ศาลเจ้าแม่อาม่า ปากคลองบางยาง
เผยแพร่เมื่อ: 7 เมษายน 2565 |
ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 8 เมษายน 2565
ชื่ออื่น | ศาลบน, ศาลเจ้าแม่ทับทิม |
ที่ตั้งตามการปกครอง | ตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว |
ละติจูด | 13.642832 |
ลองจิจูด | 100.211918 |
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
ศาลเจ้าแม่อาม่า บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก (ชาวบ้านเรียกคลองบางยาง) ที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเขต ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว มีอายุเก่าแก่เกินร้อยปี ชาวแต้จิ๋วในพื้นที่เรียก ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลบน เป็นศาลเก่าแก่ในบริเวณปากคลองบางยาง ในสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่อพยพมาในประเทศไทย ทำอาชีพค้าขาย นำผักผลไม้ล่องเรือไปขายที่กรุงเทพฯ แต่เดิมศาลจะตั้งอยู่ในที่ดินริมตลิ่งยื่นออกไปในแม่น้ำ สร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ต่อมาเมื่อตลิ่งพังก็ย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน ชาวเรือที่แล่นผ่านศาลจะยกมือไหว้และจุดประทัดเพื่อเคารพเจ้าแม่ ทุกๆปีจะมีการจัดงาน 2 ครั้ง ในช่วงตรุษจีนและสารทจีน ปัจจุบันในช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างพฤศจิกายน น้ำจะท่วมเข้ามาในศาลเจ้า ชาวบ้านจึงต้องสร้างกำแพงปูนซีเมนต์กั้นน้ำ แต่น้ำก็จะซึมเข้ามาทางใต้ดิน ด้านข้างศาลเจ้าเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวุ้นเส้น ซึ่งเจ้าของโรงงานจะส่งคนมาช่วยดูแลทำความสะอาด และบริจาคเงินช่วยเหลือเมื่อมีงาน ทางทิศตะวันออกของศาลเจ้าอาม่า ล่องไปตามแม่น้ำท่าจีนจนถึงปากคลองภาษีเจริญ ยังมีศาลเจ้าแม่อาม่าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใน ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน อายุเก่าแก่เกินร้อยปีเช่นเดียวกัน ช่วงนี้แม่น้ำท่าจีนจะไหลวกกลับลงไปทางทิศใต้ และไหลโค้งตวัดไปทางทิศตะวันตกอีกครั้ง จนถึงชุมชนบ้านท้องคุ้ง บริเวณนี้จะมีศาลเจ้าแม่อาเนี้ยว (กวนอิม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่เดิมศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแม่ตะเคียนอายุเกินร้อยปี ชาวบ้านพบท่อนไม้ตะเคียนในแม่น้ำจึงนำขึ้นมาบูชาและสร้างศาลให้ จะพบแผ่นไม้เจว็ดที่เคยอยู่ในศาลเก่า ปัจจุบันศาลได้ย้ายเข้าไปสร้างในที่ตลิ่งไม่พัง เป็นอาคารปูนหลังมุงกระเบื้อง รูปเคารพในศาลได้แก่เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อไต้เสี่ย และหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ผู้ดูแลศาลเจ้าอาม้า เล่าถึงประวัติศาลอาม้าว่า
“รูปปั้นเจ้าแม่ทั้งสามองค์เป็นของเก่าเป็นไม้ แต่ปลวกเริ่มกิน กระถางธูปเก่า เป็นไม้สัก รุ่นโบราณ เมื่อก่อนนี้ตุ้มหูอาม้าองค์ใหญ่ คราวก่อนนั้นเป็นทองข้างละบาท หายไป หลังจากนั้น 7 วัน ถึงเอากลับมาวางไว้ที่เก่า ส่วนทองตอนนี้เขาเก็บไปแล้ว แต่ที่มันหายไปก็ไม่รู้นะว่าใครเป็นคนเอาไป ส่วนพวกตกแต่งนี่ก็เป็นของเก่าทั้งหมด แต่บางอย่างก็ใหม่ รูปปั้นกวนอูนี่ก็เก่ามาก ศาลนี่เก่าแก่มาก ยายที่อยู่ตรงปากคลองแกอายุ 102 ปี เขาตายไป 5ปีแล้ว ศาลนี้มีก่อนแกอีก แต่เดิมเป็นหลังคามุงจาก มีเรียนอักษรจีนที่ศาล แต่ก่อนแถวนี้คนจีนเยอะ สมัยก่อนตรงปากคลองนี้เรือทุกลำต้องจุดประทัดหมดนะ ถ้าไม่จุดจมเลย แล้วตรงนี้น้ำแรงมาก ตอนสมัยเด็กๆผมไม่กล้าลงเลยนะ แต่ก่อนเรือจอดเต็มไปหมดเลย แต่ก่อนนั้นตลิ่งยื่นออกไปอีก ประมาณ 4-5 เมตร ตอนนี้มันพังลงไป น้ำมันแรง”(สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559) ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่อาม้าได้รับการดูแลจากบริษัทสิทธินันท์ (โรงงานวุ้นเส้น) ผู้ดูแลศาลเจ้าเล่าว่า “เวลามีงานตรุษจีนโรงงานช่วยบริจาคเงิน 5,000 บาท ส่วนสารทจีนให้ 10,000 บาท น้ำไฟพร้อม จะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้ แม่บ้านก็ของโรงงาน เขาจัดการให้หมด เพราะโรงงานเขาอาศัยที่อาม้าอยู่ ที่นี่มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาจะทำมูลนิธิ ก็ตั้งโต๊ะรับบริจาคตรงนี้ พอตั้งเสร็จได้เวลาประมาณบ่าย ลมฝนมาพรวดเดียวหายหมดเลย โต๊ะกระจาย หลังจากนั้นเขาเลยไม่จัดอีกเลย คือถ้าตั้งมูลนิธินี่ไม่เอาเลย เจ้าแม่ไม่ต้องการเก็บเงิน มีเท่าไหร่พยายามใช้ออกให้หมด คือได้มาก็ใช้ เหลือไว้สำรองใช้จ่าย” (สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559) |
ประเภท | ศาลเทพเจ้า |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย/ลัทธิ | มหายาน |
คำสำคัญ | จีน,จีนบางยาง,จีนแต้จิ๋ว |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC) |
รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร | |
ผู้แต่ง | นฤพนธ์ ด้วงวิเศษปัณวัฒน์ ผ่องจิต |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร |
สถานที่พิมพ์ | กรุงเทพฯ |
สำนักพิมพ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |