ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

17 แห่ง

ผลการค้นหา : 17 แห่ง

วิหารโป๊ยเซียนโจวซือ อำเภอบ้านแพ้ว

วิหารโป๊ยเซียนโจวซือ ตั้งอยู่ในที่ดินของมูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์  (เม่งซวงเซี่ยงตั๊ว) ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ริมคลองดำเนินสะดวกและคลองอ้อมใหญ่ โดยตั้งอยู่ปากคลองอ้อมใหญ่ที่เชื่อมกับคลองดำเนินสะดวกประวัติความเป็นมาของมูลนิธิแห่งนี้  เริ่มเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2501 โดยการนำของคุณประวิทย์ เกษตรสิน (จิ่วฮวด แซ่กอ) ซึ่งปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว คุณประวิทย์ได้พิจารณาเห็นว่าพี่น้องชาวจีน-ไทย ที่อาศัยอยู่ในบริเวณคลองดำเนินสะดวกที่มีเขตติดต่อระหว่าง 2 อำเภอ คือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ชาวบ้านบริเวณนี้ประกอบอาชีพทำสวนและค้าขาย มีการไปมาหาสู่กันยาวนาน ผู้คนอาศัยกันอยู่หนาแน่น แต่มีสุสานสำหรับฝังศพผู้เสียชีวิตเพียงแห่งเดียว  สุสานมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ การฝังศพก็ไม่เป็นระเบียบและไม่มีการล้างป่าช้าไม่น้อยกว่า 60-70 ปี ทำให้พื้นที่ฝังศพไม่เพียงพอ คุณประวิทย์จึงได้เชิญบรรดาพ่อค้า คหบดีมาปรึกษากันเพื่อทำการล้างป่าช้าเผาศพไร้ญาติเพื่อเป็นการกุศล  ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยและแต่งตั้งให้คุณประวิทย์เป็นประธานกรรมการและจัดตั้งกรรมการขึ้น กรรมการได้ไปติดต่อกับสมาคมพุทธมามะกะการกุศลสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สำนักงานอยู่ที่ จ. ชลบุรี ทางสมาคมก็ให้ความร่วมมือด้วยดีโดยมอบให้เม่งจิงเซี่ยงตั๊ว แห่งอำเภอโพธารามเป็นพี่เลี้ยง (จู๋ตั๊ว) และทำพิธีอัญเชิญท่านโป๊ยเซียนโจวซือมาดำเนินงานเก็บศพในครั้งนี้ด้วย โดยตั้งโรงพิธีที่ลานวัดหลักห้า(วัดประสาทสิทธิ์) เริ่มพิธีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ได้รับชื่อว่า “เม่งซวงเซี่ยงตั๊ว” ในขั้นต้น และเป็นตั๊วอันดับที่ 16 ในเครือของสมาคมพุทธมามกะการกุศลสงเคราะห์ฯ สมาคมพุทธมามกะการกุศลสงเคราะห์ฯ ก็ส่งสมาชิกในเครือมาช่วยเหลือ รวมป่าช้าที่จะเก็บศพไร้ญาติในครั้งนั้นทั้ง 2 อำเภอประมาณร้อยกว่าป่าช้า ใช้เวลาเก็บศพและทำพิธีกรรมรวม 64 วัน มีประชาชนจำนวนนับหมื่นคน  เมื่อออกไปขุดศพแต่ละวันจะมีประชาชนมีจิตศรัทธาร่วมไปทำการขุดศพด้วยเป็นจำนวนหลายร้อยคน ทางตั๊วได้จัดตั้งโรงทานหุงข้าวหาอาหารเจเลี้ยงทุกมื้อเป็นเวลา 64 วัน ใช้ข้าวสารประมาณ 160 กระสอบและอาหารอื่นๆอีกจำนวนมาก อาหารและเงินเหล่านี้ได้รับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา  เมื่อเก็บศพครบหมดทุกป่าช้าแล้วก็ทำพิธีเผา นำกระดูกที่เหลือจากการเผาไปบรรจุ ณ สุสานส่วนรวม (บ้วนยิ้นหมอ) ซึ่งตั๊วลงทุนสร้างไปแสนกว่าบาท  รวมค่าใช้จ่ายในการล้างป่าชั้นครั้งนั้นประมาณ 7 แสนกว่าบาท  เงินที่เหลือจากการล้างป่าช้า นำไปสร้างตั๊วชั่วคราวขึ้นเป็นเรือนไม้โดยตั้งชื่อว่า “เม่งซวงเซี่ยงตั๊ว” มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่างๆ ช่วยทำการเก็บศพไร้ญาติ  เก็บซากสัตว์ตายตามลำคลองมาจัดการฝังเพื่อรักษาน้ำในคลองให้สะอาด ถ้าเกิดน้ำเค็มก็นำน้ำจืดออกไปแจกจ่าย ร่วมมือกับทางราชการช่วยเหลือผู้ประสบภยันตรายต่างๆ และร่วมกับสมาคมพุทธมามะกะการกุศลสงเคราะห์ทำการเก็บศพไร้ญาติตามตั๊วที่ตั้งขึ้นใหม่  นอกจากนั้น ยังเปิดเป็นโรงเจ บูชาท่านเทพโป๊ยเซียนโจวซือ นำคำสอนของเทพมาปฏิบัติ     ในแต่ละปีทางตั๊วมีค่าใช้จ่ายต่างๆเป็นเงิน 2-3 แสนบาท   เงินที่ใช้จ่ายนี้ได้มาจากผู้บริจาคบ้างและเงินรายได้จากสุสานบ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เม่งซวงเซี่ยงตั๊วได้ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งเป็นมูลนิธิ   และตั้งชื่อว่า “มูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์”  มูลนิธิได้ดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนมาตลอด จนเป็นที่เชื่อถือของประชาชนชาวดำเนินสะดวกบ้านแพ้วและจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513  มีการเก็บศพไร้ญาติขึ้นอีกครั้ง หลังจากเสร็จงาน ทางมูลนิธิฯ มีเงินเหลือประมาณ 2 แสนบาท ได้นำไปฝากธนาคารไว้เป็นทุนเพื่อขยายงานต่อไป  ในปี พ.ศ. 2514 มูลนิธิฯ ได้ซื้อที่ดินตำบลวัดโคก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี รวมเนื้อที่ 143 ไร่ เพื่อจัดเป็นสุสานเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่ง จัดสร้างศาลาพักศพ 1 หลัง เจาะบ่อน้ำบาลดาล 1 บ่อ ลงทุนเดินสายไฟสร้างถนนจากทางหลวงเข้าไปหาศาลาพักศพและอื่นๆ รวมเงินลงทุนประมาณหนึ่งล้านสามแสนกว่าบาท   ประมาณปี พ.ศ. 2517 ผู้มีจิตศรัทธา 4 ท่าน คือ 1.นายยงเกียรติ เกียรติศรีธารา 2.นายสุชาติ โชติวิทยะกุล 3.นายกำชัย ชีพชัยอิสสระ 4.นายสิงพร กายพันธุ์เลิศ ทั้ง 4 ท่านได้ร่วมกันซื้อที่ดินยกให้มูลนิธิฯ มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ สำหรับให้มูลนิธิฯใช้ก่อสร้างตั๊วถาวรขึ้น        ต่อมาในปีพ.ศ. 2520 คณะกรรมการก็มีมติเป็นเอกฉันท์จัดการสร้างตั๊วใหม่  ในกลางปี พ.ศ. 2522 ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี  ทุกๆ 10 ปี มูลนิธิฯจะจัดพิธีเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้า ซึ่งในปี พ.ศ.2560 จะมีพิธีเก็บศพไร้ญาติ ล้างป่าช้าครั้งที่ 6ซึ่งจะเริ่มวันที่ 9 มีนาคม 2560 เป็นวันทำพิธีปัดล้างมณฑลพิธีและตั้งเจ้าที่ 5 ธาตุ (อังโหงวโท้ว) และพิธีปลุกเสกผ้ายันต์ วันที่ 10 มีนาคม 2560 พิธีเชิญกระถางธูปโป๊ยเซียนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่ไปตามคลองดำเนินสะดวก ในวันนี้ชาวบ้านริมคลองดำเนินสะดวกจะตั้งโต๊ะเซ่นไหว้โป๊ยเซียนที่หน้าบ้าน เครื่องเซ่น ได้แก่ ผลไม้ น้ำชา กระถางธูป บางบ้านจะจุดประทัดเมื่อขบวนเรือของโป๊ยเซียนแล่นผ่าน   วันที่ 11 มีนาคม 2560 พิธีเชิญกระถางธูปโป๊ยเซียนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่ไปตามถนนและตลาดท่ารถ ตลาดหลักสาม วันที่ 13 มีนาคม 2560 พิธีเปิดงานเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้า วันที่ 24 เมษายน 2560 พิธีเก็บล้างป่าช้าที่สุสานเม่งซวง วันที่ 26 เมษายน 2560 พิธีชำระล้างอัฐิผู้ไร้ญาติ วันที่ 29 เมษายน 2560 พิธีเชิญอัฐิผู้ไร้ญาติสู่เตาเจดีย์ วันที่ 30 เมษายน 2560 พิธีกงเต็ก  วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 พิธีคำนับเซ่นทรวงดวงวิญญาติผู้ไร้ญาติ วันที่ 6 พฤษภาคม 2560 พิธีเก็บอัฐิบรรจุกระบุงเงิน กระบุงทอง  วันที่ 13 พฤษภาคม 2560 พิธีตอบแทนคุณท่านโป๊ยเซียนโจวซือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2560 พิธีทิ้งกระจาด พิธีส่งเทวดาฟ้าดินกรรมการมูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์ อธิบายเกี่ยวกับพิธีล้างป่าช้าว่า“พิธีล้างป้าช้าปี 2560 จะเริ่ม วันที่ 13 มีนาคม คือวันเปิดพิธี วันเปิดก็จะเชิญเจ้า มีร่างทรง เริ่มประมาณ 9 โมง มูลนิธิก็จะมีทั้งหมด 58 -59 แห่ง เวลามีอะไรก็จะช่วยเหลือกัน  เราก็ต้องบอกเขาก่อน จะมีมูลนิธิ ศาลเจ้าที่อื่นมาร่วมด้วย ประมาณ 60 ที่ อันนั้นคือศาลเจ้า เราก็จะไปเชิญเจ้าเขามา ตอนเก็บศพก็จะเป็นกระถางธูป แล้วตอนเดือน 12 จีน เขาจะมีงานตรงนี้ ก็ประมาณต้นเดือนมกราคม เขาจเรียกว่างานขอบคุณเทพเจ้า ก็จะมีพิธีไหว้เฉยๆ แต่ถ้างานใหญ่ก็คือวันที่ 13 มีนาคม เพราะ 10 ปีมีครั้งเดียว   ก่อนถึงวันที่ 13 ก็จะไปขอขี้ธูปแต่ละศาลเจ้ามา มาตั้งกระถางธูป ให้ประชาชนได้ไหว้ อันนี้คือเจ้า ส่วนพิธีการที่เก็บศพ ไม่ใช่วันที่ 13 จะต้องเลยไปประมาณ 4-5 วัน  วันที่ 13 ก็จะตั้งกระถางธูป เชิญ 8 เซียนเข้า งานนี่ระดับประเทศ ต้องเตรียมเป็นปี ถึงครั้งที่ 6 เราก็เริ่มรู้งานแล้วในบางส่วน บางส่วนเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว คนที่รู้งานจริงๆก็ยังพอมีอยู่ สิ่งแรกคือเจ้าต้องกำหนดลงมาด้วย ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านทำ กรรมการทำ มันก็อีกอย่างหนึ่ง แต่พิธีการตรงนี้เจ้าเป็นผู้กำหนด อย่างพิธีที่ว่าเจ้าจะกำหนดว่าให้เปิดวันนี้ แล้วปิดวันนี้     ที่นี่เป็นมูลนิธิที่เดียวในประเทศที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง เพราะที่อื่นจะอยู่ในอำเภอ ในจังหวัด ที่นี่เป็นลำดับที่ 16 ของตระกูลเม้ง หมายถึงว่าคนแรกเขานับถือเป็นพี่   ตั๊ว(โรงเจ)แรกที่จัดเก็บศพครั้งแรกเขาก็จะนับถือเป็นพี่ ตั๊วแรกก็จะมาช่วยตั๊วที่สอง ก็ช่วยกันไปเรื่อยๆ เพราะทำครั้งแรกจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ต้องเชิญมาทำพิธีให้ เขาจะรู้พิธีการมากกว่า   ปีนี้คิดว่าจะแห่ทางเรือและทางบก จะแห่สองวัน แต่ก่อนจะแห่ทางเรือแล้วเอารถไปรอแล้วก็แห่ในตลาด วนตลาด  ชาวบ้านเขาก็ชอบ เขาจะตั้งผลไม้ไหว้ คล้ายๆกับการแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร” (สัมภาษณ์  26 ตุลาคม 2559) มูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์ มีวิหารโป๊ยเซียนโจวซือหรืออี่เยี่ยงไท้ เป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน ชั้นล่างมีรูปเคารพ เทพเจ้าหลายองค์ ได้แก่ ซำเสี่ยฮุกโจ้ว ชั้นบน ได้แก่ โป๊ยเซียนโจวซือ หรือแปดเทพ ตามความเชื่อในลัทธิเต๋าของจีน แปดเทพเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือมาช้านาน นับเป็นหนึ่งในบรรดาเซียนนับร้อย ๆ องค์ของจีน  ในสังคมไทยเซียนทั้งแปดประกอบด้วย หลี่ขาเหล็ก, จงหลี ฉวน, พระมาตุลาเฉา, ปราชญ์หัน เซียง, นางฟ้าเหอ, หลัน ไฉ่เหอ, อาวุโสจัง กัว, และ ลหฺวี่ ต้งปิน  ในภาจีนกลาง  ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และจีนแต้จิ๋ว  ชื่อของเซียนทั้งแปดมีการเรียกแตกต่างกัน (ดูตารางข้างล่าง)   ชาวจีนเชื่อว่าเซียนทั้งแปดองค์นี้เป็นผู้อำนวยโชคลาภและความร่ำรวย ซึ่งแต่ละองค์มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แตกต่างกันไปในพิธีเก็บศพไร้ญาติและล้างป่าช้าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน โดยจะมีพิธีกรรมตามขั้นตอนหลายพิธี พิธีกรรมในช่วง 5 วันแรกจะจัดติดต่อกัน  ได้แก่  ในวันแรกจะเป็นการทำพิธีเชิญเทพเจ้าแปดเซียนมาประทับทรง เพื่อทำการล้างมณฑลพิธี (เจ้งโจ้ว) และทำพิธีตั้งเจ้าที่ 5 ธาตุ วันที่สองจะเป็นการทำพิธีปลุกเสกผ้ายันต์ วันที่สาม  ทำพิธีเชิญกระถางธุปของโป๊ยเซียนโจวซือทั้งแปดและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และแห่ไปตามลำคลองดำเนินสะดวก   วันที่สี่ ร่างทรงโป๊ยเซียนโจวซือทำพิธีตั้งแท่นบูชาฟ้าดิน ขึ้นโคมประทีป และปลุกเสกน้ำมนต์ ในตอนสายประธานในพิธีจะเปิดแพรคุมป้ายงานเก็บศพไร้ญาติ หลังจากนั้นผู้ร่วมงานจะเชิญกระถางธูปขึ้นประดิษฐานที่แท่นบูชา จากนั้นในช่วงเย็นจะมีการสวดเปิดมณฑลพิธี เชิญพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าต่างๆมาประทับในพิธี  วันที่ห้า ทำพิธีขึ้นธงดวงวิญญาณหน้ามณฑลพิธี เจิมของมงคล และกำหนดจุดสร้างเตาเจดีย์  หลังจากนั้นจะเว้นไปอีก 2 วัน จะเริ่มพิธีกรรมขั้นที่หก คือ พิธีเปิดอ่างน้ำมนต์ มีการแห่ขบวนโป๊ยเซียนโจวซือไปยังสุสาน เมื่อถึงสุสานแล้วจะทำพิธีเปิดป่าช้า อีกห้าวันต่อมาจะมีพิธีขั้นที่เจ็ด คือ พิธีเก็บล้างป่าช้าที่สุสาน วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเชิญดวงวิญญาณไร้ญาติเดินบนท้องถนนและคลองดำเนินสะดวก  วันต่อมาจะเป็นพิธีเชิญดวงวิญญาณไร้ญาติไปตามลำคลองบ้านแพ้ว ตอนเย็นจะเป็นพิธีปิดการขุดล้างป่าช้า  อีกสองวันต่อมาจะทำพิธีชำระล้างอัฐิผู้ไร้ญาติ วันต่อมาจะเชิญอัฐิผู้ไร้ญาติขึ้นสู่เตาเจดีย์ ช่วงเย็นจะเป็นการเชิญเทพโป๊ยเซียนโจวซือมาทำพิธีปิดล้างหอประกอบพิธีกงเต็ก  วันต่อมาในตอนค่ำจะเป็นพิธีกงเต็ก และเชิญดวงวิญญาณผู้ไร้ญาติและวิญญาณบรรพบุรุษข้ามสะพานโอฆสงสารทั้ง 7 ทวีป  วันต่อมาจะทำพิธีเชิญดวงวิญญาณผู้ไร้ญาติและวิญญาณบรรพบุรุษข้ามสะพานโอฆสงสารทั้ง 7 ทวีป  เป็นครั้งที่สอง วันต่อมาในช่วงสาย เป็นการทำพิธีกงเต็ก และพิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ ในตอนค่ำจะทำพิธีแห่พยุหะกุมารทอง (เจ้ากิมท้ง เง็กนึ่ง อี่มัวก่ง)  อีกสามวันต่อมาจะทำพิธีคำนับเซ่นสรวงดวงวิญญาณผู้ไร้ญาติ ตอนบ่ายจะมีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ พระสงฆ์สวดมาติกา ทอดผ้าบังสกุล และพิธีประชุมเพลิง อีกสองวันต่อมา จะทำพิธีเก็บรวบรวมอัฐิธาตุใส่กระบุงเงิน กระบุงทอง วันต่อมาจะทำการหาบแห่อัฐิไปยังอนุสาวรีย์ ณ สุสานของมูลนิธิฯ เมื่อถึงสุสานจะทำการบรรจุอัฐิ  วันต่อมาจะเชิญท่านโป๊ยเซียนโจวซือ ประกอบพิธีแสวงหาน้ำทิพย์  วันต่อมาจะเชิญท่านโป๊ยเซียนโจวซือ ประกอบพิธีสรรหาใบชาทิพย์เพื่อบูชาคุณรัตนตรัยและเทพเจ้าทั้งหลาย  อีกสองวันต่อมาจะทำพิธีตอบแทนคุณเทวาฟ้าดิน คุณพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันต่อมา จะทำพิธีตอบแทนคุณท่านโป๊ยเซียนโจวซือ ตอนเย็นจะทำพิธีลอยกระทง เชิญธงแดงขึ้นเสา วันต่อมา ทำพิธีโยคะตันตระเปรตพลี หรือการเทกระจาด ตอนเย็นจะทำพิธีส่งเทวาฟ้าดิน พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าทุกองค์กลับพุทธภูมิ  ตอนกลางคืนจะทำพิธีขอบคุณเจ้าที่ 5 ธาตุ วันสุดท้าย จะทำพิธีเบิกทวารองค์อนุสาวรีย์ และพิธีคำนับเซ่นสรวงต่ออนุสาวรีย์ โรงเจของชาวจีน มีหน้าที่ทำงานงานการกุศล สงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน ที่โรงเจของมูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์ก็เช่นกัน กรรมการมูลนิธิฯ อธิบายว่า “การแจกทานเป็นกิจวัตรของเราอยู่แล้ว ที่ไหนเกิดอัคคีภัยก็ไปช่วย ผู้ยากไร้ที่ไม่มีโลงศพเขาก็มาขอได้ เราก็ช่วยเงินไปหน่อยหนึ่ง อย่างนักเรียนยากจนเราก็มีทุนให้เขา นี่สิ่งที่ต้องทำทุกปี ถามว่าค่าใช้จ่ายเยอะไหม มันก็เยอะ กรรมการนี่เข้ามาด้วยใจ มีบริจาคเงินบ้าง อย่างเก็บศพก็ลงทุนเยอะ ช่วยทั้งกาย ใจ เงินด้วย แล้วมูลนิธิจะเอาเงินที่ไหน มันมีแต่รายจ่าย ก็ต้องรับเงินบริจาค แต่รายรับก็มีบ้าง ถ้าเวลาจัดงานมีเงินเหลือเยอะ คราวที่แล้วครั้งที่ห้า ก็ซื้อที่ธนาคารกสิกรเปิดโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาหลักห้า คือซื้อตึกกับที่ดินให้เขา  สร้างเพื่อให้คนที่ไม่ต้องเดินทางไกล ทุกวันนี้ที่บ้านแพ้วรับจากดำเนินสะดวกมา 20,000 กว่าคน เพราะตรงนี้มันเหมาะ ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลใหญ่ ไม่ต้องเดินทาไกล โรคผู้สูงอายุ ความดัน เบาหวาน เอายาที่ตรงนี้ เราก็มีหมอประจำทุกวันอยู่แล้ว ก็ซื้อตรงนี้ คือมีผลประโยชน์ตกที่คนท้องถิ่น” (สัมภาษณ์  26 ตุลาคม 2559)

ศาลเจ้าพ่อกิ๋วเทียงเนี้ยว อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าพ่อกิ๋วเทียงเนี้ยว ตั้งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ต.หนองบัว อ.บ้านแพ้ว

ศาลเจ้าพ่อสำเร็จ โรงเจไท้เอ็กตั๊ว อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าพ่อสำเร็จตั้งอยู่ริมคลองเจริญยิ่ง ห่างจากคลองดำเนินสะดวกเข้ามาตามคลองเจริญยิ่งประมาณ 200 เมตร ใน ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มีอายุเก่าแก่ราว 100 ปี พื้นที่บริเวณนี้มีชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูกผักผลไม้ ประวัติของศาลเจ้าพ่อสำเร็จเกี่ยวข้องชีวิตของนายจื้อ ตั้งนาวา เป็นคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในสมัยวัยรุ่น นายจื้อเคยหมดสติไปเจ็ดวัน ซึ่งญาติพี่น้องคิดว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่  โดยนายจื้อบอกว่าได้รับการติดต่อจากเจ้าพ่อสำเร็จให้รับเป็นร่างทรงเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อนายจื้อเป็นร่างทรงแล้วก็เริ่มสร้างรูปปั้นเจ้าพ่อองค์เล็กในท่านั่งสมาธิ มือขวาถือธง มือซ้ายกำมือและชี้นิ้วไปข้างหน้า พร้อมสร้างศาลขึ้นมา  เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆ และปรับปรุงแก้ไขจนกลายเป็นศาลขนาดใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่จะมาขอให้นายจื้อเข้าทรงเจ้าพ่อสำเร็จเพื่อให้ช่วยรักษาโรค บอกชื่อยาสมุนไพรเพื่อนำไปปรุงกินรักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยก็จะกลับมาบริจาคเงินเพื่อปรับปรุงศาลเจ้าและสร้างโรงเจในปี พ.ศ.2502 เมื่อชื่อเสียงของเจ้าพ่อสำเร็จแผ่ขยายออกไป คนต่างถิ่นทั้งพ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็จะเดินทางเข้ามาให้เจ้าพ่อช่วยเหลือ โดยเฉพาะขอให้ได้โชคลาภ ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง และประสบความสำเร็จในการทำมาหากิน การทำธุรกิจ ค้าขาย และอาชีพการงานต่างๆ ลูกชายของนายจื้อ เล่าว่า“สมัยก่อนท่านจะมีชื่อว่า เจ้าพ่อสำเร็จสุขลา ก็คือ สุข แล้วก็ ลา คือความหมายของท่านก็คือลูกหลานมีสุขแล้วก็ต้องลาจาก ทีนี้องค์ที่มาต่อจากท่านที่เป็นลูกศิษย์ของท่านก็ตัดเอาคำว่า สุขลา ออก ก็เหลือแต่เจ้าพ่อสำเร็จ  พอท่านลงมาใหม่ก็เอาสองคำหลังออก เพราะท่านบอกแต่แรกแล้วว่านามท่านไม่เปิดเผย เต็มที่ก็เรียกได้แค่ องค์ 1 องค์ 2 องค์ 3 องค์ 4 ได้แค่นี้ แต่ในนามของโรงเจก็หลวงพ่อสำเร็จนี่ กว่าท่านจะมาได้ ท่านไม่รับปาก เพราะท่านบอกว่าในเมืองมนุษย์มันลำบาก แล้วมนุษย์ปลิ้นปล้อน  เทพเลยไม่อยากมาในเมืองมนุษย์   ลูกศิษย์เขามาครั้งแรกก็อยากจะได้เห็นรูปจำลองของท่าน ทีนี้ท่านก็บอกกับคนที่ปั้น ซึ่งเป็นคนจีนโบราณ เป็นช่างแล้วก็รับจ้างทำสวนสมัยก่อน เมื่อก่อนช่างปั้นยังไม่มี จะเป็นช่างไม้ส่วนใหญ่ แต่ทีนี้ท่านบอกว่าไปนั่งสมาธิในห้องเงียบๆมืดๆ เดี๋ยวจะปรากฏภาพให้เห็นตามนั้นแล้วกัน พอเขานั่งสมาธิเสร็จ เขาก็บอกท่านว่าเห็นแล้ว จำไว้ ท่านก็ให้เห็นแค่ครั้งเดียว แล้วก็ปั้น 3 องค์”(สัมภาษณ์ 24 กุมภาพันธ์ 2560)“คุณพ่อผมท่านเป็นร่างทรง  ท่านทรงตั้งแต่อายุ 17 จนตอนนี้จะ 80 แล้ว  แกสลบไป 7 วัน เหมือนกับตายไปแล้ว 7 วัน พอดีช่วงนั้นปู่กำลังจัดงานศพอากง แล้วทีนี้ลูกดันมาตายอีก ก็เลยเอาศพไปซ่อนไว้หลังบ้าน จากนั้นก็ฟื้นขึ้น เจ้าเข้า องค์ท่านเข้ามาก็บอกว่าจะมารักษาคน  รักษาคนมาเยอะ หายเยอะ เราก็เจอกับตัวเองหลายรอบ เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องรถ แต่มีผ้ายันต์ท่านติดตัว ลูกสาวเมื่อ 2 ปีที่แล้วรถยนต์ไปชนกับรถ 18 ล้อ รถนี่ขายซากไปได้ 1 แสนกว่าบาท รถนี่แบนเลย แต่ตัวลูกไม่เป็นอะไรเลย แล้วท่านจะบอกว่าปีนี้มีเคราะห์นะ อย่าไปไหนให้อยู่กับบ้าน เรื่องแคล้วคลาดนี่สุดยอดเลย แล้วก็ทำมาหากิน คนที่จะมาหาท่านเนี่ย ถ้าไม่ดูแลพ่อแม่ ท่านบอกว่าไม่ต้องมาหาหรอก ต้องไปดูแลพ่อแม่ให้ดีก่อน   จากนั้นก็รักษาคนเป็นแสนคน วันหนึ่งคนมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิก 4 ทุ่ม ประทับทรงนะ ไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย  อยู่ได้ไงไม่รู้ทรงแบบนั้นประมาณ 20 กว่าปี   เดี๋ยวนี้ เข้าทรงวันอาทิตย์ เดือนละครั้ง วันชิวอิกจีน (วันพระจีน) ไม่ค่อยทรงนานเท่าไหร่แล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมงก็เลิก  อายุเยอะแล้ว  ท่านทรงแล้วก็หลับตา แล้วก็เคี้ยวหมากตลอดเวลา แล้วก็กลืนเข้าไป ไม่มีคาย  ที่นี่มีหลายองค์ เจ้าพ่อเขาเขียว เจ้าพ่อลิงลม อย่างเจ้าพ่อลิงลมพอเข้าทรงแล้วตีลังกา เตี่ยอายุ 80 ยังตีลังกาอยู่เลย เกาจนตัวแดงเลย แล้วก็ทรงหลายร่าง แล้วเสียงก็เปลี่ยนไปด้วย หลับตาตลอด ไม่มีลืมตาเหมือนที่อื่น  ชาวบ้านจะมาให้ช่วยรักษาโรค สมัยก่อนไม่มีโรงพยาบาลเพราะมันมีน้อย คนก็จะเอาเด็กมากวาดยาบ้าง บางคนโรงพยาบาลผ่าท้องมา ให้ไปตายที่บ้าน ความหวังสุดท้ายลองมาเสี่ยงดูที่โรงเจ พายเรือมาประมาณ 2 วัน กว่าจะมาถึงนี่ เพราะเมื่อก่อนนี้รถมาไม่ถึง ก็รักษาด้วยสมุนไฟร ทั้งทา ทั้งกิน ก็หายเยอะนะ โรควัณโรคมารักษาที่นี่หาย แล้วโรคดีซ่านก็หาย   เราก็เขียนเป็นใบยาให้เขาไปซื้อ แล้วก็มีผ้ายันต์ประทับตรา แล้วก็นำยันต์นี้ลงไปต้มด้วย ส่วนใหญ่เขาเชื่อกัน เพราะทำแล้วหาย เรารักษาไม่ได้เรียกร้อง” (สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม 2559)"ปัจจุบันพ่อก็ยังทรงอยู่ ตอนนี้ก็น่าจะทรงองค์ที่ 4 ท่านจะสลับกันมา เพราะแต่ละองค์จะมีวาระของท่าน ลงมาแล้วอยู่กี่ปี แล้วก็จะกลับ แต่ว่าก็ยังใช้ร่างเดิม ของที่นี่คนทรงเขาไม่เปลี่ยน เคยขอเขาแล้วว่าตอนนี้คนทรงอายุเยอะแล้ว ขอเปลี่ยนได้ไหม เขาไม่ให้เปลี่ยน ท่านบอกว่าจนกว่าชีวิตจะหมดวาระ  ตอนนี้ทูตในร่างก็เหลือ 3 อีกทูตไม่อยู่ แล้วเวลาท่านทรงก็จะไม่ลืมตา จะหลับตาตลอด สิ่งที่เราขอ เราก็ได้หมด เพราะตอนนี้เรามาตอบแทนท่าน เพราะสิ่งที่เราขอเราได้ไปหมดเกือบทุกอย่าง อย่างเราว่างเราก็จะแวะมา เป็นกรรมการฝ่ายแนะนำดูแลแขก ก็จะมาดูแลตรงนี้ อย่างที่เราเห็นหลวงพ่อสำเร็จเนี่ย ท่านก็จะสอนให้เราทำความดีทุกอย่าง ถ้ามาอยู่ในนี้ก็จะรู้ว่าที่นี่ไม่มีผลประโยชน์อะไรทั้งนั้น แล้วทุกคนที่หยอดเงินในตู้ที่นี่ไม่ว่าจะเท่าไหร่ก็จะเกิดบุญ เพราะว่าเงินที่ท่านหยอดก็เอาไปปลดหนี้ เพราะว่าโรงเจไม่เคยมีตังค์เหลือ มีคนออกเงินตรงนี้ให้กับท่าน 40 ล้าน ท่านไม่รับ ท่านบอกว่ามันไม่ได้ จะช่วยเท่าไหร่ก็บอกมา คนอื่นที่มาจะได้ร่วมทำบุญ ก็จะได้เป็นการปลดหนี้ ถ้าเกิดว่าเอาเงินไปไว้ในธนาคาร 30 ปีตายไป บุญมันก็ไม่เกิด เงินมันก็อยู่ในแบงค์ มันไม่ได้ใช้ ท่านก็จะบอกมาแบบนี้นะ 1 บาทก็ได้บุญแล้ว  ท่านสอนให้ทุกคนคิดดี ทำดี ลูกศิษยที่นี่ต้องคิดดีทำดี ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด พลเอกมาขึ้นที่นี่เพียบ แต่มาในที่นี่ต้องเท่าเทียมกัน เพราะท่านสอนเสมอว่าทุกคนตายแล้วก็เหม็นทุกคน มาอย่างไรกลับไปแบบนั้น มีอย่างเดียวคือความดีที่เราสะสมและสร้างไว้” (สัมภาษณ์ 24 กุมภาพันธ์ 2560)ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการหล่อรูปเหมือนองค์เจ้าพ่อสำเร็จองค์ใหญ่สูง 99 นิ้ว ประดิษฐานบนศาลเจ้าพ่อสำเร็จ เปิดให้ประชาชนได้มากราบขอพร เจิมหน้าผากเปิดดวง โดยนำหน้าผากไปแตะกับนิ้วชื้ของเจ้าพ่อและอธิษฐานขอให้สมหวังและประสบความสำเร็จ   ในปี พ.ศ.2559 มีการปลุกเสกเจ้าพ่อสำเร็จขนาดบูชา 9 นิ้ว โดยร่างทรงจะเชิญเจ้าพ่อสำเร็จมาประทับร่างเพื่อทำพิธีปลุกเสก ในวันที่ 15 กันยายน ปี พ.ศ. 2559 ตรงกับวันไหว้พระจันทร์  โรงเจไท้เอ็กตั๊ว ศาลเจ้าพ่อสำเร็จได้ทำพิธีบวงสรวงใหญ่ อัญเชิญองค์เจ้าพ่อกวนอู (เทพเจ้าแห่งชัยชนะและความซื่อสัตย์) องค์ใหญ่ที่สุด สูง 9 เมตร ประดิษฐานบนหลังคาของศาลเจ้า ถือเป็นรูปปั้นเจ้าพ่อกวนอูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ลูกชายร่างทรงอธิบายว่า “รูปปั้นกวนอูนี่สร้างที่นครปฐม สร้างประมาณ 2 ปีถึงจะเสร็จ ใช้เครน 100 ตัน ขนมา   เจ้าพ่อกวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งชัยชนะ คือเทพเจ้าที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ก็จะชนะ แล้วก็ความซื่อสัตย์ ท่านมีความซื่อสัตย์ สิ่งที่ไม่ดีจะได้ไม่เข้ามา แล้วคนที่ชอบเสี่ยงดวงก็มาขอพรได้ เพราะว่าไปรบแล้วก็ชนะเมื่อเดือนที่แล้ว (กันยายน 2559) มีพวกนายทหารประมาณ 50-60 คนมา พลเอกหลายสิบคน” (สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม 2559)นอกจากนั้น โรงเจไท้เอ็กตั๊วยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายชนิด ได้แก่  เจ้าแม่กวนอิม, ฮก ลก ซิ่ว, พระพุทธรูป, พระสีวลี, ศาลทีกง ฟ้าดิน, พระแม่ธรณีบีบมวยผม, พระพิฆเณศวร์, เทพเจ้าเต่า และ รูปจำลองพระเกจิอาจารย์ ชื่อดังของเมืองไทย 9 รูป บริเวณชั้นล่างของศาลเจ้าจะมีห้องพักประมาณ 30 กว่าห้องสำหรับผู้มีมาปฏิบัติธรรมถือศีลกินเจ ด้านข้างศาลมีศาลายิ่งดี เป็นอาคารเอนกประสงค์ใช้สำหรับจัดงาน ผู้ที่จะมาใช้สถานที่จัดงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา  ในช่วงเดือนตุลาคม โรงเจไท้เอ็กตั๊วจะจัดงานถือศีลกินเจ มีการสวดมนต์เย็น พิธีไหว้ซาลาเปา  การเดินธูป  พิธีเผาส่งเสื้อผ้าให้เจ้าพ่อฮุกโจ้   ในช่วงเดือนธันวาคม ศาลเจ้าจะจัดงานแซยิดเจ้าพ่อสำเร็จ และในเดือนมีนาคมจะจัดงานประจำปีเป็นเวลา 3 วัน มีการปิดทองเจ้าพ่อสำเร็จ มีการแจกทาน ข้าวสารและของรางวัลมากมาย รวมทั้งการแสดงมังกรและงิ้ว  นอกจากนั้น โรงเจไท้เอ็กตั๊ว ยังจัดทำผ้ายันต์องค์เจ้าพ่อสำเร็จและเจ้าพ่อกวนอู รุ่นชนะลูกเดียวสำเร็จทุกเรื่อง แจกให้กับประชาชนที่มาไหว้ลูกชายร่างทรงอธิบายการทำประโยชน์ของโรงเจว่า “เป้าหมายของที่นี่คือเป็นโรงทาน มีการแจกข้าวสาร มีแจกพันธุ์ไม้ เช่นคนมีคันนาอยู่ โรงเจก็จะไปจัดให้บ้านนี้สัก 20 กิ่ง ปลูกแล้วก็ตอนไปขยายพันธุ์ต่อ ก็จะมีพันธุ์ไม้หลายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ดีๆ  คือโรงเจสร้างมาแล้วต้องทำประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่สร้างมาแล้วไม่มีประโยชน์ต่อสังคม ท่านก็สั่งมาแบบนี้ บางครั้งก็ไปเขาบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง ไปที่กันดารๆ เอาของไปแจก   ตอนกินเจคนเต็มไปหมด รถเต็มไปหมดที่นี่ อาหารที่นี่กินทั้งวันทั้งคืน ผัก 25 ตัน วันอาทิตย์วันเดียว ซื้อมาจากตลาดศรีเมือง ต้องเอาหกล้อเข้ามา 2 คัน” (สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม 2559)

ศาลเจ้าสำนักไต่เสี่ย อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าสำนักไต่เสี่ย อยู่ใน ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว สร้างมาประมาณ 40 ปี เป็นอาคารไม้ใช้เป็นตำหนักของร่างทรงเจ้าพ่อไต่เสี่ย หรือเจ้าพ่อเห้งเจีย ร่างทรงเป็นหญิงวัย 70 ปี

ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์ อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าแม่กวนอิม ภายในมูลนิธิแพร่ศีลธรรมการกุศลสงเคราะห์ (เม่งซวงเซี่ยงตั๊ว) ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ริมคลองดำเนินสะดวกและคลองอ้อมใหญ่ โดยตั้งอยู่ปากคลองอ้อมใหญ่ที่เชื่อมกับคลองดำเนินสะดวก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิ)

ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดคลองตันราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านแพ้ว

วัดคลองตันราษฎร์บำรุง ต.เกษตรพัฒนา อ.บ้านแพ้ว ที่อยู่บริเวณจุดตัดของคลองตันกับคลองมะพลับ ภายในวัดมีศาลประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อต่าง ๆ รวมถึงศาลเจ้าแม่กวนอิม ที่ตั้งอยู่ติดกับศาลของพระพิฆเนศ และพ่อปู่ฤาษี

ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดฟุ้งประชาธรรมาราม อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดฟุ้งประชาธรรมาราม(ดอนราว) ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ทางวัดจะจัดงานทิ้งกระจาดและพิธีสักการะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ประชาชนจะมารับของแจกทานจำนวนมาก พิธีในตอนเช้าจะมีการสวดมนต์โดยคณะสงฆ์จีน เวลา 10.00 น. มีพิธีถวายพุทธบูชา เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล เวลาเที่ยง มีพิธีโยคะตันตระเปรตพลี และเวลา 16.30 น. มีการแจกทานแก่ผู้ยากไร้

ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดศรีเพชรพัฒนา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าแม่กวนอิมวัดศรีเพชรพัฒนา ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว ตั้งอยู่ริมคลองวัดศรีเพชร ที่เชื่อมระหว่างคลองคันพนัง คลองสุนัขหอน และคลองดำเนินสะดวก

ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว

วัดสวนส้ม ตั้งอยู่ริมคลองดำเนินสะดวกฝั่งทิศใต้ ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว ภายในวัดมีศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลโปร่ง ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมปางต่าง ๆ และบริวาร บนบ่อน้ำ

close