ขุดคำ-ค้นความ

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

วรำ

วรำ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:44:07

บทความโดย : ทีมงาน

“อหํ อันว่าข้า สิริปาโล ผู้ชื่อพระมหาสิริปาลกประกาศ นาวจทโดยพระนามแต่บูรพาทิบรรพัชชครั้งนิวัตรนิเวศน เปนกษัตริย์เพศวรำ ธม์มาธิเปส์สชยเชฏ์ฐสุริยวํส เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงษ...”

ร่ายข้างบน อยู่ในท้าย นันโทปนันทสูตรคำหลวง ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 ครั้นทรงผนวช ณ วัดโคกแสง ในร่ายบทนี้มีคำแปลกอยู่ 1 คำ คือ “วรำ” คำนี้ยังไม่มีใครพบว่ามีใครเคยอธิบายเอาไว้ ลางทีอาจจะมี แต่ข้าพเจ้าไม่พบก็เป็นได้
วรำ คิดง่ายๆ ก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ “วรํ” แต่อ่านตามสำเนียงสันสกฤตว่าวรำ เพื่อต้องการให้สัมผัสกับ “ธรรมาธิ- เบศร” ในวรรคต่อไป ถ้าคิดเพียงเท่านี้ก็หมดเรื่อง แต่ลองนึกดูว่า “วรำ” นั้น ถ้าจะให้เป็น “วรํ” ก็มีรากมาจาก “วร” นั่นเอง ถ้าเจ้าฟ้าฯ ผู้ทรงพระนิพนธ์ต้องการจะใช้คำว่า “วร” ในที่นี้ เหตุใดจึงแผลงเป็น วรำ ให้แปลกหู เพราะสัมผัสกับ “ธรรมาธิเบศร” เหมือนกัน ชะรอยคำว่า วรำ จะเป็นคำอื่น ไม่ใช่มาจาก วรํ หรือ วร ข้าพเจ้าจะลองสันนิษฐานดังต่อไปนี้
ประเพณีไทยในประเทศอินเดีย แบ่งชนออกเป็นสี่วรรณะ คือ พราหมณ์ 1 กษัตริย์ 1 แพศย์ 1 และศูทร 1 (เรื่องเกี่ยวกับชนทั้งสี่วรรณะนี้ ขอไม่อธิบาย เพราเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว) ชนแต่ละวรรณะต้องมีคำลงท้ายชื่อกำกับอยู่ด้วยเสมอ เป็นเครื่องบอกวรรณะ ตามแบบอย่างเดิมมีดังนี้
พราหมณ์ ลงท้ายนามด้วยคำ ศรฺมา เช่น พิษณุศรฺมา
กษัตริย์ ลงท้ายนามด้วยคำ วรฺมา เช่น หริวรฺมา
พราหมณ์ ลงท้ายนามด้วยคำ คุปฺต เช่น จนฺทรฺคุปฺต
ศูทร ลงท้ายนามด้วยคำ ทาส เช่น กาลิทาส
แต่ต่อมาในสมัยหลังๆ มักใช้กันไม่ใคร่ตรงตามแบบ มีคำใหม่ๆ มาใช้แทนเช่น พราหมณ์ ใช้คำ ศาสฺตฺรีบ้าง อาจาริยบ้าง โสมยาธีบ้าง พวกแพศย์ลางที่ก็ใช้ เจฏฺฏี (เศฺรษฺฐี) เป็นต้น แต่วรรณะกษัตริย์ ยังคงใช้คำเดิมอยู่ไม่เปลี่ยนเป็นคำอื่น
วรฺมา ที่ลงท้ายนามกษัตริย์วรรณนั้น มาสมัยหลัง พวกทมิฬได้เป็นใหญ่ทางอินเดียฝ่ายใต้ ได้นำเอาไปใช้ แต่เพิ่มเสียง “อัน” ลงท้ายคำ เช่น สุริย เป็น สุริยัน, ชีว เป็น ชีวัน, กุเพร เป็น กุเพรัน ด้วยเหตุนี้ “วรฺมา” จึงกลายเป็น “วรฺมัน”
ในสมัยดึกดำบรรพ์ พวกอินเดียได้ออกมาเป็นใหญ่ครอบครองดินแดนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายยุคหลายสมัย ที่อาณาจักรทวารวดี, ศรีวิชัย, กัมพูชา (เขมร) และจัมปา เหล่านี้ มีกษัตริย์เป็นเชื้อสายเจ้านายหรือพราหมณ์จากอินเดียทั้งนั้น พวกนี้เมื่อได้เป็นกษัตริย์ก็ได้นำคำ วรฺมา มาใช้ด้วย แต่มักใช้ว่า “วรฺม” และ “วรฺมัน”
วรฺม ใช้ในโอกาสที่มีคำ “เทวะ” ต่อท้ายอีกชั้นหนึ่ง เช่น “พระบาทกมรเตงอัญมหาราช ศรีมัตไตรโลกยราช เมาลิภูษณวรฺมเทวะ” ถ้าไม่ใช้ “เทวะ” ต่อท้าย มักใช้คำว่า “วรฺมัน” เช่น พระบาทชัยอินทรวรฺมัน พระเจ้าสรหนุนโรดม กษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบันก็ยังใช้คำ “วรฺมัน” อยู่ คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุวรมันราชหริวงศ์”
คำ “วรฺม” นี้ ภาษสันสกฤตโบราณเขียน “วรฺมฺม” (ม สองตัว) คำที่มีเรผะ (รฺ) แทรกกลางทุกคำในภาษาสันสกฤตมักเขียนตัวสะกดตัวตามซ้อนสองตัวทั้งนั้น เช่น ธรฺม เขียน ธรฺมฺม, วรฺณ เขียน วรฺณฺณ, กรฺม เขียน กรฺมฺม, ปรฺวต เขียน ปรฺวฺวตต พูดง่ายๆ คือผิดกับภาษามคธตรงที่มีเรผะแทรกอยู่เท่านั้นเอง ตามตัวอย่างนี้ มคธเขียนเป็น ธมฺม, วณฺณ, กมฺม, ปวฺวต (บรรพต) จารึกภาษาสันสกฤตโบราณใช้วิธีเขียนแบบนี้ทั้งนั้น คำ “วรฺม” ในจารึกคงเขียนเป็น “วรฺมฺม” ทุกแห่ง และเวลาอ่านก็คงจะอ่าน วรัม – วรำ ออกเสียงเรผะด้วย เหมือนอย่างที่เราชอบอ่าน บุรฺพบท ว่า “บุระพะบด” คำ “วรมัน” เดี๋ยวนี้เขมรก็ยังอ่านเสียง “ร” สะกด ออกเสียง “เวือระมัน” ถ้าไม่มี “น” สะกดก็ต้องอ่าน “เวือะรัม” คำ “วรฺมฺม” อ่านออกเสียง “วรำ” ดังกล่าวมานี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าคำ “วรำ” ใน นันปโทปนันทสูตรคำหลวง ที่ว่า “เป็นกษัตริย์เพศวรำ” เป็นคำเดียวกับ “วรฺมฺม” นั่นเอง แต่ผิดอักขรวิธี เหตุที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรจะนำ “วรำ” หรือ “วรฺมฺม” มาใช้นั้น เห็นจะเป็นด้วยขณะนั้นไทยเรากำลังหลงใหลลังกา ได้ส่งสมณฑูตออกไปตั้งสมณะวงศ์และมีสัมพันธไมตรีติดต่อกันอยู่เสมอ ประเพณีใช้คำ “วรฺมฺม” จึงตามเข้ามาด้วย

๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
จิตร ภูมิศักดิ์ ในศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548) หน้า 31 – 34.