ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์
14 แห่ง
วัดบางกระเจ้า เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด เอกสารหนังสือรับรองวัดระบุว่า วัดบางกระเจ้า ตั้งเมื่อ พ.ศ.2338 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2376 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 36) อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2467 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น ด้านหน้าและหลังทำเป็นหลังคาลดชั้นยื่นออกมา รองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนหกเหลี่ยมด้านละ 4 ต้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาปั้นปูนประดับกระจกสี หน้าบันมุขด้านหน้าปั้นปูนประดับกระจกทำเป็นกนกนาคล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปพานพุ่มประดับกระจกสีลายธงชาติ ด้านล่างเป็นไม้ฉลุลายทรงสามเหลี่ยม มีประตูทางเข้าทั้งสองด้าน ด้านละ 2 ประตู บานประตูทาสีแดงไม่มีลวดลาย ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 4 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดงกรอบเหลือง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะรัตนโกสินทร์ โดยรอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาทรงดอกบัวล้อมรอบภายในมีเสมาทาสีทองปักอยู่ ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์ ได้รับการซ่อมแซมใหม่และทาสีทองทั้ง 3 องค์
สภาพปัจจุบันของวัดสามัคครศรัทธาราม ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ พื้นที่วัดถูกล้อมรอบไปด้วยชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันตกติดคลองโกรกกรากซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำท่าจีน ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดถนนซอยธรรมคุณากรซอย 2 ถัดไปเป็นที่ดินเอกชน ที่ดินตั้งวัดมี 15 ไร่ 47 ตารางวาวัดสามัคคีศรัทธาราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2435 โดยมีนายเฉย เป็นผู้ถวายที่ดิน ตั้งเป็นสำนักสงฆ์อยู่ได้ประมาณ 20 ปี ก็ร้างไป ต่อมาในปี พ.ศ.2464 ได้มีนายศุกร์-นางเรียง ช้างสีนวล ได้สร้างอาคารเสนาสนะขึ้นใหม่ และนิมนต์พระปูมาเป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณะและพัฒนาวัดมาจนปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2508 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองเท่าที่ทราบคือ รูปที่ 1 พระสิน (พ.ศ.2437-2499) รูปที่ 2 พระเชื้อ (พ.ศ.2499-2502) รูปที่ 3 พระครูสุวัฒน์สาครกิจ (พ.ศ.2502-2536) รูปที่ 4 พระอธิการทองดี ปิยวณฺโณ (พ.ศ.2537-2543) รูปที่ 5 พระอธิการสมนึก ขนฺติโสภโณ (พ.ศ.2544) (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 79) และ พระครูสาครพิสุทธิธรรม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน อาคารเสนาสนะส่วนใหญ่ เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2508 ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ.2524 เป็นต้น
เมื่อปี พ.ศ. 2525 นายสำราญกับนายสวัสดิ์ เรียงแหลม บังเอิญไปพบพระธุดงค์ 2 รูป เดินทางมาจากจังหวัดชลบุรี คือพระมหายอด กับพระฉลวย เมื่อได้ฟังเทศน์จากพระมหายอดจึงเกิดความเลื่อมใส ทั้งนายสำราญและนายสวัสดิ์จึงได้อาราธนานิมนต์พระธุดงค์ทั้ง 2 รูปมาพำนักอยู่ ณ สถานที่นี้ ซึ่งเป็นโคกร้าง มีต้นไม้ เป็นที่เงียบสงบเหมาะแก่เพศบรรพชิต ที่ดินบริเวณนี้เป็นของคุณแม่แดง เรียงแหลม มารดาของทั้งสอง จากนั้นจึงชักชวนชาวบ้านมาแผ้วถางพื้นที่รกร้าง และสร้างศาลามุงจาก 1 หลัง เพื่อเป็นที่พำนักของพระธุดงค์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2526 ต่อมาฝ่ายพระและชาวบ้านเกิดการทะเลาะกันขึ้น พระทั้งสองออกจากสำนักสงฆ์ไป ชาวบ้านเกิดท้อแท้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เดินทางไปพบพระครูโศภณธรรมทัศน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่เจริญผล เจ้าคณะตำบล รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อรับทราบเหตุผล พระครูโสภณธรรมทัศน์จึงรับสถานที่แห่งนั้นเป็นธรณีสงฆ์ และอนุญาตให้สร้างวัดในสังกัดธรรมยุต จากนั้นคณะได้กลับมาสร้างวัด โดยแม่แดง เรียงแหลม ยกที่ดินจำนวน 6 ไร่ และพระอาจารย์หนู กลฺยาโณ อีก 2 ไร่ โดยเริ่มสร้างศาลาบำเพ็ญกุศล เมื่อ พ.ศ. 2527 สร้างกุฏิสงฆ์ 3 หลัง ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2527 ได้เริ่มสร้างอุโบสถ โดยการอุปถัมภ์ของพระครูโสภณธรรมทัศน์ ทั้งยังส่งพระสงฆ์มาอยู่ดูแลเพื่อมิให้อารามแห่งนี้ว่างเว้นจากพระสงฆ์ ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2530 สำนักสงฆ์ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ตั้งเป็นวัดมีนามว่า วัดอุทยาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2544อาคารเสนาสนะในวัด - อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ มีทางเข้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูง หลังคาซ้อน 2 ชั้น 3 ตับ มุงกระเบื้อง หน้าบันประดับเครื่องลำยอง และตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปพระพรหมทรงช้างเอราวัณ เหนือขึ้นไปเป็นตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ประตูทางเข้าอุโบสถเป็นประตูไม้ 2 บาน แกะสลักเป็นรูปบุคคล ทาสีทอง เหนือกรอบประตูเป็นซุ้มทรงยอดปราสาท ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่าง 5 ช่อง ประดับหน้าต่างไม้ ตกแต่งลายเหมือนช่องประตู - หมู่กุฏิสงฆ์ เป็นอาคารไม้ทรงไทย ยกพื้นสูง หลังคาจั่ว มุงกระเบื้องลอน ผนังกุฏิเจาะช่องประดับหน้าต่างไม้ - ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นอาคารไม้ทรงไทย ยกพื้นสูง ผนังโปร่งทั้ง 4 ด้าน บันไดทางขึ้นทั้งสองด้านเป็นคอนกรีต หลังคาชั้นเดียวมุงกระเบื้องลอน และต่อออกมาเป็นหลังคาปีกนกทั้ง 4 ด้าน หน้าบันประดับเครื่องลำยอง และตกแต่งด้วยตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร - หอสวดมนต์ หอฉัน เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง บันไดทางขึ้นเป็นคอนกรีต ผนังโปร่ง 3 ด้าน ประตูทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูลูกกรงเหล็กบานเลื่อน หลังคามุงกระเบื้องลอน มีหน้าบันเรียงกัน 3 หน้าบัน ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายธรรมจักรและลายไทยทาสีทอง - หอกลอง หอระฆัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงยอดปราสาท - เจดีย์ชเวดากองจำลอง - ศาลาหลวงปู่เยื้อน ถาวโร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2558 เป็นศาลาสวดมนต์ทุกวันเสาร์และวันพระ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงไทยประยุกต์ ผนังเป็นไม้กระดาน 3 ด้าน และต่อเติมด้านหน้าเป็นห้องกระจก หลังคาทรงจั่วประดับเครื่องลำยอง - วิหารหลวงพ่อขาวโพธิสุข สร้างเมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นวิหารโปร่ง เสาไม้ มุงกระเบื้องลอน - ศาลาบำเพ็ญกุศล (ศาลาจิดาภาประชาร่วมใจ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เมรุ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ- พระพุทธอุทัยรัศมี พระประธานในอุโบสถ - เจดีย์ชเวดากองจำลอง เกจิอาจารย์ หลวงปู่เยื้อน ประเพณี/งานประจำปี ทำบุญทุกวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดอ้อมน้อยตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2410 โดยนายอ่วม นางฉิม(เสม) เกิดเจริญ เป็นผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์ มีกุฏิ และหอสวดมนต์ ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่ม ได้แก่ นายเนิน-นางปุก เกิดเจริญ, นางสาวอาบ เกิดเจริญ, นางเชื้อ เจือสุคนธ์(เกิดเจริญ), นายจวน-นางทองสุข เกิดเจริญ และนางเยี่ยม ประชาศรี(เกิดเจริญ) ได้ช่วยทำนุบำรุงวัดมาโดยตลอด มีเจ้าอาวาสปกครองวัดจำนวนหลายรูป วัดได้รับการพัฒนาปลูกสร้าง และปรับปรุงเสนาสนะเรื่อยมา สมัยพระครูโสภณธรรมสาคร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 และต่อมาในปีพ.ศ.2537 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี เสด็จมาเป็นประธานทรงตัดลูกนิมิต วัดอ้อมน้อยได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอดอาคารเสนาสนะในวัด - อุโบสถ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2536 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์รูปทรงนิยมในสมัยปัจจุบัน - ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก - กุฏิสงฆ์ 8 หลัง สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2540 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ - โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดอ้อมน้อย สร้างเมื่อปีพ.ศ.2513 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย - เมรุเผาศพ สร้างเมื่อพ.ศ. 2509 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ลำดับเจ้าอาวาส 1. พระอธิการผัน 2. พระอธิการฉาย 3. พระอธิการเนตร 4. พระอธิการจู 5. พระอธิการแดง 6. พระอธิการรอด 7. พระครูสังฆรักษ์ขิต (ปลั่ง) 8. พระอธิการหรั่ง 9. พระอธิการเล้ง จนฺทสุวณฺโณ 10. พระอธิการป่วน 11. พระครูวิบูลย์สุตาธิการ (สว่าง เสือบำรุง) ปกครองตั้งแต่พ.ศ.2502 - 2534 12. พระครูโสภณธรรมสาคร (ณรงค์ฤทธิ์ ฉิมมณี) ปกครองตั้งแต่พ.ศ.2502 - 2534 13. พระครูสาครธรรมานุวัตร (ชลิต อมโร) ปกครองตั้งแต่พ.ศ.2539 - 2541 14. พระครูสาครธรรมาภรณ์ (ชุบ อธิปญฺโญ) ปกครองตั้งแต่พ.ศ.2541 - 2550 15. พระครูสาครเขมคุณ (มนูญ เขมวํโส) ปกครองตั้งแต่พ.ศ.2550 - ปัจจุบันพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ - หลวงพ่อเพ็ง พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว สูง 69 นิ้ว ประเพณี/งานประจำปี - ทุกวันที่ 1 มกราคม ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ - 17 มกราคม ทำบุญอุทิศแด่อดีตเจ้าคณะอำเภอ อดีตเจ้าอาวาส - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา ทำบุญ เวียนเทียน - ขึ้น 9 ค่ำ -ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 งานประจำ ปิดทองหลวงพ่อเพ็ง พระประธานอุโบสถ - ทำบุญตักบาตรทุกวันตรุษไทย - วันที่ 13-15 เมษายน ทำบุญ ตักบาตร วันสงกรานต์ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - วันเข้าพรรษา ทำบุญ ตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน - ทุกแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ทำบุญวันสารทไทย - ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ทำบุญวันมหาปวารณาออกพรรษา - ทุกแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตักบาตรเทโวโรหณะ ทอดกฐินสามัคคี - 31 ธันวาคม ทำบุญตักบาตรอาหารแห้ง/สวดเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
วัดใหญ่จอมปราสาท (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งทิศตะวันตก บริเวณปากคลองสุนัขหอน ตามประวัติกล่าวว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2091-2111) ในอดีตบริเวณด้านหน้าวัดเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีฐานะเป็นเมืองท่าตลาดริมน้ำมีพ่อค้าจากทางทะเล และพ่อค้าจากเมืองที่อยู่ลึกเข้าใปในแผ่นดินมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าชาวจีน ดังนั้นจึงได้เรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า “บ้านท่าจีน” ปัจจุบันน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงบริเวณหน้าวัด ทำให้พื้นที่ของชุมชนบ้านท่าจีนรุ่นแรก ๆ ถูกทำลายล่มลงแม่น้ำจนหมด วัดใหญ่จอมปราสาทมีหลักฐานตราตั้ง ปี พ.ศ.2441 ระบุในชื่อว่าวัดใหญ่เมืองสมุทรสาคร (คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร 2534: 120) แต่ชาวบ้านจะเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป เช่น วัดใหญ่ วัดจอมปราสาท หรือวัดใหญ่จอมปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดใหญ่สาครบุรี” และได้พระราชทานพระไตรปิฎกบรรจุตู้ละจบ จำนวน 39 เล่ม ให้มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ในฐานะที่เป็นพระอารามหลวงรายนามเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบที่ปกครองวัดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ รูปที่ 1 พระครูสมุทรคุณากร (พระปลัดชื่น) รูปที่ 2 พระอธิการฉ่ำ รูปที่ 3 พระอธิการเช้า รูปที่ 4 พระครูประสาทสาครกิจ รูปที่ 5 พระครูใบฎีกาบุญส่ง โฆสโก รูปที่ 6 พระอธิการสมคิด รกฺขิตจิตฺโต (พ.ศ.2556 - ปัจจุบัน)โบราณสถานภายในวัดใหญ่มงคลได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร โดยมีสิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553) ได้แก่พระวิหารเก่า ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานบัวโค้งแอ่นคล้ายท้องเรือสำเภา สภาพปรักหักพัง ผนังด้านทิศใต้และหลังคาพังลายหมด ฟนังพระวิหารก่ออิฐถือปุนสอบเข้า ด้านบนทางด้านหน้ามีซุ้มประตูรงมณฑปประดับลวดลายปูนปั้น 1 ช่อง ด้านหลังทึบ ผนังทางด้านเหนือมีเสาประดับผนังแบ่งออกเป็น 5 ห้อง โดยห้องแรกและห้องสุดท้ายจะย่อมุมเช้าไป ส่วนอีก 3 ช่อง เป็นผนัเรียบบ ผนังห้องกลางมีช่องหน้าต่าง 2 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มหน้านาง ประดับลวดลายปูนปั้น ที่หัวเสาของผนังในแต่ละช่องประดับปูนปั้นเป็นลายกรวยเชิง สันนิษานว่าพระวิหารหลังนี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระวิหาร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาจำนวน 1 ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นประดับกระจกทรงมณฑป บานประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาและสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ แกะสลักลึกเข้าไปในเนื้อไม้ เป็นฝีมือช่างโบราณที่มีความงดงามในเชิงช่างและศิลปะเป็นอันมาก ลักษณะลวดลายมีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วยทั้งสองบาน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 6 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มหน้านางปูนปั้นประดับด้วยลายกระหนกเปลว บานหน้าต่างไม้แกะสลักเป็นลวดลายต้นไม้ ภูเขา รูปสัตว์ และบุคคลแบบศิลปะจีน บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถนี้แต่เดิมเป็นบานประตูหน้าต่างของพระวิหารเก่านำมาซ่อมแซม และติดไว้ที่พระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อปู่" บนเพดานและชื่อมีลวดลายเชียนสีเป็นรูปดอกไม้และลายประจำยาม ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นทาสีขขาว หน้าบันไม้แกะสลักลวดลายก้านขดและพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยแบ่งออกเป้น 3 ส่วน เป็นหน้าบันไม้แกะสลักที่มีความงดงาม ลักษณะที่ตั้งของอาคารทั้งสามหลังที่กล่าวมานี้ อยู่ในแนวะนาบเดียวกัน และหันหน้าไปทางเดียวกันคือหันหน้าออกแม่น้ำท่าจีน ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก แต่พระวิหารเก่าและพระอุโบสถจะอยู่ในเขตกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเดียวกัน โดยจะมีซุ้มประตูทางเข้าของกำแพงแก้วอยู่ที่ด้านหน้า 1 ซุ้ม โดยเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป ส่วนศาลาการเปรียญตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านเหนือของพระอุโบสถ เจดีย์ราย ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป เรือนธาตุมีซุ้มทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นปรางค์ สภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีรากไม้พันอยู่ทั้งองค์วัดใหญ่จอมปราสาท มีประเพณี/งานประจำปี ดังนี้ - ทุกวันที่ 1 มกราคม ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ทำบุญวันมาฆบูชา - แรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ทำบุญประเพณีวันตรุษไทย - วันที่ 13-16 เมษายน ทำบุญประเพณีวันสงกรานต์ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทำบุญวันวิสาขบูชา - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญวันอาสาฬหบูชา - แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญวันเข้าพรรษา - 12 สิงหาคม ทำบุญวันแม่แห่งชาติ - แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญเทศกาลวันสารทไทย - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญวันออกพรรษา - แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ - 15 ค่ำ เดือน 12 ทำบุญวันลอยกระทง - 5 ธันวาคม บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ในวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช - 31 ธันวาคม พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี - ปฏิบัติธรรมทุกวันธรรมสวนะ
ศาลชัยยะทัตต์ (ปู่สี ปู่พุก ฉายะยนต์) ตั้งอยู่ในวัดดอนโฆสิตาราม ต.หนองบัว อ.บ้านแพ้ว ริมคลองดอนวัว เป็นศาลปูนขนาดเล็ก ภายในศาลมีแผ่นไม้เจว็ดวางอยู่บนแท่น
ศาลชีผ้าขาวตั้งอยู่ในวัดหลักสอง ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว ตัวศาลสร้างเป็นหลังทรงไทยหน้าจั่ว กว้างประมาณ 1 เมตร ภายในมีรูปปั้นชายชราผมขาว สวมเสื้อขาว
วัดคลองตันราษฎร์บำรุง ต.เกษตรพัฒนา อ.บ้านแพ้ว ที่อยู่บริเวณจุดตัดของคลองตันกับคลองมะพลับ ภายในวัดมีศาลประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อต่าง ๆ รวมถึงศาลเจ้าแม่กวนอิม ที่ตั้งอยู่ติดกับศาลของพระพิฆเนศ และพ่อปู่ฤาษีศาลปู่ฤาษี อยู่บริเวณอาคารไม้สองชั้น โดยต่อเติมเป็นศาลยื่นออกมาจากอาคาร ภายในศาลมีรูปปั้นฤาษีหลายตน เช่น ฤาษีนารอด ฤาษีพรหมา ฤาษีชีวก ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีรูปเคารพในศาสนาฮินดู เช่น พระพรหม พระนารายณ์
บริเวณหน้าโบสถ์เก่าของวัดโคกขาม ริมคลองโคกขามเก่า มีศาลพันท้ายนนรสิงห์ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนเป็นศาลไม้มีระเบียง หลังคาทรงไทย ปัจจุบันปรับปรุงสร้างใหม่เป็นศาลปูนกว้างประมาณ 6-7 เมตร ทาสีเขียว ภายในศาลมีรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์แต่งชุดทหารโบราณ มือถือพาย ยืนอยู่บนเรือ ด้านขวาประดิษฐานพระบรมรูปพระเจ้าเสือ ด้านซ้ายเป็นแท่นบูชากุมารทอง ภายในศาลจะมีป้ายคาถาบูชาพันท้ายนนรสิงห์ แต่จะไม่มีคำว่า “มหาลาโภ” ต่อท้ายเหมือนกับคาถาที่พบในศาลพันท้ายนรสิงห์ที่อื่น นอกจากนั้นยังมีการเขียนวิธีการบูชาเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ด้วยมาลัยดอกดาวเรือง และสิ่งของต้องห้าม ได้แก่ น้อยหน่า ละมุด มังคุด มะเฟือง มะไฟ และของร้อน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการจัดงานประจำปีของวัดโคกขาม ถือเป็นช่วงบูชาเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านละแวกวัดโคกขามจะมากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าว และขอให้เจ้าพ่อพันท้ายช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย ช่วยให้หายป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะการขอให้ถูกหวย ถ้าได้ตามคำขอก็จะมาแก้บนด้วยละคร เรื่องเดียวที่ชาวบ้านจะไม่มาขอคือการไม่ต้องเป็นทหาร ชายหนุ่มที่ถึงวัยเกณฑ์ทหารจะไม่มาขอให้เจ้าพ่อพันท้ายช่วย เวลาเดินผ่านศาลจะไม่ไหว้ไม่ทักทาย ไม่เดินผ่าน เวลาขับรถผ่านศาลจะไม่บีบแตรในช่วงการเกณ์ทหาร ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านอธิบายว่า “ไปไหนมาไหนก็บอก ขึ้นโรงขึ้นศาลก็อย่าให้แพ้ ให้นายเมตตา บางคนเขาก็หลุด แต่ว่าเวลาไปเกณฑ์ทหาร เด็ก ๆ แถวนี้เขาจะไม่ผ่านนะ สมมติว่าถ้าบ้านอยู่ข้างในเนี่ย จะไปเลย ไม่ทัก ถ้าใครทักหรือยกมือไหว้ ไม่เคยพลาด ได้ใบแดง ก็เหมือนกับปาฎิหาริย์นั่นแหละ ถ้าใครอยากลองแบบกูระดับนี้แล้วใครจะเอามาเป็นทหาร คือความสูงก็ได้อยู่ แต่หน้าอกเขาอ้วน ก็จับได้ใบแดง ขนาดหุ่นไม่น่าเป็นยังเป็นเลย เวลาไปจะไม่ทักไม่บีบแตร แต่ไอ้คนนั้นมันบีบแตร แล้วบอกว่า พ่อครับไปละนะ ทหารเอกกรุงศรีเก่า ก็โดนละ ใครจะเกณฑ์ทหารห้ามทัก จะออกไปตรงไหนก็ไป ลูกชายเกณฑ์ทหารก็ไปออกนู่น ไม่ผ่านเลย ถ้าทักส่วนมากจะจับได้ใบแดงเลย ช่วงเมษาจะไม่มีใครทักใครผ่านท่าน ไม่มอง ไม่นึกถึง ห้ามนึก” (สัมภาษณ์ 11 พฤศจิกายน 2558)นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าของศาลหลังนี้ ก็มีศาลปูนลักษณะเป็นศาลโปร่งขนาดเล็ก ประดิษฐานพระบรมรูปเจ้าพ่อเสือ และพันท้ายนรสิงห์ สูงเท่าคนจริง