ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

จังหวัด

จังหวัด

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:51:02

บทความโดย : ทีมงาน

คำ “จังหวัด” ที่เราใช้เรียกเมืองอยู่ในบัดนี้ แปลว่ากระไรมีเค้ามูลมาจากไหน ถ้าไม่คิดก็เหมือนไม่น่ารู้ เราใช้กันอยู่ทุกวันจนดูเป็นคำธรรมดาไม่ใส่ใจจะคิดถึงความหมายและที่มา ข้าพเจ้าเองก็มองคำนี้แต่ผิวเผินมาก่อนเหมือนกัน มารู้สึกว่าเป็นคำน่าศึกษาเอาต่อเมื่อภายหลังที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง ไทย – จีน ของพระยาอนุมานราชธน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2479 ในหนังสือนั้นมีข้อสันนิษฐานที่มาของคำ จังหวัด ได้อย่างพิสดาร ข้อความโดยสังเขปมีดังนี้

“...จีนโบราณรวมเรียกมณฑลกวางตุ้งและกวางซีว่า ‘แคว้นหวัด’ หวัดทางตะวันออกเรียกว่า หวัดตุง (กวางตุ้ง) และหวัดทางตะวันตกเรียก หวัดสี (กวางซี) จีนเรียกแคว้นว่า สาง ฉะนั้นแคว้นหวัดตุงก็เป็นหวัดตุงสาง และโดยทำนองเดียวกัน แคว้นหวัดสีก็เป็นหวัดซีสาง ท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนได้ให้ข้อคิดต่อไปอีกว่า ‘หวัดสาง’ (หวัดแคว้น) ถ้าจะเรียกอย่างไวยากรณ์ฝ่ายไทยและญวน ก็ต้องกลับที่ของคำเป็น ‘สางหวัด’ (แคว้นหวัด) เสียง ส กับ ว เป็นเสียงที่เพี้ยนกันไปมาได้ สางหวัด กับ จังหวัด จึงน่าจะเป็นคำเดียวกัน และถ้าว่าไปถึงด้านความหมาย คำทั้งสองก็มีความหมายคล้ายคลึงกันอยู่มาก เพี้ยนกันอยู่แต่ที่ สางหวัด จีนใช้เรียกแคว้น ซึ่งใหญ่กว่าจังหวัดไทยเท่านั้น นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนยังได้ใช้ข้อสนับสนุนไว้อีกบางประการ ซึ่งท่านผู้สนใจจะศึกษาได้จากหนังสือเล่มนั้น”

ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งมากที่ได้อ่านข้อสันนิษฐานคำจังหวัดดังกล่าวนี้ แต่แล้วก็ละเลยจนลืม ครั้นบัดนี้ข้าพเจ้าได้พบหลักฐานและข้อคิดว่า จังหวัด อาจมีที่มาจากเขมรโบราณบ้างก็ได้เหมือนกัน จึงรวบรวมหลักฐานที่ได้พบมาเสนอท่านผู้สนใจ เพื่อได้พิจารณาเป็นที่มาของคำจังหวัดอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ารู้สึกว่าทั้งตัวข้าพเจ้าและท่านผู้อ่านต่างเป็นหนี้บุญคุณของพระยาอนุมานราชธนมากอยู่ เพราะท่านเป็นบุคคลแรกที่หยิบยกคำนี้ขึ้นมาพิจารณานับเป็นการกรุยทางไว้ให้เราได้วิจารณ์วินิจฉัยกันอย่างกว้างขวาง และถ้าหากข้าพเจ้ามิได้อ่านหนังสือ ไทย – จีน ของท่าน “จังหวัด” ที่จะเขียนต่อไปนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้
ก่อนที่จะพิจารณาถึงที่มาของคำว่า จังหวัด เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า จังหวัด ที่เราใช้เรียกหัวเมืองต่างๆ ในประเทศไทยอยู่ในบัดนี้ได้เริ่มใช้กันมาแต่เมื่อใด เดิมทีเดียวการปกครองท้องถิ่นของเราแบ่งเขตออกเป็น “เมือง” ดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว ที่มาเรียกหัวเมืองต่างๆ ว่าจังหวัดนั้นมาเริ่มเรียกกันในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่จะออกประกาศเปลี่ยนเรียกเมืองว่าจังหวัดในปีใดแน่ข้าพเจ้ายังค้นหลักฐานไม่พบ เท่าที่ค้นได้มา ใน พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่พุทธศักราช 2456 ยังแบ่งท้องที่ออกเป็นเมืองและเรียกเจ้าเมืองว่า “ผู้ว่าราชการ” ครั้นใน พ.ศ. 2459 พระยาเพชรปาณีอธิบดีกรมพระนครบาลร่าง “จดหมายบันทึกกรมพระนครบาลกำหนดโครงการจัดอำเภอในกรุงเทพพระมหานคร” ขึ้น เพื่อทูลเกล้าฯ ขอรับพระราชทานประกาศใช้ใน พ.ศ. 2460 ในจดหมายบันทึกนั้นเรียกเมืองหลวงว่า “เมือง (จังหวัด)” หรือ หัวเมืองจังหวัด” ส่วนเมืองที่แบ่งท้องที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นเรียกว่า “จังหวัด” เลยทีเดียว เช่น จังหวัดพระประแดง จังหวัดมินบุรี เป็นต้น พิจารณาตามจดหมายบันทึกนี้ คล้ายกับจะเป็นในระยะเวลาที่กำลังดำริจะเปลี่ยน “เมือง” เป็น “จังหวัด” อย่างไรก็ดี พอถึงใน พ.ศ. 2465เราได้ใช้คำ “จังหวัด” แทน “เมือง” อย่างเป็นทางการ ปรากฏใน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ชั่วคราว ซึ่งประกาศใช้ในปีนั้นแบ่งมณฑลออกเป็น จังหวัด และเรียกเจ้าเมืองว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ดังนั้นถึงจะค้นหลักฐานวันคืนแน่นอนที่ประกาศใช้จังหวัดแทนเมืองไม่ได้ ก็พอจะอนุมานได้ว่าจังหวัดนั้น เราเริ่มใช้กันในราว พ.ศ. 2460 นี้เอง
จริงอยู่ เราเพิ่งจังหวัดกันไม่นาน แต่จังหวัดไม่ใช่คำใหม่ที่คิดแต่งหรือแผลงขึ้นในคราวนั้น คำจังหวัดเป็นคำที่เราใช้กันมานานแล้วแต่โบราณ เท่าที่พบแล้ว มีใช้มาแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาและใช้กันต่อเนื่องลงมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ขาดสาย แต่ “จังหวัด” ที่ใช้กันอยู่ในสมัยโบราณทีเดียวนั้น มิได้ใช้ในความหมายว่า “เมือง” ดังทุกวันนี้ หากใช้ในความว่า บริเวณ, ขอบเขต มีตัวอย่างอยู่ในวรรณคดีไทยทั่วไป เช่น ในมหาชาติคำหลวงกัณฑ์นครกัณฑ์ซึ่งแต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในตอนห่าฝนสัตตพิธรัตน์ตกลงยังแคว้นสีพีราษฎร์ พระเวสสันดรให้อำมาตย์ออกป่าวประกาศแก่ชาวเมืองว่า 

“อันว่าห่าฝนสับดพิธรัตน์นี้ ผี้แลตกในที่แดนแคว้นร้ววเรือนเลื่อนตรวันตกตรวันออกจรอกตรกูลผู้ใดไส้ จงให้แก่มหาชนผู้นันนโสดเทอญ อวเสสํ อาหราเปต๎วา อันว่าเสศสับดพิธรัตน นอก จงงหวัด กำหนดนั้นว่าไส้ อัตต๎โน เคหวัต์ถุส๎มึ ธเนนสัทธึ โกฏ์ฐาคาเรสุ โอกิราเปต๎ ธก็ให้อำมาตย์มาหล่อไว้ในลำพงงคลงง คฤราชนันน”

ความในตอนนี้เห็นได้ชัดว่า “จังหวัด” แปลว่าเขต, บริเวณ ในวรรณคดีเก่า จะได้พบคำ จังหวัด ที่ใช้ความหมายอย่างนี้ เช่น จังหวัดไพร, จังหวัดวัง เสมอ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้นำคำจังหวัด ไปใช้อย่างน่าเรียนรู้อีกแง่หนึ่ง คือใช้ว่า “จังหวัดกรุงศรีอยุทธยา” มีใช้อยู่ในหนังสือสัญญาค้าขายที่ทำฝรั่งเศสใน พ.ศ.2231 บ่อยๆ เช่น

“สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ใหญ่พระราชทานให้กุมปันหญีซื้อขาย ณ จังหวัด กรุงศรีอยุธยา...
อนึ่งหนัง ณ จังหวัด กรุงศรีอยุทธยาฝ่ายเหนือฝ่ายใต้...”


ที่ต้องใช้คำว่า “จังหวัดกรุงศรีอยุทธยา” ในทีนี้ก็เพราะคำ “กรุงศรีอยุธยา” โบราณหมายถึงเมืองไทยทั้งหมด เมื่อต้องการเฉพาะตัวเมืองหลวงเท่านั้น จึงต้องหาวิธีเรียกโดยเพิ่ม จังหวัด เข้าข้างหน้าเพื่อบ่งบอกว่า “บริเวณ” กรุงเท่านั้น เชื่อว่าที่ต้องคิดหาวิธีผูกคำหรือควงศัพท์ใหม่ในครั้งนี้คงเนื่องมาจากการทำสัญญาตกลงกันระหว่างไทยกับฝรั่ง ฝรั่งใช้คำ Ayuthia เฉยๆ หมายถึงเมืองอยุธยา ไทยใช้เฉยๆ ไม่ได้ ถ้าขืนใช้ต้องตีความหมายเป็นอาณาจักรทั้งหมด เป็นขาดทุนฝรั่ง และความในหนังสือสัญญาก็ต้องเขียนเป็นสามภาษา คือ ไทย ฝรั่งเศส และโปรตุเกสก็จะไม่ตรงกัน นับเป็นครั้งแรกที่พบว่าไทยต้องควงศัพท์ขึ้นเทียบกับภาษาต่างประเทศทางตะวันตก
คำจังหวัดที่ใช้ในสัญญาฉบับนี้ใช้ว่าเขตและบริเวณ โดยตรงหลายแห่ง และมีบางแห่งใช้แปลกๆ คล้ายกับจะบ่งชัดลงไปให้ตายตัวอย่างภาษาฝรั่ง เช่นเรียกหัวเมืองในการปกครองของอยุธยาว่า “หัวเมืองจังหวัด” และเรียกเมืองที่ปกครองตัวเองว่า “เมืองขึ้น” คู่ขึ้นไปหลายแห่ง
คำจังหวัดที่ใช้ในความหมายว่า เขต บริเวณ นี้ยังใช้มาจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ใน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทานกัณฑ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ความตอนเดียวกับ มหาชาติคำหลวง ที่ยกมาข้างต้น มีว่า

“ตสฺมึ ขเณ ขณะนั้นก็ร้อนถึงอาสนโกสีย์สักกเทวราช จึ่งยังห่าฝนสัตตรัตนามาศมีพรรณนานา คือ สุวรรณหิรัญมุกดาเวฑูรยจำรัสทั้งวิเชียรมณีรัตนประพาลก็ครบเจ็ดประการสรรพสิ่งวิเศษ ให้ตกเต็มสกลนคเรศทั่วทุกลำเนา ชานุมตฺตํ ลึกประมาณเพียงเข่าควรจะยินดีแต่ในบริเวณจังหวัด รัตนปราสารทศรีท่วมถึงสะเอวดูอัศจรรย์”

นอกจากนี้ยังปรากฏในวรรณคดีอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ในพวกพระราชนิพนธ์บทละครนอกของรัชกาลที่ 2 เป็นต้น ซึ่งจะไม่ยกตัวอย่างให้ยาวความ
ส่วนคำ จังหวัด ที่ใช้ในความหมายว่าเมืองนั้น เป็นความหมายรองคือเทียบเคียงกับความหมายเดิม มีใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเหมือนกัน ในกฎหมายเก่าบางลักษณะใช้จังหวัดทั้งในความหมายว่า เขต บริเวณ และทั้งในความหมายว่า “เมือง” แต่เห็นจะใช้กันลำลองแต่ในหนังสือ ไม่เป็นภาษาพูด ในวรรณคดีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีใช้คำ จังหวัด ในความหมายว่า เมือง เหมือนกัน เช่นในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนพระอินทร์ลงมาขู่ท้าวยศวิมลให้ออกตามหานางจันทาเทวีและพระสังข์

“ตัวข้าก็จะลาออกบวชเสีย ขอแต่เมียสักคนปรนนิบัติ จะจำศีลภาวนาอยู่หาวัด รั้ววัง จังหวัด ไม่วี่แวว”

รวมความจากหลักฐานที่ได้มานี้ พอจะแบ่งลักษณะการใช้คำ จังหวัด ได้สามสมัยคือ
สมัยแรก คำจังหวัดใช้ในความหมายว่า เขต, บริเวณ
สมัยต่อมา คำจังหวัดใช้ในความหมายว่า เมือง อันเป็นความหมายเทียบเคียงอีกความหนึ่ง
สมัยปัจจุบัน คำจังหวัดใช้เป็นทางการและภาษาพูดในความหมายว่า เมือง แต่อย่างเดียว
ดังนั้นในการสืบสาวที่มาของคำ “จังหวัด” ข้าพเจ้าจึงจะยึดความหมายแรกอันเป็นความหมายที่แท้จริงเป็นหลัก
ในภาษาเขมรโบราณ มีคำที่ใช้ความเดียวกับจังหวัดความหมายแรกของเราอยู่คำหนึ่ง คือ จํหฺวาดฺ ซึ่งส่วนมากเขียนเป็น “จงฺวาดฺ” คำ “จงฺวาดฺ” นี้มีใช้อยู่ในจารึกเขมรโบราณสมัยพระนครหลวงทั่วไปตั้งแต่ต้นสมัยลงมา และใช้อยู่จนสิ้นสมัยพระนครหลวงเมื่อเขมรอพยพราชธานีหนีไปตั้งใหม่ที่พนมเปญ จะยกตัวอย่าง
จารึกที่วัดบาสิต ลงมหาศักราช 964 (พ.ศ.1585) กล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายเป็นกัลปนาแด่เทวสถาน มีคำจังหวัดใช้บ่อยๆ เช่นใช้ว่า “จังหวัดภูมิ” คือ บริเวณที่ดิน

“จงฺวาดฺ ภูมิ โนะ ดิ โขฺลญฺ ชฺนฺวาลฺ นุ กุเลษ โอย ไถฺล”
(จังหวัด ภูมิ นั้น อัน โขลญ ชนวน และสกุล... ให้ราคา)

จารึกที่โคกสวายเจกลงมหาศักราช 1230 (พ.ศ. 1851) มีคำ “จงฺวาดฺ” เหมือนกันใช้ว่า “จงฺวาดฺ สรุก” คือ จังหวัดเมือง (บริเวณเมือง)
คำ “จังหวัด” ของไทยนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่ามาจากคำ “จงฺวาดฺ” ของเขมรนี้เอง แต่ไทยเรารับมาเขียนตามอักขรวิธีของเรา ทำนองเดียวกับกำเหนิด มาจากกำเนิด และครั้งแรกคำว่า “จังหวัด” เราก็รับมาใช้ตามความหมายเดิม แล้วจึงเกิดความเทียบเคียงว่า “เมือง” ในภายหลังดังกล่าวมาแล้วแต่ต้น
คำว่า “จงฺวาดฺ” ของเขมรโบราณนี้ของเขมรโบราณนี้ เป็นคำแผลงมาจาก “ฉฺวาดฺ” ซึ่งแปลว่า หมุนเป็นวง เวียนรอบ เป็นคำกริยา ไทยรับมาใช้ว่า “ฉวัด” ใช้กันมาแต่สมัยสุโขทัย เช่นใช้แทนว่า

“พระเป็นเจาจิงลงมา ฉววด รอบสูวนนเจดี รสสมีกรลยกงามหนกกหนา (ก) ลำดงงกงกวยนแกว”
(พระเป็นเจ้าจึงลงมา ฉวัด รอบสุวรรณเจดีย์ รัสมีกระเหลียกงามหนักหนากลมดังกงเกวียนแก้ว)

คำ “ฉวัด” นี้ในปัจจุบันเรามักใช้คู่ว่า “ฉวัดเฉวียน” ส่วนคำ “ฉฺวาดฺ” (ฉวัด) ของเขมรโบราณที่ว่าเป็นคำกริยาแปลว่า หมุนเป็นวงนั้น ใช้เป็นคำนามก็ได้ แปลว่า “วง” หรือ “บริเวณที่เป็นวง” มีความหมายอย่างเดียวกับ “จงฺวาดฺ” ปรากฏใช้ความเดียวกันบ่อยๆ เช่น จารึกที่ปราสาทโคกโพ ลงมหาศักราช 901 (พ.ศ. 1522) ใช้ว่า “ฉฺวาดฺภูมิ” (ฉวัดภูมิ) คือจังหวัดภูมิ (บริเวณที่ดิน) ดังนี้เป็นต้น
“ฉฺวาดฺ” คำนี้ เขมรโบราณแผลงออกเป็น “จํหฺวาดฺ” คือลงนิคหิตอาคมที่อักษร “ฉ” และแยกอักษร “ฉ” (ธนิต) ออกเป็น “จ” (สิถิล) กับ “ห” (aspirate) ที่แยก ฉ เป็น จ และ ห รวมกัน จะเห็นได้ชัดจากตัวเขียนอักษรฝรั่ง Ch = C + h ตัวอย่างคำที่แผลงโดยใช้หลัดนี้มีอยู่หลายคำเช่น ฉัน (กิน) ลงนิคหิตอาคม เป็น จํหัน (chan – camhan) คือที่เราใช้ว่า “จังหัน” หมายถึง เครื่องกินโดยเฉพาะของที่พระฉัน คำ “ฉายฉัน” ในมหาชาติคำหลวงแผลงใช้คำว่า “จำหายจำหัน” เช่น

“ทงงฉวยงสดำหน้าไม้หน้าแมน แกว่นคำแหงแผลงคำเพลองดำเลองเสโหลโหล้ แหลนหลาย จำหาย แสงส่องตรวัน จำหนน แสงส่องฟ้าเหลื้อมๆ หล้า ทุกแหล่ง ดูปรแพร่งปรแพร”

เขมรมีคำ “ฉาย” แปลว่า ขยายออก ปัจจุบันมักใช้ว่า สาย (คือ สยาย) คำนี้แผลงออกเป็นคำนามว่า “จำหาย” หรือ “จังหาย” แปลว่า “สิ่งที่ใช้สยาย” หมายความไปถึง “ขอฉาย” ที่ใช้ในการนวดข้าว คำ “เฉลียง” ที่แปลว่า เสี้ยว เฉไปข้างๆ เขมรแผลงเป็น จำเหียง, จังเหียง แปลว่า ข้างซีก ในยวนพ่ายของเราก็มีคำ “จำหยง” แปลว่า เสี้ยว โคงเป็นเสี้ยวเหมือนกัน เช่นในตอนพรรณนาถึงช้าง กล่าวว่า งาช้างงอนเหมือนเสี้ยวพระจันทร์ เป็นต้น
โดยวิธีแผลงดังที่กล่าวมานี้ ฉฺวาดฺ จึงแผลงเป็น จํหฺวาดฺ (chvat – camhvat) แต่รูป “จํหฺวาดฺ” ปรากฏใช้น้อยแห่งเต็มที โดยมากมักตัด ห ทิ้ง ลดนิคหิต หรือนาสิกลงเป็น “ง” ใช้กันแต่รูป “จงฺวาดฺ” โดยมาก ที่ตัด ฆ ทิ้งออกเสียก็เนื่องด้วย อักษร ห ของเขมรไม่มีอำนาจนำอักษรอี่นอย่างไทย เพราะเขมรไม่มีอักษรสูงกลางต่ำ คำจำพวกตัด ห ทิ้งยังมีอีกถมไปอย่างคำง่ายๆ ที่เรารู้จักคือ “ถวาย” คำนี้ถ้าแผลงโดยหลัก ถ = ต + ห ถวาย ควรเป็น ตํหฺวาย แต่ ห ไม่มีประโยชน์ในภาษาเขมร ในการนำอักษร “ว” เขมรจึงตัดใช้แต่ ตงฺวาย (ตังวาย) มาแต่ครั้งพระนครหลวง
ในตอนนี้จะเห็นแล้วว่า จังหวัด แผลงมาจาก ฉวัด ซึ่งแปลว่าหมุนเวียนเป็นวง ฉะนั้นคำ จังหวัด ย่อมมีความหมายเกี่ยวกับ วง หรือ กลม อยู่ด้วย คือหมายถึง “บริเวณโดยรอบ” มีปรากฏในวรรณคดีไทยอย่างชัดเจนอยู่แห่งหนึ่ง คือ ในร่ายมมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทศพร พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ความตอนที่พระเจ้าสิริสุโธทนเล่าถึงปาฏิหาริย์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ในคราวออกไปทอดพระเนตรการแรกนาขวัญใต้ร่มหว้ามีใช้ว่า

“พี่เลี้ยงทั้งปวงเชิญเสด็จพระองค์ไปบรรทมเหนือพระยี่ภู่ ปูด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ในบริเวณ จังหวัด ร่มไม้หว้า ชมพูฉายาเมื่อเวลาตะวันชายเงาไม้มิได้บ่ายไปตามตะวัน”
จังหวัด ในที่นี้หมายถึงบริเวณโดยรอบของ “ร่มไม้หว้า” ซึ่งเป็นวงทรงกลมไม่ต้องสงสัย ถ้าจะเทียบกับคำไทยก็น่าจะตรงกับคำว่า “ควง” เช่นที่ใช้ว่า “ควงไม้โพธิ์”, “ควงไม้คัณฑามพะ”, “ควงไม้อัศวัตถพฤกษ์” ซึ่งหมายถึง “บริเวณอันเป็นทรงกลม” คำว่า “ควง” นี้ในภาษาไทยก็ใช้เป็นกริยาว่า หมุนเป็นวงกลม เช่น ฉวัด เหมือนกัน
การรับคำเขมร หรือจะเป็นคำภาษาอื่นก็ตามที เข้ามาใช้ในภาษาไทยนั้น เรารับเข้าด้วยเสียงคำอย่างหนึ่ง และรูปคำอย่างหนึ่ง และบางทีคำเดียวกันเรารับเข้ามาใช้ทั้งโดยเสียงและรูปคำก็มีบ่อยๆ อย่างกำเนิด เราใช้ กำเนิด (โดยเสียง) และกำเนิด (โดยรูป) ขฺญํ เราใช้ ขยม, ขญม (โดยเสียง) และใช้ขยุม, ขญม (โดยรูป) ดังนี้เป็นต้น คำ จงฺวาดฺ หรือ จํหฺวาดฺ ของเขมร ไทยก็เคยใช้ทั้ง จังหวาด (รูป) และจังหวัด (เสียง) เหมือนกัน มิหนำซ้ำยังใช้เป็นคำกริยาเสียด้วย เช่น

“พระแผลงศรศักดิ์สำแดง ดุจฟ้าฝาดแสง
จังหวาด จังหวัด เวหา”

ในที่นี้ใช้ทั้งสองรูป คำแรก จังหวาด ใช้เป็นคำกริยา แปลว่าหมุนรอบ, ฉวัดรอบ ส่วน จังหวัด คำหลังเป็นนาม จังหวัดเวหาคือบริเวณพื้นฟ้า ถ้านึกถึงการเพี้ยนเสียงระหว่าง จ ฉ ส ต ก ตามหลักการเพี้ยนเสียงในภาษาไทย คำ ตวัด ตระหวัด กระหวัด พวกนี้ ก็น่าจะออกมาจากคำ ฉวัด ด้วยเหมือนกัน
ข้าพเจ้าขอสรุปหลักฐาน และเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อๆ ดังนี้เป็นต้น
1. รูปคำ รูปคำ จังหวัด ของไทยกับ จงฺวาดฺ ของเขมรคล้ายคลึงกัน
2. เสียงคำ เสียงคำ จงฺวาดฺ เขมรอ่านตรงกับเสียง จังหวัด ของไทย
3. ความหมายของคำ ความหมายของคำ จังหวัด ในสมัยโบราณ ตรงกับภาษาเขมรร่วมสมัยกัน
4. คำที่มีความหมายว่า หมุนวง มักใช้ในความหมายเทียบเคียงได้ว่า บริเวณ เมือง คำ จังหวัด เดิมเป็นกริยาว่า หมุนเป็นวง ด้วยเช่นกัน
5. ประการนี้ข้าพเจ้ายังไม่ได้กล่าวถึงเลยคือคำ จังหวัด ไม่ปรากฏใช้ในภาษาไทยอื่นเช่น อาหม ชาน นุง โท้ คำที่ ไทยขาว (ซึ่งไม่เคยติดต่อกับเขมร) เชื่อได้ว่า จังหวัด ไม่ใช้คำไทยมาแต่เดิมแน่ ต้องเป็นคำในภาษาอื่น
ด้วยเหตุดังสรุปข้างบนนี้ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่า “จังหวัด” มาจาก “จงฺวาดฺ” ของเขมรโบราณ ความจริงถ้าว่าตามนิรุกติศาสตร์แล้วในการเทียบเคียงอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในด้านประวัติศาสตร์และอารยธรรมระหว่างไทยกับเขมรอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ข้าพเจ้าไม่ได้พิจารณา เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ไทยกับเขมรมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแทบจะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนเป็นของใครกันแน่ ทั้งในด้านภาษาและขนบประเพณี
คำ “จงฺวาดฺ” ของเขมรโบราณนั้น พอสิ้นสมัยพระนครหลวงแล้วก็เริ่มตายไป ปัจจุบันนี้เขมรหามีคำ “จงฺวาดฺ” ในภาษาไม่ ถ้าเขมรจะมีคำ “จังหวัด” ใช้ใหม่บัดนี้ ก็ต้องขอยืมกลับไปจากไทย เมื่อสมัยที่ไทยได้ดินแดนสี่จังหวัดกลับคืนมา ทางมณฑลบูรพาซึ่งชาวพื้นเมืองเป็นเขมรได้รับอารยธรรมของไทยไว้มากพอดู เฉพาะในด้านภาษา เขมรในแถบนั้นรู้จักคำ จังหวัด” และใช้คำนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะได้ใช้กันแพร่ออกไปถึงทางพนมเปญหรือไม่.

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 71 – 88.

คำว่า “ฉฺวดด” ปรากฏในข้อมูล จารึกวัดศรีชุม ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 31 – 32