ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

กันเมียง

กันเมียง

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16:00:09

บทความโดย : ทีมงาน

คำ “กันเมียง” ที่ยกมานี้ มีปรากฏอยู่ในหนังสือ มหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทศพร อันเป็นกัณฑ์ที่เชื่อว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คำนี้อยู่ในความตอนที่พวกสากยราชจะพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ นิโครธาราม ดังนี้

“อันว่าพระสากยราชทงงหลาย ก็ใช้เด็กชายชาวเมืองหมู่บ่าวแลเด็กหญิงถ่าวชาววยง ก็ดี อัน กันมยง ทักแท่ ให้แต่งแง่ดูงาม ตามกันไปเป็นอาทิแล ฯ ”

กันเมียง คำนี้เคยเป็นศัพท์สันนิษฐานที่นักวรรณคดีค้นคว้าถกเถียงกันมาตั้งแต่สิบปีก่อน เช่นบางท่านอธิบายว่ากันเมียง มากจากคำว่า เมียง อ ย่างมองเมียง แล้วเติมอุปสรรค “กัน” เข้าไปเป็น “กันเมียง” อย่างคำ “โหย” เป็น “หันโหย” (กรรโหย) หรือบางทีเติมอุปสรรค “ชร” เป็น “ชรเมียง” ก็มี คำอธิบายนี้น่าฟังมาก เพราะว่าตามกฎเกณฑ์ก็ถูกต้องและแปลก็ได้ความดี “อันกันมยงทักแท่” ก็คือ “อันมองดูยังอ่อนแอท้อแท้” แต่ถึงกระนั้นนักวรรณคดีก็ยังไม่หยุดยั้งการค้นคว้าสันนิษฐาน ในที่สุดก็มาตกลงกันได้ในปัจจุบันว่า
“กันเมียง น. เด็ก. เช่น อันกันเมียงทักแท่ (ม. คำหลวงกุมาร) (ข. เกฺมง : เด็ก)”
ตามที่ปรากฏอยู่ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เมื่อเป็นดังนี้ ร่ายวรรคที่เรากำลังกล่าวถึง ก็ต้องแปลใหม่ว่า “อันเด็กอ่อนท้อแท้” ซึ่งก็ตีได้ความดีเหมือนกัน จะแปลอย่างไหนก็ได้ความทั้งนั้น
ที่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ที่มาของคำ กันเมียง ว่ามาจาก เกฺมง ของเขมรนั้น ชวนให้เข้าใจ ไทยเราแผลง เกฺมง เป็นกันเมียง ความจริงที่ว่าชวนให้เข้าใจอย่างนั้นยังน้อยไป และยังคงมีหลายท่านทีเดียวที่เข้าใจอย่างนั้น ซึ่งจะโทษใครไม่ได้เลย นอกจากพจนานุกรมยังบกพร่อง แม้ที่พจนานุกรมอ้างตัวอย่างข้างต้นว่ามาจากกัณฑ์กุมาร ก็รู้สึกว่าจะคลาดเคลื่อนไป
การเปรียบเทียบระหว่างภาษานั้น เข้าใจว่าอายุของคำเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะภาษาแต่ละภาษาย่อมเพี้ยนไปตามกาลทั้งเสียงสระและพยัญชนะ เช่นคำว่า ออก ของเราเดี๋ยวนี้ สมัยสุโขทัยตอนต้นเป็น โอก อย่างนี้เป็นต้น คำ เกฺมง ในภาษาเขมรแปลว่าเด็กนั้น เป็นคำเขมรสมัยปัจจุบัน จะนำไปเทียบกับ กันมยง ในมหาชาติคำหลวง ซึ่งแต่งตั้งแต่ พ.ศ. 2025 นั้น น่าจะไม่ต้องตามหลักการเทียบเคียงทางวิชานิรุกติศาสตร์ ถ้าหากเผอิญคำ เกฺมง เป็นคำใหม่เพิ่งใช้กันในเมืองเขมรเมื่อสักร้อยปีมานี้เอง เรามีเทียบเก้อหรือ กันมยง ใน มหาชาติคำหลวง ถ้าจะเทียบกับเขมรก็ควรเทียบกับคำที่แปลว่าเด็กของเขมร ในเรือน พ.ศ. 2000 ด้วยกัน เมื่อเราเข้าใจว่า กันมยง น่าจะมาจาก เกฺมง ก็ต้องลองสืบสาวคำนี้ขึ้นไปให้ได้อายุพอกับ มหาชาติคำหลวง ซึ่งข้าพเจ้านำหลักฐานเท่าที่ค้นพบมาแสดงดังนี้
1. สมัยก่อนพระนครหลวง คือ นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 14 ขึ้นไป สมัยนี้เรียกว่าเด็กว่า กนฺเมงฺ มีตัวอย่างอยู่ที่จารึกพระคูหาหลวง เป็นต้น
2. สมัยพระนครหลวง นับแต่กลางศตวรรษที่ 14 ลงมาจนเขมรทิ้งพระนครหลวงเมื่อศตวรรษที่ 20 สมัยนี้คำ กนฺเมงฺ แปรรูปไปใช้ อัฒสระ ย แทนสระ เอ เป็น : กนฺมฺยงฺ บางครั้งก็ใช้ ง สังโยค : กนฺมฺยงฺ
3. สมัยกลาง นับหลังจากทิ้งพระนครหลวงมาจนปลายศตวรรษที่ 23 อัฒสระ ย ยังคงอยู่ตามเดิม ใช้กันว่า กนฺมฺยงฺ เรื่อยมาจนสิ้นศตวรรษที่ 23 อัฒสระ ย หายไปเหลือรูป เกฺมง ใช้มาจนบัดนี้
คราวนรี้หันมาพิจารณาคำ กันมยง ของเรา คำนี้ปรากฏในภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2025 คือสมัยกลางเขมร รูปคำเขมรสมัยนั้นคือ “กนฺมฺยง” ไทยเรารับมาใช้ “กันมยง” ตรงตัว หาได้ดัดแปลงอย่างใดไม่ และมิใช่ไทยขโมย เกฺมง ของเขมรมาแผลง ดังที่พจนานุกรมชวนให้เข้าใจ
คำจำพวกที่เขมรโบราณใช้อัฒสระ ย แทนสระ เอ ของภาษาปัจจุบันที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองไทยนั้นมีอีกหลายคำ เช่น เดียง ที่แปลว่า รูป อย่างคำว่าไม่เดียงสา คำนี้พจนานุกรมให้คำอธิบายไว้ว่า
“เดียง 1 ก. รู้ เช่น มากูจะไปให้ดลเดียงถนัด. (ข. ฎึง). (ม.คำหลวง ทานกัณฑ์)”
เดียง ความจริงเป็นรูปคำเขมรสมัยพระนครหลวง : ดฺยงฺ ต่อมาสมัยกลางตอนปลายเปลี่ยนแปลงเป็น ดิง คือ ยก ย อัฒสระ ขึ้นเป็น อิ แล้วกลายเป็น ฎึง ในสมัยใหม่ “ศิลาจารึกนครวัด” ฉบับภาษาเขมร พระราชบัณณาลัยกัมพุชา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2483 มีตัวอย่างคำ ดฺยงฺ ดิง และ ฎึง ตลอดหมดทั้งสามสมัย
นอกจาก เดียง ก็ยังมีคำ เปรียง (อย่างเปรียงข้อพระโคคือ น้ำมัน - ) เฉนียน (ฝั่งน้ำ) เฉวียง (ซ้าย) คำพวกนี้เป็นรูปเขมรโบราณสมัยกลางพระนครลงมาจนถึงสมัยกลางทั้งนั้น : ปฺรฺยงฺ, ฉฺนฺยร, ฉฺวฺยงฺ รูปคำเขมรปัจจุบันใช้ เอ แทนหมด เป็น เปฺรง, ฉฺนง, เฉฺวง ดังนี้เป็นต้น
เท่าที่เขียนมานี้ ทำให้รู้สึกว่าพจนานุกรมไทย ขาดสิ่งสำคัญไปอย่างหนึ่ง คือการบอกสมัยของคำที่เราได้มา ในพจนานุกรมของฝรั่ง เขามีบอกไว้ละเอียดลออเสมอ ดังที่เราเห็นกันอยู่แล้ว การชำระพจนานุกรมฉบับต่อไปถ้าจะเพิ่มสิ่งนี้ขึ้น คงมีประโยชน์ไม่น้อย แต่ก็น่าเห็นใจคณะกรรมการที่จะต้องขวนขวายมากสักหน่อย ทั้งตำรับตำราในเมืองไทยก็หายากเต็มที
ขอจบเรื่อง “กันเมียง” เพียงเท่านี้

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 37 – 40.