ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

44 แห่ง

ผลการค้นหา : 44 แห่ง

วัดโพธิ์แจ้ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดโพธิ์แจ้ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2456 เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ชาวบ้านเรียกวัดตายิ้ม โดยมีนายยิ้ม-นายแดง จูพราย และนายทับ มุขจั่น เป็นผู้ถวายที่ดินให้สร้างวัด เนื่องจากตำบลนี้ยังไม่มีวัด (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 57) อาคารเสนาสนะ ต่างๆ ประกอบด้วย พระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างเมื่อ พ.ศ.2466 ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดคือ พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) หรือหลวงปู่เฒ่าวัดหนัง ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.2471 บริเวณหน้าบันพระอุโบสถ มีการเขียนบอกไว้ว่า “พระอุโบสถ วัดโพธิ์สิริราช บำรุงด้วยความสามัคคี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2466” ลักษณะตัวอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาสีเหลืองอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ปั้นปูนทับสันหลังคา ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นทำเป็นรูปเศียรนาค ต่อชายคาปีกนกยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลมทาสีเหลือง มีประตูทางเข้าทั้งสองด้านด้านละ 2 ประตู ปัจจุบันประตูด้านหลังถูกปิดสามารถเข้าได้ทางเดียวคือด้านทิศตะวันออก บานประตูไม้เรียบไม่มีลวดลายแกะสลักทาสีเหลือง ผนังด้านข้างทำเป็นช่องหน้าต่าง ด้านละ 3 ช่อง บานหน้าต่างทาสีเหลือง ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อโต”

วัดใหญ่จอมปราสาท อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดใหญ่จอมปราสาทเป็นวัดเก่าแก่ที่อาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในพื้นที่ชุมชนบ้านท่าจีน

ศาลคุณพ่อหลักเมือง (บางขุด) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลคุณพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่ในชุมชนหมู่ 8 หลังวัดบางขุด ตำบลบ้านบ่อ แต่เดิมเป็นศาลไม้ และค่อยๆปรับปรุงให้มีขาดใหญ่ขึ้น โดยสร้างเป็นศาลาทรงไทยยกพื้น ต่อมาในปี พ.ศ.2556 ได้ปรับปรุงใหม่โดยนายฉอ้อนและนางเนียม อุยยาหาญ ศาลใหม่สร้างด้วยปูน หลังคาทรงไทย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร ภายในศาลมีแผ่นไม้เจว็ดปิดทอง มีรูปปั้นพญานาค ชาวบ้านจะกราบไหว้คุณพ่อหลักเมืองเพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองและช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ เช่น สุขภาพ การค้าขาย ฯลฯ ชาวบ้านที่เดินผ่านศาลจะต้องยกมือไหว้ ในช่วงเดือนเมษายน ชาวบ้านจะจัดงานไหว้คุณพ่อหลักเมือง

ศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปากคลองโคกขาม) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม หมู่ 7 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่ประมาณ 1,399  ตร.ม. ชาวบ้านในชุมชนได้แกะสลักพันท้ายนรสิงห์ทำจากไม้จันทน์หอมขึ้นไว้ที่ศาลเพียงตา ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ได้จัดสร้างศาลเป็นอาคารคอนกรีต ผนังเป็นลายไทย อัญเชิญรูปปั้นองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ตั้งเป็นประธาน เพื่อให้ประชาชนทั้งภายนอกและภายในชุมชนมาสักการะบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ต่อมามูลนิธิพันท้ายนรสิงห์ คณะกรรรมการศาลปากคลองโคกขาม กำหนดจัดงานในวันขั้น 3 ค่ำเดือน 4 ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี ความเสียสละเพื่อรักษากฎมณเฑียรบาลของพันท้ายนรสิงห์ และเพื่อให้ประชาชน เยาวชน ได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของตำบลพันท้ายนรสิงห์ (ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์)

ศาลพันท้ายนรสิงห์ (ศาลใหญ่) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร  ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งนี้เป็นแห่งแรก สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความซื่อสัตย์แก่พันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่งเป็นนายท้ายเรือที่จงรักภักดีผู้ที่ยอมรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนราชประเพณีตามกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา เชื่อว่าเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นจุดที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต ตัวศาลเดิมนั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาและถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง จึงได้มีการสร้างใหม่ และมีศาลในลักษณะศาลเพียงตาที่มี 6 เสา ที่ตั้งอยู่หน้าตัวศาลใหญ่ สร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อปี พ.ศ. 2493 จากการที่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ในปีเดียวกัน รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ในศาลแห่งนี้ สร้างขึ้นจากไม้จันทร์หอม ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นที่นับถือของชาวบ้านอย่างมาก ชาวบ้านนิยมมาขอพรแล้วเมื่อสำเร็จ ก็แก้บนด้วยนวมชกมวย ไม้พายเรือ หรือรูปปั้นไก่แก้ว เพราะตามประวัติแล้ว ท่านชอบชกมวยและตีไก่ (https://www.paiduaykan.com/travel/ศาลพันท้ายนรสิงห์)

ศาลพันท้ายนรสิงห์ วัดโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ตั้งอยู่บริเวณหน้าโบสถ์เก่าของวัดโคกขาม ภายในศาลมีรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์และพระบรมรูปพระเจ้าเสือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการจัดงานประจำปีของวัดโคกขาม ถือเป็นช่วงบูชาเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านละแวกวัดโคกขามจะมากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่อการขอให้ไม่ติดทหาร  

ศาลพ่อปู่ทะเล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าปู่ทะเล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านประมง หมู่ 4 ต.พันท้ายนรสิงห์ สร้างมาประมาณ 30 ปี โดยเริ่มนายเปี๊ยก เงินเจริญฝันว่าเจ้าพ่อปู่ทะเลมาดลใจให้เป็นร่างทรงและสร้างศาลขึ้น จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวประมงที่จะมาขอพรให้เจ้าปู่ช่วยให้ปลอดภัยในการออกเรือไปหาปลาในทะเล เดิมทีศาลจะตั้งอยู่ชายฝั่ง แต่ถูกคลื่นซัด จึงย้ายเข้ามาข้างในประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบัน ตัวศาลสร้างเป็นศาลาไม้ทรงไทย ฝาผนังด้านนอกทาสีแดง ฝาผนังด้านในทาสีเขียว ศาลายกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง บนหน้าจั่วหลังคามีรูปวาดพระพุทธเจ้า ด้านหน้าศาลมีแท่นปูนยาวประมาณ 5 เมตร สูง 1 เมตรและมีรูปปั้นเสือ 2 ตัวตั้งอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาล ประกอบด้วย เจ้าปู่ทะเล(องค์ประธาน) รูปปั้นเจ้าปู่ทะเลเป็นรูปชายชรา กำลังยืน มือซ้ายถือมีดและลูกประคำ มือขวาถือไม้ตะพด สวมแว่นดำ ไว้หนวดเครายาว สิ่งศักด์สิทธิ์อื่นได้แก่ เจ้าพ่อโกเมศ เจ้าพ่อเขาตก เจ้าแม่กวนอิม ฤาษี กุมารทอง พระแก้วมรกต รูปรัชกาลที่ 5 รูปกรมหลวงชุมพรฯ เครื่องเซ่นไหว้เจ้าปู่ทะเล ได้แก่ หัวหมู ไก่ต้ม ผลทับทิม กล้วย ส้มโอ สับปะรด องุ่น ขนุน น้ำชา ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซาลาเปา ขนมเปี๊ยะ เผือกต้ม มันต้ม และอาหารทะเลกุ้ง หอย ปู ปลา ชาวบ้านจะจัดพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงเจ้าพ่อปู่ทะเลในช่วงเดือนมกราคมพร้อมกับการถือศีลกินเจ การแสดงลิเก ตะกร้อและดนตรี ในงานบวงสรวงจะมีการเข้าทรงเจ้าพ่อ ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นมาถวายพร้อมกับให้เจ้าปู่พรมน้ำมนต์ และขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆ หลังเสร็จพิธีบวงสรวง จะมีการประมูลเครื่องเซ่น ชาวบ้านที่ต้องการนำเครื่องเซ่นไปรับประทานก็จะเสนอราคา คนใดให้ราคาดีที่สุดก็จะได้ไป

ศาลเจ้ากิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย ตั้งอยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก ใกล้กับวัดบางหญ้าแพรก สร้างในปี พ.ศ.2541 ตัวศาลเป็นอาคารปูนหันหน้าออกแม่น้ำท่าจีน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลประกอบด้วย เจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย หรืออาเนี้ย(องค์ประธาน) หลวง เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อเสือ อาม้า และหลวงพ่อโสธร ตามความเชื่อของศาสนาเต๋า เชื่อว่าเจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ยคือเทพสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์ทั้ง 9 ชั้น ช่วยคุ้มครองให้ประเทศเกิดความร่มเย็นและปราศจากศัตรู

ศาลเจ้าจุ๊ยบ๋วยเนี้ย (เจ้าแม่ทับทิม) ท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่าฉลอม ไม่ปรากฏว่าก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยใด การนับถือเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยมาจากความเชื่อของชาวจีนไหหลำซึ่งเชื่อว่าเจ้าแม่เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล หรือ “เจ้าแม่ชายน้ำ” ช่วยคุ้มครองผู้เดินทางเรือ ชาวประมงจึงให้การเคารพนับถือมาก สำหรับชาวจีนที่มาอยู่ในไทยได้สร้างรูปปั้นเจ้าแม่และใส่เครื่องประดับเป็นพลอยสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เจ้าแม่ทับทิม” พิธีกรรมของศาลเจ้าที่สำคัญคือ พิธีลุยไฟ จะทำเฉพาะเมื่อเจ้าแม่ประทับร่างทรงและทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กจมน้ำเสียชีวิตและอุบัติเหตุทางน้ำ ร่างทรงจะจัดให้มีพิธีลุยไฟเพื่อปัดเป่าโชคร้ายให้หายไป รวมทั้งมีพิธีแห่เจ้าแม่รอบเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ แห่งไปในย่านท่าฉลอมและมหาชัย พิธีทั้งสองนี้จะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นงานประจำปีของศาลเจ้า นอกจากนั้น จะมีพิธีฉลองวันเกิดเจ้าแม่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวไทยเชื้อสายจีนและผู้เคารพนับถือจะเชิญพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และมีการแสดงงิ้วสมโภช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแม่ทับทิม นอกจากเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ยแล้วยังมี เจ้าพ่อกวนอู จือชาง(เตียวหุย) และปุนเถ้ากง คนในพื้นที่เชื่อว่าถ้าห้อยรูปเจ้าแม่ทับทิมไว้ติดตัวจะทำให้เกิดความกล้าหาญ เมื่อมีพิธีลุยไฟ ลูกศิษย์เจ้าแม่ที่เป็นผู้ชายวัยรุ่นจะมารวมตัวกันเพื่อทำแสดงความกล้าโดยการเดินบนถ่านที่ติดไฟ เชื่อว่าเจ้าแม่จะช่วยคุ้มครองไม่ให้ถูกไฟไหม้และปลอดภัย

close