เติม อ๋องเซ่ง
นายเติม อ๋องเซ่ง หรือ โนราเติม เมืองตรัง เป็นโนราที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของภาคใต้มีปฏิภาณในการเล่นกลอนสดเป็นเอก เป็นผู้ริเริ่มนานวนิยายมาแสดงโนรา และเปลี่ยน-แปลงการแต่งกายโนราจากเครื่องลูกปัดมาเป็นแต่งกายตามสมัยนิยม ทำให้คณะอื่นๆ เลียนแบบอย่างกว้างขวาง
นายเติม อ๋องเซ่ง เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเขาวิเศษ) จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายตั้ง (โนราตั้ง) นางอบ อ๋องเซ่ง มีสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน (จีนฮกเกี้ยน) นายเติม อ๋องเซ่ง ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตวาย เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากรุงเทพฯ รวมอายุได้ ๕๗ ปี
นายเดิม อ๋องเซ่ง เริ่มการศึกษาภาคบังคับเมื่ออายุได้ ๘ ปี ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา แล้วศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง จนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๔ เข้ารับราชการเป็นเสมียนที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี
เนื่องจากปู่และบิดาของนายเติม อ๋องเซ่ง เป็นตระกูลโนราสืบทอดกันมา ดังนั้นเมื่อนายตั้งผู้เป็นบิดาชรามากแล้วนายตั้งก็มอบหมายให้นายตุ้งน้องชายของนายเดิมเป็นหัวหน้าคณะแทน ตั้งชื่อคณะว่า "มโนราห์ตุ้ง" ส่วนนายเติมนั้นแม้ว่ารักที่จะเอาดีทางราชการ แต่ก็ได้ฝึกการรำโนราจากบิดามาตั้งแต่อายุได้ ๘ ขวบ โดยฝึกจากท่าปฐมและฝึกว่ากลอนต่างๆ ใช้เวลาฝึกคู่ไปกับการศึกษาในโรงเรียนเป็นเวลา ๕ ปีจนเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ได้มีโอกาสรำเป็นครั้งแรก เนื่องในงานแก้บนของขุนสุดรสุทธินนท์ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองตรัง ต่อจากนั้นถ้ามีเวลาว่างก็ช่วยรำในคณะของน้องชายเป็นครั้งคราวแล้วแต่โอกาสจะอำนวย
คณะของนายตุ้งค่อยมีชื่อเสียงเป็นลำดับ จึงมีการประชันโรงกับคณะอื่นๆ บ่อยครั้ง และชนะทุกครั้งจนมีชื่อเสียงขึ้น จนกระทั่งได้ไปประชันโรงกับโนราที่มีชื่อเสียงมากคณะหนึ่ง (จำชื่อคณะไม่ได้) ผลปรากฏว่าโนราตุ้งเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้นายเดิมซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นเสมียนอยู่ เกิดความเสียใจมาก ถึงกับได้ประกาศตัวตั้งคณะโนราขึ้นใหม่ ชื่อว่า "มโนราห์เดิม" แสดงร่วมกับน้องชายเพื่อกู้หน้าชาวบ้านนิยมเรียกชื่อคณะว่า "ตุ้ง-เติม" ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นสามารถประชันโรงชนะเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงโด่งดังนายเติมจึงลาออกจากเสมียนมาเป็นศิลปินจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ได้ประชันโรงกับคณะโนราที่มีชื่อเสียงหลายคณะ เช่น โนราลอย โนราแป้น โนราพิณ-พัน โนรายก ชูบัว ฯลฯ มักจะชนะและได้รับรางวัลมากมาย เช่น ถ้วยรางวัล ขันน้ำ พานรอง เป็นต้น
ต่อมาจังหวัดตรังได้จัดให้มีการประชันโรงโนราทั่วภาคใต้มีโนราเข้าแข่งขัน ๕๐ โรง ปรากฏว่าโนราเติมชนะเลิศ ได้รับถ้วยเกียรติยศเป็นรางวัล จึงทำให้ชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคใต้
จากทัศนะของนักดูโนราและนายโรงโนราบางคน เช่น โนราเจริญ จังหวัดตรัง โนรายก ชูบัว เห็นตรงกันว่าโนราเติมเป็นโนราที่รำไม่ดีหรือรำไม่เด่น แต่เด่นในเรื่องว่ากลอนสด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีใครเทียบได้ และบุคคลหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงให้คือพรานแมง (ดู พรานแมง) ซึ่งเป็นตัวตลกคู่หู ซึ่งสามารถโต้ดอบบทกลอนกับโนราเดิมได้อย่างเฉียบขาดฉับพลัน จนเป็นที่ติดใจของคนดูอย่างยิ่ง
ในขณะที่โนราเติมกำลังเป็นหนุ่มและมีชื่อเสียงโด่งดังนั้นประกอบกับเป็นคนมีนิสัยเจ้าชู้ ดังนั้นเมื่อโนราเดิมไปแสดง ณ ที่ใดก็มักได้ภรรยาที่นั่น ปรากฏว่าโนราเติมมีภรรยาทั้งหมดถึง ๕๔ คน ภรรยาคนแรกคือ นางบุญทอง และคนที่ ๕๓-๕๔ คือนางหนูวินกับนางหนูวาด (๒ คนพี่น้อง)
สาเหตุที่มีภรรยามากนั้น นอกจากความเจ้าชู้แล้วส่วนหนึ่งได้จากการท้าพนันในการรำประชันโรง เช่น โนราเติมกับโนราวัน (ดู วัน สุขเกษม) เป็นคู่แข่งที่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายครั้ง ต่างอ้างว่าที่แพ้ครั้งนั้นเพราะแสดงในถิ่นของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเกิดการท้าพนันกันขึ้นโดยโนราวันท้าว่าถ้าแพ้โนราเติมจะยอมยกลูกสาวทั้ง ๒ คน คือหนูวินกับหนูวาดให้เป็นภรรยา แต่ถ้าโนราเติมเป็นฝ่ายแพ้ โนราเดิมจะต้องยอมเป็นลูกน้องของโนราวันร่วมเป็นคณะเดียวกันปรากฏว่าโนราเติมชนะจึงได้แต่งงานกับโนราหนูวินและหนูวาดเมื่ออายุได้ ๒๘ ปี
เมื่อนายเติม อ๋องเซ่ง ได้แต่งงานกับหนูวินและหนูวาดแล้วก็มีชื่อเสียงยิ่งขึ้น จนไม่มีโนราคณะใดกล้าประชันโรงด้วย คู่แข่งที่สำคัญกลับเป็นมหรสพชนิดอื่น คือภาพยนตร์และหนังตะลุง เป็นต้น ในระยะนี้คนดูเริ่มหันไปนิยมภาพยนตร์มากขึ้น นายเติม อ๋องเซ่ง จึงได้ริเริ่มพัฒนาโนราแบบใหม่ขึ้นเพื่อไม่ให้คนดูเสื่อมความนิยม ที่เขาปรับปรุงมี ๓ ลักษณะคือ (๑) หันมาเน้นด้านบทกลอนที่เป็นกลอนสดมากกว่าการร่ายรำแบบโบราณ ข้อนี้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะตนเองมีพรสวรรค์ในด้านนี้เป็นพิเศษ (๒) เปลี่ยนแปลงการแต่งกายแบบโบราณ ซึ่งต้องใช้เครื่องลูกปัด มีเทริด มีหางหงส์มาใช้ชุดสากลแทน ข้อนี้เป็นผลให้โนราคณะอื่นๆ ทำตามอย่าง และเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของโนรา (๓) นำเอานวนิยายมาดัดแปลงเพื่อประกอบการแสดงโนรา เรื่องที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือ น้ำตาสาวจีนพรหมบงการ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ ตายครั้งเดียว
นายเติม อ๋องเซ่ง ตระหนักถึงคำวิจารณ์เหล่านั้นอยู่ไม่น้อย แต่เขาก็มีเหตุผลและจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้นเขาจึงได้เขียนบันทึกไว้ว่ามูลเหตุที่ทำให้เขาต้องคิดเปลี่ยนแปลง คือ
(๑) อิทธิพลของภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์
(๒) ค่านิยมของคนดู
(๓) หนังสือนวนิยาย
(๔) ความเบื่อหน่าย
(๕) อุปกรณ์สมัยใหม่หาง่าย
(๖) ผู้รำผู้แสดงได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น จึงสอดแทรกความคิดความรู้สึกของตัวเองเข้าในงานศิลปะ
(๗) เพื่อสนองความต้องการของผู้ชม
นายเติม อ๋องเซ่ง ได้แต่งเป็นบทกลอนไว้ว่า
"ทั้งนี้เพราะอาชีพบังคับ
จึงต้องปรับปรุงแปลงตามแบบใหม่
เอาของเก่าเข้าแทรกซอยทยอยไป
เพื่อบำรุงชาวไทยใจคนดู"
นายเติม อ๋องเซ่ง แม้ว่าจะเป็นคนมีพรสวรรค์ในเชิงบทกลอน และก็ไม่เป็นคนประมาท เขาจะหมั่นฝึกฝนและแต่งบทกลอนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ต่อกลอนได้ฉับพลันและมีสาระยิ่งขึ้น หากไม่แน่ใจก็จะขอคำปรึกษาจากเจ้าคุณอรรถโมลี (กลิ่น ศรนรินทร์) เจ้าอาวาสวัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ช่วยตรวจทาน และบางครั้งท่านเจ้าคุณอรรถโมลีก็แต่งบทกลอนให้ (ดู พระราชรัตนดิลก)
จากการสัมภาษณ์ชาวจังหวัดตรังที่เคยดูโนราเติม เช่น นางอับ คงอินทร์ นางพริ้ม จันทรัตน์ นายชู มณีโชติ นายคง ทองได้คล้าย ต่างให้ความรู้สึกว่าพวกเขาในฐานะของชาวตรังโดยกำเนิด รู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมีโนราเติมขึ้นในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และต่างกล่าวตรงกันว่าโนราเติมเป็นคนนิสัยดีไม่ลืมตนให้ความนับถือญาติพี่น้องในขณะที่นายเติม อ๋องเซ่ง กำลังมีชื่อเสียงนั้น เขาได้เคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดตรัง แต่ปรากฏว่าประชาชนไม่ยอมลงคะแนนให้ เพราะกลัวว่าจะทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้ชมนายเดิมรำโนราให้ดู
นอกจากนายเติม อ๋องเซ่ง จะแสดงโนราใน ๑๔ จังหวัดของภาคใต้แล้ว เขายังเคยไปแสดงที่ประเทศมาเลเซียและเคยแสดงที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ได้รับเชิญจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้ไปแสดงที่สำนักงานพรรคประชาธิปัตย์ และเคยได้รับคำเชิญจาก พ.ต.อ.วีระศักดิ์ วีระเดช ให้ไปว่ากลอนสดในงานวันตำรวจและได้มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุทั่วประเทศด้วย นอกจากนี้ได้เคยไปแสดงที่วัดพิชัยญาติการามหลายครั้ง
การถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ นายเติมใช้วิธีสอนโดยการให้ดูแล้วทำตาม ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวศิษย์คนใดมีปฏิภาณดีก็จำได้และรำได้เอง ศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น โนราปรีชาอำนวยศิลป์ โนราบำรุงศิลป์ ฯลฯ บทกลอนที่โนราเติมร้องโตด้ตอบกับโนราคณะอื่นที่มีผู้จำได้ เช่น นายยก ชูบัว เล่าว่าครั้งหนึ่งได้แข่งขันกับโนราเฟื่อง จังหวัดตรัง โนราเฟื่องว่า "เฟื่องถ้าแพ้โนราเดิม เฟื่องจะไม่รำ" (จะเลิกรำโนราไปตลอดชีวิต) โนราเติมก็ต่อกลอนว่า "เติมถ้าแพ้โนราเฟื่อง เติมจะเอาเครื่องจำนำ"
บทกลอนที่มีการจดจำและเล่าต่อๆ กันมาจนแพร่หลายคือบทกลอนที่โนราเดิมขับร้องในขณะที่ยังไม่ได้แต่งงานกับโนราหนูวิน-หนูวาด ว่า "นี่ถ้าไม่เกรงใจพ่อตาโนราวัน เดิมจะฉันให้ฉาดทั้งวาด-วิน" บทกลอนเกี้ยวม่านหรือบทร้องอยู่ในม่านก่อนจะออกมารำที่มีผู้จำได้ เช่น
"ขอยกเรื่องราว เด็กสาวรุ่นใหม่
น้องใฝ่ใจยุ่ง นอนตุ้งผวา
รุ่งเช้าจัดแจง ดับแต่งกายา
ออกจากเคหา รอท่าผู้ชาย
สองเต้าเต่งตูม คัดอูมนึกอาย
สะโพกโตผาย ย้ายเดินเพลินตา
สองขาขาวขาว แวววาวใจหาย
ผู้ชายเจ้าชู้ แอบดูโคนขา
นิ้วน้อยโสภา หาที่ติไม่มี"
สองกรอ่อนช้อย
งามหลังงามหน้า
กลอนทำบท คือแสดงท่ารำตามเนื้อร้อง เช่น
"นั่งผันหน้าไปข้างนอก เห็นละลอกทบฝั่ง
ครึกครื้นคลื่นดัง เข้าทบฝั่งหาดทราย
ลูกคลอนมันขึ้นมาก่อน ลูกหลังย้อนหลังหงาย
พิรุณโปรยปราย เข้าต้องกายอยู่เป็นควัน
ฝูงปลาทั้งนั้น มันชวนกันเล่นชล"
โนราใกล้ บัวทอง เล่าว่าโนราเติมเป็นคนพูดเก่ง เจ้าชู้ ไปแสดงที่ไหนก็มักได้ภรรยาที่นั่น แต่ทั้งๆ ที่มีชื่อเสียง มีงานแสดงมิได้ขาด ฐานะของโนราเติมก็มิได้ดีตามไปด้วยเพราะใช้เงินไปในทางสนุกจนมีภรรยาถึง ๕๔ คน จนกระทั่งได้แต่งงานกับหนูวิน-หนูวาด จึงสร้างฐานะดีขึ้นตามลำดับ แต่เหตุที่โนราเติมดื่มสุราจัด จึงทำให้เป็นคนไม่แข็งแรง จนในที่สุดก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตวาย เมื่ออายุได้ ๕๗ ปี เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๔
เมื่อโนราเติมเสียชีวิต ท่านเจ้าคุณอรรถโมลี (กลิ่นศรนรินทร์) ได้ลิขิตคำไว้อาลัยให้โนราเติมดังนี้
"อันนายเติม อ๋องเซ่ง เก่งโวหาร
ปฏิภาณกลอนศัพท์ขับคำขวัญ
มโนห์ราชั้นนำคนสำคัญ
พรสวรรค์สรรค์ให้จึงได้เป็น
ถึงแก่กรรมก่อเศร้าเหล่าญาติมิตร
ผู้หมดสิทธิ์จะประสบตามพบเห็น
ธรรมสังเวช อาลัยอาวรณ์ เมื่อตอนเย็น
เดือนยี่เพ็ญ ศพซาก พาจากกรุง
สิบเอ็ด มกราคม สมพรรษา
สองพันห้า ร้อยสิบสี่ พิธีมุ่ง
ทักษิณา นุประทาน หลักฐานปรุง
เพื่อพยุง วิญญาณ ผ่านเมืองแมน"
และได้ลิขิตคำไว้อาลัย ณ สถานที่เก็บกระดูกว่า
"วิปโยค ยอดระบำ ชั้นนำหน้า
มโนห์รา เติมตรัง ที่ดังแสน
ถึงล่วงลับ มลายชีพ บีบใจแฟน
ผู้หวงแหน หนุนสนอง ทางร้องรำ
อดีตเห็นเย็นแก้วหู ได้รู้สึก
เสียงก้องกึก ซาบซึ้ง ตรึงจิตฉ่ำ
อนาคต จะพบใคร ว่องไวคำ
เลิศลำนำ ปฏิภาณ โวหารพราว"
แม้ว่าโนราเดิมจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ชาวภาคใต้ที่เคยชมการรำโนราของนายเติม อ๋องเซ่ง ก็ยังกล่าวขวัญถึงอยู่คณะโนราวิน-วาดซึ่งเป็นภรรยาก็ยังคงใช้ชื่อคณะของเขาว่า "มโนห์ราเติม" ตลอดมาบุตรหลานต่างก็มีความภูมิใจในตัวโนราเติมมาก จึงได้จัดที่บูชาจัดดอกไม้ธูปเทียนบูชาไว้หน้าภาพถ่ายเป็นประจำ เมื่อประสบความหวังก็จะปิดทองบนกรอบรูปเสมอจนเกือบมองไม่เห็นภาพถ่ายนั้น
คณะโนราเติม (หนูวิน-หนูวาด) ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๖๓/๖๙ ถนนประธานอุทิศ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ประดับ ทองเจือเพชร)
ดูเพิ่มเติมที่ | : พระราชรัตนดิลก , พรานแมง , วัน สุขเกษม |