จากบลอคที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงเรื่อง Data curation ซึ่งก็คือการจัดการข้อมูลแบบครบวงจรหรือการจัดการวงจรชีวิตข้อมูล ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างและจัดการคลังข้อมูลดิจิทัล การจัดการข้อมูลนับเป็นหัวใจสำคัญของงานคลังข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบัน ดังนั้น การจัดการข้อมูลที่ดี จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในการจัดการข้อมูลและนักจัดการข้อมูล หรือที่เรียกว่า “Data curator”

          Curator มาจากภาษาละติน “curare” แปลว่า ดูแล ซึ่งก็หมายถึงผู้จัดการหรือผู้ดูแล แต่เดิมผู้ดูแลที่ทำงานในสถาบันด้านมรดกวัฒนธรรม เช่น แกลลอลี่ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือหอจดหมายเหตุ มักเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับคอเลคชั่นของสถาบัน รวมไปถึงมีหน้าที่ตีความวัตถุที่เป็นมรดกวัฒนธรรม วัตถุที่ผู้ดูแล/ผู้จัดการเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วัตถุจัดแสดงทางประวัติศาสตร์ หรือวัตถุวิทยาศาสตร์

          ในอดีตคำว่า curator มักเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่าหมายถึงผู้เชี่ยวชาญในงานพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุด ในเวลาต่อมามีการประยุกต์งานเข้ากับโซเชียลมีเดีย เช่น ภาพดิจิทัล เวบไซต์ ไฟล์ภาพยนตร์ดิจิทัล เมื่อไม่นานมานี้จึงได้เกิด curator รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า curators of digital data objects ซึ่งทำหน้าที่สงวนรักษา ดูแล ทรัพย์สินดิจิทัลของพิพิธภัณฑ์และคลังจดหมายเหตุ รวมไปถึงคลังข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นมรดกวัฒนธรรม

นักจัดการข้อมูลดิจิทัล (Digital data curator)

          นักจัดการข้อมูลดิจิทัล หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการจัดการหรือดูแลข้อมูล บ้างมีชื่อเรียกตำแหน่งว่า นักจดหมายเหตุ บรรณารักษ์ บรรณรักษ์ข้อมูล ผู้ทำบรรณนิทัศน์ รวมไปถึงนักจัดการข้อมูล หน้าที่ของนักจัดการข้อมูลขึ้นอยู่กับบริบทที่พวกเขาทำงานอยู่ เช่น ในบริบทของของวิชาการ งานของนักจัดการข้อมูลคือการจัดการข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ให้คำอธิบายข้อมูลในเชิงลึก สร้างความมั่นใจว่าข้อมูลมีคุณภาพ ช่วยดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของสารสนเทศ และดูเรื่องมาตรฐานข้อมูล สำหรับในบริบทของงานจดหมายเหตุ นักจดหมายเหตุที่เป็น digital archivist ก็จะมีหน้าที่ในการสร้างและจัดกระบวนการในการแสวงหาเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัล จัดระบบ ให้คำอธิบาย อนุรักษ์ และสร้างช่องทางในการเข้าถึงและเข้าใช้เอกสารจดหมายเหตุดิจิทัล รวมไปถึงทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของคลังจดหมายเหตุดิจิทัล เป็นต้น

          ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของนักจัดการข้อมูลที่มีอยู่หลายระดับนั้น ในส่วนของการจัดการข้อมูลดิจิทัลแบบครบวงจร นักจัดการข้อมูลมีหน้าที่หลัก ดังต่อไปนี้

          1. พัฒนานโยบายในการปฏิบัติงานและให้บริการ

          2. วิเคราะห์เนื้อหาดิจิทัลเพื่อกำหนดการให้บริการที่เหมาะสม

          3. ให้คำแนะนำแก่ผู้สร้างข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล และผู้ที่นำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่

          4. จัดเก็บข้อมูลเข้าสู่คลังเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

          5. พัฒนาและกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการใช้ข้อมูล

          6. ตรวจสอบคุณภาพข้อมูล

          7. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลให้เหมาะสมสำหรับการเข้าถึง ให้คำอธิบาย นำเสนอ จัดเก็บ และดูแลรักษา

          8. ทำให้ข้อมูลสามารถใช้หรือนำกลับมาใช้อีกครั้งได้

          9. ทำให้ข้อมูลสามารถค้นคืนได้

          10. วางแผนการสงวนรักษา เช่น มั่นใจว่าแหล่งจัดเก็บมีความเหมาะสม มีการสำรองข้อมูลสม่ำเสมอ มีการสำรวจตรวจตราความล้าสมัย

          11. พัฒนาการทำงานร่วมกัน หมายถึง แนวทางที่จะทำให้ข้อมูลในระบบหรือคอมโพเนนท์ต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานสามารถทำงานร่วมกันได้โดยระบบไม่จำเป็นต้องมาจากที่เดียวกันหรือหน่วยงานเดียวกัน แต่ต้องสามารถคุยกันได้ติดต่อสื่อสารกันได้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้

นักจัดการเนื้อหา (Content curator)

          นอกจากการจัดการข้อมูลดิจิทัลแบบครบวงจรแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือการจัดการเนื้อหา (content) ที่อยู่ในข้อมูล นักจัดการข้อมูลที่ดี นอกจากจะสามารถจัดการข้อมูลได้แล้ว ควรจัดการเนื้อหาที่ต้องการจัดเก็บและนำเสนอได้ด้วย

          นักจัดการข้อมูลอาจมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาประเด็นหนึ่งประเด็นใดก็ได้ เช่น ด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การตลาด เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะทำหน้าที่คัดสรร คัดเลือก รวบรวม และนำเสนอข้อมูลตามนโยบายและพันธกิจของคลังข้อมูล เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นคลังข้อมูลทางด้านมานุษยวิทยา ที่มีเป้าหมายหลักในการรวบรวมข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทย ดังนั้น นักจัดการข้อมูลของศูนย์ฯ ต้องทำหน้าที่ในการแสวงหา คัดเลือก และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของประเทศไทย มาจัดเก็บในคลังข้อมูลของสถาบันและเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งวิธีการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจนั้น นักจัดการเนื้อหาต้องมีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร เพื่อสามารถเลือกเนื้อหาและช่องทางในการสื่อสารได้เหมาะสม อาจนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของฐานข้อมูลออนไลน์ เวบไซต์ ยูทูป หรือนิทรรศการออนไลน์ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม นักจัดการข้อมูลและนักจัดการเนื้อหา อาจเป็นคนเดียวกันหรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อนักจัดการข้อมูลจัดการข้อมูลเรียบร้อยแล้ว อาจส่งต่อให้นักจัดการเนื้อหา นำเนื้อหาที่อยู่ในข้อมูลไปต่อยอดหรือแปรรูป เพื่อเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น รวบรวมข้อเขียน รูปภาพ วิดีโอ อาจเรียบเรียงใหม่ให้น่าสนใจ ก่อนที่จะเผยแพร่ใหม่ผ่านช่องทางต่างๆ

          ในโลกของข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน ความรวดเร็วและสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ข้อมูลปรารถนา โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลดิจิทัลที่อยู่รายล้อมผู้ใช้มีจำนวนมหาศาล การที่มีใครสักคนมาคัดสรร รวบรวม หรือช่วยอำนวยให้การค้นหาเป็นไปได้สะดวกย่อมเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น คลังข้อมูลดิจิทัลที่กำลังผุดขึ้นมากมาย จึงต้องรู้จักวิธีจัดการข้อมูลและจัดการเนื้อหาในรูปแบบที่ดี เหมาะสม และทันสมัย เพื่อให้การค้นคืนข้อมูลและนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่เกิดประสิทธิภาพ