วัดเจษฎาราม
เผยแพร่เมื่อ: 11 ธันวาคม 2562 |
ปรับปรุงแก้ไขเมื่อ: 26 กรกฎาคม 2563
ชื่ออื่น | วัดธรรมสังเวช, วัดกระเจ็ด |
ที่ตั้งตามการปกครอง | ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร |
ละติจูด | 13.550070 |
ลองจิจูด | 100.291829 |
รายละเอียดศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
วัดเจษฎารามเป็นสถานที่ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในอดีตทางราชการได้ใช้สถานที่วัดนี้หล่อรูปพันท้ายนรสิงห์ และได้เชิญไปประดิษฐาน ณ ที่ตั้งศาลที่ตำบลโคกขามเดิมวัดเจษฎาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมเคยเป็นพื้นที่วัดร้างมาก่อน โดยมีเนินดินอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของอุโบสถเก่า ปัจจุบันได้ปรับพื้นเป็นที่ราบไปหมดแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2401 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์น่วม พระภิกษุจากวัดแสมดำ พร้อมด้วยคหบดีตำบลมหาชัยซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือนายแฟบ นางน้อย และนางอิ่ม และชาวบ้านได้ร่วมใจกันทำการก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ มีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 140 ปี และได้ขนานนามว่า “วัดธรรมสังเวช” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “วัดกระเจ็ด” ตามชื่อคลองกระเจ็ด ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด ในราวปีวอก พ.ศ.2439 เจ้าจอมมารดาโหมด (เจ้าจอมมารดาของ(พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์เจ้าหญิงอรอนงค์อรรถยุพา และกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส) ในรัชกาลที่ 5 ได้เดินทางมายังตำบลมหาชัย และพักแรมอยู่บริเวณวัดนี้ ท่านเจ้าจอมมารดาโหมดได้ขนานนามวัดให้ใหม่จาก “วัดธรรมสังเวช” ให้มีนามว่า “วัดเจษฎาราม” (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 14-15) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2480 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2531 วัดเจษฎาราม เป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้นแต่มีความสำคัญด้วยเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของทางราชการจังหวัดสมุทรสาคร มีโอกาสรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช และพระมหาเถระหลายรูป นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นสนามสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลีประจำจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินกิจกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์และสังคมสงเคราะห์หลายประการ ด้วยคุณสมบัติของการเป็นวัดที่ช่วยเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสมควรได้รับเกียรติยกย่องเป็นพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการจึงขอพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดเจษฎารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี 2516 เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดเจษฎารามมีรายนามดังต่อไปนี้ รูปที่ 1 พระอธิการน่วม ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2401-2418 รูปที่ 2 พระอธิการยา ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2424-2449 รูปที่ 3 พระอธิการบัว จงทรงสี ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2450-2462 และเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) มหาชัย รูปที่ 4 พระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย ญาณวฑฒโน) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2462-2500 เป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย และเจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร (ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมื่อ พ.ศ.2484 เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง) รูปที่ 5 พระราชสาครมุนี (ชะวร โอภาโส ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2501-2535 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ.2521 และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสาครมุณี ศรีกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เมื่อ พ.ศ.2530 รูปที่ 6 พระครูสาครเจษฎานุยุต (พิเชษฐ ธมมธโร) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน ด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2480 โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2503 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2530 ภายในวัดมีสิ่งสำคัญได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถปางมารวิชัย พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตรหน้าพระอุโบสถ รอยพระพุทธบาทจำลอง ต้นศรีมหาโพธิ์ และรูปหล่อพระครูชัยบริรักษ์ (หลวงปู่เชย) อดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นที่เคารพของชาวมหาชัยและตำบลใกล้เคียง แผนผังโดยรวมและอาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัด เช่น พระอุโบสถและวิหาร หันไปทางคลองมหาชัยหรือหันไปทางทิศเหนือ (เอียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย) อาคารสิ่งก่อสร้างภายในวัดล้วนแล้วแต่เป็นอาคารใหม่ ส่วนพระอุโบสถปี 2559 อยู่ในระหว่างการก่อสร้างใหม่ โดยสร้างในตำแหน่งพระอุโบสถหลังเดิมที่ทุบทิ้ง (พระอุโบสถหลังเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามประวัติระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2440) ด้านหน้าสถานที่ก่อสร้างพระอุโบสถก่อสร้างเป็นศาลาชั่วคราวประดิษฐานพระพุทธรูปจากพระอุโบสถหลังเดิม (รออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถหลังใหม่) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ 1. พระประธานของพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกเศษ ลงรักปิดทอง ลักษณะศิลปกรรมมีอิทธิพลศิลปะจีน ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโต” ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2439 โดยมีพระอธิการยาเป็นประธานจัดสร้าง และมีพระโมคคัลลาน์ – พระสารีบุตร ประดิษฐานอยู่เบื้องซ้าย-ขวา 2. พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร ลงรักปิดทอง สูง 6 ศอก เดิมประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ พระครูมหาชัยบุรีรักษ์ เป็นประธานจัดสร้างเมื่อ พ.ศ.2488 3. รอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2494 4. รูปหล่อพระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย ญาณวฑฒโน) อดีตเจ้าอาวาสวัด ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อเชย ทางวัดจัดให้มีงานบำเพ็ญกุศลถวายในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 5 เป็นประจำทุกปี 5. ต้นพระศรีมหาโพธิ เป็นต้นที่สืบเนื่องมาจากต้นพระศรีมหาโพธิตรัสรู้ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตเป็นประธานปลูก เมื่อ พ.ศ.2514 |
ประเภท | ศาสนสถาน |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย/ลัทธิ | เถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC) |
ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21 | |
ผู้แต่ง | กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21 |
วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร | |
ผู้แต่ง | คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร |
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด | |
ชื่อหนังสือ/วารสาร | ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด |