ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

46 แห่ง

ผลการค้นหา : 46 แห่ง

ศาลพ่อปู่นาคา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา) เป็นศาลในท้องถิ่นของชาวไทดำ คู่กับศาลพ่อปู่วรรณา และศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาศาลพ่อปู่นาคา หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่าศาลปู่ถมยา เป็นศาลเก่าแก่ในชุมชนชาวไทดำ ตั้งอยู่ใกล้วัดหนองสองห้อง อยู่ริมถนน อยู่ห่างจากคลองสองห้องและคลองรางห้วยชัน ประมาณ 50 เมตร และยังอยู่ใกล้กับจุดบรรจบของคลองทั้งสอง ศาลพ่อปู่นี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านระบุว่าตั้งมามากกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาได้ปรับปรุงจนใหญ่ขึ้น ศาลกว้างประมาณ 6 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง บนศาลมีรูปปั้นปู่นาคา รูปปั้นนางกวักและรูปเคารพต่างๆ จากการสัมภาษณ์ชาวไทดำหรือลาวโซ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับศาลปู่นาคา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อและการเคารพบูชาพ่อปู่นาคา (ถมยา) พ่อปู่กัณฑ์ยา และพ่อปู่วรรณา ว่า “ศาลพ่อปู่ถมยานี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ศาลเดิมเป็นศาลเตี้ยๆ เล็กๆ เป็นสังกะสี เมื่อก่อนที่ตรงนี้เป็นแอ่ง ต่อมาทำถนนให้สูง ชาวบ้านก็มาช่วยกันสร้าง สมทบทุน สร้างเป็นหลังนี้ขึ้นมา ยกขึ้นให้สูงแบบนี้ รูปปั้นพ่อปู่ก็ทำกันมาในช่วงเวลานี้ สมัยก่อนไม่มีรูปปั้น คนส่วนมากเขาจะนับถือ แม่ค้ามีขายของที่ตลาดนัดเช้าก็จะเอาพวงมาลัยมาถวาย ส่วนงานปีจะมีเลี้ยง จัดเป็นสำรับกับข้าว จัดวันที่ 13 เมษายน ศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาและพ่อปู่วรรณาจัดวันที่ 14 เมษายน เช้าจะไหว้แล้วก็สรงน้ำพ่อปู่ ไม่มีอะไรมาก มีขนมต้มแดง ต้มขาว มะพร้าวอ่อน ไก่ เหล้า ก็จะมาเซ่นไหว้ พอเลี้ยงเสร็จแล้วก็จะมีหัวหน้าพาจุดธูปบอก ไม่มีร่างทรง แต่ถ้าตรุษจีน สารทจีนของไหว้จะเยอะเลย ไก่ เป็ด คนจีนเขาก็นับถือนะ ทุกวันนี่ก็มีมาเรื่อยๆ ของทะเลก็มี มีกุ้งต้ม หอยแครง หอยแมลงภู่ ไม่ได้ขาดเลย แต่ศาลนี้ (พ่อปู่ถมยา) ถ้าบนทหารจะไม่ติดนะ ศาลถมยาและศาลกัณฑ์ยา ต้องมาบนตอนกลางคืน ตี 2-3 บนแล้วก็ไปเลยไม่ต้องเข้าบ้าน จะไม่ติดทหาร แล้วถ้าไปศาลวรรณา บนไม่ได้ ติดทหารเลย  ปู่วรรณาชอบทหาร เพราะว่ากลางคืนสมัยปู่ย่าตายายเขาเล่าให้ฟังว่าจะมีเสียงม้า เสียงควบม้า ตอนกลางคืนจะมีเสียงม้าวิ่ง นั่นชอบทหาร แต่สองศาลนี้ไม่ชอบ คนกรุงเทพฯเนี่ยผ่านมาเขาก็ยกมือไหว้ บนเอาไว้ ขอให้ได้อะไรก็ไม่รู้นะ เนี่ยพอครบทุกเดือนเขาจะมาไหว้ สำรับกับข้าวของหวาน ของคาว ผลไม้ เขาบอกว่าเคยบอกแกเอาไว้แล้วได้อย่างที่ว่า ก็เลยต้องมาเลี้ยงแกทุกเดือน เดือนละครั้ง  ถวายไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ไห ไหหนึ่งนี่จะเท่าไหร่ก็ได้ จะขวดหนึ่งก็ได้  แต่ต้องเทใส่ไห   ส่วนมากคนแถวนี้เขาจะบนค้าขาย เขาก็จะมาทำน้ำมนต์    เวลาเขาจะปลูกมะม่วง ฉีดมะม่วง เขาก็จะเอาขันน้ำมนต์มา แล้วเขาก็จุดธูปบอก เอาเทียนวางบนปากแก้ว ให้หยดลงขัน แล้วเขาก็บอกกับปู่ว่าให้ทำน้ำมนต์ให้ที เขาก็จะเอาน้ำมนต์ไปผสมกับยาฉีด คือความนับถือของเขา แล้วมะม่วงเขาก็จะติดแล้วก็จะได้กำไรทุกงวด สมัยก่อนเขาก็เล่ากันมาอีกแหละ เขาจะไปเล่นไฮโลแล้วต้องเดินผ่านแถวนี้ เพราะแถวนี้ที่เป็นคันนา เขาก็บอกว่า “ปู่คืนนี้ขอให้รวยไฮโลหน่อยนะ” แล้วเขาก็ได้จริงๆ เขาก็เลยนับถือกัน ” (สัมภาษณ์วันที่ 18 ตุลาคม 2559)

ศาลพ่อปู่วรรณา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่วรรณา เป็นศาลในท้องถิ่นของชาวไทดำ คู่กับศาลพ่อปูนาคา (ถมยา) และศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาศาลพ่อปู่วรรณา ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานีอนามัยบ้านกลางนา ในชุมชนชาวไทดำ ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงปู่บ้านกลาง" ศาลตั้งอยู่ริมคลองโรงเรียนยง เป็นศาลไม้ กว้างประมาณ 1 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นชายชรา ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า "ปู่วรรณาชอบทหาร เพราะว่ากลางคืนสมัยปู่ย่าตายายเขาเล่าให้ฟังว่าจะมีเสียงม้า เสียงควบม้า ตอนกลางคืนจะมีเสียงม้าวิ่ง นั่นชอบทหาร" ไม่เหมาะกับการบนบานให้ไม่ติดทหาร ส่วนงานสักการะประจำปีจะจัดขึ้นวันที่ 14 เมษายน (สัมภาษณ์วันที่ 18 ตุลาคม 2559) (ดูคำสัมภาษณ์เพิ่มเติมใน ศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา))

ศาลพ่อปู่เทพา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่เทพาตั้งอยู่ในวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม ตำบลหลักสาม ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ลักษณะศาลสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร มีบันไดพาดด้านหน้า บนศาลมีรูปปั้นพ่อปู่โพกผ้าสีแดง วางอยู่บนแท่นบูชา รวมทั้งรูปเคารพอื่นๆ เช่น รูปปั้นเทวดา พระพิฆเนศ พระพรหม กุมารทอง ฯลฯ ชาวบ้านมักจะมากราบไหว้เพื่อขอโชคลาภแต่เดิมศาลพ่อปู่เทพาตั้งที่อยู่ริมคลองดำเนินสะดวก แล้วย้ายมาสร้างใหม่ข้างโบสถ์เก่าของวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม มีเรื่องเล่าว่า เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยารามองค์เก่าไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีสางเทวดา จึงสั่งให้เผาศาลทิ้ง จนทำให้เจ้าอาวาสมีอันเป็นไปและมรณภาพลง  เจ้าอาวาสองค์ใหม่จึงสร้างศาลขึ้นมาใหม่ (หลังปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.2545  อยู่บริเวณข้างเมรุเผาศพ  เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม เล่าประวัติของศาลพ่อปู่เทพาว่า “ตอนนั้นฉันซ่อมโบถส์เก่า เป็นไม้สักทั้งหมดเลย จะทำใหม่แล้วยกดีดขึ้นมาเป็นสองชั้น เผอิญว่าศาลมันอยู่ข้างๆโบถส์เก่า มันเกิดที่เขา เราก็จะขยายทำบ่อล้อมรอบ ศาลดั้งเดิมก็เป็นศาลไม้เล็กไม่ใหญ่ ทีนี้เขาก็รู้เข้า ก็เข้าร่างโยม ก็มาเรียกเราไป ก็ปูอาสนะให้เรานั่ง เราก็ถามว่า ปะโหนก ฉันจะทำโบถส์ให้ดีขึ้น ซ่อมให้ดีขึ้น แล้วก็เป็นสองชั้น เขาก็บอกว่า ท่านย้ายฉันมา 5 ครั้งแล้ว เผามาแล้ว 1 ครั้ง เราก็บอกว่าย้ายมาตั้งแต่รุ่นไหน ฉันไม่ได้เป็นคนย้าย เพราะแต่ก่อนเขาอยู่ริมคลอง แล้วมัคทายกเก่าๆก็ย้ายมา แล้วมีเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 หลวงพ่อต่วน เจอศาลเจ้าที่ไหนเฮี้ยนๆ ท่านให้ลูกศิษย์ประชุมเพลิงซะ เผาเลย สมาธิท่านแกร่งกล้า ไม่มีปัญหา ทีนี้มันมีปัญหาคือที่วัด คงจะให้ลูกศิษย์ไปเผา มันมีหมูตายอยู่ตัวหนึ่ง ฉันก็ยังเกิดไม่ทันนะ ก่อนปี 2500  ก็หมูมันหล่นมาเจอเรือโยงก็เอามาเลี้ยง ตอนหลังมันตาย หลวงพ่อก็เลยให้เผาหมูด้วย เผาศาลด้วย ลูกศิษย์ตายไป 2 คน แล้วตอนหลังท่านก็พลาดพลั้งป่วย เขาก็เล่นงาน  พ่อปู่ก็เอาจนตายเหมือนกัน  ร่างทรงก็บอกว่า เนี่ยเผาชั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เราก็บอกว่าเราไม่ได้เป็นคนเผา คนที่เผาเขาตายไปหมดแล้ว ยังจะมาเอาเวรเอากรรมกันอีกหรือ เขาบอกว่าเขาไม่ยอม เขาอยู่มาเป็นพันปี   เราก็ถามว่าอยู่เป็นพันปีนี่อยู่ที่ไหน เขาก็บอกว่าอยู่บนยอดหญ้า มันก็มีเทวดาบนยอดหญ้า พระอานนท์เกิดเป็นเทวดาบนยอดหญ้า อยู่วิมานบนยอดหญ้า ก็ตรงกับพระสูติ ฉันก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะทำการย้ายให้ใหม่ จะขอใช้ที่ เขาก็บอกว่าไม่ว่าหรอกนะถ้าย้ายใหม่ แต่ขอเป็นไม้สักทั้งหลัง เราก็ทำให้ละกัน คนเขามาขอหวยกันบ่อย ถึงเราเชื่อยากแต่ก็ไม่ลบหลู่ ต่างคนต่างอยู่ แผ่เมตตาให้ ก็เคยนะมีพระที่วัดสวดปาติโมกข์ บางทีก็มากระตุกขาหลวงตา ก็มีการเข้าทรงถามว่ามากระตุกขาทำไม เขาก็บอกว่าท่านสวดปาติโมกข์ได้บุญเยอะ ท่านไม่แผ่เมตตาให้เราหน่อยเหรอ ทวงบุญคุณกันอีก มาขอบุญกุศล คนผ่านไปผ่านมาก็บีบแตรข้างถนน พวกนาคมาบวชก็ต้องมาขอขมาเขา แล้วโยมเวลาเขามาเลี้ยงก็จะให้สำหรับหนึ่ง คาว หวาน” (สัมภาษณ์ 14 ธันวาคม 2559)

ศาลพ่อปู่โคกหลวง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่โคกหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนดอนราว-หลักห้า ซอย 1 (โคกหลวง ซอย 1) มีอายุเก่าแก่เกิน 100 ปี ชุมชนไทดำบริเวณนี้อพยพมาจากเพชรบุรี เข้ามาตั้งรกรากถางป่าและทำนาแต่เดิมศาลสร้างอยู่บนโคกที่มีป่าไผ่ปกคลุม เรียกว่าโคกไผ่ ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินได้ปรับปรุงที่ดิน จึงได้ย้ายมาสร้างบนที่ราบ ศาลสร้างเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร บนศาลมีแผ่นไม้เจว็ดและมีพระพุทธรูป เนื่องจากเป็นศาลที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนจีน จึงมีชาวจีนนิยมมากราบไหว้เสมอๆ ในช่วงเทศกาลของชาวจีนจะมีเครื่องเซ่นไหว้มาถวายพ่อปู่ ชาวบ้านนิยมมาขอโชคลาภ วันที่ 14 เมษายนของทุกปีจะมีพิธีไหว้พ่อปู่ประจำปี  ชาวไทดำจะมาบนขอในสิ่งต่างๆ เมื่อได้ตามคำขอก็จะมาแก้บนด้วยการนำหนังตะลุงมาแสดง

ศาลพ่ออ้น พ่อจันทร์ พ่อจุก อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่ออ้นพ่อจันทร์พ่อจุก ตั้งอยู่ริมคลองเจ็ดริ้ว ในชุมชนชาวมอญ ตัวศาลเป็นอาคารไม้หลังคามุงกระเบื้อง ภายในศาลมีแท่นบูชา มีรูปปั้นฤาษีและตุ๊กตานางรำวางอยู่ มีผ้าสีแดงห้อยอยู่บนคานพร้อมกับพวงมาลัย ในช่วงเดือนสามและเดือนเก้าจะมีการทำบุญบริเวณศาล ช่วงสงกรานต์จะมีการเช่นไหว้เจ้าพ่อ

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง ตั้งอยู่ริมคลองพาดหมอน ตำบลเจ็ดริ้ว ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ตั้งศาลแห่งนี้มามากกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆหลังคามุงด้วยจาก อยู่กลางทุ่งนา มีเจ้าพ่อทุ่งอยู่องค์เดียว ต่อมาปรับปรุงสร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้อง ยกพื้นสูงประมาณ 2 ฟุต ภายในศาลจะมีแท่นบูชา แจกันดอกไม้ พวงมาลัย ป้ายชื่อศาลพ่อทุ่งและศาลพ่อเอี่ยมติดอยู่บนเสา และได้เชิญเจ้าพ่อเอี่ยมให้มาอยู่ที่ศาลนี้ด้วย ชาวมอญที่จะบวชจะต้องมาขอขมาเจ้าพ่อ โดยการนำแตรมาเปาที่ศาล 1 เพลง ปัจจุบันร่างทรงพ่อทรงเป็นหญิงวัย 40 ปี ร่างทรงพ่อเอี่ยมเป็นหญิงวัย 70 ปี งานประจำปีของศาลพ่อเอี่ยมพ่อทุ่งจะจัดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดมนต์และถวายภัตตาหาร

ศาลพ่อเอี่ยม พ่ออุ่น อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อเอี่ยมพ่ออุ่น เป็นศาลของชาวมอญ อายุกว่า 100 ปี แต่เดิมสร้างกลางทุ่งนา หลังคามุงหญ้าคา ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงเป็นศาลไม้หลังคามุงกระเบื้อง กว้างประมาณ 8 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นพ่อเอี่ยม พ่ออ้น วางอยู่บนแท่นสูงประมาณ 1 ฟุต  ปัจจุบัน ศาลตั้งอยู่ในเข ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นรอยต่อติดต่อกับต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

ศาลหลวงพ่อก้อนทอง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าพ่อก้อนทอง ตั้งอยู่ในวัดดอนโฆสิตาราม ริมคลองดอนวัว เป็นศาลไม้ขนาดเล็ก ภายในศาลมีรูปปั้นชายชราไว้หนวดเครา

ศาลเจ้าที่วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว

ตั้งอยู่ภายในวัดเจ็ดริ้ว ริมคลองเจ็ดริ้ว เป็นศาลไม้แบบเรือนพื้นถิ่น ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่ามีศาลบริเวณนี้มาแล้วมากกว่า 100 ปี 

close