ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ชาวบ้านลับแลตื่นพบอักษรจารึกชื่อ "อ.ลับแล" สมัยสงครามโลก

ชาวบ้านลับแลตื่นพบอักษรจารึกชื่อ "อ.ลับแล" สมัยสงครามโลก

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 เวลา 09:55:57

บทความโดย : ทีมงาน

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่บริเวณป่าชุมชนบ้านวัดป่า หมู่ 9 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุมูล จันโจ่ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ร่วมกันทำแนวกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 1,500 ไร่ ให้กับสวนผลไม้ทุเรียน ลางสาดและลองกอง เพื่อป้องกันเหตุไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่และอาจลุกลามเข้าสู่สวนผลไม้ ส่งผลทำให้ต้นทุเรียน ต้นลางสาดและต้นลองกองเกิดความเสียหายได้ เหมือนกับพื้นที่ตำบลแม่พูลที่เคยเกิดมาแล้ว และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับชาวสวนจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ระหว่างที่ชาวบ้านกำลังทำแนวกันไปป่าบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาอยู่นั้น จอบได้ไปกระแทรกกับหินเป็นเสียงดังผิดปกติ จึงก้มลงดูพบอักษรภาษาไทยจมอยู่ใต้ผิวดิน มีใบไม้แห้งทับอีกชั้นหนึ่ง


 
ชาวบ้านจึงร่วมกันเปิดหน้าดินขึ้นมาทั้งหมด ทำให้พบอักษรภาษาไทย คำว่า "อ.ลับแล" ซึ่งเป็นอักษรย่อของอำเภอลับแล ขนาดความกว้างของตัวอักษรตัวละประมาณ 1.00 เมตร ยาวประมาณ 1.20 เมตร มีขนาดความหนาของตัวอักษรเกือบ 10 เซนติเมตร และมีความยาวของตัวอักษรตามแนวยาวรวมกันทั้งหมดรวมกันประมาณ 7 เมตร ที่บริเวณด้านบนของตัวอักษร "ล" ตัวสุดท้าย มีการเขียนลงวันที่ 9 ม.ค. แต่ไม่ระบุปี พ.ศ. คาดว่าจะเป็นวันที่จัดทำตัวอักษรนี้ขึ้นมา


 
ชาวบ้านร่วมกันตรวจสอบตัวอักษรที่พบเห็นที่มีร่องรอยชำรุดแตกหักบางส่วน มีคราบตะไคร่น้ำเกาะอยู่ สังเกตเห็นว่าตัวอักษรที่นำมาเรียงกันนั้น  เป็นตัวอักษรที่มีการนำก้อนหินเก่าแก่โบราณมาเรียงเป็นตัวอักษร จนครบคำว่า "อ.ลับแล" แล้วนำปูนซีเมนต์ผสมทรายมาเทราดทับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดเป็นตัวอักษรดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น โดยตัวอักษรที่พบเห็นอยู่บนที่ราดเชิงเขานี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร
 
นายสุมูล  กล่าวว่า จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่พอสรุปได้ว่า อักษรที่จัดทำขึ้นมานี้เกิดช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา พ่อค้าและชาวบ้านได้หนีภัยสงครามรวมตัวกันอพยพมาอยู่ในพื้นที่อำเภอลับแลจำนวนมากขึ้น เหตุผลเพราะเพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาเหมาะที่จะใช้หลบซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัยของประชาชน  ทำให้เกิดชุมชนหนาแน่นมากขึ้น
 
ต่อมา ขุนราษฎร์มังคลารักษ์ นายอำเภอลับแลสมัยนั้น ได้ออกสำรวจระวางเขตแดนแบ่งเขตการปกครองตำบลยางกะไดเพื่อจัดตั้งเป็นเขตเทศบาล กระทั่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะตำบลยางกะไดให้เป็นเทศบาลตำบลศรีพนมมาศมาถึงปัจจุบันนี้ ส่วนอักษรที่พบเห็นนี้เชื่อว่า เป็นจุดบอกเขตหรือแนวเขต เพื่อใช้เป็นจุดแสดงพิกัดทางอากาศที่ชัดเจน นายสุมูล กล่าว
 
 
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์  28 พฤษภาคม 2559

ผู้เขียน :

คำสำคัญ : จารึกสมัยสงครามโลก จารึกอำเภอลับแล