บันทึกภาคสนามของ ศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาชุมชนชาติพันธุ์ไทลื้อที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการรักษาโรคของคนในชุมชนไว้มากมาย จากบัตรบันทึกแบบเจาะที่บันทึกช่วงปี พ.ศ. 2502-2503 ได้กล่าวถึงประเด็นของการรักษาโรค เช่น ยา การบำบัดรักษา โรคระบาด หมอพื้นบ้าน ฯลฯ

          จากบันทึกแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในชุมชนมีวิธีการรักษาและบำบัดโรคหลากหลายวิธีผสมผสานกัน ทั้งการแพทย์แบบตะวันตกที่เป็นผลมาจากการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารี ชาวบ้านเรียกว่า “หมอฝรั่ง” และหมอชาวบ้าน ที่เรียกว่า “หมอถุงแดง”  ดังตัวอย่างในบันทึกวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2503

 

          มอร์แมนได้บรรยายเกี่ยวกับการใช้ยาของชาวบ้าน โดยเล่าว่า มีหมอจากบ้านแวนปั่นจักรยานผ่านมา คำและพรเรียกเขาว่า “หมอถุงแดง” เพราะเขาไม่มีกระเป๋าใส่ของ หมอคนนี้ไปที่ตลาด และฉีดยาให้ชาวบ้านเข็มละ 5 บาท แต่ไม่มีใครในบ้านแพดใช้บริการเขา เพราะคนบ้านแพดใช้บริการของหมอจรูญและหมอฝรั่ง (จากบันทึกฉบับอื่นระบุว่าจรูญเป็นพยาบาลผดุงครรภ์).........14 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 แม่แก้วไปหาหมอฝรั่งเพราะเจ็บตา หมอให้ยาเม็ดมาสองชนิด

          นอกจากนี้ ในบันทึกยังแสดงให้เห็นการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านด้วยยาพื้นบ้าน เช่น บันทึกวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2503 กล่าวว่า เมียของผู้ใหญ่บ้านมีอาการปวดหัว เธอจึงทำยารักษาอาการปวดหัวด้วยตัวเอง เรียกว่า “ยาพื้นเมือง” หรือ “ยาลื้อ”

          เมียผู้ใหญ่บ้านเก็บส่วนผสมของยาไว้ในถุงผ้าเล็กๆ เมื่อจะใช้นำส่วนผสมทั้งหลายมาใส่ลงในจาน ส่วนผสมของยาประกอบด้วย ไม้ต่างชนิดกัน  5 ชิ้น เล็ก ๆ หนังสัตว์เลื้อยคลานชิ้นเล็ก ๆ  ข้าวตอก นำทั้งหมดไปจุ่มในขันใส่น้ำที่มีเมล็ดข้าวจ้าว แล้วนำมาถู นอกจากนี้ ยังมีหินลูกเล็ก ๆ ที่ดูคล้ายกับหินลาวาสีแดง โดยจะจุ่มหินลงไปในน้ำเป็นช่วง ๆ จากนั้นดื่มน้ำจำนวนหนึ่ง ส่วนหนึ่งรดลงบนมือและนำมาล้างหน้า อีกส่วนเก็บไว้บนหิ้งที่เก็บหม้อน้ำ

          บันทึกวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 มอร์แมนเล่าว่ามีชาวบ้านมาขอยาและให้ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยมากมาย แสดงให้เห็นว่าในบางครั้งตัวนักวิจัยที่ลงไปทำงานภาคสนาม อาจต้องรับหน้าที่เป็นหมอจำเป็น โดยเฉพาะนักวิจัยชาวต่างชาติ ที่เมื่อต้องเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองนาน ๆ ย่อมต้องพกหยูกยามาด้วยมากมายไว้ในกรณีฉุกเฉิน ชาวบ้านที่ทราบก็อาจแวะเวียนมาขอยาฝรั่งหรือให้วินิจฉัยโรค นักวิจัยจึงต้องทำหน้าที่หมอประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย ซึ่งมอร์แมนเองก็คงหนีไม่พ้นกับหน้าที่นี่ บ่อยครั้งที่ต้องแบ่งปันยาที่มีเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยให้คนในหมู่บ้าน ชาวบ้านเองก็อาจตอบแทนด้วยของกินของใช้ตามแต่ศรัทธา

          ในบันทึกภาคสนามของมอร์แมนยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรักษาโรคของชาวไทลื้อ การปะทะกันระหว่างแนวคิดในการรักษาและเยียวยาโรคแบบตะวันตกและตะวันออก การเข้ามาของมิชชันนารี ผ่านมุมมองและการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน