ศาลพ่อปู่เทพา
เผยแพร่เมื่อ: 4 พฤษภาคม 2564 |
ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 8 เมษายน 2565
ที่ตั้งตามการปกครอง | ตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว |
ละติจูด | 13.599023 |
ลองจิจูด | 100.129693 |
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
ศาลพ่อปู่เทพาตั้งอยู่ในวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม ตำบลหลักสาม ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ลักษณะศาลสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร มีบันไดพาดด้านหน้า บนศาลมีรูปปั้นพ่อปู่โพกผ้าสีแดง วางอยู่บนแท่นบูชา รวมทั้งรูปเคารพอื่นๆ เช่น รูปปั้นเทวดา พระพิฆเนศ พระพรหม กุมารทอง ฯลฯ ชาวบ้านมักจะมากราบไหว้เพื่อขอโชคลาภ แต่เดิมศาลพ่อปู่เทพาตั้งที่อยู่ริมคลองดำเนินสะดวก แล้วย้ายมาสร้างใหม่ข้างโบสถ์เก่าของวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม มีเรื่องเล่าว่า เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยารามองค์เก่าไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีสางเทวดา จึงสั่งให้เผาศาลทิ้ง จนทำให้เจ้าอาวาสมีอันเป็นไปและมรณภาพลง เจ้าอาวาสองค์ใหม่จึงสร้างศาลขึ้นมาใหม่ (หลังปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.2545 อยู่บริเวณข้างเมรุเผาศพ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม เล่าประวัติของศาลพ่อปู่เทพาว่า “ตอนนั้นฉันซ่อมโบถส์เก่า เป็นไม้สักทั้งหมดเลย จะทำใหม่แล้วยกดีดขึ้นมาเป็นสองชั้น เผอิญว่าศาลมันอยู่ข้างๆโบถส์เก่า มันเกิดที่เขา เราก็จะขยายทำบ่อล้อมรอบ ศาลดั้งเดิมก็เป็นศาลไม้เล็กไม่ใหญ่ ทีนี้เขาก็รู้เข้า ก็เข้าร่างโยม ก็มาเรียกเราไป ก็ปูอาสนะให้เรานั่ง เราก็ถามว่า ปะโหนก ฉันจะทำโบถส์ให้ดีขึ้น ซ่อมให้ดีขึ้น แล้วก็เป็นสองชั้น เขาก็บอกว่า ท่านย้ายฉันมา 5 ครั้งแล้ว เผามาแล้ว 1 ครั้ง เราก็บอกว่าย้ายมาตั้งแต่รุ่นไหน ฉันไม่ได้เป็นคนย้าย เพราะแต่ก่อนเขาอยู่ริมคลอง แล้วมัคทายกเก่าๆก็ย้ายมา แล้วมีเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 หลวงพ่อต่วน เจอศาลเจ้าที่ไหนเฮี้ยนๆ ท่านให้ลูกศิษย์ประชุมเพลิงซะ เผาเลย สมาธิท่านแกร่งกล้า ไม่มีปัญหา ทีนี้มันมีปัญหาคือที่วัด คงจะให้ลูกศิษย์ไปเผา มันมีหมูตายอยู่ตัวหนึ่ง ฉันก็ยังเกิดไม่ทันนะ ก่อนปี 2500 ก็หมูมันหล่นมาเจอเรือโยงก็เอามาเลี้ยง ตอนหลังมันตาย หลวงพ่อก็เลยให้เผาหมูด้วย เผาศาลด้วย ลูกศิษย์ตายไป 2 คน แล้วตอนหลังท่านก็พลาดพลั้งป่วย เขาก็เล่นงาน พ่อปู่ก็เอาจนตายเหมือนกัน ร่างทรงก็บอกว่า เนี่ยเผาชั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เราก็บอกว่าเราไม่ได้เป็นคนเผา คนที่เผาเขาตายไปหมดแล้ว ยังจะมาเอาเวรเอากรรมกันอีกหรือ เขาบอกว่าเขาไม่ยอม เขาอยู่มาเป็นพันปี เราก็ถามว่าอยู่เป็นพันปีนี่อยู่ที่ไหน เขาก็บอกว่าอยู่บนยอดหญ้า มันก็มีเทวดาบนยอดหญ้า พระอานนท์เกิดเป็นเทวดาบนยอดหญ้า อยู่วิมานบนยอดหญ้า ก็ตรงกับพระสูติ ฉันก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะทำการย้ายให้ใหม่ จะขอใช้ที่ เขาก็บอกว่าไม่ว่าหรอกนะถ้าย้ายใหม่ แต่ขอเป็นไม้สักทั้งหลัง เราก็ทำให้ละกัน คนเขามาขอหวยกันบ่อย ถึงเราเชื่อยากแต่ก็ไม่ลบหลู่ ต่างคนต่างอยู่ แผ่เมตตาให้ ก็เคยนะมีพระที่วัดสวดปาติโมกข์ บางทีก็มากระตุกขาหลวงตา ก็มีการเข้าทรงถามว่ามากระตุกขาทำไม เขาก็บอกว่าท่านสวดปาติโมกข์ได้บุญเยอะ ท่านไม่แผ่เมตตาให้เราหน่อยเหรอ ทวงบุญคุณกันอีก มาขอบุญกุศล คนผ่านไปผ่านมาก็บีบแตรข้างถนน พวกนาคมาบวชก็ต้องมาขอขมาเขา แล้วโยมเวลาเขามาเลี้ยงก็จะให้สำหรับหนึ่ง คาว หวาน” (สัมภาษณ์ 14 ธันวาคม 2559) |
ประเภท | ศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่น/เจ้าที่ |
ศาสนา | วิญญาณนิยม |
คำสำคัญ | มอญ,มอญเจ็ดริ้ว |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC) |
รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร | |
ผู้แต่ง | นฤพนธ์ ด้วงวิเศษปัณวัฒน์ ผ่องจิต |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร |
สำนักพิมพ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |