วัดน้อยนางหงษ์
เผยแพร่เมื่อ: 13 ธันวาคม 2562 |
ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 2 พฤศจิกายน 2563
ชื่ออื่น | วัดตากแดด, วัดหงส์อรุณรัศมี |
ที่ตั้งตามการปกครอง | หมู่ 4 ท่าจีน ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร |
ละติจูด | 13.535183 |
ลองจิจูด | 100.244815 |
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
วัดน้อยนางหงส์ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ทางด้านตะวันออกติดกับคลองสุนัขหอน มีเนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 25 ไร่ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย วัดน้อยนางหงษ์ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2323 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2560) หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ "วัดตากแดด" ต่อมาในสมัยพระปลัดเซ่ง เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดน้อยนางหงส์" และในสมัยพระอธิการชุ่ม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดหงส์อรุณรัศมี" แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกวัดน้อยนางหงส์อยู่ (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 65) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2429 ผูกพัทธสีมาหลังใหม่ พ.ศ. 2559 สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ อุโบสถหลังปัจจุบันเป็นอุโบสถใหม่ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2559 โดยได้รื้ออุโบสถหลังเก่าออกเพื่อก่อสร้างอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ อุโบสถหลังใหม่อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนยกพื้นสูง 2 ชั้น ชั้นล่างลักษณะเป็นใต้ถุน มีพื้นที่ใช้สอย ทางขึ้นสู่ชั้นบนที่เป็นที่ตั้งของตัวอาคารอุโบสถอยยู่ทางด้านหน้า หรือทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือหันหน้าออกสู่คลองสุนัขหอน อุโบสถเป็นสีขาวทั้งหลัง ศิลปะไทยประเพณีประยุกต์ หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกัน 2 ตับ มีช่อฟ้าและหางหงส์ หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นลวดลายพระพุทธรูปใต้ต้นโพธิ์ ล้มอรอบด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา หน้าบันด้านหลังเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา เสารองรับหลังคาเป็นเสาสี่เหลี่ยม มีบัวหัวเสา ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านหน้าช่องทางเดียว ช่องหน้าต่างที่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 5 ช่อง ด้านนอกประดิษฐานเสมา และมีลานประทักษิณโดยรอบ เหนือกำแพงแก้วล้อมรอบลานประทักษิณทำเป็นลวดลายพญานาค อุโบสถหลังเก่าลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้ง สี่ด้าน มีเสาคอนกรีตสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น ช่อฟ้าและหางหงส์ป็นรูปเศียรนาค หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังป็นปูนปั้นระบายสีลายพันธุ์พฤกษา ประกอบด้วย ดอกไม้และใบไม้ ในส่วนของดอกไม้และกรอบหน้าจั่วประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและจาน ชามเบญจรงค์ ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูนมีประตูทางเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ประตู ลานประตูเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมเป็นรูปทวารบาลแบบไทย ผนังด้านหน้ามีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานอภัย ซึ่งสันนิษฐานว่าคงมีการสร้างต่อเติมขึ้นใหม่ในภายหลัง เหนือซุ้มพระพุทธรูปมีอักษรสลักในแผ่นหินติดอยู่ที่ผนัง คำว่า "วัดรัศมี" และ "WAT RASMI" ผนังอุโบสถด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง บานหน้าต่างเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมรูปเทวดายืนพนมมือ ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ล้อมรอบ ในเขตกำแพงแก้ว มีซุ้มเสมาทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนประดิษฐานใบเสมาซึ่งทำมาจากหินแกรนิต (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 66) เจดีย์บรรจุอัฐิ ตั้งอยู่ด้านหน้าของอุโบสถ ติดกับคลองสุนับหอน สร้างเป็นรูปเรือสำเภา โดยมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังขนาดเล็กอยู่ภายในลำเรือจำนวน 3 องค์ แลละเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ที่มุมอุโบสถด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หอระฆัง ลักษณะเป็นสถานปัตกรรมผสมผสานนกันระหว่างไทยและยุโรป เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องขนาดเล็ก มีประตูทางเข้ารูปทรงโค้ง มีบันไดทางขึ้นลงก่ออกมาจากตัวอาคารทางด้านข้าง ชั้นเป็นอาคารโปร่งมีระเบียงขนาดเล็กโดยรอบ ผนังด้านข้างเป็นช่องโปร่ง ลักษณะคล้ายซุ้มส่วนยอดโค้งแหลมแบบศิลปะกอธิค หลังคาของหอระฆังก่ออิฐถือปูนซ้อนกันเป็นชั้นๆ ส่วนบนสุดคล้ายปล้องไฉน ผู้ก่อสร้างคงจะออกแบบใหคล้ายเป็นยอดเจดีย์ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 66) อนุสรณ์สถานท่านลี เป็นสถานที่ฝังศพ ก่อสร้างแบบสถานปัตยกรรมยุโรป มระเบียงล้อมรอบ และทางเข้าทั้งสี่ด้าน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนสองงชั้น ชั้นล่างตกแต่งด้วยซุ้มโค้ง ภายในที่ฝังศพเป็นหีบก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเป็นทรงสามเหลี่ยม ชั้นบนตกแต่งด้วยซุ้มโค้งแบบยุโรป ส่วนยอดเป็นยอดแหลมมีทั้งหมด 5 ยอด ยอดตรงกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่ใกล้เคียงกันพบที่ฝังศพอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ลักษณะเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนมีระเบียงล้อมรอบ และมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ในแต่ละด้านจะมีซุ้มโค้งด้านบนมีลวดลายปูนปั้นเป็นตราสัญลักษณ์แบบยุโรป บนแท่นตรงกลางมีปีบศพก่ออิฐถือืปูนแปดเหลี่ยมประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปใบไม้ และงูหรือพญานาคแบบศิลปะยุโรป นอกจากนั้น เสนาสนะสำคัญอื่นๆ ภายในวัด ได้แก่ - ศาลาการเปรียญหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 - อาคารไม้ทรงไทย หลังใหม่สร้าง พ.ศ. 2556-2560 - กุฏิสงฆ์เป็นอาคารไม้ - วิหารเป็นทรงไทยมะลิลาสร้าง พ.ศ.2544 - ศาลาอเนกประสงค์ อาคารไม้ทรงไทย สร้าง พ.ศ.2534 - ศาลาบำเพ็ญกุศล คอนกรีตเสริมเหล็ก - เจดีย์รามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2549 - ศาลาฉันและหอสวดมนต์ จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในวัด สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า วัดยน้อยนางหงส์ น่าจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นลำดับเจ้าอาวาส 1.พระน้อย 2.พระปลัดเซ่ง 3.พระทับ 4.พระชุ่ม 5.พระบาง 6.พระครูสาครธรรมกิจ 7.พระมหาชาญณรงค์ นรปญฺโญ เจ้าอาวาสปัจจุบัน พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ คือ พระประธานประจำอุโบสถ พระเกจิอาจารย์สำคัญ คือ หลวงปู่เซ่ง ประเพณี/งานประจำปี ได้แก่ วันที่ 13-15 เมษายน ทำบุญ ตักบาตร วันสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนา |
ประเภท | ศาสนสถาน |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย/ลัทธิ | เถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC) |
ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร | |
ผู้แต่ง | สุริยา สุดสวาท, เดชา สุดสวาท |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร |
สำนักพิมพ์ | สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี |
ปีที่พิมพ์ | 2553 |