หนึ่งปีในหมู่บ้านอีสานกับวิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

หนึ่งปีในหมู่บ้านอีสานกับวิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

ภาพจากหนังสือ - Reflections: one year in an Isaan Village Circa 1955

          ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์ เกิดที่นิวยอร์คปี ค.ศ.1929 เขาใช้ชีวิตมากกว่าครึ่งชีวิตในบ้านหลังที่สองของเขา นั่นก็คือประเทศไทย คลอสเนอร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ปริญญาตรีและโทสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และปริญญาเอกนิติศาสตร์ (กฎหมาย)

          คลอสเนอร์เป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงมหาดไทยในการก่อตั้งโครงการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษา คณะทำงาน ผู้ให้คำแนะนำ โครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย อีกทั้งเป็นคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ มูลนิธิฟอร์ด มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิเจมส์ เฮช ดับบลิว ทอมสัน มูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สยามสมาคม สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่าอเมริกา และมูลนิธิฟูลไบรท์

ภาพจาก - http://asiasociety.org

          คลอสเนอร์ใช้เวลาหลายปีสอนกฎหมายและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เขาได้เขียนงานมากมายในสาขาที่สนใจ คือ กฎหมาย วัฒนธรรม และพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ หนังสือ “วิสาขบูชา” สิ่งพิมพ์ประจำปีของสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และยังได้ช่วยทำงานในโครงการขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และการประชุมต่างๆ มากว่า 20 ปี การทำงานและศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมไทยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี สะท้อนให้เห็นได้จากงานเขียนหลายเล่ม

           หนังสือของคลอสเนอร์เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “Reflections on Thai Culture” ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสยามสมาคม ในปี ค.ศ.1981 และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นหนังสือรวบรวมบทความและงานเขียนของคลอสเนอร์ที่เป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมไทยในหลากหลายมิติ อาทิ วิถีชีวิตของชาวบ้านในภาคอีสานของไทย พิธีกรรม เทศกาลงานฉลอง วรรณกรรม ความเชื่อ พุทธศาสนา กฎหมาย การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม เป็นต้น

        “Thai Culture in Transition” งานเขียนที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมไทยไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้หญิง อาหารไทย หรือแม้แต่ภาษา ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นบทสรุปที่คมคายของคลอสเนอร์ในความพยายามที่จะเข้าใจ เพื่อขจัดความขัดแย้งและความตึงเครียดที่เป็นผลมาจากการปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรมที่แตกต่าง

          กล่าวกันว่า ความรักและความเข้าใจของคลอสเนอร์ที่มีต่อประเทศไทย ทำให้เขาเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก

          คลอสเนอร์เล่าในหนังสือ Reflections: one year in an Isaan Village Circa 1955 ว่า  “เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ผมเดินทางมาเมืองไทยด้วยหวังว่าจะเดินทางมาอยู่แค่สั้นๆ ราว 1 ปี เพื่อเก็บข้อมูลการทำงานภาคสนามทางชาติพันธุ์วรรณาแบบเข้มข้น แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แล้วก็หวังว่าจะกลับไปเป็นข้าราชการ แต่จะด้วยอะไรก็ตาม จากหนึ่งปี เป็นสองปี เป็นสิบปี ล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมจะอายุครบ 6 รอบแล้ว เกือบครึ่งศตวรรษ...” [2]

เวลาหลายปีในประเทศไทยของคลอสเนอร์ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และทำงานการกุศลและการพัฒนาให้กับมูลนิธิหลายแห่งทั้งของไทยและอเมริกา

ภาพจากหนังสือ - Reflections: one year in an Isaan Village Circa 1955

          จุดเริ่มต้นของการอยู่ที่ประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ คือหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ “บ้านหนองขอน” อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานีไปราวๆ  16 กิโลเมตร ซึ่งคลอสเนอร์เลือกเป็นพื้นที่ในการทำงานภาคสนาม ในประเด็นเรื่อง “วัฒนธรรมและค่านิยมไทย และบทบาทของพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่” อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เขาได้ตกลงปลงใจที่จะอาศัยและทำงานในประเทศไทยถาวร

     ภาพจาก – ฐานข้อมูลจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา ชุดเอกสารจดหมายเหตุ วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

           บ้านหนองขอนทำให้คลอสเนอร์หลงใหลกับจิตวิญญาณของพุทธศาสนา เขาสังเกตเห็นอิทธิพลของศาสนาที่กระจายอย่างกว้างขวาง ผ่านบทบาทและการเป็นผู้นำของพระสงฆ์ ทั้งทางสังคมและศาสนา ขณะเดียวกัน เขาก็ตระหนักว่าพิธีกรรมทางผีและพราหมณ์ก็มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการคงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนและรักษาเสถียรภาพทางสังคม 

ภาพจาก – ฐานข้อมูลจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา ชุดเอกสารจดหมายเหตุ วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

          คลอสเนอร์ได้พบเห็นและเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าชาวบ้านมีความยากลำบากเพียงไรในการต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดในแต่ละวัน การต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมชนบทที่ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่คาดไม่ถึง ค่านิยม ทัศนคติ มุมมอง โลกทัศน์ สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร  คลอสเนอร์กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านในเชิงวิชาการ แต่ท้ายที่สุดเขาค้นพบว่า สังคมแห่งนี้ห่อหุ้มและดูดกลืนตัวเขา ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณของเขาไปจนหมด จนมีครอบครัวและลงหลักปักฐานที่นี่

บันทึกประจำวัน (เอกสารหมายเลยทะเบียน WK-1-1-13)  ฐานข้อมูลจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา

ชุดเอกสารจดหมายเหตุ วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

        บันทึกประจำวัน วันที่ 9 กรกฎาคม 2498 (เอกสารหมายเลยทะเบียน WK-1-1-1)  

ฐานข้อมูลจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา ชุดเอกสารจดหมายเหตุ วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์

          เมื่อปี พ.ศ. 2553 ศ.วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์ ได้มอบบันทึกภาคสนามจากการทำงานในปี พ.ศ. 2498-2499 ที่บ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานี ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่ต่อไป บันทึกภาคสนามชุดดังกล่าวประกอบด้วย ภาพถ่ายบางส่วนและบันทึกประจำวันซึ่งเขียนด้วยลายมือ จำนวน 32 เล่ม

          ตลอดหนึ่งปีของการเก็บข้อมูลภาคสนามที่บ้านหนองขอน คลอสเนอร์ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของหมู่บ้าน จากความเข้าใจและสายตาที่มองผ่านการทำงานและวงจรชีวิตของชาวบ้านลงในบันทึกประจำวันของตนเอง ซึ่งบันทึกเหล่านี้อาจทำให้เราเห็นภาพชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของชนบทอีสานเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ได้ชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อย.

สืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ ศ.วิลเลียม เจ คลอสเนอร์

เอกสารอ้างอิง:

Klausner, William J. 1993.  Reflections on Thai culture /collected writings of William J. Klausner. Bangkok :Siam Society.

Klausner, William J. 1997. Thai Culture in Transition. Bangkok : Siam Society.

Klausner, William J. 2000. Reflections: one year in an Isaan Village Circa 1955. Bangkok : siam reflections publications.


[2]  Klausner, William J. 2000. Reflections: one year in an Isaan Village Circa 1955. Bangkok : siam reflections publications.