ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

22 แห่ง

ผลการค้นหา : 22 แห่ง

ศาลเจ้าแม่อาม่า ปากคลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าแม่อาม่า บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก (ชาวบ้านเรียกคลองบางยาง) ที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเขต ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว  มีอายุเก่าแก่เกินร้อยปี ชาวแต้จิ๋วในพื้นที่เรียก ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลบน เป็นศาลเก่าแก่ในบริเวณปากคลองบางยางในสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่อพยพมาในประเทศไทย ทำอาชีพค้าขาย นำผักผลไม้ล่องเรือไปขายที่กรุงเทพฯ  แต่เดิมศาลจะตั้งอยู่ในที่ดินริมตลิ่งยื่นออกไปในแม่น้ำ สร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ต่อมาเมื่อตลิ่งพังก็ย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน ชาวเรือที่แล่นผ่านศาลจะยกมือไหว้และจุดประทัดเพื่อเคารพเจ้าแม่ ทุกๆปีจะมีการจัดงาน 2 ครั้ง ในช่วงตรุษจีนและสารทจีน  ปัจจุบันในช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างพฤศจิกายน น้ำจะท่วมเข้ามาในศาลเจ้า ชาวบ้านจึงต้องสร้างกำแพงปูนซีเมนต์กั้นน้ำ แต่น้ำก็จะซึมเข้ามาทางใต้ดิน ด้านข้างศาลเจ้าเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตวุ้นเส้น ซึ่งเจ้าของโรงงานจะส่งคนมาช่วยดูแลทำความสะอาด และบริจาคเงินช่วยเหลือเมื่อมีงาน  ทางทิศตะวันออกของศาลเจ้าอาม่า ล่องไปตามแม่น้ำท่าจีนจนถึงปากคลองภาษีเจริญ ยังมีศาลเจ้าแม่อาม่าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใน ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน อายุเก่าแก่เกินร้อยปีเช่นเดียวกัน ช่วงนี้แม่น้ำท่าจีนจะไหลวกกลับลงไปทางทิศใต้ และไหลโค้งตวัดไปทางทิศตะวันตกอีกครั้ง จนถึงชุมชนบ้านท้องคุ้ง บริเวณนี้จะมีศาลเจ้าแม่อาเนี้ยว (กวนอิม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่เดิมศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแม่ตะเคียนอายุเกินร้อยปี ชาวบ้านพบท่อนไม้ตะเคียนในแม่น้ำจึงนำขึ้นมาบูชาและสร้างศาลให้ จะพบแผ่นไม้เจว็ดที่เคยอยู่ในศาลเก่า ปัจจุบันศาลได้ย้ายเข้าไปสร้างในที่ตลิ่งไม่พัง เป็นอาคารปูนหลังมุงกระเบื้อง รูปเคารพในศาลได้แก่เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อไต้เสี่ย และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมผู้ดูแลศาลเจ้าอาม้า เล่าถึงประวัติศาลอาม้าว่า “รูปปั้นเจ้าแม่ทั้งสามองค์เป็นของเก่าเป็นไม้ แต่ปลวกเริ่มกิน กระถางธูปเก่า เป็นไม้สัก รุ่นโบราณ เมื่อก่อนนี้ตุ้มหูอาม้าองค์ใหญ่ คราวก่อนนั้นเป็นทองข้างละบาท หายไป  หลังจากนั้น 7 วัน ถึงเอากลับมาวางไว้ที่เก่า ส่วนทองตอนนี้เขาเก็บไปแล้ว แต่ที่มันหายไปก็ไม่รู้นะว่าใครเป็นคนเอาไป ส่วนพวกตกแต่งนี่ก็เป็นของเก่าทั้งหมด แต่บางอย่างก็ใหม่  รูปปั้นกวนอูนี่ก็เก่ามาก ศาลนี่เก่าแก่มาก ยายที่อยู่ตรงปากคลองแกอายุ 102 ปี เขาตายไป 5ปีแล้ว ศาลนี้มีก่อนแกอีก  แต่เดิมเป็นหลังคามุงจาก มีเรียนอักษรจีนที่ศาล  แต่ก่อนแถวนี้คนจีนเยอะ   สมัยก่อนตรงปากคลองนี้เรือทุกลำต้องจุดประทัดหมดนะ ถ้าไม่จุดจมเลย แล้วตรงนี้น้ำแรงมาก ตอนสมัยเด็กๆผมไม่กล้าลงเลยนะ  แต่ก่อนเรือจอดเต็มไปหมดเลย แต่ก่อนนั้นตลิ่งยื่นออกไปอีก ประมาณ 4-5 เมตร ตอนนี้มันพังลงไป น้ำมันแรง”(สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559) ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่อาม้าได้รับการดูแลจากบริษัทสิทธินันท์ (โรงงานวุ้นเส้น)  ผู้ดูแลศาลเจ้าเล่าว่า “เวลามีงานตรุษจีนโรงงานช่วยบริจาคเงิน 5,000 บาท ส่วนสารทจีนให้ 10,000 บาท น้ำไฟพร้อม จะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้ แม่บ้านก็ของโรงงาน เขาจัดการให้หมด เพราะโรงงานเขาอาศัยที่อาม้าอยู่  ที่นี่มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาจะทำมูลนิธิ ก็ตั้งโต๊ะรับบริจาคตรงนี้ พอตั้งเสร็จได้เวลาประมาณบ่าย  ลมฝนมาพรวดเดียวหายหมดเลย โต๊ะกระจาย หลังจากนั้นเขาเลยไม่จัดอีกเลย คือถ้าตั้งมูลนิธินี่ไม่เอาเลย เจ้าแม่ไม่ต้องการเก็บเงิน มีเท่าไหร่พยายามใช้ออกให้หมด คือได้มาก็ใช้ เหลือไว้สำรองใช้จ่าย”  (สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2559)

ศาลเจ้าไถ้เสียงเล่ากุง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าไถ้เสียงเล่ากุงอยู่ใน ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว  สร้างมาประมาณ 30 ปี เป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง ใช้เป็นตำหนักของร่างทรงเจ้าพ่อไถ้เสียงเล่ากุง  ร่างทรงชื่อนางชิ่วแช แซกอ  ชาวบ้านในพื้นที่จะมาขอให้ร่างทรงช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ นางชิ่วแชเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2552 หลังจากนั้นตำหนักก็ปิดตัวลง  ในช่วงที่นางชิ่วแชยังมีชีวิตอยู่ ศาลจะจัดงานประจำปีในช่วงเดือนมีนาคม ชาวบ้านละแวกนี้จะมาขอให้เจ้าพ่อไถ้เสียงเล่ากุงช่วยในเรื่องต่างๆ เช่น รักษาโรค ช่วยตามหาของที่หาย  ต่อดวงชะตา สะเดาะเคราะห์  แต่เจ้าพ่อจะไม่ช่วยเรื่องการขอเลขไปซื้อหวย ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่มาให้เจ้าพ่อช่วย ก็จะมากราบไหว้และนำของมาถวาย หรือช่วยบริจาคเงินให้กับศาลเจ้า ข้างๆศาลเจ้าจะเป็นที่อยู่ของนางชิ่วแชที่เป็นร่างทรง  ญาติของนางชิ่วแชเล่าว่า “คุณย่าเกิดที่เมืองจีน แล้วคุณปู่ไปเที่ยวเมืองจีน สมัยก่อนถ้าชอบใครก็จะอุ้มเด็กมาเลี้ยงโต แล้วก็มาให้แต่งงานกับลูกชายตัวเอง คุณปู่คุณย่า ย้ายอพยพจากจีนมาอยู่ไทย แล้วช่วงนั้นสะใภ้ดวงตก คุณปู่ไปเที่ยวเมืองจีน แล้วเจ้าเมืองจีนเขาตามแกมา แล้วก็ตามมาช่วยให้หายเจ็บป่วย ก็เลยรับทรงให้เขา แล้วเขาก็บอกว่าเป็นร่างอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องรับแขกด้วย ต้องรับใช้ชุมชน ใครมาหาต้องช่วยเหลือชีวิตคน ช่วยเหลือมนุษย์ให้สบาย คนเขาก็จะรู้ว่าเรารับทรง เขาก็จะปากต่อปากกันไปว่าไปหาที่ไหนมาถึงหายป่วย ก็จะแนะนำกันต่อๆไป คนในชุมชนเขาก็จะมากัน สมัยก่อนเขาจะอยู่ตรงคลองดำเนินสะดวก อยู่ในซอย แต่พอลูกหลานแบ่งแยกกันไปแล้ว ที่ดินตรงนี้เป็นของลูกหลาน เราไม่ได้เช่าใครก็เลยย้ายศาลมาปลูกตรงนี้ ประมาณปี 2533  คนก็ตามมากันบ้าง  ย่ามีลูกชาย 6 คน ลูกสาว 2 คน หลังจากที่ย่าแกเสียไปก็ไม่มีแขกมาศาล  ก็มีแต่ลูกหลานเช็ดถูไหว้กันเอง ตรุษจีนลูกหลานก็ไหว้กันเอง ก็จะแบ่งกระถางธูปกันไป คนละบ้าน ต่างคนต่างไหว้ ไม่รวมกัน จะไม่เหมือนคนจีนแต้จิ๋วที่เขาจะรวมกันบ้านใหญ่ นี่เป็นจีนแคะจะไม่ได้รวมญาติ” (สัมภาษณ์ 18 ตุลาคม 2559)

ศาลเทพเจ้าแชหมิ่งเจียงคุณ อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเทพเจ้าแชหมิ่งเจียงคุณ อยู่ในโรงเรียนบ้านดอนไผ่ (อุดม-สอางค์ อุ่นสุวรรณ) ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว มีเรื่องเล่าว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2472 แต่เดิมเป็นศาลที่เจ้าของโรงสีสร้างขึ้น อยู่บริเวณริมคลองดำเนินสะดวกตัดกับคลองโรงเรียนยง ต่อมาเจ้าของโรงสีได้รื้อโรงสีและสร้างเป็นโรงเรียน จึงมีการสร้างศาลขึ้นใหม่บริเวณหน้าโรงเรียน ปัจจุบันศาลสร้างเป็นอาคารปูนกว้างประมาณสองเมตรครึ่ง ยกพื้นสูงประมาณสองฟุต ด้านหน้ามีบันไดสี่ขั้น หลังคามุงกระเบื้อง ภายในศาลมีรูปปั้นเทพเจ้าสามองค์คือ เทพเจ้าแชหมิ่งเจียงคุณ(องค์กลาง) เทพเจ้าเฮงเจีย(องค์ซ้าย) และเจ้าแม่กวนอิม(องค์ขวา) ชาวบ้านและครูในโรงเรียนจะมากราบไหว้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนโรงเรียนบ้านดอนไผ่เปิดทำการสอนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 โดยขุนไวยคณางคณารักษ์ (กำนันบุญ  รชตนันต์) เป็นผู้มอบอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงจากให้เป็นสถานศึกษา ต่อมาใน พ.ศ. 2484  นายอุดม–นางสอางค์ อุ่นสุวรรณ ได้มอบอาคารที่ทำโรงสีข้าว 1 หลัง พร้อมทั้งที่ดินจำนวน 4 ไร่เศษให้ เพื่ออุทิศบุญกุศลอนุสรณ์แก่ขุนหลักหกกำแหง (กำนันยี่สุ่น ยงค์สุนทร) เจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งถึงแก่กรรม โดยให้ชื่อว่า “ยงค์สุนทรอุทิศ” ชื่อเต็มคือ โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนไผ่ หมู่ที่ 1 ยงสุนทรอุทิศ ต่อมานายอุดม นางสอางค์ อุ่นสุวรรณ ขอเปลี่ยนชื่อเป็น อุดม-สอางค์ อุ่นสุวรรณ ปัจจุบันชื่อว่าโรงเรียนบ้านดอนไผ่ (อุดม-สอางค์   อุ่นสุวรรณ) (ข้อมูลจาก: http://data.boppobec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1074590081&page=history) ชาวบ้านเล่าถึงประวัติของศาลเจ้าแชหมิ่งเจียงคุณในโรงเรียนบ้านดอนไผ่ ว่า “ดั้งเดิมทีเดียว  โรงเรียนนี้มันเป็นโรงสีเก่าของกำนันนงยงค์ เขาก็มอบอาคารให้มา ก็เลยตั้งเป็นโรงเรียนบ้านดอนไผ่  ตอนหลังมีคนเขามาปรับปรุง คือคุณ อุดม – สอางค์ อุ่นสุวรรณ ไม่รู้ว่าเป็นลูกหรือลูกเขย แกก็มาบูรณะใหม่ เลยเปลี่ยนชื่อเป็น อุดม – สอางค์   อุ่นสุวรรณ แล้วก็มาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านดอนไผ่อีกที เมื่อก่อนมันเป็นศาลเจ้าเล็กๆ ตอนหลังกรรมการไปเชิญเจ้ามา ก็เลยเป็นศาลเจ้า เป็นศาลริมคลอง คนเขาก็นับถือกัน  มีศาลมาก่อน ถึงจะมามีโรงเรียน เวลาที่ทางโรงเรียนเขาทำบุญครบรอบ เขาก็จะไหว้ศาลพร้อมกัน จะไหว้กลางแจ้ง” (สัมภาษณ์ 24 กุมภาพันธ์ 2560)

ศาลโรงเจเจ้าแม่กวนอิม อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลโรงเจเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่ติดกับวัดหลักสองราษฎร์บำรุง ริมคลองดำเนินสะดวก ใน ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว ภายในศาลมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมปางต่าง ๆ และพระสังกัจจายน์ ในช่วงเดือนมีนาคมจะมีการจัดงานวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม 

close