ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

อ่านจารึกให้รู้จัก ‘ประติมากรรมสำริด’ กังวล คัชชิมา ชวนสืบร่องรอยจาก ‘ประโคนชัย’

อ่านจารึกให้รู้จัก ‘ประติมากรรมสำริด’ กังวล คัชชิมา ชวนสืบร่องรอยจาก ‘ประโคนชัย’

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เวลา 11:27:14

บทความโดย : ทีมงาน

ยังเป็นที่สนใจของประชาชน สำหรับกรณีทวงคืนพระโพธิสัตว์สำริดอายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์
 
ล่าสุดคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวของไทยที่มีการเรียนการสอนในด้านนี้ ได้ออกมาจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสำริดจากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
 
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณอันดับต้นๆ ของประเทศ คือหนึ่งในวิทยากรสำคัญซึ่งเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างยิ่ง หลังการจุดประเด็นพระนามเทพเจ้าในจารึกปราสาทปลายบัด 2 ที่เขาอ่านแปล และตีความครั้งใหม่ โดยจะเปิดเผยครั้งแรกในงานเสวนาดังกล่าว
 
พูดคุยกับเขาถึงเรื่องราวที่มาที่ไปและความสำคัญของประติมากรรมสำริดดังกล่าว
 
เป็น “ออเดิร์ฟ” ก่อนจะไปฟังงานเสวนาที่เป็น “เมนคอร์ส” จัดหนักจัดจริง
 
การศึกษาจารึกช่วยบอกอะไรเกี่ยวกับประติมากรรมสำริดเหล่านี้?
 
ในการศึกษาทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ หรือศิลปะเทวรูปต่างๆ นั้น เราจะเห็นแต่ภาพ หากแต่จะไม่รู้ที่มาว่าใครสร้าง เขาสร้างทำไม ต้องการสื่อสารอะไร ซึ่งในส่วนของการศึกษาจารึกจะบอกชื่อ บอกที่มาของสิ่งเหล่านี้ สำหรับประติมากรรมแบบประโคนชัยชุดนี้ ที่บอกว่ามีกว่า 300 องค์นั้น มีเรื่องที่ต้องบอกว่าผิดปกติอยู่เยอะ อย่างแรก คือ เรายังไม่เห็นเทวรูปเหล่านี้ในเมืองไทย พบแต่พื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในยุคเดียวกัน คือ บ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และที่บ้านโตนด อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเดียวกัน ขณะที่ทางเขมรเองก็ไม่ได้มีเยอะขนาดนี้ สำหรับ 300 องค์ที่ว่านี้ ถือว่าไม่ใช่เยอะธรรมดา แต่เยอะผิดปกติ
 
ผิดปกติต่อมา คือ การไปรวมกันอยู่ที่เดียว ก็ทำให้เกิดความคิดว่า มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับการสร้างพระเยอะแยะมากมาย แล้วไปรวมอยู่ที่เดียวกันอย่างนั้นในยุคนั้น คือถ้าเป็นสมัยหลัง เช่น ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทตาพรหมนั้นเข้าใจได้ มีชื่อบอก มีเหตุให้สร้าง แต่ประติมากรรมที่เรียกว่าแบบประโคนชัยนั้น เกิดขึ้นก่อน เป็นช่วง พ.ศ.1200-1300 เราต้องย้อนไปดูที่ใกล้เคียงกับสมัยโน้นว่ามีอะไรที่พอจะเป็นเหตุแห่งการสร้างได้ และทำไมถึงไปรวมอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งจารึกอาจจะพอบอกได้
 
จารึกหลักไหนบ้างที่น่าสนใจ?
 
ก่อนจะพูดถึงจารึกปลายบัด เราไปดูจารึกอีกหลักหนึ่งก่อน ซึ่งแม้จะเป็นสมัยหลังการสร้างประติมากรรมสำริดประโคนชัย แต่ก็น่าสนใจ เพราะพูดเรื่องการสร้างพระ และจารึกหลักนี้ก็พบในพื้นที่อีสานใต้เช่นกัน นั่นคือจารึกซับบาก พบที่วัดซับบาก ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จารึกนี้อายุประมาณ พ.ศ.1609 ยุคเดียวกับจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เล่าย้อนไปถึงครั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กลับจากชวาแล้วก็มาทำพิธีต่างๆ เพื่อไม่ให้ชวารุกรานกัมพูชา ที่เรียกว่าพิธีเทวราชาซึ่งเรื่องนี้ชัดเจน ส่วนกรณีจารึกซับบากก็เล่าย้อนไปเหมือนกัน พูดถึงการสร้างพระพุทธรูป 9 องค์เพื่อทำพิธีไม่ให้ชวารุกราน ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ
 
น่าสนใจว่าจารึกซับบากเล่าย้อนถึงการสร้างพระพุทธรูป 9 องค์ เพื่อทำพิธีไม่ให้ชวารุกรานที่เรียกว่า “พิธีกัลยาณสิทธิ” ที่เราไม่รู้ว่าคือพิธีกรรมอะไรนั้น มีการทำหลายที่ อาจทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ซึ่งจะเป็นไปได้มั้ยว่าเทวรูปกลุ่มนี้จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน จะเก็บมารวบรวมยุคเดียวกันหมดเลย ซึ่งเหตุที่ใกล้เคียงที่พอจะสันนิษฐานเรื่องเทวรูปสำริดประติมากรรมแบบประโคนชัย ก็คือเรื่องพิธีกรรมลักษณะนี้ไม่น่าจะเป็นการสร้างพระเพื่อไว้ตามศาสนสถานแน่ๆ และที่สำคัญคือ ตัวปราสาทปลายบัด 2 ที่พบประติมากรรมสำริดชุดนี้ก็ไม่ใช่ยุคเดียวกัน ห่างกันเกือบ 200 ปี
 
แล้วจารึกปลายบัด?
 
ตัวจารึกปลายบัด สร้างประมาณ พ.ศ.1468 ก็ถือว่าห่างจากประติมากรรมสำริดชุดนี้ไม่นานเท่าไหร่ ประมาณ 100 ปี จารึกหลักนี้สัมพันธ์กับตัวโบราณสถาน ร่วมสมัยเดียวกับตัวปราสาท จารึกหลักนี้สำคัญตรงที่มีศักราช บอกชื่อกษัตริย์ว่า “ศรีอีสานวรมัน” ซึ่งเป็นลูกของ “ยโสวรมัน” ครองราชย์เมืองพระนคร มีพระบรมราชโองการถึงขุนนางประจำท้องถิ่นแถวนั้น ให้รับทราบปักประกาศนี้ที่ “พนมกาจโตน” โดยสิ่งที่สำคัญคือชื่อขุนนางซึ่งระบุในจารึก 1 ใน 8 คนซึ่งน่าสนใจสุดคือชื่อ “ศรีมหิธรวรมัน” ซึ่งที่ผ่านมาเราศึกษาเรื่องราชวงศ์มหิธรเยอะพอสมควร ว่าภายหลังจะไปครองเมืองพระนคร แต่เราไม่ทราบตำแหน่งได้แน่ชัดเมืองมหิธรปุระนั้นชัดเจนตรงไหน คิดว่าเป็นพิมาย ซึ่งก็มีชื่อบอกชัดเจนว่าวิมายะปุระ
 
ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะประติมากรรมสำริดที่พบเหล่านี้นั้นเป็นพุทธ และพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือชัยวรมันที่ 7 แห่งราชวงศ์นี้ที่สร้างเมืองนครธมก็เป็นพุทธ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหลักฐานอะไรยืนยันว่าราชวงศ์นี้อาศัยอยู่แถบนี้ มีแค่จารึกปลายบัดที่บอกว่าขุนนางคนหนึ่งชื่อ มหิธรวรมันได้รับคำสั่งลงมา ให้พื้นที่ตรงนี้ขึ้นกับศาสนสถาน จากแต่เดิมมีการเก็บภาษี เก็บส่วย ก็มีคำสั่งให้บริเวณนี้ห้ามเก็บ คนที่อยู่บริเวณนี้ให้นักบวชดูแลสิ่งของที่สร้างที่ทำมอบศาสนสถานบริเวณนี้
 
และอีกด้านหนึ่งของจารึกปลายบัด เล่าย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 ซึ่งห่างจากจารึกนี้กว่า 100 ปี บอกว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 ที่ครองเมืองหริหราลัย ได้มาทำบุญตรงนี้ โดยการถวายของต่างๆ อย่างข้าวเปลือก ข้าวสาร เนยใส ผ้านุ่ง ผ้าห่ม วัว ควาย ข้าทาส ฯลฯ แสดงว่าที่แห่งนี้สำคัญมาก กษัตริย์เขมรตั้งแต่ยุคเริ่มก่อร่างสร้างเมืองยังมาทำบุญตรงนี้ คือแม้อาจไม่ได้มาเอง ให้ข้าทาสบริวารมา แต่ก็เห็นว่าสำคัญ

    
 
แถบอีสานใต้ มีจารึกไหนอีกที่พูดถึงกษัตริย์จากเขมรมาทำบุญ?
 
ก็มีจารึกปราสาทพนมวัน พูดถึงพระเจ้ายโสวรมัน จารึกพิมายก็พูดถึงสุริยวรมันที่ 1 จารึกพนมรุ้งก็พบว่ามีเยอะหน่อย ตั้งแต่สมัยราเชนทรวรมัน สุริยวรมันที่ 2 แต่สำหรับบริเวณที่พบประติมากรรมเหล่านี้ไม่ปรากฏตัวปราสาทใหญ่ หรือเมืองใหญ่ ที่อยู่ใกล้สุดก็คือปราสาทเมืองต่ำ และที่สำคัญคือปราสาทเมืองต่ำใหญ่ขนาดนี้คนสร้างไม่ธรรมดา เมืองใกล้เคียงที่ว่าก็น่าจะเป็นเมืองใหญ่และไม่ธรรมดาเช่นกัน เพียงแต่ว่าเราไม่เคยพบจารึกเมืองต่ำ ไม่รู้ว่าเดิมชื่อว่าอะไร
 
จารึกในแถบอีสานใต้ พูดเรื่องกษัตริย์จากเขมรหรือเจอชื่อกษัตริย์เขมรเยอะมากสมัยหลัง คือช่วงสุริยวรมันที่ 1 ที่แผ่อิทธิพลมาถึงนี้ สร้างปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งก็หลังจากยุคเทวรูปเหล่านี้
 
เราจึงได้แต่สันนิษฐาน 300 องค์ที่พบนั้นเอามารวมไว้ แล้วเมืองนี้ร้างไปหรืออย่างไร? ทิ้งร้างแล้วไปไหน? ย้ายไปพนมรุ้งไปเมืองต่ำหรืออย่างไร ทำไมปล่อยตรงนี้ร้าง ทับถมขนาดนี้ ซึ่งไม่แน่ว่าวันนี้หากลองไปสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอย่างจริงๆ จังๆ อาจจะเจอเทวรูปอีกก็ได้ ถ้าพระเยอะขนาดนั้นจริงๆ ผมคิดว่าขุดสำรวจน่าจะเหลือบ้างนะ
 
คือที่ว่าพบ 300 องค์ ไม่เคยมีใครยืนยันได้ มีแต่คนขุด แล้วคนเขียนบอกว่า 300 แต่เท่าที่เห็นในปัจจุบันนั้นยังไม่ถึงร้อย เพราะฉะนั้นมันหายไปไหน อยู่กับเอกชนที่ไหน คิดว่าตอนนี้ก็ยังไม่เผยแพร่ เรื่องนี้ก็น่าสนใจ
 
จากจารึกต่างๆ พอบอกได้มั้ยว่าพื้นที่เป็นอย่างไร?
 
ผมว่าน่าจะเป็นเมืองที่ค่อนข้างใหญ่ คือถ้าดูจากจารึก ดูจากพระบรมราชโองการของกษัตริย์ ดูการทำบุญของพระมหากษัตริย์เขมรซึ่งปรากฏชื่อที่จารึกอย่างน้อย 3 องค์ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 3, พระเจ้าหรรษวรมัน และพระเจ้าอีสานวรมันที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ และน่าจะเป็นเมืองที่ใหญ่พอสมควร อย่างที่บอกว่าชื่อมหิธรวรมัน ในจารึกปลายบัด ซึ่งในช่วงนั้นเป็นขุนนาง อาจจะยังไม่ใหญ่ กว่าจะเป็นคนในราชวงศ์นี้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร เป็นชัยวรมันที่ 6 ก็หลังจากยุคนี้เกือบ 200 ปี
 
เพราะฉะนั้น เป็นไปได้มั้ยที่ราชวงศ์มหิธรอาจจะอยู่บริเวณนี้ เมืองมหิธร
 
ปุระอยู่แถบนี้ แต่อาจจะไม่ใหญ่โตมากในสมัยจารึก มายิ่งใหญ่ตอนหลัง แล้วก็ไปเป็นกษัตริย์ครองเมืองเขมรในที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นร่องรอยหนึ่ง คือเราเชื่อว่ามหิธรไปจากเมืองพิมาย เราคิดอย่างนั้น เพราะถ้าจะเป็นระดับกษัตริย์เขมร ต้องเป็นปราสาทหลังใหญ่ ซึ่งแถบนี้ก็มีปราสาทพิมายที่ใหญ่สุดแล้ว
 
กังวล คัชชิมา
 
แถบนี้เป็นร่องรอยความยิ่งใหญ่ของนครวัด-นครธม?
 
ก่อนที่จะไปเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่า ต้องมีเค้าโครง ร่องรอยก่อนใหญ่ ก่อนเป็นนครวัด ก่อนเป็นนครธม ต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ มาก่อน ศิลปะต่อเนื่องกัน ส่งทอดกันก่อนจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ปลายบัดแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่อารยธรรมโบราณ องค์ความรู้ต่างๆ จากตรงนี้
 
ที่นี่ ศิลปะในการหล่อสำริดถือว่าสุดยอดแล้วในสมัยนั้น แสดงให้เห็นก่อนจะไปหล่อสำริดขนาดใหญ่โตในนครวัด นครธม หรือที่บารายตะวันตก ที่เหลือแต่เศียรในปัจจุบัน คือมันต้องเริ่มความเชี่ยวชาญจากเล็กๆ มาก่อนแล้วถ่ายทอดไป ผมว่าภูมิปัญญาซึ่งจะถ่ายทอดต่อเนื่องมาเรื่อย แสดงให้เห็นตรงนี้ ก่อนที่จะขยายลงไป เพราะว่าอาจจะมีเหตุผลหลายอย่าง ช่วงนี้ที่บอกประวัติศาสตร์เขมรแยกย่อยมากมาย ก็อยู่ในช่วงสร้างประติมากรรมสำริดเหล่านี้ด้วย เพราะก่อนหน้าที่จะพบชุดนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ทำจากสำริด และถึงมีก็ไม่เยอะขนาดนี้
 
พอจะคาดเดาเหตุแห่งการสร้างเทวรูปเยอะขนาดนี้?
 
ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม คือ ถ้าเป็นผม มองย้อนกลับไปในบริบทยุคสมัยนั้น ถ้าผมเลือกจะสร้างพระแบบนี้ แสดงว่าต้องมีอะไรในใจ คือการสร้างพระโพธิสัตว์ในมหายานนี้ ต้องเข้าใจว่าพระอมิตาภะนั้นท่านไม่ได้ลงมาดูแลโลก คนที่ลงมาคือพระโพธิสัตว์ ดังนั้นคนที่มาร้องขอให้ช่วยก็คือร้องขอกับพระโพธิสัตว์ อย่างทางจีนก็จะเป็นเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น
 
กรณีนี้เป็นไปได้ไหมที่ช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้นจนต้องเกิดการบูชาท่าน ให้พระโพธิสัตว์ช่วย ซึ่งผมก็อยากจะเดาว่าคือเพื่อป้องกันการรุกรานของชวา ก็สันนิษฐานจากจารึกซับบากที่บอกไปแล้วเรื่องการสร้างพระพุทธรูป 9 องค์ ซึ่งเป็นไปได้มั้ยว่ามีการสร้างพระอย่างอื่นด้วย พุทธ พราหมณ์ เอาหมด อะไรที่เป็นเรื่องช่วยคุ้มครองได้
 
เพราะแม้แต่สมัยหลัง ที่ชัดเจนคือชัยวรมันที่ 2 กลับมาครองราชย์ ก็ยังต้องเผชิญกับการรุกรานของชวา จนต้องย้ายเมืองไปโน่นมานี่มากมาย แสดงว่าเมืองไม่มั่นคง ก็มีการทำพิธีหลายอย่างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งก็ชัดเจนบนเขาพนมกุเลน ที่เรียกว่าพิธีเทวราชา เพื่อป้องกันการรุกรานของชวา
 
ประติมากรรมร่วมสมัยแบบประโคนชัยที่เรามีอยู่ตอนนี้?
 
อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พบที่บ้านฝ้าย และบ้านโตนดอย่างละองค์ คือที่เรายังไม่กล้าสรุปก็คือว่า ที่บอกว่า 300 องค์นั้นจริงมั้ย และถ้าจริง เป็นศิลปะแบบเดียวกันมั้ย ยุคเดียวกันมั้ย อาจจะเป็นยุคหลังที่มีการสร้างต่อมาอีกเรื่อยๆ สร้างต่อๆ กันมา เพราะต้องบอกว่าอีกกว่า 200 องค์นั้นเราไม่เคยเห็น เรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าศึกษาว่าเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งหมดมั้ย เพราะคนที่ไปลักลอบขุดเขาก็คงไม่รู้หรือไม่ได้มานั่งสังเกตหรอก บอกว่าพระก็คือพระ คือถ้าเป็นศิลปะแบบเดียวกันนั้นจะน่าสนใจมาก
 
วันนี้ออกมาพูดเรื่องนี้ด้วยจุดประสงค์?
 
เพราะเรารู้ว่าประติมากรรมเหล่านี้มีถิ่นกำเนิดตรงนี้ ฝรั่งเองก็ยืนยันว่ามาจากแหล่งนี้ แต่เราก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรของเราเลยว่า ของที่มีแต่ดั้งเดิม ภูมิปัญญาคนแถบนี้คืออะไร เราไม่ได้กระตุ้นเตือนให้คนรู้ แต่พอมีคนจุดประเด็นขึ้นมาเลยจุดติดขึ้น แต่วันนี้ก็ยังไปคนละทิศคนละทาง เฮกันก็เฮตามไป ถามว่าคืออะไร ยังสับสนอยู่ คณะโบราณคดีต้องออกมาทำหน้าที่ เป็นสถาบันหลักให้ความรู้ ส่วนผลที่ได้จากความรู้นี้จะอย่างไรต่อ ก็เป็นขั้นต่อไป
 
เราต้องปรับทัศนคติคนไทยให้เข้าใจเรื่องเดียวกันก่อน แล้วมุ่งไปที่เดียวกัน อย่างตอนที่เราทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เราไปในทิศทางเดียวกัน เรามีรูป ที่ทุกคนเห็นความสำคัญ แต่อันนี้ เรามีความรู้เรื่องนี้น้อย และที่สำคัญคือเรายังไม่เห็นพ้องต้องกัน เรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วเราต้องการอะไร เรียกว่ายังไม่ตกผลึกความรู้เกี่ยวกับประติมากรรมชุดนี้เลย
 
เป้าหมายยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย เราจะไปทวงคืน ถามว่าทวงคืนใครดี เพราะมันมีตั้งเยอะ กับพิพิธภัณฑ์ กับคนที่กำลังเอาขายหรือเปล่า หรือคนไทยที่มีครอบครองอยู่ นักโบราณคดีต้องออกมาให้ความรู้ก่อน ก้าวต่อไปถ้าจะมีหน่วยราชการ กลุ่มต่างๆ ต้องการจะดำเนินการต่อ เราก็จะเป็นฝ่ายให้ข้อมูลที่เราคิดว่าถูกต้อง
 
ซึ่งถามว่ามีโอกาสบ้างไหมสมัยปัจจุบัน ต้องบอกว่ามี ถึงกระบวนการเบื้องหลังจะมีเป็นการซื้อคืนหรืออะไรก็ตามแต่
 
แต่ในภาพที่ออกมานั้นคือได้คืน

 
-------------------------------------------------------------------------------------------------
 
“โบราณวัตถุ” และการศึกษาของท้องถิ่น
 
สำเนียงเสียงพูดของอาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้นี้บ่งบอกถึงภูมิลำเนา
หลังบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องราวของ “ประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย” ที่พบ ณ ปราสาทปลายบัด 2 อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ มีการพูดคุยนอกรอบกันอีกเล็กน้อย สอบถามที่มาที่ไปได้ว่า
 
กังวล คัชชิมา เป็นชาว อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์
เสียงพูดไทยกลางที่ติดสำเนียงภาษา “ขะแมร์เลอ” ถามว่า “ถ้าคุณเป็นชาวบ้าน วันหนึ่งไปไถนา แล้วเจอโบราณวัตถุแล้วจะทำอย่างไร?”
ให้คำตอบออกไปแบบบ้านๆ ว่าคง “ขาย”
 
พร้อมกับคำยืนยันต่อมาของ อ.กังวล ว่า “แน่นอน ชาวบ้านก็คิดเช่นกัน เจอแล้วก็เก็บไว้ขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา ใครจะไปแจ้งกรมศิลปากรล่ะ เพราะเกิดไปแจ้งเดี๋ยวก็มีคนเข้ามา เกิดประกาศเป็นเขตโบราณสถานอีก ที่นาเขาก็ทำไม่ได้ โบราณวัตถุที่พบ กรมศิลป์ก็เอาไป จะเก็บไว้ที่หมู่บ้าน ที่ชุมชนก็ไม่ได้ เพราะอย่างนี้ชาวบ้านจึงขยาด
 
“เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องโบราณสถานนั้น มีหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ประมาณว่า ถ้าคนที่เจอศิลปวัตถุเหล่านี้เอามอบ เขาจะตีราคาแล้วจ่ายเงินให้ 1 ใน 3 ประมาณนี้ แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคือชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ อย่างทุกวันนี้ ผมจะเข้าไปเก็บข้อมูลก็ต้องบอกชาวบ้านว่าเป็นอาจารย์ เพราะถ้าบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ก็โดนไล่ออกมา
 
“ที่ผ่านมาเหมือนกับว่า เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ไปจะยึดของเขาอย่างเดียว ก็เป็นปัญหา เอามาแล้วถามว่าเก็บไว้ที่ไหน ก็เข้าคลัง ไม่ได้ออกมาโชว์สักที แล้วพอชาวบ้านอยากจะมาดู ก็ดูไม่ได้ ผมจะไปดูยังต้องทำหนังสือออกจากคณะไปขอเลย ไปถึงก็หายาก ของอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้”
พร้อมกันนี้ อ.กังวลได้ยกตัวอย่างกรณีการพบจารึกมเหนทรวรมัน เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วัดบ้านเขว้า อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์
 
“กรมศิลป์เอารถเตรียมไปขนแล้ว แต่ชาวบ้านเขาไม่ยอม มากันเต็มศาลาวัดเลย เขาไม่ให้” อ.กังวลเล่า ก่อนจะบอกว่าต่อมาหน่วยงานราชการจึงใช้วิธีการบีบให้ชาวบ้านที่อยากจะดูแลเอง โดยตีราคาจารึกดังกล่าวนี้ที่ 30 ล้าน ถ้าหาย ทางวัดต้องรับผิดชอบ
 
อีกกรณีศึกษาหนึ่ง ที่จังหวัดศรีสะเกษ
 
พบจารึกเช่นกัน ซึ่ง อบต.แห่งหนึ่งตั้งใจที่จะดูแลเอง แต่ทางกรมศิลป์ก็มาตีราคาไว้ที่ 10 ล้าน ถ้าหายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับผิดชอบ
อ.กังวลบอกว่า กรณีนี้ทาง อบต.เคยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ให้คนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญ
 
“ผมก็บอกว่าไม่ยาก ต้องใช้จารึกเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ คือในนั้นบอกวัน เดือน ปี ไว้หมด ก็กำหนดให้เป็นวันสำคัญของชุมชน และจัดงานที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าโรงเรียนอยากจะสอนภูมิปัญญาท้องถิ่น สอนเรื่องการอ่านจารึกให้กับเยาวชน ผมยินดีที่จะไปสอนให้ ว่านี่คือ ก.ไก่ เมื่อพันปีที่แล้วเป็นอย่างไร อ่านอย่างไร เพราะในชุมชนนี้ก็พูดภาษาเขมรอยู่แล้ว คิดดูสิเด็กอ่านออกเขาจะภูมิใจแค่ไหน” อ.กังวลกล่าว
 
ไม่แปลก ถ้าจะพูดเรื่องโบราณวัตถุกลับคืนแหล่งที่พบจึงเป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่ง
 
นี่ยังไม่พูดถึงกรณีที่ท้องถิ่นต้องเสียเงินเองเพื่อทำ “จำลอง” กลับไป
สภาพที่เป็นอยู่ จึงทำให้ชาวบ้านถ่างห่างจากข้าวของโบราณวัตถุที่ครั้งหนึ่งที่เคยพบในชุมชนของเขาออกไปทุกที จนที่สุดก็เหมือนว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย
รากเหง้าเกี่ยวกับบรรพชนตนเองสูญสลาย



ผู้เขียน : เชตวัน เตือประโคน
ที่มา : มติชนออนไลน์ 21 พฤษภาคม 2559
ข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th/news/143441

 

ผู้เขียน :

คำสำคัญ :