ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

วัน สุขเกษม

ภาค : ใต้

วัน สุขเกษม

นายวัน สุขเกษม หรือโนราวัน เป็นโนราที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคณะหนึ่ง ยกย่องกันว่ามีความสามารถในการรำทำบท คือ การตีท่าประกอบบทเพลงเป็นเลิศหาตัวจับได้ยาก

นายวัน สุขเกษม เกิดเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๒ ณ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าขนาน อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ อายุ๘๒ ปี 

นายวัน สุขเกษม หรือโนราวัน ได้รับการศึกษาจบชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนท่าขนาน ได้สมรสกับนางสาวสว่าง (ชี) ชูแก้ว มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ ๑. หนูวิน ๒. หนูวาด และ ๓. สมใจ และมีบุตรกับนางช้องอีก ๑ คน คือ นายถาวร

เนื่องจากโนราวัน มีความสามารถเป็นเลิศในด้านการรำทำบทประกอบกับคณะโนราวันมีนางรำที่เป็นผู้หญิง ซึ่งขณะนั้นหาโนราที่เป็นผู้หญิงได้ยากมาก นางรำผู้หญิงของคณะโนราวันก็คือ หนูวิน และหนูวาด ซึ่งเป็นบุตรของโนราวันเอง และต่อมาทั้ง ๒ คนนี้ต่างก็เป็นภรรยาของนายเติม อ๋องเซ่ง (โนราเติม) ทั้งนี้เพราะโนราวันได้เป็นคู่ประชันโรงกับคณะของโนราเติมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่หลายคราว ทั้งๆ ที่โนราเติมเป็นคนรุ่นลูกของโนราวัน จึงได้เกิดการท้าพนันกันว่าถ้าประชันกันใหม่ แล้วโนราเติมชนะอีกโนราวันจะยกลูกสาวทั้ง ๒ คนให้เป็นภรรยาของโนราเติม แต่ถ้าโนราเติมแพ้จะต้องเลิกล้มคณะเข้ามาร่วมคณะกับโนราวัน ผลปรากฏว่าโนราเติมชนะจึงได้แต่งงานกับโนราหนูวินและหนูวาดตามสัญญา (ดู เติม อ๋องเซ่ง) จึงมีผู้สงสัยกันว่าการแพ้ของโนราวันครั้งนั้นแพ้เพราะสู้ความสามารถของโนราเติมไม่ได้ หรือเพราะมองเห็นแววว่าโนราเติมจะรุ่งโรจน์ต่อไปข้างหน้าพร้อมกับความเสื่อมถอยลงของชื่อเสียงของตน จึงเจตนาจะให้บุตรสาวทั้ง ๒ คนได้ผู้ที่มีความสามารถมาเป็นสามีเพื่อจะได้มีชื่อเสียงสืบไปซึ่งปรากฏว่าความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากโนราหนูวินและหนูวาดแต่งงานไปกับโนราเติมแล้ว ประชาชนคลายความนิยมโนราวันลงเรื่อยๆ

ในสมัยที่โนราวันมีชื่อเสียงนั้นมีคู่ประชันโรงหลายคณะ เช่น โนราพุ่มเทวา (ขุนอุปถัมภ์นรากร) โนราแป้น โนราแปลก โนราอิน และโนราเติม ปรากฏว่าแพ้บ้างชนะบ้าง เสมอกันบ้างไม่แน่นอนจนระยะหลังคู่แข่งที่ประชันบ่อยครั้งคือโนราเติมเพราะเด่นไปคนละทาง คือ โนราเติมว่ากลอนสดเป็นเลิศส่วนโนราวันรำทำบทเป็นเลิศและมีนางรำเด่นดังกล่าวมาแล้วดังนั้นถ้าประชันโรงกันในที่ที่คนดูนิยมบทกลอนโนราเดิมก็ชนะ แต่ถ้าถิ่นใดคนนิยมดูลีลาการรำโนราวันก็ชนะในที่สุดจึงได้เกิดการท้าพนันกัน

การถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ของโนราวันนั้นยกย่องกันว่ามีวิธีการที่แยบยลโดยฝึกให้ศิษย์รู้จักฟังเสียงทับแล้วร่ายรำให้มือและเท้าสัมพันธ์กันและให้ลงตามจังหวะทับศิษย์ของโนราวันจึงรำเก่งและมีลีลาการร่ายรำคล้ายครูทั้งสิ้นศิษย์ของโนราวันที่มีชื่อเสียง เช่น โนรายก ชูบัว โนราเลื่อนและโนราหนูวินหนูวาด

โนรายก ชูบัว ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของโนราวัน เล่าว่าโนราวันแม้จะไม่ใช่คนเจ้าชู้ แต่เนื่องจากพูดเก่งและรำสวยงามจึงมีผู้หญิงมาหลงใหลดิดพันมากมาย การแสดงของโนราวันนอกจากอวดความสามารถในเชิงรำแล้ว ยังนิยมเอาเรื่องที่มีอยู่ในพงศาวดารหรือตำนานมาแสดง บทกลอนมักจะแต่งไว้ล่วงหน้า บทกลอนของโนราวันที่โนรายก ชูบัว จำได้ เช่น"นั่งชมดอกบุปผามาลารส ดูแช่มชดงดงามอุไร แลแล้วใจหาย" ซึ่งเป็นกลอนขณะที่ประชันโรงกับโนราพ่วงพันธ์

ชื่อเสียงของโนราวันค่อนข้างร่วงโรยลงตามสังขารจนเมื่อชื่อเสียงของคณะโนราเติม-หนูวิน-หนูวาด มีชื่อเสียงทั่วภาคใต้ โนราวันก็ซบเซาลงเรื่อย ๆ และเลิกการแสดงจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ (ประดับ ทองเจือเพชร)

 

ดูเพิ่มเติมที่ : เติม อ๋องเซ่ง