พระเทพมุนี (กลิ่น ศรนรินทร์)
พระเทพมุนี หรือ สมณศักดิ์อื่น คือ พระราชรัตนดิลกพระอรรถโมลี พระครูปริยัติวรคุณ และพระครู ธรรมธร เป็นบุคคลเดียวกัน พระเดชพระคุณมีความสามารถและมีผลงานปรากฏหลายด้าน เช่น เป็นพระนักเขียน และเป็น กวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของภาคใต้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด หลายเรื่อง เป็นพระนักพัฒนาที่ได้รับประกาศนียบัตรวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นพระที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนาหลายตำแหน่ง เช่น เป็นกรรมการสงฆ์ประจำจังหวัด เป็นหัวหน้าสายพระธรรมทูตประจำจังหวัด เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นต้น
พระเทพมุนี นามเดิมว่ากลิ่น ศรนรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ที่บ้านบางหัก ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของนายบุญแก้ว นางฉิม ศรนรินทร์ ศึกษาชั้นประถมเมื่ออายุ ๑๑ ปี ที่โรงเรียนวัดคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ จบชั้นสูงสุดของโรงเรียน (ชั้นประถม ๓) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ หลังจากนั้นได้ช่วยบิดามารดาทำนาทำสวนอยู่ ๒ ปี อายุ ๑๖ ปี (พ.ศ.๒๔๖๘) ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ เมื่อบรรพชาแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโคกสมานคุณ ได้ศึกษาธรรมจนสามารถสอบนักธรรมตรี ได้ภายในปีแรกที่ได้บรรพชา ในเวลานั้นการศึกษาของสงฆ์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในภาคใต้มากนัก ถ้าจะเอาดีในการศึกษาทางธรรม พระภิกษุสามเณรส่วนมากจะไปศึกษายังกรุงเทพมหานคร สามเณรกลิ่นก็เป็นผู้หนึ่งที่คิดเอาดีทางธรรมให้ได้จึงเดินทางไปกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสามพระยา ปี พ.ศ.๒๔๗๐ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบท ณ วัดที่จำพรรษาอยู่ โดยมีพระเทพมุนี วัดสามพระยา เป็นอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ.๒๔๗๑ พระภิกษุกลิ่นสอบได้นักธรรมโท ได้ศึกษาภาษาบาลีและขอมจนแตกฉาน ศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาจากภาษาบาลี แล้วนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนั้นชื่อ "หนังสือพิมพ์รัฐธรรมนูญ" ของสำนักพิมพ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งในเวลานั้นมีพระอภัยรณฤทธิ์เป็นบรรณาธิการ (ปัจจุบันสำนักพิมพ์นี้ได้ยุบเลิกไปแล้ว) ต่อมาก็สอบเปรียญ ๓ ประโยคได้และในปีนั้นเอง (พ.ศ.๒๔๗๘) ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น "พระครูธรรมธร" และได้รับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ณ วัดสามพระยาด้วย ด้วยเหตุที่พระครูธรรมธรเป็นนักค้นคว้าและนักเขียน และมีนิสัยชอบในทางกลอนอยู่แล้วจึงหัดเขียนกลอน ๘ และร้อยกรองประเภทอื่น ๆ เช่น โคลง ฉันท์ และกาพย์ จึงสามารถเขียนงานร้อยกรองประเภทดังกล่าวได้ดีคนหนึ่ง สามารถส่งบทกวีที่เขียนเป็นร้อยกรองเข้าประกวดได้ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ บทกวีร้อยกรองเรื่องแรกที่พระครูธรรมธรส่งเข้าประกวดชื่อ "นารีสมบัติ" ใช้นามปากกาว่า "ก.ศรนรินทร์" ส่งเข้าประกวดกับสำนักพิมพ์รัฐธรรมนูญ ในคราวนั้นมีนักเขียนส่งเข้าประกวดทั้งหมด ๘๑ คน ผลการตัดสินงานเขียนของพระครูธรรมธรได้ที่ ๑ จากผลที่ชนะเลิศเรื่องนี้เองที่กรรมการตัดสินท่านหนึ่งได้ชมเชยและยกย่อง ก.ศรนรินทร์ ว่าเป็นกวีที่มีความสามารถในด้านการประพันธ์คนหนึ่ง กรรมการท่านนั้นคือ "ชิด บูรทัต" นักเขียนชื่อดังสมัยนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง ชิต บูรทัต ได้มาเยี่ยมพระครูธรรมธร (ก.ศรนรินทร์) ที่วัดสามพระยาในฐานะที่เป็นนักเขียนด้วยกัน ซึ่งการมาเยี่ยมของชิต บูรทัตนั้นมาตรงกับวันพุธที่ ๕ ของเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ทั้งสองคุยกันได้สักครู่หนึ่ง ชิต บูรทัต ก็เขียนโคลงลงในกระดาษว่า
"พระครูธรรมธร "กลิ่น" ผู้ พึงมนัส
ของชิต บูรทัต เท่าแจ้ง
ห้าพุธ หกพฤหัสฯ เห็นผิด
โปรดอภัยอย่าแย้ง แยกไร้ไมตรี
เสร็จแล้วส่งให้พระครูธรรมธร ด้วยความที่เป็นนักกลอนพระครูธรรมธรได้เขียนตอบไปว่า
"ชิตบูรทัคชื่อนี้ เบาจิต
ของกลิ่นแต่เพลงมิตร มุ่งเกื้อ
ห้าพุธเพื่อนครุผิด ก็พี่
เพราะท่านไมตรีเอื้อ อาตม์อ้อมเออตาม"
ปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลังจากที่พระครูธรรมธรชนะเลิศการประกวดงานเขียนแล้ว ท่านได้สมัครสอบวิชาครูชุด ป.ป. ผลปรากฏว่าท่านสอบได้และทำคะแนนวิชาภาษาไทยได้อันดับ ๑ ของผู้ที่เข้าสมัครสอบในคราวนั้น เมื่อสอบวิชาครู ป.ป.ได้แล้วพระครูธรรมธรก็ได้เป็นครูสอนวิชาธรรมจรรยาอยู่ในโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา และสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรควบคู่กันไปด้วย เวลาว่างจะเขียนหนังสือส่งสำนักพิมพ์มิได้ขาด หลังจากที่สอนโรงเรียนพณิชยการและสอนภาษาบาลีอยู่ ๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ พระครูธรรมธรก็สอบเปรียญ ๔ ประโยคได้ พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม รัฐบาลมีนโยบายให้ย้ายผู้คนในกรุงเทพฯ ออกต่างจังหวัด รวมทั้งพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ด้วย พระครูธรรมธรจึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม มาจำพรรษาอยู่ที่วัดโคกสมานคุณซึ่งเป็นวัดที่เคยจำพรรษาเมื่อครั้งเป็นสามเณร
เมื่อพระครูธรรมธรได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดโคกสมานคุณแล้ว ก็ได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีให้กับพระภิกษุสามเณร ปี พ.ศ.๒๔๘๕ กรรมการวัดเห็นว่าท่านมีความรู้และความสามารถในด้านการศึกษาคนหนึ่ง จึงได้เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการองค์การศึกษาของสงฆ์อำเภอหาดใหญ่ ขณะที่ท่านเป็นกรรมการองค์การศึกษาอยู่นั้น ท่านเห็นว่าบริเวณที่ตั้งวัดโคกสมานคุณในเวลานั้นมีผู้คนมากขึ้น บุตรหลานของชาวบ้านควรจะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดบ้าง จึงได้ริเริ่มก่อตั้งและดำเนินการสร้างโรงเรียนสมานคุณวิทยาทานขึ้น โดยท่านได้เป็นผู้จัดการโรงเรียนเป็นรูปแรก และให้โรงเรียนนี้อยู่ในความดูแลของวัด เป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดโรงแรกในอำเภอหาดใหญ่ ครูที่สอนมีทั้งครูที่เป็นพระภิกษุและครูที่เป็นฆราวาส ในตอนแรกรับสมัครนักเรียนชั้นประถม ต่อมาได้ขยายรับสมัครในระดับมัธยมอีกด้วย ในขณะที่พระครูธรรมธรดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาอยู่นั้น งานการประชาสัมพันธ์ได้ชะงักลงชั่วคราว แต่คงเขียนกลอนให้กับบุคคลที่สนใจเป็นครั้งคราวเพื่อนำไปสั่งสอนลูกหลานบ้าง ว่าเพลงบอกและว่ากลอนโนราบ้าง โนราที่ท่านเคยแต่งกลอนให้เช่น โนราเติม เป็นต้น ด้วยความสามารถในทางกลอนที่แต่งให้โนราเติมนั้นเอง โนราเดิมได้ฝากดัวเป็นศิษย์และยินดีรับใช้พระครูธรรมธรทุกโอกาส จนกระทั่งโนราเติมถึงแก่กรรม ซึ่งพระครูธรรมธรเองก็รักและห่วงใยในตัวโนราเติมเสมอญาติคนหนึ่ง ด้วยเหตุที่พระครูธรรมธรเป็นนักกลอนนี้เองถึงแม้ว่าโนราเติมจะถึงแก่กรรมไปแล้ว ท่านยังเขียนกลอนไว้ให้หน้าบัวที่บรรจุอฐิของโนราเดิมในวัดโคกสมานคุณว่า
"อันนายเติม อ๋องเซ่ง เก่งโวหาร
ปฏิภาณ กลอนศัพท์ ขับคำขวัญ
มโนห์รา ชั้นนำ คนสำคัญ
พรสวรรค์ สวรรค์ให้ จึงได้เป็น
ถึงแก่กรรม ก่อเศร้า เหล่าญาติมิตร
ผู้หมดสิทธิ์ จะประสบ ตามพบเห็น
ธรรมสังเวช อาลัยวรณ์ เมื่อตอนเย็น
เดือนยี่เพ็ญ ศพซาก มาจากกรุง
สิบเอ็ดมก ราคม สมพรรษา
สองพันห้า ร้อยสิบสี่ พิธีมุ่ง
ทักษิณา นุปาทาน หลักฐานปรุง
เพื่อผดุง วิญญาณ ผ่านเมืองแมน
วิปโยค ยอดระบำ ชั้นนำหน้า
มโนห์รา เติมตรัง ที่ดังแสน
ถึงล่วงลับ มลายชีพ บีบใจแฟน
ผู้หวงแหน หนุนสนอง ทางร้องรำ
อดีตเห็น เย็นแก้วหู ได้รู้สึก
เสียงก้องกึก ซาบซึ้ง ตรึงจิตฉ่ำ
อนาคต จะพบใคร ว่องไวคำ
เลิศลำนำ ปฏิภาณ โวหารพราว"
หลังจากโนราเติมเสียชีวิตแล้ว หนังนครินทร์ ชาทอง ผู้ที่เคยศรัทธาในทางกลอนของพระครูธรรมธรอยู่แล้วได้สมัครเข้ามาเป็นศิษย์อีกคนหนึ่ง และให้ท่านพระครูแต่งกลอนขับปรายหน้าบทให้ หนังนครินทร์ก็ใช้กลอนที่ท่านพระครูแต่งให้ใช้ขับปรายหน้าบทจนกระทั่งทุกวันนี้
ปี พ.ศ.๒๔๙๕ พระครูธรรมธร ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น "พระครูปริยัติวรคุณ" และได้รับพัดยศพิเศษ "ภปร." จากมหาเถรสมาคมด้วย ในปีเดียวกันนั้น พระครูปริยัติวรคุณก็ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เป็นกรรมการสงฆ์จังหวัดสงขลาอีกด้วย ปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระครูปริยัติวรคุณได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระอรรถโมลี" ปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ จากสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับเลือกให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโคกสมานคุณ
ในช่วงระยะเวลาที่เป็นพระอรรถโมลีอยู่นั้น ท่านมีเวลาทุ่มเทให้กับการศึกษาทั้งทางการศึกษาของสงฆ์และการศึกษาของฆราวาสอย่างเต็มที่ เป็นทั้งผู้จัดการโรงเรียนสมานคุณวิทยาทานและเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนเอง การศึกษาของสงฆ์ท่านก็เป็นผู้สอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี เวลาล่วงมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๑ พระอรรถโมลีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสายเผยแพร่พระธรรมทูตประจำจังหวัดสงขลาและเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดโคกสมานคุณ และดำรงตำแหน่งผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสงขลาในปี พ.ศ.๒๕๑๗
พ.ศ.๒๕๑๘ พระครูสมานคุณารักษ์ เจ้าอาวาส วัดโคกสมานคุณรูปเก่าถึงแก่มรณภาพ พระอรรถโมลีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน และในปีเดียวกันนั้นท่านได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชรัตนดิลก" เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชรัตนดิลกแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษาธรรมยังประเทศศรีลังกาอยู่ระยะหนึ่ง
ผลงานสำคัญของพระเทพมุนี
การพัฒนาวัด เนื่องจากพระราชรัตนดิลกเป็นพระนักพัฒนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ท่านได้ก่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ภายในวัดขึ้นมากมาย เช่น โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน สร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสมุด กุฏิ อาคารที่พักสำหรับอาคันตุกะ ทั้งพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป เป็นต้น จนกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการถวายประกาศนียบัตรแก่ท่านในฐานะที่เป็นพระพัฒนาวัดตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการยกฐานะวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น พระราชรัตนดิลกก็มีส่วนอยู่ด้วยไม่น้อยกล่าวคือในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ทางวัดโคกสมานคุณได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่า เสร็จแล้วทางวัดได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จมาทรงยกช่อฟ้า โดยหมายกำหนดการนั้นทางสำนักพระราชวังให้เสด็จมายกช่อฟ้าในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่บังเอิญในปีนั้นเกิดเหตุร้ายขึ้นต่อหน้าพระพักตร์ถึง ๒ ครั้ง คือ ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๐ รถจักรยานยนต์ชนรถพระที่นั่งถึงกับไฟลุกไหม้ ตอนเสด็จกลับจากจังหวัดปัตตานีไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และในวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๐ เสด็จจังหวัดยะลา มีการวางระเบิดบริเวณหน้าพระที่นั่ง ทางสำนักพระราชวังเห็นว่าเกิดเหตุร้ายติดต่อกันถึง ๒ วัน จึงได้งดภารกิจต่าง ๆ ในวันรุ่งขึ้นและเลื่อนหมายกำหนดการเสด็จไปทรงยกช่อฟ้าที่วัดโคกสมานคุณในวันดังกล่าวด้วย ให้เลื่อนไปยกครั้งเสด็จคราวหน้า การเลื่อนกำหนดการของสำนักพระราชวังได้แจ้งให้ทางวัดทราบโดยกะทันหัน ซึ่งทางวัดได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว ซึ่งถ้าเลื่อนไปจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณที่เตรียมการไปแล้วอย่างมากมาย พอดีประจวบเหมาะกับ "ผึ้งหลวง" ได้มาทำรังบริเวณหน้าอุโบสถไว้ล่วงหน้าถึง ๓ รัง ซึ่งผึ้งหลวงมาทำรังในที่ ๆ พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จนั้นถือว่าเป็นศุภนิมิตอันหนึ่ง พระราชรัตนดิลกจึงอาศัยศุภนิมิตผึ้งหลวงมาจับที่หน้าอุโบสถนี้เขียนฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคืนวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ว่า
"ขอถวายพระพรมหาบพิตร โปรดเสด็จยกช่อฟ้าในจังหวะที่ทูลเชิญเสด็จ ได้มีศุภนิมิต "มธุมักขิกา" มาจับทำรวงรังอยู่ที่หน้าบันถึง ๓ รวง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง" แล้วเขียนคำถวายพระพรเพิ่มเติมอีกว่า
"ที่หน้าบันผึ้งหลวงมาล่วงหน้า
รอมหาบพิตรนฤศร
ถึงสามรวงเหมือนหมายถวายพร
โบราณวอนวรรณสรุปศุภมงคล
พระทรงยกช่อฟ้ากรุณาโปรด
ชุบชูโบสถ์เฉิดโฉมโพยมหน
ขอพระบารมีเรื่องอยู่เบื้องบน
ประชาชนรอราบกราบบาทบงสุ์"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอ่านใบฎีกานั้นแล้ว ได้มีพระราชดำรัสกับราชเลขาว่า "เขาเชิญเราแผลง ๆ แต่ซึ้งดีไป" ดังนั้นในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์ ก็เสด็จมายกช่อฟ้าตามหมายกำหนดการเดิม ในการเสด็จมายกช่อฟ้าที่วัดโคกสมานคุณครั้งนั้นพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงวัดจำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ บาทถ้วน ตอนทรงประเคน ใบปวารณาได้มีพระราชดำรัสว่า "บำรุงวัดหลวง" โดยที่วัดโคกสมานคุณเป็นวัดราษฏร์ เมื่อทรงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น จึงเป็นการยกฐานะของวัดขึ้นเป็น "พระอารามหลวง" ด้วยเหตุนี้เองมีผู้สันนิษฐานว่าพระเทพมุนี (กลิ่น) เป็นผู้ขอพระราชทานวัดโคกสมานคุณนี้เป็นวัดหลวง
การประพันธ์ พระเทพมุนี (กลิ่น) เป็นกวีที่มีความสามารถผู้หนึ่งในภาคใต้ ที่มีผลงานปรากฏหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นบทความ เรื่องสั้นและวรรณกรรมร้อยกรอง ผลงานที่มีชื่อเสียงและเคยส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัล เช่น
๑. เรื่องวิธูรบัณฑิต ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ เขียนเป็นตอนมีทั้งหมด ๓๒ ตอน ชนะเลิศการประกวดประเภทวรรณกรรมร้อยกรอง จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
๒. เรื่องพระเจ้าชัยทิศ แต่งเป็นกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ สลับกัน ชนะเลิศการประกวดประเภทวรรณกรรมร้อยกรอง จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑
๓. เรื่องสารภังคดาบส แต่งเป็นคำกาพย์ ชนะเลิศการประกวดประเภทวรรณกรรมร้อยกรอง จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
๔. เรื่องมหาชนกคำฉันท์ แต่งเป็นฉันท์ ชนะเลิศการประกวดประเภทวรรณกรรมร้อยกรอง จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
เรื่องที่ชนะเลิศการประกวดทั้ง ๔ เรื่องนี้ ได้พิมพ์เผยแพร่แล้วทั้งสิ้น เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้อ่านคือเรื่อง "วิธูรบัณฑิต" (ขณะนี้ได้พิมพ์เป็นครั้งที่ ๒) สำหรับงานเขียนปลีกย่อยอื่น ๆ ที่มิได้เขียนเป็นรูปเล่มเคยส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลหลายครั้ง ซึ่งเคยลงพิมพ์ในหนังสือหลายฉบับ เช่น วิทยาสาร เดลิเมล์ สยามรัฐ ฯลฯ ผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีอีกมาก แต่ไม่อาจรวบรวมมาได้ทั้งหมด เนื่องจากได้เกิดสูญหายไปเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
พระเทพมุนี (กลิ่น) คงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกสมานคุณ และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๕ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศเกียรติคุณเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (ประเภทร้อยแก้ว ร้อยกรอง) ได้รับประกาศเกียรติคุณบัตร พ.ศ.๒๕๓๖ ในปีเดียวกันนั้น สภาการฝึกหัดครูถวายปริญญาบัตรครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การบริหารการศึกษา) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพมุนี"
พระเทพมุนี (กลิ่น) ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ณ กุฏิสุคนธหงส์ (กุฏิเจ้าอาวาส) ด้วยอาการสงบ สิริชนมายุ ๘๙ ปี ๕ เดือน ๔ วัน พรรษา ๖๘ (จริน ศิริ, ภิญโญ จิตต์ธรรม)
ดูเพิ่มเติมที่ | : โคกสมานคุณ, วัด , เติม อ๋องเซ่ง , นครินทร์ ชาทอง |