลงไปสำรวจ ผู้คน และภาพกิจกรรมต่าง ๆ ขณะนี้ภาพถ่ายดังกล่าวกำลังจะเสื่อมสภาพ จึงต้องการหาวิธีอนุรักษ์ภาพถ่ายด้วยการสแกน รวมถึงจัดระบบและให้ข้อมูลกับภาพถ่าย เพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต ผู้เขียนจึงรับปากกับคุณมิมี่ลงไปสำรวจสภาพและจำนวนเอกสาร เพื่อวางแผนการอนุรักษ์และจัดการเอกสารต่อไป

          นักเรียนนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ หรือมีความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงรู้จักหรือเคยอ่านงานของ ดร.ไมเคิล วิกเคอรี่ มาบ้าง ดร.วิกเคอรี่ เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชา งานวิจัยและงานเขียนของอาจารย์มุ่งความสนใจไปที่ประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่ของกัมพูชาและไทย  โดยเฉพาะการเปิดประเด็นตั้งคำถามว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงอาจไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนราม

ดร.ไมเคิล วิกเคอรี่

              สำหรับ ดร.ฮัทธิซิงค์ นักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ มีความสนใจศึกษากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ราวปี ค.ศ. 1982-1986 ดร.ฮัทธิซิงค์ได้เข้าไปศึกษาหมู่บ้านดอยล้าน อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยใช้เวลาอยู่ที่หมู่บ้านราว 5 ปี  เพื่อศึกษาสังคมวัฒนธรรมของชาวลีซู จากนั้นเขียนหนังสือวิชาการเกี่ยวกับลีซู ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ “Emerging sexual inequality among the Lisu of northern Thailand :the waning of dog and elephant repute” ที่พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสังคมลีซู ณ หมู่บ้านดอยล้าน หนังสือเล่มนี้นำเสนอและวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ผ่านความคิดเรื่องพื้นที่หญิง-ชายของลีซู นอกจากนั้นหลักความคิดเรื่องความเป็นคู่ยังนำไปใช้ในขนบประเพณี ที่สำคัญ ได้แก่ ความกล้า-ความอาย (boldness-shyness dichotomy) ของผู้หญิงและผู้ชาย ผู้หญิงต้องมีความอายและสงบเสงี่ยมแบบช้าง ผู้ชายต้องกล้าแบบสุนัข ความคิดนี้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศตามแนวคิดตะวันตก [i]    ปัจจุบันทั้ง ดร.วิกเคอรี่ และ ดร.ฮัทธิซิงค์ อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.วิกเคอรี่ ยังคงทำงานวิชาการและเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง ด้าน ดร.ฮัทธิซิงค์ ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถเขียนงานและทำงานภาคสนามได้อีก

ดร.โอโตเม ไกล์น ฮัทธิซิงค์

ภาพจาก - Mark Fenn www.chiangmaicitylife.com/news/

          บริเวณบ้านอาจารย์ประกอบด้วยอาคารไม้สองหลัง ค่อนข้างร่มรื่น ซ่อนตัวอยู่กลางเมืองบริเวณหลังวัดเกต หน้าบ้านเป็นอาคารสีเขียวขาวหลังเล็กเปิดเป็นศูนย์ชาติพันธุ์และมรดกวัฒนธรรมลีซู ด้านหลังเป็นบ้านไม้สองชั้น โดยแบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องสมุดขนาดเล็กและพื้นที่ทำงาน จากการสำรวจเอกสารคร่าว ๆ พบว่ามีภาพถ่ายจากการทำงานภาคสนามทั้งของ ดร.วิกเคอรี่ และ ดร.ฮัทธิซิงค์ จำนวนกว่า 2 หมื่นภาพ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เป็นบันทึกภาคสนาม สมุดจดข้อมูล และบัตรบันทึกขนาดต่าง ๆ ภาพถ่ายและบันทึกของ ดร.วิกเคอรี่ เป็นภาพถ่ายจากการสำรวจพื้นที่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เป็นต้น ส่วนภาพถ่ายและบันทึกของ ดร.ฮัทธิซิงค์ เป็นภาพถ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูและข้อมูลที่บันทึกเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านดอยล้าน

บริเวณบ้าน ด้านหน้าเป็นศูนย์ชาติพันธุ์และมรดกวัฒนธรรมลีซู

ภายในบ้านเป็นห้องสมุดขนาดเล็กและพื้นที่ทำงาน

          ผู้เขียนได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ ดร.ฮัทธิซิงค์ เพียงเล็กน้อย เพราะปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถรบกวนอาจารย์ได้มากนัก ผู้เขียนจึงได้ทราบข้อมูลการทำงานของท่านจากคุณมิมี่เป็นส่วนใหญ่ คุณมิมี่ เล่าว่า ดร.ฮัทธิซิงค์ มีความสนใจศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลีซูอย่างลึกซึ้ง โดยตลอด 5 ปี ที่ฝังตัวอยู่ที่หมู่บ้านดอยล้าน ได้เก็บข้อมูล จดบันทึก และถ่ายภาพจำนวนมาก รวมทั้งรวบรวมวัตถุทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ของชาวลีซู อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋า รวมไปถึงภาพวาดเก่า และงานฝีมือของชาวลีซู ซึ่งเป็นที่มาของการเปิดเป็นศูนย์ชาติพันธุ์และมรดกวัฒนธรรมลีซู การเก็บสะสมข้าวของเหล่านี้ ทั้งเก็บเพื่อการศึกษาและด้วยความหลงใหลเป็นการส่วนตัว ที่ศูนย์แห่งนี้เราจึงได้เห็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู พัฒนาการของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2503 ถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือการจัดแสดงบันทึกภาคสนามของ ดร.ฮัทธิซิงค์ ที่บันทึกข้อมูลพิธีกรรม ความเชื่อ ของลีซูไว้มากมาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยและสอนนักศึกษา นับว่าเป็นชุดข้อมูลที่มีค่ามาก

ภายในศูนย์ฯ จัดแสดงเครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้ของชาวลีซู

การจัดแสดงพัฒนาการเครื่องแต่งกายของชาวลีซู ที่คุณแม่ลีซูของคุณมิมี่ และดร.ฮัทธิซิงค์ สะสมมา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503

          ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ลงไปสำรวจภาพถ่ายเก่าและเอกสารตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อเจอชุดเอกสารและภาพถ่ายที่ถูกทิ้งไว้รอวันเสื่อมสลาย ก็ทำให้ตระหนักได้ว่างานจัดการข้อมูลนั้นมีความสำคัญมากจริง ๆ การจัดการในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดการที่ปลายทางเท่านั้น แต่หมายถึงการจัดการโดยตัวนักวิจัยเองตั้งแต่ก่อนลงไปเก็บข้อมูล เช่น วางแผนจะเก็บข้อมูลที่ไหน ด้วยเครื่องมืออะไร หัวเรื่องใดบ้าง จนกระทั่งเมื่อเก็บข้อมูลเสร็จสิ้นแล้วจะเก็บข้อมูลดิบเหล่านี้ไว้ที่ใด รวมถึงจะสำรองข้อมูลไว้ในรูปแบบใดบ้างเพื่อป้องกันการสูญหาย อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไป การจะเรียกข้อมูลเก่า ๆ กลับมาใช้ใหม่ก็ทำได้สะดวกขึ้น และสิ่งนี้คงเป็นอีกหน้าที่ของงานฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาที่ต้องลงไปมีส่วนร่วมกับเจ้าของเอกสาร สนับสนุนให้เกิดการจัดการ สงวนรักษาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งในเชิงกายภาพและในส่วนของตัวข้อมูล

เอกสารจากการทำงานและภาพถ่ายส่วนหนึ่งของ ดร.ไมเคิล วิกเคอรี่

บันทึกสนามของ ดร.ฮัทธิซิงค์

ภาพถ่ายและบัตรบันทึกของ ดร.ฮัทธิซิงค์ ที่บันทึกข้อมูลสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู

          ท้ายที่สุด เป็นเรื่องน่ายินดีที่หลังจากจัดระบบและให้ข้อมูลภาพถ่ายทั้งหมดแล้ว ทั้ง ดร.วิกเคอรี่ และ ดร. ฮัทธิซิงค์ ประสงค์จะมอบข้อมูลภาพถ่ายให้ศูนย์ฯ เพื่อเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา เพื่อให้สืบค้นและใช้ประโยชน์ต่อไป

--------------------

[i] ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail.php?id=973 สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2559