วัดบางปิ้ง

วัดบางปิ้ง

เผยแพร่เมื่อ: 13 ธันวาคม 2562 | 

ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 26 กรกฎาคม 2563

ชื่ออื่น วัดหัวป่า, วัดดงปิ้ง
ที่ตั้งตามการปกครอง หมู่ 2 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ละติจูด 13.598019
ลองจิจูด 100.284993
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วัดบางปิ้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2414 เดิมชื่อ "วัดหัวป่า" ในสมัยนั้นบริเวณรอบวัดเป็นป่า ส่วนมากจะมีต้นปิ้งจำนวนมาก ใช้ทำประโยชน์ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางปิ้ง เดิมมีพระอุโบสถหลังแรก ผู้สร้างคือ เถ้าแก่หวานและนางจันทร์ ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถ

ต่อมาพระอุโบสถหลังเดิมทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ นายพุ่ม-นางรอด จันจู ได้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเงินหนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน วัดได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 42) อุโบสถหลังปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2536 พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อปู่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และพุทธลักษณะสวยงามมาก ประวัติความเป็นมาของพระประธานในอุโบสถ ผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าว่า “มีนายโต๊ะ นายยัง แจวเรือไปขายของที่บางกอก กรุงเทพฯ แถวบางกอกน้อย สมัยที่ยังไม่เจริญ ไปพบพระพุทธรูปตั้งอยู่กลางป่าเป็นวัดร้างสมัยนั้น ปัจจุบันนี้คือวัดสังข์กระจายในสมัยปัจจุบัน นายโต๊ะและนายยัง จึงขอชาวบ้านมา โดยการใช้กระดานท้องเรือรองใต้ฐานและเอาเชือกขว้างแล้วล่มเรือให้น้ำเข้า เอาพระลงเรือ แล้วก็วิดน้ำออก แล้วก็แจวเรือกลับมายังบางปิ้ง ที่ฐานพระมีชื่อพรหมมาทองคำ จึงเรียกติดปากกันมาว่า “‘หลวงปู่ทองคำ’ อายุราว 300 ปี สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย”

วิหารหลวงปู่ชิต เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ปูนปั้นทับสันหลังคา มีประตูทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ภายในวิหารประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ชิต หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หลวงปู่ชิตเป็นหลวงพ่อที่เคารพนับถือกันมาก เพราะเมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์ที่โด่งดังในการสักยันต์ มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นทหารจำนวนมาก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาแผนโบราณ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยสมัยนั้นมักจะมาให้หลวงพ่อรักษาอยู่เป็นประจำ

ประเภท ศาสนสถาน
ศาสนา พุทธ
นิกาย/ลัทธิ เถรวาท
รูปแบบลิขสิทธิ์ อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC)

บรรณานุกรม

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21
ผู้แต่ง กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา
ชื่อหนังสือ/วารสาร ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21
วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
ชื่อหนังสือ/วารสาร วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด
ชื่อหนังสือ/วารสาร ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด

รูปภาพ

close