ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์
11 แห่ง
เจ้าพ่อล่องหนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนชาวมอญเจ็ดริ้ว ศาลตั้งอยู่หน้าวัดเจ็ดริ้ว สร้างขึ้นโดยนางเก็กเช็ง เมื่อปี 2453 เดิมศาลตั้งอยู่เชิงสะพานริมคลองเจ็ดริ้ว
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร อยู่ในตำบลมหาชัย ซึ่งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเป็น 3 ช่วงเวลา คือ (1) ยุคเทพเจ้าจอมเมือง ศาลเจ้าพ่อเป็นแผ่นไม้โพธิ์ สูงประมาณ 1 เมตร แกะสลักเป็นรูปเทวดา หัตถ์ขวายกประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ คล้ายองค์พระสยามเทวาธิราช อยู่ในท่าประทับยืนบนเกี้ยวมีกุมารน้อย 2 คน เป็นบริวารอยู่ด้านข้าง (สมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 6) (2) ยุคเจ้าพ่อหลักเมืองแบบราชการราวปี พ.ศ. 2460-2461 (รัชกาลที่ 6) มีการปรับปรุงศาลเป็นอาคารทรงไทย ในสมัยพระยาสาครคณาถิรักษ์ เจ้าเมืองสมุทรสาคร โดยร่วมมือกับหลวงอนุรักษ์นฤผดุง นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ขุนสมุทรมณีรัตน์ (เม่งฮะ หรือ มิ่ง มณีรัตน์) กำนันตำบลท่าฉลอม ขุนเชิดมหาชัย และนายยงกุ่ย หทัยธรรม เป็นผู้นำในการบริจาคเงินส่วนตัวและรวบรวมเงินบริจาคจากชาวบ้านมาสร้างศาลใหม่ (3) ยุคเจ้าพ่อแบบวัฒนธรรมจีน (พ.ศ.2524 –ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2524 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้นได้ให้มีการสร้างศาลหลักเมืองแห่งใหม่ขึ้นด้านหลังศาลหลักเมืองสมุทรสาครหลังเดิม และได้อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองไปประดิษฐาน ณ ที่เดียวกัน โดยได้รื้อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทิ้ง แต่ชาวบ้านไม่พอใจและลงความเห็นว่าควรจะสร้างศาลใหม่ขึ้นในที่เดิม จากนั้นจึงมีการระดมทุนจากชาวบ้านเพื่อสร้างศาลใหม่ตามรูปทรงสถาปัตยกรรมจีนในปี พ.ศ.2525 และได้อัญเชิญเจ้าพ่อลงมาประดิษฐานยังศาลที่สร้างขึ้นใหม่ ทั้งชาวประมง ชาวจีน และชาวบ้านต่างศรัทธาในเจ้าพ่อ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนมักจะมาขอให้เจ้าพ่อช่วย ถ้าได้สมดังคำขอก็จะมาแก้บนด้วยฝิ่นและนำไปป้ายที่ปากเจ้าพ่อ