ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

11 แห่ง

ผลการค้นหา : 11 แห่ง

ศาลคุณพ่อหลักเมือง (บางขุด) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลคุณพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่ในชุมชนหมู่ 8 หลังวัดบางขุด ตำบลบ้านบ่อ แต่เดิมเป็นศาลไม้ และค่อยๆปรับปรุงให้มีขาดใหญ่ขึ้น โดยสร้างเป็นศาลาทรงไทยยกพื้น ต่อมาในปี พ.ศ.2556 ได้ปรับปรุงใหม่โดยนายฉอ้อนและนางเนียม อุยยาหาญ ศาลใหม่สร้างด้วยปูน หลังคาทรงไทย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร ภายในศาลมีแผ่นไม้เจว็ดปิดทอง มีรูปปั้นพญานาค ชาวบ้านจะกราบไหว้คุณพ่อหลักเมืองเพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองและช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ เช่น สุขภาพ การค้าขาย ฯลฯ ชาวบ้านที่เดินผ่านศาลจะต้องยกมือไหว้ ในช่วงเดือนเมษายน ชาวบ้านจะจัดงานไหว้คุณพ่อหลักเมือง

ศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปากคลองโคกขาม) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม หมู่ 7 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่ประมาณ 1,399  ตร.ม. ชาวบ้านในชุมชนได้แกะสลักพันท้ายนรสิงห์ทำจากไม้จันทน์หอมขึ้นไว้ที่ศาลเพียงตา ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ได้จัดสร้างศาลเป็นอาคารคอนกรีต ผนังเป็นลายไทย อัญเชิญรูปปั้นองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ตั้งเป็นประธาน เพื่อให้ประชาชนทั้งภายนอกและภายในชุมชนมาสักการะบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ต่อมามูลนิธิพันท้ายนรสิงห์ คณะกรรรมการศาลปากคลองโคกขาม กำหนดจัดงานในวันขั้น 3 ค่ำเดือน 4 ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี ความเสียสละเพื่อรักษากฎมณเฑียรบาลของพันท้ายนรสิงห์ และเพื่อให้ประชาชน เยาวชน ได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของตำบลพันท้ายนรสิงห์ (ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์)

ศาลพันท้ายนรสิงห์ (ศาลใหญ่) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร  ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งนี้เป็นแห่งแรก สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความซื่อสัตย์แก่พันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่งเป็นนายท้ายเรือที่จงรักภักดีผู้ที่ยอมรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนราชประเพณีตามกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา เชื่อว่าเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นจุดที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต ตัวศาลเดิมนั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาและถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง จึงได้มีการสร้างใหม่ และมีศาลในลักษณะศาลเพียงตาที่มี 6 เสา ที่ตั้งอยู่หน้าตัวศาลใหญ่ สร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อปี พ.ศ. 2493 จากการที่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ในปีเดียวกัน รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ในศาลแห่งนี้ สร้างขึ้นจากไม้จันทร์หอม ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นที่นับถือของชาวบ้านอย่างมาก ชาวบ้านนิยมมาขอพรแล้วเมื่อสำเร็จ ก็แก้บนด้วยนวมชกมวย ไม้พายเรือ หรือรูปปั้นไก่แก้ว เพราะตามประวัติแล้ว ท่านชอบชกมวยและตีไก่ (https://www.paiduaykan.com/travel/ศาลพันท้ายนรสิงห์)

ศาลพันท้ายนรสิงห์ วัดโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ตั้งอยู่บริเวณหน้าโบสถ์เก่าของวัดโคกขาม ภายในศาลมีรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์และพระบรมรูปพระเจ้าเสือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการจัดงานประจำปีของวัดโคกขาม ถือเป็นช่วงบูชาเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านละแวกวัดโคกขามจะมากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่อการขอให้ไม่ติดทหาร  

ศาลพ่อปู่ทะเล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าปู่ทะเล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านประมง หมู่ 4 ต.พันท้ายนรสิงห์ สร้างมาประมาณ 30 ปี โดยเริ่มนายเปี๊ยก เงินเจริญฝันว่าเจ้าพ่อปู่ทะเลมาดลใจให้เป็นร่างทรงและสร้างศาลขึ้น จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวประมงที่จะมาขอพรให้เจ้าปู่ช่วยให้ปลอดภัยในการออกเรือไปหาปลาในทะเล เดิมทีศาลจะตั้งอยู่ชายฝั่ง แต่ถูกคลื่นซัด จึงย้ายเข้ามาข้างในประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบัน ตัวศาลสร้างเป็นศาลาไม้ทรงไทย ฝาผนังด้านนอกทาสีแดง ฝาผนังด้านในทาสีเขียว ศาลายกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง บนหน้าจั่วหลังคามีรูปวาดพระพุทธเจ้า ด้านหน้าศาลมีแท่นปูนยาวประมาณ 5 เมตร สูง 1 เมตรและมีรูปปั้นเสือ 2 ตัวตั้งอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาล ประกอบด้วย เจ้าปู่ทะเล(องค์ประธาน) รูปปั้นเจ้าปู่ทะเลเป็นรูปชายชรา กำลังยืน มือซ้ายถือมีดและลูกประคำ มือขวาถือไม้ตะพด สวมแว่นดำ ไว้หนวดเครายาว สิ่งศักด์สิทธิ์อื่นได้แก่ เจ้าพ่อโกเมศ เจ้าพ่อเขาตก เจ้าแม่กวนอิม ฤาษี กุมารทอง พระแก้วมรกต รูปรัชกาลที่ 5 รูปกรมหลวงชุมพรฯ เครื่องเซ่นไหว้เจ้าปู่ทะเล ได้แก่ หัวหมู ไก่ต้ม ผลทับทิม กล้วย ส้มโอ สับปะรด องุ่น ขนุน น้ำชา ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซาลาเปา ขนมเปี๊ยะ เผือกต้ม มันต้ม และอาหารทะเลกุ้ง หอย ปู ปลา ชาวบ้านจะจัดพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงเจ้าพ่อปู่ทะเลในช่วงเดือนมกราคมพร้อมกับการถือศีลกินเจ การแสดงลิเก ตะกร้อและดนตรี ในงานบวงสรวงจะมีการเข้าทรงเจ้าพ่อ ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นมาถวายพร้อมกับให้เจ้าปู่พรมน้ำมนต์ และขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆ หลังเสร็จพิธีบวงสรวง จะมีการประมูลเครื่องเซ่น ชาวบ้านที่ต้องการนำเครื่องเซ่นไปรับประทานก็จะเสนอราคา คนใดให้ราคาดีที่สุดก็จะได้ไป

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง ตั้งอยู่ริมคลองพาดหมอน ตำบลเจ็ดริ้ว ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ตั้งศาลแห่งนี้มามากกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆหลังคามุงด้วยจาก อยู่กลางทุ่งนา มีเจ้าพ่อทุ่งอยู่องค์เดียว ต่อมาปรับปรุงสร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้อง ยกพื้นสูงประมาณ 2 ฟุต ภายในศาลจะมีแท่นบูชา แจกันดอกไม้ พวงมาลัย ป้ายชื่อศาลพ่อทุ่งและศาลพ่อเอี่ยมติดอยู่บนเสา และได้เชิญเจ้าพ่อเอี่ยมให้มาอยู่ที่ศาลนี้ด้วย ชาวมอญที่จะบวชจะต้องมาขอขมาเจ้าพ่อ โดยการนำแตรมาเปาที่ศาล 1 เพลง ปัจจุบันร่างทรงพ่อทรงเป็นหญิงวัย 40 ปี ร่างทรงพ่อเอี่ยมเป็นหญิงวัย 70 ปี งานประจำปีของศาลพ่อเอี่ยมพ่อทุ่งจะจัดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดมนต์และถวายภัตตาหาร

ศาลเจ้าที่วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว

ตั้งอยู่ภายในวัดเจ็ดริ้ว ริมคลองเจ็ดริ้ว เป็นศาลไม้แบบเรือนพื้นถิ่น ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่ามีศาลบริเวณนี้มาแล้วมากกว่า 100 ปี 

ศาลเจ้าพ่อปากคลอง อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าพ่อปากคลอง อยู่ตรงข้ามกับวัดกำพร้า ปากคลองพิทยาลงกรณ์ ตัวศาลสร้างด้วยปูนหลังคาสังกะสีทรงไทยหน้าจั่ว กว้างประมาณ 2 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นตายาย หัวกะโหลกจระเข้ ตุ๊กตานางรำและรูปปั้นช้าง ชาวบ้านจะจัดพิธีไหว้เจ้าพ่อในช่วงสงกรานต์

ศาลเจ้าพ่อมัจฉานุ (บ้านรางโคกขาม) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าพ่อมัจฉาณุ ตั้งอยู่ที่บ้านรางโคกขาม ต.พันท้ายนรสิงห์ ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด แต่มีอายุนานกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาเพื่อน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจึงย้ายเข้าไปสร้างใหม่ ห่างจากที่เดิม ประมาณ 1 กิโลเมตร เจ้าพ่อมัจฉาณุเป็นลูกหนุมาน ที่มีรูปร่างผสมระหว่างลิงกับปลา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มาตั้งถิ่นฐานและทำอาชีพประมงบริเวณนี้ เวลาชาวบ้านจะออกไปจับปูจับปลาในทะเลจะมาขอพรให้เจ้าพ่อคุ้มครองอันตรายและช่วยให้จับปลาได้จำนวนมาก รวมทั้งขอให้ช่วยค้าขาย และรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในอดีตชาวจีนที่เข้ามาอาศัยบริเวณนี้ ต้องพึ่งธรรมชาติ หาปูหาปลาและแจวเรือนำไปแลกข้าว เอาไปขายที่มหาชัย และกรุงเทพฯ ปัจจุบันสัตว์ทะเลน้อยลง ชาวบ้านก็ทำวังกุ้ง เลี้ยงปูเลี้ยงหอยและนำไปขายภายในศาลเจ้ายังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิม กุมารทอง พระพุทธรูป พระแก้วมรกต ชาวบ้านจะจัดพิธีเซ่นไหว้เจ้าพ่อในช่วงเดือนธันวาคม จะมีการเข้าทรงเจ้าพ่อและการลุยไฟ ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นมาไหว้ ได้แก่ ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมเปี๊ยะ ทับทิม สาลี มะพร้าว กล้วย และ ส้ม ปัจจุบันศาลตั้งอยู่ในที่ดินของเจ้าของร้านอาหารครัวมัจฉาณุ ซึ่ง อ.บ.ต.พันท้ายนรสิงห์เข้ามาส่งเสริมให้เป็นแหล่งดูปลาโลมา บริเวณหน้าศาลจึงถูกพัฒนาให้เป็นลานปูนกว้างสำหรับนักท่องเที่ยว

close