วัดน่วมกานนท์

วัดน่วมกานนท์

เผยแพร่เมื่อ: 13 ธันวาคม 2562 | 

ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 17 กันยายน 2563

ชื่ออื่น วัดท่าหิน
ที่ตั้งตามการปกครอง หมู่ 5 ตำบลชัยมงคล อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ละติจูด 13.557850
ลองจิจูด 100.183909
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วัดน่วมกานนท์ เดิมเรียกว่าวัดท่าหิน ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัดว่าสร้างสมัยใด ตามเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2460 (รัชกาลที่ 6) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2510 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 31)

เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีถนน เวลาปลูกบ้านชาวบ้านจะบรรทุกหินทรายมาไว้ที่หน้าวัด แล้วจึงค่อยทยอยขนไป ชาวบ้านเลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดท่าหิน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดน่วมกานนท์ ตามชื่อและนามสกุลของผู้ถวายที่ดินให้วัด คือ นายตั๋ง(น่วม) กานนท์ เดิมเป็นวัดเล็กๆ ชำรุดทรุดโทรม หลังคามุงจาก ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะและสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น

วัดได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระครูสาครพัฒนวิธาน (ต่วน เตชธโร) หรือหลวงพ่อต่วน ท่านเรียนวิชาความรู้จากหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน หลวงปู่ต่วนสร้างวัตถุมงคลหลายชนิด ได้แก่ ตะกรุดคู่ชีวิต และ ยันต์ 3 หัวใจ 

ปูชนียสถานวัตถุสำคัญของทางวัดคือ "หลวงพ่อหาย" และ "พระพุทธชัยมงคล" พระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในสมุทรสาคร   

หลวงพ่อหาย มีประวัติความเป็นมาคือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2548 มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้นำเอาพระพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งเป็นไม้แกะยืนเท่าคนจริงมาฝากพระครูสาครพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดน่วมกานนท์ เนื่องจากกำลังปลูกบ้าน เมื่อบ้านเสร็จก็จะมารับคืน ด้วยความคุ้นเคยกันพระครูจึงรับฝากไว้ แต่หลังจากนั้น 2 เดือนเศษ ตัวสามีได้ป่วยหนัก พระครูจึงได้แนะนำให้ถวายพระองค์ที่ฝากไว้แก่วัด เนื่องจากพระครูเห็นว่าพระองค์นี้มีขนาดใหญ่เท่าคนจริง ประทับยืนปางเปิดโลก แกะด้วยไม้มงคลเก่าแก่อายุประมาณ 200 กว่าปีในความเห็นของพระครู ซึ่งตามโบราณว่าพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณนั้น คนที่มีบุญบารมีวาสนาเท่านั้นถึงจะครอบครองได้และต้องเป็นในลักษณะให้คนได้กราบไหว้ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้สามีภรรยาคู่นั้นจึงถวายพระพุทธรูปองค์นี้ให้กับทางวัด วันรุ่งขึ้นอาการป่วยหนักก็ดีขึ้นตามลำดับหลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบกันปากต่อปาก ชาวบ้านมากราบไหว้ขอพร โดยเฉพาะให้หายจากป่วยไข้ เมื่อสมหวังสมปรารถนาก็จะนำของมาถวาย เช่น ไข่ต้ม กล้วย และผลไม้ต่างๆ

ประเภท ศาสนสถาน
ศาสนา พุทธ
นิกาย/ลัทธิ เถรวาท
รูปแบบลิขสิทธิ์ อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC)

บรรณานุกรม

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21
ผู้แต่ง กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา
ชื่อหนังสือ/วารสาร ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21
วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้แต่ง คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
ชื่อหนังสือ/วารสาร วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด
ชื่อหนังสือ/วารสาร ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด

รูปภาพ

close