นครินทร์ ชาทอง
นครินทร์ ชาทอง เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงโด่งดังคณะหนึ่งของภาคใต้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้(มหาวิทยาลัยทักษิณ) รับราชการเป็นครูและแสดงหนังตะลุงด้วย
นครินทร์ ชาทอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ ที่ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บิดาชื่อนายแนม มารดาชื่อนางเคลื่อน
นครินทร์ ชาทอง เข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดโพธิ์ ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ จนกระทั่งจบชั้นประถมปีที่ ๔ เรียนชั้นมัธยมปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนระแงะ เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนวัดโคกสมานคุณวิทยาทาน จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสงขลา จนสำเร็จชั้น ป.กศ.สูง เมื่อจบแล้วยืดอาชีพแสดงหนังตะลุงอยู่ประมาณ ๓ ปี จึงสอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตำแหน่งครูตรี เงินเดือน ๙๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับค่าราดหนังตะลุง ๑ คืนที่รับในขณะนั้น นครินทร์ ชาทอง ได้รับการปลูกฝังให้รักหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อมีหนังตะลุงแสดงที่ไหนที่พอไปได้ตาก็จะพานครินทร์ไปด้วย ดังนั้นเมื่อถามหนังนครินทร์ว่าเริ่มหัดหนังตั้งแต่เมื่อไร เขาตอบว่าเริ่มโดยไม่รู้ตัว เพราะเมื่อตาพาไปดูหนังกลับมาก็จะถามทบทวนและเล่าเสริมเรื่องที่ไปดูมาทุกครั้ง พออยู่ชั้นประถมปีที่ ๒ ตาก็ให้อ่านออกเสียงกลอนพระอภัยมณีแบบทำนองหนังตะลุง และเริ่มแกะรูปให้เชิดประกอบ โดยใช้ปากทำเสียงดนตรีประกอบการเชิด และทุกครั้งที่ตาไปแสดงหนังตะลุงก็จะติดตามไปด้วย นอกจากนั้นมีหนังนำซึ่งฝึกหัดหนังตอนอายุมากแล้วได้มาปลูกโรงฝึกหัดที่บ้านหนังว่อน เมื่อหนังนำเล่นหนังได้แล้ว เวลาเดินโรงก็จะพานครินทร์ไปเล่นดนตรี จนเล่นดนตรีหนังตะลุงได้แทบทุกชิ้นยกเว้นปี่และชอ เมื่อมีนายหนังมาหาหนังว่อน เห็นนครินทร์ก็เกิดเอ็นดูสนับสนุน บางคนมอบรูปให้ บางคนก็แนะนำเทคนิคต่างๆ ให้ เช่น หนังนำ หนังเอี่ยม เสื้อเมือง หนังแช่ม แม่เตย เป็นต้น
เมื่อหนังว่อนถึงแก่กรรมลง บางครั้งนครินทร์ต้องไปอยู่กับบิดาซึ่งรับราชการเป็นครู ถ้าบิดาไปสอนพิเศษวันเสาร์ อาทิตย์ จะพานครินทร์ไปด้วย บางครั้งเขาแอบเล่นหนังตะลุงจนลูกศิษย์ของบิดาหนีไปนั่งล้อมดู จึงถูกบิดาลงโทษเฆี่ยนตีก็มี
หลังจากคุณตาถึงแก่กรรม นครินทร์ไปอยู่จังหวัดนราธิวาส ๓ ปี ก็กลับสงขลามาอยู่วัดโคกสมานคุณ สมัครเป็นศิษย์พระอรรถโมลีและเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนโคกสมานคุณวิทยาทาน พระอรรถโมลีเป็นพระนักกลอน เมื่อนครินทร์มาอยู่ก็มักเขียนกลอนแล้วให้นครินทร์ขับเป็นทำนองหนังตะลุง บางครั้งก็แต่งให้นครินทร์ไปขับในงานสำคัญๆ เช่น งานวันเด็กพ.ศ.๒๕๐๕ แต่งกลอนโนราวันเด็กให้นครินทร์กับเพื่อน ๔-๕ คน ไปว่าที่สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ๕ หาดใหญ่ เมื่อเขียนกลอนให้ขับบ่อยๆ เห็นแววว่าเสียงของนครินทร์ใช้ได้ จึงเจียดปัจจัยส่วนตัวซื้อรูปหนังบางตัวให้ และให้นครินทร์ฝึกหัดเชิดหนัง บังเอิญช่วงนั้นพระวีระ รัตนกุล ชาวรัตภูมิ ซึ่งมีฝีมือทางแกะรูปหนังมาอุปสมบทอยู่วัดนี้ด้วย ท่านมีรูปหนังตะลุงกระดาษอยู่ ๖-๗ ตัว มอบให้นครินทร์มาหัดเชิด
ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นครินทร์ได้รู้จักกับนายสุนันท์ นามรัตน์ แห่งร้านวินิจการค้าหาดใหญ่ นายสุนันท์ นามรัตน์ เป็นนักสะสมเทปหนังตะลุงและชอบเล่นหนังตะลุง ลงทุนซื้อเครื่องดนตรี ตัดจอหนัง คิดจะหัดเล่นหนังตะลุง แต่สุ้มเสียงไม่ดีเล่นไม่ได้ จึงหันไปเชิดรูปประกอบเทปแทน เวลารับไปเชิดรูปหนังบางครั้งก็พานครินทร์ไปด้วย และให้นครินทร์ลองเชิดรูปแทน อาศัยที่ฝึกฝนมามากแล้ว นครินทร์จึงสามารถเชิดรูปได้ดี นานๆ เข้านายสุนันท์จึงให้นครินทร์เชิดรูปแทนทั้งเรื่อง เทปหนังที่นิยมนำไปใช้คือ เทปหนังกั้น ทองหล่อ หนังอิ่มเท่ง หนังประทิ่น หนังเชย เชี่ยวชาญ เป็นต้น จากการที่นครินทร์เชิดหนังประกอบเทปบ่อยๆ ทำให้จดจำเรื่องราวและมุขตลกต่างๆ ของหนังเหล่านั้นได้และได้นำมาเป็นแนวในการแสดงของตนในระยะต่อมา
เมื่อเชิดรูปตามเสียงเทปจนชำนาญ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นครินทร์ก็ได้ออกโรงแสดงจริงเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนสตรีสมบูรณ์กุลกัลยา (โรงเรียนสตรีหาดใหญ่ก่อนยุบรวมเป็นโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย) ตอนนั้นยังไม่มีลูกคู่ต้องไปเหมาลูกคู่และเครื่องดนตรีของหนังยกทุ่งขมิ้น ตำบลนาหม่อม (อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลาปัจจุบัน) มาเล่นคืนนั้นไม่ได้รับค่าราด แสดงเสร็จทางโรงเรียนเลี้ยงข้าวต้ม สภาพชีวิตช่วงนั้นรู้สึกค่อนข้างลำบาก เงินทองก็ไม่ค่อยมีถึงกับต้องไปรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้างโรงแรมลิโด้ หาดใหญ่ และเมื่อปิดภาคเรียนก็กลับไปช่วยมารดากรีดยาง หาเงินมาเรียนหนังสือ เมื่อกลับบ้านไปพบเพื่อนและมีเพื่อนมากขึ้น เพื่อนๆ ก็ชวนเที่ยว พอมีงานที่ไหนก็ไป และนิสัยที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้วพอในงานมีการประกวดร้องเพลงก็ขึ้นประกวดเป็นประจำ และมักได้รางวัลชนะเลิศเสมอ ช่วงนี้จึงติดใจการร้องเพลงมากไม่ค่อยสนใจหนังตะลุง ถึงกับไปเป็นนักร้องของวงจินนุกูลของค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ อยู่ระยะหนึ่งได้ค่าจ้างคืนละ ๑๕ บาทบ้าง ๒๐ บาทบ้าง เห็นว่าการร้องเพลงเลี้ยงตัวไม่ได้แน่ จึงหันกลับไปฝึกหนังตะลุงต่อ พระอรรถโมลีเห็นว่านายนครินทร์รักหนังตะลุงจริงและเล่นได้แล้วท่านก็ปลูกโรงตัดจอให้ เขียนที่จอว่า "สมานคุณวิทยาทาน" สมัยนั้นโรงเรียนโคกสมานคุณวิทยาทานหยุดประจำสัปดาห์ในวันพระและวันอาทิตย์ ฉะนั้นพอถึงคืนก่อนวันหยุด พระอรรถโมลีก็จะให้นายนครินทร์เล่นหนัง เรื่องที่เอามาฝึกจดจำมาจากเทปหนังกั้นทองหล่อ ตอนเชิดเทปให้นายสุนันท์ นามรัตน์ คอยสังเกตพบว่าชาวบ้านที่มาดูพอใจการเล่นของตนก็ภูมิใจ จนกระทั่งวันหนึ่งนายวินิจ เลขะกุล ชาวหาดใหญ่มีงานทำบุญบ้าน ได้มารับหนังนครินทร์ไปแสดง เป็นการออกโรงครั้งที่ ๒ แสดงเสร็จนายวินิจ เลขะกุล เลี้ยงเต็มที่แล้วแจกเงินให้คนละ ๒๐ บาท หนังนครินทร์ดีใจ และเงินจำนวนนี้เองเป็นแรงผลักดันให้หนังนครินทร์มุมานะยิ่งขึ้น
ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ญาติคนหนึ่งอยู่ที่บ้านโปะหมอ จะเดินทางไปเรียนต่อที่ราชบุรี ญาติๆ จัดงานเลี้ยงส่งให้และรับหนังนครินทร์ไปแสดงเป็นการรับค่าราดโรงครั้งแรก ตอนนั้นยังใช้เครื่องดนตรีและลูกคู่ของนายสุนันท์ นามรัตน์ ภายหลังนายสุนันท์ นามรัตน์ ขายเครื่องดนตรีให้คนอื่นไปจึงไม่มีเครื่องดนตรีเล่น วันหนึ่งชาวบ้านเคลียง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มารับหนังนครินทร์ไปแสดงแต่ไม่มีเครื่องดนตรี บิดาซึ่งไม่สนับสนุนให้หนังนครินทร์เล่นหนังมาแต่ต้นเห็นว่าหมดทางจะทัดทาน จึงซื้อเครื่องดนตรีของหนังนำ (ลูกศิษย์ของตา) ให้ในราคา ๑,๐๐๐ บาท พอมีเครื่องดนตรีเป็นของตนเอง ญาติๆ ก็ล้อว่า "ซื้อเครื่องแล้วอย่าเลิกนะ เดี๋ยวจะเป็นทวดหนัง"(ทวดหนัง คือคนที่ซื้อเครื่องหนังดะลุงแล้วเล่นไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพไป) หนังนครินทร์เกรงจะถูกเรียก "ทวด" จึงเล่นต่อมาเรื่อยๆ เขาคิดว่าคณะหนังตะลุง ถ้ายังไม่เดินโรงก็จะไม่เป็นหนังตะลุงที่สมบูรณ์ จึงออกเดินโรงตามธรรมเนียมหนังโบราณครั้งแรกไปแสดงที่บ้านเลียบ บ้านน้ำขาวออก บ้านน้ำขาวตก อำเภอนาทวี คืนแรกไม่ได้เงิน คืนที่ ๒ ได้ ๓๒ บาท คืนที่ ๓ ได้ ๒๐ บาท ตามลำดับ จากนั้นก็แสดงหนังตะลุงเรื่อยมาและได้รับค่าราดบ่อยขึ้น
ปี พ.ศ.๒๕๐๗ สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสงขลาได้ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ขณะฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดวังปริง อำเภอสะเดา บิดาซึ่งรู้จักสนิทสนมกับหนังกั้น ทองหล่อ เป็นอย่างดี จึงติดต่อหนังกั้นเพื่อทำพิธีขึ้นครูให้ พิธีครั้งนี้ทำที่วัดโคกสมานคุณ โดยพระอรรถโมลีเป็นธุระจัดการให้ปลูกโรงขึ้น นิมนต์พระสงฆ์สมณศักดิ์ ๙ รูป สวดชัยมงคลคาถา จากนั้นหนังกั้น ทองหล่อมอบรูปฤาษีให้ ลูกคู่แห่หนังนครินทร์วนรอบโรง ๓ รอบแล้วขึ้นโรงแสดง การขึ้นครูนี้ต่างจากการครอบมือ หนังกั้น เล่าว่าการขึ้นครูคือ การรับเป็นศิษย์นั่นเองเพราะเมื่อตอนหนังนครินทร์ยังเป็นเด็ก ตาเคยมาฝากหนังกั้นแต่หนังกั้นไม่รับบอกให้ไปเรียนหนังสือก่อน เมื่อได้ขึ้นครูแล้วหนังนครินทร์ก็มีกำลังใจยิ่งขึ้น เพราะไปแสดงที่ไหนถ้าบอกเป็นศิษย์หนังกั้นคนดูไม่กลั่นแกล้งหรือล้อเลียนให้เสียสมาธิทำให้แสดงได้ด้วยความมั่นใจ
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๔ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้น ป.กศ.สูง ชื่อเสียงของหนังนครินทร์ ก็เป็นที่รู้จักกันดีรับราดมิได้ขาด หนังนครินทร์จึงไม่สอบบรรจุแต่เที่ย แสดงหนังไปทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะแถบจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานีไปแสดงบ่อยที่สุด ตอนนั้นค่าราดคืนละ ๙๐๐ บาท รายได้ ๑ คืน จึงเท่ากับอัตราเงินเดือนครูตรีพอดี ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ หนังนครินทร์ได้แต่งงานกับนางสาวศิริวรรณ ก่อนแต่งงานได้บวชตามประเพณี ที่วัดโคกสมานคุณ เป็นเวลา ๑ เดือน และหลังจากนั้นก็แสดงหนังมา จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๔ หนังนครินทร์ก็สอบบรรจุเข้าเป็นครูได้ที่โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
หนังนครินทร์ เป็นหนังที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทุกอาชีพ ทุกวัย จึงได้รับจัดให้ประชันโรงอยู่เนืองๆ เริ่มประชันโรงมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูสงขลาครั้งแรกประชันกับคณะหนังจเรน้อย หัวไทร และโนราปรีชา อำนวยศิลป์ ที่บ้านพรุ หาดใหญ่ ชนะเลิศได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศ
แนวการแสดงของหนังนครินทร์ ชาทอง จะพยายามรักษาธรรมเนียมการแสดงหนังแบบโบราณ เล่นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มาตลอด แม้เค้าโครงเรื่องจะเป็นเรื่องสมัยใหม่ แต่ตัวละครยังยึดแนวเดิม หนังนครินทร์เล่าว่า เนื่องจากตนเองชอบดูหนังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กและดูหนังมามากคณะ จดจำเรื่องราวดีๆ มุขตลกเด่นๆ จากหนังดังในอดีตมาใช้ เช่น โครงเรื่องเอาของหนังกั้น ทองหล่อ หลายเรื่อง และบางเรื่องเอาจากหนังจูเลี่ยม กิ่งทองบ้าง หนังกิ้มเส้งบ้าง หนังแฉล้มป่าบอนบ้าง เมื่อหนังนครินทร์ได้โครงเรื่องแล้ว จะให้นายถวิล กำเนิดผลเป็นคนเขียนกลอนให้ หรือไม่ก็ร่วมกันเขียนกลอนกับนายถวิลก่อนนำไปแสดง ส่วนมุขตลกเอามาจากหนังกั้น ทองหล่อหนังอิ่มเท่ง หนังกิ้มเส้ง หนังช่วงดิก หนังแคล้ว เสียงทอง หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง เป็นต้น โดยเฉพาะหนังแสงโถอยู่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นครินทร์ดูมาตั้งแต่เป็นเด็ก ติดใจอ้ายโถ จึงนำมาใช้เป็นตัวตลกจนเป็นตัวตลกเอกประจำคณะ สำหรับอ้ายหนูเนื้อย น้องหนูนุ้ย กับอ้ายโถนั้นจะตลกด้วยการร้องเพลง อ้ายโถโดยบุคลิกและนิสัยเป็นคนชอบกิน กินจุ หนังนครินทร์จึงแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารการกิน สำหรับให้อ้ายโถร้องเป็นมุขตลก ตัวอย่างเช่น เพลง "เหนียวทุเรียน" ว่า
"ลมโชยพัดกลิ่นเที่ยวบินวนเวียน นี่คือกลิ่นหอมทุเรียนส่งกลิ่นวนเวียนคือเรียนพื้นเมือง กลิ่นหอมอย่างนี้ด้วของพี่พบอยู่เนือง ๆ แน่แท้คือเรียนพื้นเมือง ยุมคงจะเหลืองเป็นเรื่องแน่นอน หามะพร้าวห้าวแล้วเอามาขูด ส่งเสียงดังครูดๆ พอหมดเสียงขูดแล้วปั้นกะทิ
เสร็จแล้วก็คดเหนียวใส่จานตั้งไว้นานๆ ให้เย็นพอดีแล้วตัวพี่นี้ราดน้ำทุเรียน ชาวเข้ากันให้มันกลมกลืน ช้อนให้เต็มเคี้ยวแล้วกลืนแสนจะชื่นในอุรา ได้กินเหนียวเรียนจนอิ่มแล้วกินสะหริ่มที่เขายกมา อยู่มาไม่ช้าต้องพุงแตกตาย"
เพลงที่แต่งขึ้นส่วนมากจะสะท้อนวัฒนธรรมพื้นบ้านด้านต่างๆ เช่น ด้านภาษา สภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงนั้นๆ เพลงบางเพลงเพื่อนๆ แต่งให้ บางเพลงหนังนครินทร์ก็แต่งเองโดยเอาทำนองที่กำลังเป็นที่นิยมในระยะนั้นๆ หรือบางทีก็แต่งแปลงเพลงให้สนุกๆ ตามบุคลิกของตัวตลก การแต่งก็มักแต่งขึ้นในคืนที่จะแสดงนั้นเอง เพื่อให้ทันสมัยเข้ากับบรรยากาศ แต่เพลงบางเพลงก็แต่งล่วงหน้าได้ เช่น เพลงเหนียวทุเรียน เป็นเพลงที่ทันสมัยอยู่เสมอและหนังนครินทร์ร้องในบทของอ้ายโถมากว่า ๑๐ ปีแล้ว อาศัยที่ว่าสมัยเรียนที่วิทยาลัยครูสงขลาเรียนวิชาเอกภาษาไทย จึงได้เปรียบหนังตะลุงบางคณะ ในเรื่องของการใช้ภาษา
หนังนครินทร์ ชาทอง ได้สอนศิษย์ไว้หลายคน บางคนสามารถแสดงเป็นอาชีพได้แล้ว บางคนกำลังแสดงหาประสบการณ์ ลูกศิษย์หนังนครินทร์ เช่น หนัง ด.ต.มนัส รักษ์วงศ์ หนังมงคล คชรัตน์ หนังจัด มุสิกชัย หนังอารีย์ ทองสุข หนังสมยศ หนังณรงค์ หนังสุชน ศิลป์พรหม หนังอาจารย์บุญเลิศ หนังเสรี นิลมาท หนังอรุณ แก้วสัตยา หนังแต๋ว สุวรรณกาล เป็นต้น หนังเหล่านี้ใช้ชื่อต่อท้ายคณะว่า "ศ.นครินทร์" ทุกคณะ ตัวอย่างเช่น หนังตะลุงคณะ มงคล ศ.นครินทร์ หนังสมยศ ศ.นครินทร์ เป็นต้น
นครินทร์ ชาทอง มีส่วนช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการศึกษา เคยเป็นวิทยากรสาธิตการแสดงหนังตะลุงในงานประชุมสัมมนาต่างๆ หลายครั้ง เช่น ประชุมสัมมนาหนังตะลุง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ที่ยะลาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ นอกจากนั้นยังเคยแสดงเพื่อเป็นสื่อการสอนบันทึกเป็นเทปโทรทัศน์เรื่อง "วูบเดียวแห่งชีวิต" เป็นเรื่องต่อต้านยาเสพติดให้วิทยาลัยครูสงขลา แสดงสาธิตตามโรงเรียนต่างๆ ประกอบหลักสูตร เช่น โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ ปี พ.ศ.๒๕๒๖ แสดงสาธิตที่โรงแรมโฆษิตให้คณะทูตทหารเอเชียชมและปี พ.ศ.๒๕๒๗ แสดงสาธิตที่โรงแรมเดียวกันให้นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรชม เป็นต้น
แม้หนังนครินทร์จะยึดอาชีพราชการและศิลปินพร้อมกันแต่ก็ไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ จะรับงานแสดงเฉพาะที่สามารถไปแล้วกลับทันเวลาราชการเท่านั้น ส่วนจังหวัดไกลๆ และประเทศมาเลเซียจะรับในช่วงวันหยุดหรือตอนปิดภาคเรียน
หนังนครินทร์ ชาทอง สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ จากวิทยาลัยครูสงขลา
ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ นครินทร์ ชาทอง ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ วิชาเอกไทยคดีศึกษา ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการฝ่ายบริหารสภาวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงได้รวมคณะก่อตั้งชมรมรักษ์โนราขึ้น ณ สถาบันราชภัฏสงขลา เป็นที่ปรึกษากลุ่มรักษ์ถิ่นของดำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เป็นกรรมการริเริ่มก่อตั้งชมรมศิลปินศรีวิชัย ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนคล่อง คลองหวาย ขึ้น ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคลองหอยโข่ง เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ และเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ได้ก่อตั้งสมาพันธ์หนังตะลุง จังหวัดสงขลา ที่ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏสงขลา โดยตั้งที่ทำการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ของอาจารย์ปกรณ์ ไชยรัตน์ ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา และในปีเดียวกันนี้ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้คัดเลือกให้นายนครินทร์ ชาทอง เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง) เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙
ปัจจุบัน สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดเลียบ ตำบลคลองหลา
อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา (ครื่น มณีโชติ)
ดูเพิ่มเติมที่ | : ครอบมือหนังตะลุง , หนูเนือย , อ้ายโถ : ตัวตลกหนังตะลุง |