วัตถุประสงค์โครงการ


           ในห้วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ กระแสโลกาภิวัตน์และการพัฒนาระดับประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติแก่สังคมวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ วัฒนธรรมกับนิเวศล้วนมีพลวัติในการปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ (dynamic changes of ethnicity in globalization) นั่นคือ การปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม “กระแสโลกยุคใหม่” ชุมชนชาติพันธุ์จำนวนมากถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบแรงงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม บางแห่งจำต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกิน บ้างเผชิญปัญหาเรื่องสัญชาติและรัฐสวัสดิการ ปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้ ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ในหลายเขตวัฒนธรรมต้องปรับตัวและผสมผสานวัฒนธรรมของตนเข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลัก นำไปสู่การสูญเสียอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ภูมิปัญญา และวิถีการดำรงชีวิต ปัญหาเหล่านี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตระหนักถึงความซับซ้อนนี้และมองว่าพลวัตต่างๆ ล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าท้ายในการเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ที่กำลังทั้งต่อสู้และยินยอมต่อกระแสโลกาภิวัตน์

           ศมส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับชาติ และเป็นคลังข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของชาติ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการ “สร้างเครื่องมือดิจิทัล” ที่มีประสิทธิภาพในการแสดงผลข้อมูลที่มากกว่า “สิ่งพิมพ์” และให้สอดคล้องกับ “ยุคดิจิทัล” เครื่องมือดังกล่าวนี้ จะถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “พลวัติทางสังคมและวัฒนธรรม” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลก ด้วยข้อมูลที่เรียกว่า “ภูมิสารสนเทศทางชาติพันธุ์” (ethno-geographical information) อันเป็นการประมวลองค์ความรู้ด้วยกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า “ภูมิทัศน์ทางชาติพันธุ์” (ethnoscape) ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนที่ดิจิทัลที่เรียกว่า “แผนที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่มีชีวิต” (Living Ethnoscape Map, LEM) ด้วยหวังว่า แผนที่ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง สภาพภูมิศาสตร์กับพลวัติของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก รวมไปถึงแผนที่นี้จะเป็นฐานสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต

           ดังนั้น พื้นที่ศึกษานำร่องเพื่อการจัดทำแผนที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์ในรูปแบบดิจิทัล จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นการต่อยอดดำเนินการแปรรูปข้อมูลวิจัยของ ศมส. ที่ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๐ มาสู่ “แผนที่ดิจิทัล” โดยเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ๔ ในจังหวัด คือ ไทยพื้นถิ่น ไทยเชื้อสายจีน ไทยรามัญ และไทยทรงดำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน และการสร้างความเข้าใจถึงพลวัตทางสังคมวัฒนธรรมที่ล้วนแล้วเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่หยุดนิ่ง ทางโครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอสารสนเทศในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย “ด้วยตา” (virtualization) ในลักษณะ “สารสนเทศที่มีพลวัติ” (dynamic information) อันแปรเปลี่ยนข้อมูลไปตามช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับพื้นที่อาศัย จึงมีความสำคัญยิ่งในการการส่งเสริมให้คนไทยรู้รักและเข้าใจในความหลากหลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศเดียวกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานอันดีที่ก่อให้เกิดความเคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกัน