วัดเกาะ

วัดเกาะ

เผยแพร่เมื่อ: 11 ธันวาคม 2562 | 

ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 23 มกราคม 2565

ที่ตั้งตามการปกครอง บ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ละติจูด 13.595372
ลองจิจูด 100.222240
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วัดเกาะ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งทิศตะวันตก บริเวณที่เป็นหัวคุ้ง ระหว่างปากคลองเกาะ (อยู่ทางทิศใต้ของวัด) และปากคลองอำแพง (อยู่ทางทิศเหนือของวัด) ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2318 (สมัยธนบุรี) ข้อมูลจากหนังสือประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร (ฝ่ายมหานิกาย) ระบุว่าสร้างในปี พ.ศ.2247 (สมัยอยุธยา) (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัฒน์ ผ่องจิต 2559 : 112)

ส่วนเอกสารของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี (2553) ระบุว่าวัดเกาะสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2247 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นชาวจีน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีชาวมอญได้อพยพหนีภัยสงครามจากพม่า ซึ่งเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของมอญ มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านเกาะ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมวัดเกาะขึ้นใน พ.ศ.2325 เพื่อเป็นศูนย์กลางชุมชน (คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร 2534 : 91) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสมาเมื่อ พ.ศ.2385 จนถึงปัจจุบัน วัดเกาะมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมาแล้ว 9 รูป รูปปัจจุบันคือ พระครูสาครสารโสภณ (ตนฺติปาโล) และอาจนับได้ว่าเป็นวัดมอญที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอเมืองสมุทรสาคร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาขององค์ บรรจุน (2550) อธิบายว่าชาวมอญจากพม่าอพยพเข้ามาอยู่ในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม การก่อสร้างและทำงานให้กับเจ้าขุนมูลนายในระบบศักดินา  ในพื้นที่สมุทรสาคร ชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณวัดเกาะ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2318 (สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)  ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ชาวมอญอพยพเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก ซึ่งมอญกลุ่มใหญ่จะเข้าไปอาศัยในสามโคก ปากเกร็ดและพระประแดง   ส่วนการเข้ามาอาศัยอยู่ในวัดเกาะ เป็นการเข้ามาของมอญกลุ่มเล็ก  ซึ่งตั้งรกรากกระจัดกระจายอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน  ลูกหลานชาวมอญวัดเกาะค่อยๆขยายตัวออกไปตั้งรกรากในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ เขตวัดบางปลา วัดพันธุวงษ์ วัดศิริมงคล และวัดคลองครุ 

นอกจากนั้น องค์ บรรจุน (2550) ยังอธิบายว่าชุมชนมอญบริเวณวัดเกาะ กับมอญบริเวณคลองสุนัขหอนเป็นมอญคนละกลุ่มที่อพยพเข้ามาในเวลาที่ต่างกัน   เนื่องจากชาวมอญวัดเกาะมีญาติพี่น้องอยู่ที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกันคือการนับถือผีภายในตระกูล และสืบทอดผ่านทางลูกชายคนเล็ก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างจากมอญในที่อื่นๆซึ่งสืบทอดการนับถือผีผ่านลูกชายคนโต ชาวมอญที่วัดเกาะมีการสืบทอดการนับถือผีตระกูลผ่านลูกชายคนเล็ก

นายบรรยี ร้อยอำแพง ชาวมอญอาวุโส และเป็นไวยาวัจกรของวัดเกาะ ให้ข้อมูลสภาพความเป็นอยู่ของชาวมอญวัดเกาะในสมัยก่อนว่า “ประวัติความเป็นมาของมอญมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่ แล้วก็สร้างวัดเกาะ มอญที่นี่ ทำอาชีพอยู่ 2 อย่าง อาชีพทำนา ทำจากและป่าฟืน ฟืนทำมาจากการบูร สะแก โกงกาง สมัยก่อนไม่มีสวน สวนเพิ่งมีขึ้น ฉันเป็นคนเริ่มทำก่อนเพื่อน แต่ก่อนนั่นเป็นป่าจากทั้งหมด ฉันเป็นคนทำสวนก่อนเพื่อน เมื่อพ.ศ 2495 เอามะพร้าวมาปลูก แล้วฉันออกจากโรงเรียนก็มาปลูกมะพร้าว ก็ถางป่าจาก ป่าฟืน ใช้จอบ พลั่ว มอญที่นี่อยู่ในกะลาครอบ พูดไทยไม่เป็น หมู่บ้านมอญก็มอญ หมู่บ้านไทยก็ไทย มันห่างกันมาก มีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ไปมา เพราะว่าการไปมาเมื่อก่อนต้องไปกับผู้หลักผู้ใหญ่ เด็กจะไปด้วยตนเองไม่ได้ เพราะเป็นป่า ถ้าใช้เรือเด็กก็แจวเรือไม่เป็น สมัยก่อนคนมอญที่นี่ เวลาเข้าโรงเรียนต้องบังคับ ต้องพูดไทย” (สัมภาษณ์ 16 ธันวาคม 2558) (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัฒน์ ผ่องจิต 2559 : 94)

ในขณะที่หญิงชาวมอญวัย 60 ปี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตวัดเกาะว่า “เขาบอกว่าชุมชนตรงโค้งวัดเกาะมันเป็นแหลมออกไป มันเป็นเหมือนกับเกาะ มอญอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนมอญ คืออยู่ตามชายตลิ่ง เป็นชุมชนใหญ่ของมอญ  ชาวมอญที่อพยพมาทางน้ำมาสร้างวัดเกาะ มาหลังๆ พอมีครอบครัวก็ขยับขยายกระจายออกไป (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัฒน์ ผ่องจิต 2559 : 95)

โบราณสถานภายในวัดเกาะได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร โดยสิ่งสำคัญภายในวัดเกาะ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553) ได้แก่

อุโบสถ (หลังเก่า) เป็นอุโบสถหลังที่ 2 ของวัดเกาะ ในสมัยพระอธิการสอน เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.2454-2462) โดยท่านเห็นว่าอุโบสถหลังเก่านั้นชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ร่วมกับชาวบ้านเกาะรื้ออุโบสถหลังเก่า แล้วสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2459 แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็มรณภาพเสียก่อน การก่อสร้างอุโบสถมาแล้วเสร็จในสมัยพระครูกร่าง รมมโณ เจ้าอาวาสองค์ที่ 8 (พ.ศ.2463-2505) ลักษณะอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ เครื่องลำยองช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันทั้งสองด้านเป็นรูปเทพนม ประดับตกแต่งด้วยลายก้านขด ด้านล่างมีลายกระจังและประจำยามรองรับ หน้าบันปีกนกเป็นรูปหงส์อัญเชิญฉัตรสามชั้นไว้บนหลัง ประดับด้วยลายดอกไม้ มีสาหร่ายรวงผึ้งด้านล่าง ด้านหหน้าและด้านหลังอุโบสถมีมุขลดด้านละ 1 ห้อง ด้านข้างมีชายคาปีกนกคลุมทั้ง 2 ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หัวเสามีบัวหัวเสาปูนปั้นทาสีประดับ มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูเป็นรูปสามเหลี่ยม ผนังด้านหลังมีประตูหลอกอยู่ตรงกลาง 1 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูมีหน้าต่างเป็นไม้เรียบ

นอกเหนือจากพระประธานภายในอุโบสถหลังเก่าที่เป็นที่เคารพสักการะโดยทั่วไปแล้ว ภายในอุโบสถยังประดิษฐาน "หลวงพ่อเกาะเพชร" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีเรื่องเล่าว่าเคยขับเรือหางยาวแล้วมาล่มที่หน้าวัด พ่อ แม่ และพี่สาวว่ายน้ำเป็น แต่น้องชายอายุหนึ่งขวบกว่าว่ายน้ำไม่เป็น แต่น้องชายที่แขวนหลวงพ่อเกาะเพชรไม่จมน้ำ เหรียญหลวงพ่อเกาะเพชรสร้างรุ่นแรกใน พ.ศ.2513 และมีการสร้างต่อมาอีกหลายรุ่น 

นอกจากนั้น ด้านหน้าโบสถ์มีบ่อน้ำทิพย์ ท่านพระครูสาครสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดเกาะ นิมิตว่า มีองค์บอกว่าที่หน้าอุโบสถมีน้ำมนต์ ให้ไปขุด นำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หรือนำไปอาบกินเพื่อเป็นสิริมงคล  ในปี 2546 จึงทำการขุดลึกลงไป 40 เซนติเมตร ก็พบน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำมนต์ จึงตักไปอาบเพื่อเป็นศิริมงคล

ใบเสมาและซุ้มเสมา ซุ้มเสมาประธานหน้าอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนทรงมณฑปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานบัว ส่วนยอดเป็นชุดบัวคลุ่มเถา ซุ้มเสมารองเป็นฐานสี่เหลี่ยมรองรับดอกบัวกลม ด้านบนประดิษฐานใบเสมา ใบเสมาทำจากหินแกรนิตโกลนอย่างหยาบ ๆ

เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถจำนวน 2 องค์ ตามประวัติวัดกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พระอธิการเดิมยาง (พ.ศ.2358-2397) ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีระเบียงล้อมรอบระเบียงประดับด้วยกระเบื้องเคลือบปรุรูปหกเหลี่ยมแบบจีน ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานในผังกลมและมาลัยเถา 3 ชั้น ปากระฆังมีลวดลายปูนปั้นตกแต่ง องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมและเสาหานรองรับปล้องไฉน ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์สมัยรัชกาลที่ 4

เจดีย์มอญ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างในสมัยพระอธิการพระครูกร่าง รมมโณ (พ.ศ.2463-2505) เจ้าอาวาสรูปที่ 8 ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างเจดีย์มอญขนาดใหญ่ขึ้นไว้หน้าอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม โดยที่กึ่งกลางฐานแต่ละด้านเป็นซุ้มโค้ง ภายในมีรูปเทวดาปูนปั้น ที่มุมทั้งสี่มุมเป็นรูปครุฑ ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานกลมรองรับบัวถลา 5 ชั้นและลวดบัว องค์ระฆังกลม ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้นรองรับปล้องไฉนขนาดใหญ่และเม็ดน้ำค้างบนยอดสุดมีฉัตรโลหะปัก

เก๋งจีนบุรรจุอัฐิ ตั้งอยู่ด้านข้างเจดีย์ ลักษณะเป็นเก๋งจีน ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาทึบซ้อนกัน 2 ชั้น หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นขนาดเล็กทาสี หนังด้านตะวันออกมีช่องสี่เหลี่ยม

เสาหงส์ เดิมตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ปัจจุบันได้ถูกรื้อลงแล้ว ลักษณะเป็นเสาไม้สูงรูปทรงแปดเหลี่ยม หัวเสาตกแต่งเป็นหัวเม็ด มีเสาประกบด้านข้างทั้งสองด้าน มีจำนวน 2 ต้น ต้นแรกบนสุดเป็นรูปช้างไม้ 4 หัว ต้นที่สองเป็นรูปม้าสำริด 4 หัว

ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวมอญจะไปทำบุญ พังเทศน์ ฟังธรรมที่วัดเสมอ กิจกรรมทางศาสนาจะเป็นกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกทางสังคม กิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญได้แก่ วันออกพรรษา ที่จะมีเทศน์ตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ส่วน 14 ค่ำ คือวันโกน 15 ค่ำคือวันพระ และแรม 1 ค่ำ แรม 2 ค่ำ เทศน์รวม 5 วัน ส่วนประเพณีออกพรรษา คือวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ บ่ายโมง พระก็จะจับคู่กัน แล้วเอาผ้าอาบมาจับเหมือนเปล พระสองรูปก็จะเดินไปตามถนน เดินเข้าโบสถ์ ระหว่างทางเดินสองข้างทาง โยมก็จะมีดอกไม้ธูปเทียน กาน้ำ กระป๋องน้ำ เอาธูปเทียนใส่เปลพระ เอาน้ำล้างเท้าพระ ตลอดไปถึงโบสถ์ พอพระเข้าโบสถ์ก็เอาดอกไม้ธูปเทียนออกถวายพระ ทำวัตรเสร็จ ก็ปวารณาออกพรรษา ส่วนเทศน์มหาชาติมีทั้งหมด 13 กัณฑ์ วันหนึ่งเทศน์ 1-3 กัณฑ์ โดยชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ

ประเภท ศาสนสถาน
ศาสนา พุทธ
นิกาย/ลัทธิ เถรวาท
คำสำคัญ มอญ,มอญบ้านเกาะ,มอญวัดเกาะ
รูปแบบลิขสิทธิ์ อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC)

บรรณานุกรม

รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ปัณวัฒน์ ผ่องจิต
ชื่อหนังสือ/วารสาร รายงานวิจัย เรื่องชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
สถานที่พิมพ์ กรุงเทพฯ
สำนักพิมพ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ปีที่พิมพ์ 2559
ประวัติวัดในเขตจังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร
ชื่อหนังสือ/วารสาร ประวัติวัดในเขตจังหวัดสมุทรสาคร
สถานที่พิมพ์ กรุงเทพฯ
สำนักพิมพ์ ดีไซน์การพิมพ์
ปีที่พิมพ์ 2534
ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
ชื่อหนังสือ/วารสาร ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร
สถานที่พิมพ์ ราชบุรี
สำนักพิมพ์ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
ปีที่พิมพ์ 2553
เสียงรามัญ
ผู้แต่ง องค์ บรรจุน
ชื่อบทความ สมุทรสาครมอญสองเมือง
ชื่อหนังสือ/วารสาร เสียงรามัญ
ปีที่พิมพ์ 2550
ปี (วารสาร) 2
ฉบับ (วารสาร) 12 (พ.ย.-ธ.ค. 2550)
หน้า (วารสาร) 3-5

รูปภาพ

close