หากเราอยากทำความเข้าใจวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เราสามารถมองผ่านอะไรได้บ้าง? เราอาจจะศึกษาจากภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ ประเพณี งานศิลปะ ทัศนคติ พฤติกรรม รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Centre of Education for International Understanding - APCEIU) สาธารณรัฐเกาหลี จึงร่วมมือกับศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts - SPAFA) และ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asian Ministers of Education Organization - SEAMEO) พัฒนาโครงการผลิตเอกสารทางการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม ผ่านสิ่งของในชีวิตประจำวันจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี ภายใต้ชื่อโครงการ “2014 SEAMEO-APCEIU Collaboration on Educational Material Development for Cultural Understanding - Everyday Objects from Southeast Asia and Korea”
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ศูนย์เอเชียแปซิฟิกด้านการศึกษาเพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาเอกสารสำหรับการเรียนการสอนพหุวัฒนธรรม อาทิ นิทานพื้นบ้านจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี (Telling Tale from Southeast Asia and Korea) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำนิทานพื้นบ้านเพื่อบรรจุเข้าไปในหลักสูตรของนักเรียนระดับประถมศึกษาในประเทศแถบเอเชียตะวันออกฉียงใต้และเกาหลี
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำหนังสือความเข้าใจทางวัฒนธรรมผ่านภาพวาดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี (Cultural Understanding through Paintings from Southeast Asia and Korea) หนังสือดังกล่าว ได้ใช้ภาพวาดเกี่ยวกับเทศกาลต่างๆ ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี เป็นสื่อเสริมสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยจัดทำในรูปของหนังสือและสื่อโสตทัศน์ (ดีวีดี) ซึ่งที่ผ่านมาสื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ได้รับการตอบรับในเชิงบวกไม่เพียงแต่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย
เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ศูนย์ฯ รวบรวมอยู่ในฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ฐานข้อมูลจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา คลังข้อมูลสถาบัน รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนามของนักวิชาการศูนย์ฯ ทำให้เห็นว่าแหล่งข้อมูลเหล่านี้ เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับของใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยจำนวนมาก หากมีการนำชุดข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ผ่านหนังสือแบบเรียน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ศูนย์ฯ จึง ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยสำรวจและรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือดังกล่าว โดยได้นำข้อมูลที่จัดทำแล้วเสร็จไปเสนอที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา
ข้อมูลที่นำไปจัดทำหนังสือมีการแบ่งหมวดหมู่เป็น 6 หมวด ดังนี้
1) ภาชนะใส่อาหารและอุปกรณ์ทำอาหาร ได้แก่ ไหขอบปากสองชั้น จากบ้านโพนบก จ.หนองคาย, กระต่ายขูดมะพร้าว จากพิพิธภัณฑ์จ่าทวี จ.พิษณุโลก
2) เครื่องแต่งกาย ได้แก่ ผ้าแพรวา จากบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์, ตะเกา (ต่างหู) จากบ้านโชค จ.สุรินทร์
3) ของใช้ในบ้าน ได้แก่ หมอนขวาน จาก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, เชี่ยนหมาก จากบ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี
4) สันทนาการ ได้แก่ โปงลาง จาก จ.มหาสารคาม, ว่าวจุฬา จากพิพิธภัณฑ์ว่าวไทย กรุงเทพมหานคร
5) ของใช้อันเกี่ยวเนื่องการกับความเชื่อและศาสนา ได้แก่ ตาลปัตร จากวัดหนัง กรุงเทพมหานคร,
6) เครื่องมือทางการเกษตรและเครื่องมือหาปลา ได้แก่ ตุ้มปลายอน จากบ้านค้อใต้ จ.อุบลราชธานี
เมื่อกระบวนการจัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ ข้อมูลจะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ และแปลเป็นภาษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 6 ภาษา ได้แก่ ไทย เวียดนาม เขมร บาฮาซามาลายู บาฮาซาอินโดนีเซีย ลาว รวมถึงภาษาเกาหลี สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปของหนังสือและดีวีดีจะแล้วเสร็จพร้อมเผยแพร่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558