ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

นาค : ในวัฒนธรรมภาคใต้

ภาค : ใต้

นาค : ในวัฒนธรรมภาคใต้

        นาค หรือ พญานาค ปรากฏในวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ ทั้งที่เป็นความเชื่อและขนบประเพณีต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นสิ่งชำระล้าง ช่วยให้เกิดความสะอาด สดชื่น รวมทั้งที่สมมติเอาสายน้ำแทนกระแสธรรมอันชำระมลทิน นอกจากนั้นยังใช้นาคหรือพญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องสัดจองนำข้ามมหาสมุทร ตลอดจนนำชีวิตข้ามไปสู่ฝั่งแห่งความเจริญ สัญลักษณ์เหล่านี้จะปรากฏเป็นรูปแบบและลักษณะต่างกัน ล้วนสืบต่อกันมาช้านานจนกลายเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน

        เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเอเชียเกือบทุกประเทศใช้ นาค เป็นสัญลักษณ์แทนน้ำ เช่น ที่นครวัดของเขมรมีรูปหินแกะสลักเรื่องพระวิษณุกวนเกษียรสมุทร โดยใช้ตัวพญานาคแทนเชือก คติเช่นนี้ปรากฏร่วมในวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยภาคใต้ด้วย ดังที่ปรากฏในบททำขวัญข้าวของชาวดำบลชุมพลอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ว่า "ข้าไหว้นาคนาคาทั้งพระยานาคใต้บาดาล ขอเชิญท่านมาเป็นเชียกชัก มาเป็นหลักเป็นประธาน" มีการขุดพบเรือของชาวหมู่เกาะทะเลใต้ที่สุสานประเทศฟิลิปปินส์ใช้ขดงูหรือนาคเป็นรูปประดับเรือ สำหรับของไทยพบเรื่องพญานาคในหลายลักษณะในทุกภาค พบในคติที่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างนาคกับสิงห์ซึ่งเรียกว่า "สาง" ก็มี

นาคที่เป็นนรเทพ

        นาคที่เป็นนรเทพ คือครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ ส่วนใหญ่เป็นคติที่สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องมโนหรานิบาต มีนาคชมภูจิตเป็นเจ้าเมืองบาดาลเป็นผู้ดลบันดาลให้เมืองอุดรปัญจามีฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ภายหลังได้เป็นสหายกับพรานบุญ ให้พรานบุญยืมบ่วงนาคบาศมาคล้องนางกินรี หรือพญานาคในเรื่องสุวรรณสังข์ พญานาคได้ช่วยชีวิตพระสังข์เมื่อถูกถ่วงน้ำ คดินี้ยังปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้เรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องนางอุทัย พญานาคได้ช่วยชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน   ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เมื่อนางเหมมาลาเอาพระทันตธาตุห่อเกล้าชฎาธารจะไปลังกา ครั้นถึงท่าตรังได้ขอโดยสารสำเภาไป เมื่อถึงกลางมหาสมุทรสำเภาเกิดอัศจรรย์แล่นไปไม่ได้ นายสำเภาคิดจะฆ่านางเหมมาลาและเจ้าธนกุมารเสีย นางรำลึกถึงพระมหาเถรพรหมเทพ พระมหาเถรพรหมเทพก็นิมิตเป็นพญาครุฑราช นาคราชทั้งหลายจึงขึ้นมาถวายบังคมแก่พระทันตธาตุ พระมหาเถรพรหมเทพก็ทำนายว่า ในอนาคตกาล ณ หาดทรายทะเลรอบนั้น จะมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมโศกราชจะมาตั้งเมืองเป็นเมืองใหญ่ ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร นาคราชที่กล่าวถึงนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นเทพมเหสักข์ สำแดงให้เห็นว่าบริเวณนั้นเป็นภูมิดลมงคลสถาน และการที่พระมหาเถรพรหมเทพนิมิตเป็นครุฑ บ่งคติว่าครุฑมีอำนาจเหนือนาคที่เชื่อกันอย่างกว้างขวาง จนภายหลังจะพบศิลปะประเภทสถาปัตยกรรมที่นิยมทำนาคเป็นสัญลักษณ์ดังเช่นที่กล่าวไว้ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า "เมืองนั้นมีกำแพง ๓ ชั้น อ้อม ๓ วันจึงรอบ ก็มีรูปนาคราช ๗ หัว ๗ หางประกอบบนประตู" คตินี้ได้วิวัฒนาการเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมทำครุฑจับนาค นาคค่อยถอยศักดิ์ศรีเสื่อมสูญไป จนภายหลังคงเหลือแต่ครุฑ วิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมที่ตัดนาคให้เหลือแต่ครุฑนี้ พบในศิลปะแบบบายนของเขมรด้วยเช่นกัน

นาคในลักษณะ "งูวิเศษ"

        พญานาคยังปรากฏในลักษณะงู (หรือบางทีเรียกว่าเงือก) วิเศษที่สามารถนิมิตกายให้เห็นหรือกำบังกายได้

        ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชดอนหนึ่งกล่าวถึงง "พังพการ" ว่ามีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่เข็ญใจอยู่ดำบลบ้านพเตียนเอาลูกใส่เปลไว้ได้ร่มไม้กลางนา มีงูตัวหนึ่งเอาแก้วมาไว้ในเปลพ่อแม่นั้นได้แก้วตั้งชื่อลูกว่าพังพการ ต่อมาพังพการเป็นคนวาจาสิทธิ์ พระยานครเอาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาพระยานครคิดแข็งเมืองกับชวาให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าพวกชวาเสียวันละ ๓๐-๔๐ คนทุกวัน โดยที่พวกชวามองไม่เห็นตัวพังพการ จนชวาต้องแตกหนีไป พระยานครจึงแบ่งเมืองให้พังพการส่วนหนึ่ง

        คติเรื่องงคาบแก้วในเปลทารกที่กล่าวมานี้ ไปปรากฏในตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดว่า นายหูนางจันเป็นลูกหนี้ของเศรษฐีปาน ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนางจันคลอดลูกใหม่ ถูกเศรษฐีปานบังคับให้ไปเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อใช้แรงชดเชยหนี้สิน นางจึงเอาลูกไปให้นอนในเปลที่ผูกขึ้นระหว่างต้นเม่าใหญ่ที่อยู่ใกล้นา ครั้นได้เวลาให้ลูกกินนมกลับมาหาลูกเห็นงูใหญ่นอนขดอยู่รอบๆ เปล นางตกใจและอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบุตร ในบัดดลงใหญ่ก็หายไป และมีแก้วขนาดเท่าไข่นกพิราบวางอยู่ในฝ่ามือของบุตรน้อย นางนำแก้วนั้นมาเก็บไว้จนฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ และทารกนั้นต่อมามีนามว่า ปู คือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หรือที่รู้จักกันในนามของหลวงพ่อทวดวัดช้างให้นั่นเอง

        รวมความว่า นาคจะปรากฏในรูปของงูวิเศษ ซึ่งจะมาปรากฏให้รู้ว่าใครมีบุญญาธิการ นอกจากนี้ยังเล่ากันเสมอๆ ว่างูจะเฝ้าขุมทรัพย์โบราณที่ฝังหรือซ่อนอยู่ เป็นทำนองปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แต่จะนิมิตให้เห็นในลักษณะของงูหรือพญานาค ความเชื่อเช่นนี้มีทั่วไปในภาคใต้โดยปรับเล่าให้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ 

        นาคที่เกี่ยวกับรูปหนังตะลุง หนังตะลุงยุคเก่าของภาคใต้ รวมทั้งหนังตะลุงในประเทศมาเลเซียตอนเหนือ เช่น กลันดัน ไทรบุรี จะแกะรูปตัวสำคัญ ๆ ให้มีรูปพญานาคเป็นฐานรองรับเท้า หรือทำเป็นรูปเหยียบนาค เป็นทำนองว่ามีนาคเป็นพาหนะ รูปหนังตะลุงภาคใต้ในยุคดังกล่าวที่แกะให้มีรูปพญานาคเป็นฐานรับเท้า เช่น รูปพระอินทร์ ยักษ์ เจ้าเมือง เป็นต้น ของหนังตะลุงมาเลเซีย เช่น รูปพระราม พระลักษมณ์ พระอรชุน เป็นต้น

       เป็นที่น่าสังเกตว่า มีบทพากย์รูปพระอิศวรของหนังตะลุงสำนวนหนึ่ง ใช้คำ "โอม นาคา" เป็นคำอาเศียรวาท ก่อนจะไหว้พระเจ้าทั้ง ๓ องค์ตามคติไศวนิกายของศาสนาพราหมณ์ดังต่อไปนี้

          "โอม นาคา ข้าจะไหว้พระมหาเจ้าทั้งสามองค์

        พระอิศวรผู้ทรงพระยาโคสุภกราชฤทธิรอน

          เบื้องขวาข้าจะไหว้พระนารายณ์พระสี่กร

        ทรงครุฑระเหินจร พระชินรินทร์เรืองณรงค์

           เบื้องซ้ายข้าจะไหว้ท้าวจตุรพักตร์ผู้ทรง

        พระมหาสุวรรณเหมหงส์ ทรงศักดิ์พระอิทธิฤทธิ์เรืองนาม

          สามเอยสามองค์ทรงภพไปทั้งสาม

        สามโลกเกรงขาม พระเดชพระนามลือขจร"

                                         ฯลฯ

        นอกจากนี้บทเชิดรูปฤๅษีของหนังตะลุงยังบ่งคติว่าพระอิศวรและพระนารายณ์เป็นเทพสำคัญที่สุดตามคติไศวนิกายและไวษณพนิกาย คือ "ข้าจะไหว้พระอิศวร พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าท้าว ลงมาตั้งฟ้าตั้งดิน ตั้งพระอินทร์พระพรหม ตั้งพระยมพระกาฬ ตั้งพระจตุโลกบาดาล ทั้งศรีมหาโพธิ ตั้งพระโสตพระศรีรัตนตรัย" คติที่ยกให้พระอิศวรและพระนารายณ์เป็นผู้สร้างโลกสร้างจักรวาล และการใช้ "โอม นาคา" ในบทพากย์รูปพระอิศวรจึงสะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างคดิเผ่านาคากับคติไศวนิกาย

        นาคที่ปรากฏเป็นฐานของรูปหนังตะลุง น่าจะสอดคล้องและสัมพันธ์กับที่ปรากฏในโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน..." และ "โอมปรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือ วัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง..."

นาคที่เกี่ยวกับยานพาหนะ

        นอกจากจะพบคติการทำรูปนาคเป็นฐานรูปหนังตะลุงแล้วยังพบที่นำมาใช้เป็นยานพาหนะในลักษณะของเครื่องประดับตกแต่ง เช่น

        ที่นครศรีธรรมราชมีผู้พบเครื่องสำริดรูปนาค ๕ เศียร ยอดแหลมเป็นเปลวไฟ (ขณะนี้เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) เครื่องสำริดชิ้นนี้ สแตนลีย์ เจ. โอ. คอนเนอร์ กล่าวไว้ในเรื่อง "ตามพรลิงค์กับอาณาจักรขอม" (JSS-1975) ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบราชรถ มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และยอร์จ โกรส์ลิเยร์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบกับภาพของราชรถและเสลี่ยงที่นครวัดซึ่งเป็นภาพสลักหิน แล้วลงความเห็นว่าเครื่องประดับสำริดที่เป็นนาค ๕ เศียรนี้ เป็นส่วนประดับที่ปลายยอดของไม้คาน โดยสวมไว้ที่ปลายไม้เพื่อให้ทอประกายแวววาว เพิ่มความงามสง่าแก่ราชรถมากขึ้น

        คติการนำรูปนาคประดับตกแต่งพาหนะเช่นนี้ ยังเป็นที่นิยมของชาวภาคใต้มาจนปัจจุบัน เช่น การทำเรือพระในประเพณีลากพระซึ่งจะได้กล่าวต่อไป หรือการตกแต่งขบวนแห่เทียนพรรษา แห่กระทง เป็นต้น

นาคที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์

        ชาวภาคใต้มีความเชื่อเช่นเดียวกับชาวเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ว่า นาค หรือพญานาคเป็นผู้ให้น้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรรม เชื่อกันว่าแต่ละปีจะมีนาคให้น้ำแก่มนุษยโลกมากน้อยต่างกัน ปีใดมีจำนวนพญานาคให้น้ำมากตัวหรือน้อยตัวเกินควร ปีนั้นมักมีฝนตกน้อย เกิดความแห้งแล้ง ธัญญาหารจะเสียมากกว่าได้ เพราะถ้ามีพญานาคให้น้ำน้อยตัวย่อมให้น้ำไม่ทั่วถึง แต่ถ้ามีมากตัวเกินไป เช่น มีถึง ๗ ตัว ก็มักจะเกี่ยงกัน จนเกิดเป็นสำนวนพูด "นาคให้น้ำหลายตัวจึงเสียงาน" หมายความว่าถ้างานใดมีผู้รับผิดชอบมากเกินไปมักเสียงาน

        ประเพณีลากพระของชาวใต้ นอกจากจะลากตามความเชื่อและศรัทธาตามพุทธประวัติแล้ว ยังเชื่อกันว่าการลากพระจะช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลด้วย เพราะเมื่อการลากพระเสร็จสิ้นลงแล้ว (ลากพระในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) จะย่างเข้าฤดูฝน ชาวใต้จึงเชื่อกันว่า "พอพระหลบหลัง" (ลากพระกลับวัด) ฝนก็จะตกหนัก พร้อมที่จะปักดำกล้าได้ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการลากพระเป็นการขอฝนไปโดยปริยายและด้วยเหตุนี้เองจึงนิยมทำเรือพระเป็นรูปนาค ทั้งที่เป็นเรือพระสำหรับลากทางน้ำและทางบก

       สำเนาจดหมายจากพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา พัทลุง (เอกสารกระทรวงมหาดไทยรัชกาลที่ ๕ ม.๔๗/๑๔) กล่าวว่า พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) เห็นว่าการลากพระเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท จึงประกาศห้ามลากพระเสียดลอดเมืองสงขลา ดังนั้นเมื่อพระวิจิตรวรสาสน์ไปตรวจราชการที่สทิงพระ ประชาชนจึงมาร้องขออนุญาตที่จะลากพระดังเดิม อ้างว่าที่ทำนาไม่บริบูรณ์มาหลายปีนั้น ก็เพราะไม่ได้แห่พระ ทั้งยังอาสาจะทำถนนขึ้นสายหนึ่งสำหรับใช้ลากพระโดยเฉพาะ

        อันนี้ย่อมแสดงว่า ประเพณีนิยมการตกแต่งเรือสำหรับลากพระเป็นรูปพญานาคนั้น สืบเนื่องมาแต่ความเชื่อที่ว่าการลากพระจะทำให้พญานาคบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลด้วย

        นาคกับความร่มเย็น ชาวภาคใต้ยังเชื่อด้วยว่า นาคจะพ่นโปรยน้ำทิพย์มาชโลมได้ให้มนุษย์มีความสุขสดชื่น ชำระล้างทั้งมลทินทางกายและทางจิตใจ จึงมีประเพณีการสระหัววันว่างและการสระหัวขึ้นเบญจาให้แก่ผู้อาวุโส เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที่หรือแสดงมุทิตาต่อผู้นั้น โดยจะสร้างเบญจาสมมติแทนเขาพระสุเมรุแล้วทำเป็นหัวพญานาคพ่นโปรยน้ำลงมาอาบให้ นิยมทำเป็นรูปพญานาคต่อเชื่อมจากหัวพญานาคที่อยู่ตรงเพดานของเบญจาไปยังใต้ท้องของลำเรือที่ยกพื้นสูงเหนือระดับปากนาค และอยู่ห่างออกไปนอกปริมณฑลพอประมาณ (ยิ่งวางลำเรือไว้ห่างเท่าไร ส่วนที่ตกแต่งเป็นลำตัวของพญานาคก็จะยิ่งยาวออกและทำให้ผู้กระทำรู้สึกว่ามีศรัทธาสูงและมีความขลังมากขึ้นเท่านั้น) ผู้ที่มาร่วมพิธีทั้งหมดจะช่วยกันดักน้ำสะอาดชึ่งเจือด้วยเครื่องประทินและดอกไม้ใส่ลงในลำเรือจนถ้วนทั่วทั้งบุตรหลานและศิษยานุศิษย์ แล้วก็จะปล่อยน้ำให้ไหลโปรยออกจากปากนาค วิธีเช่นนี้ผู้ร่วมพิธีจะไม่ละลาบละล้วงแตะต้องตัวผู้อาวุโสเว้นแต่ญาติสนิทบางคนที่จะคอยปรนนิบัติลูบถูให้อย่างใกล้ชิด ต่อจากนั้นบรรดาบุตรหลานและศิษยานุศิษย์ก็จะกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนสืบไป นับว่าพญานาคได้ก่อให้ทุกคนสุขกายสุขใจกันทั่วหน้า ต่างชื่นอกชื่นใจกันไปอีกนาน

นาคกับครุฑ

        คดิเรื่องครุฑจับนาค มีปรากฏในงานประดิมากรรมและงานจิตรกรรมพื้นบ้านของภาคใต้อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับในภาคกลาง (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์)

 

นาคที่หน้าจั่วอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลา นิยมทำเป็นรูปหัวนาค และอาจมีนาคสะดุ้ง

 

 

 

นครศรีธรรมราชมหานคร นาคราชที่กล่าวถึงนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นเทพมเหสักข์ สำแดงให้เห็นว่าบริเวณนั้นเป็นภูมิดลมงคลสถาน และการที่พระมหาเถรพรหมเทพนิมิตเป็นครุฑ บ่งคติว่าครุฑมีอำนาจเหนือนาคที่เชื่อกันอย่างกว้างขวาง จนภายหลังจะพบศิลปะประเภทสถาปัตยกรรมที่นิยมทำนาคเป็นสัญลักษณ์ดังเช่นที่กล่าวไว้ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า "เมืองนั้นมีกำแพง ๓ ชั้น อ้อม ๓ วันจึงรอบ ก็มีรูปนาคราช ๗ หัว ๗ หางประกอบบนประตู" คตินี้ได้วิวัฒนาการเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมทำครุฑจับนาค นาคค่อยถอยศักดิ์ศรีเสื่อมสูญไป จนภายหลังคงเหลือแต่ครุฑ วิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมที่ตัดนาคให้เหลือแต่ครุฑนี้ พบในศิลปะแบบบายนของเขมรด้วยเช่นกัน

 

 

 

ทางขึ้นนมัสการพระใหญ่ ที่เกาะฟาน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำเป็นพญานาค ๗ เศียร

 

 

 

นาคที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น หลังคาอุโบสถ มีให้เห็นได้ทั่วไปในภาคใต้

 

 

 

ภาพเขียนรูปครุฑจับนาค ที่หน้าจั่วศาลากลางหน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

 

 

 

บันไดขึ้นเขาตังกวน อำเภอเมืองสงขลา ทำเป็นรูปพญานาค ๗ เศียร

 

 

 

แบบพิมพ์ไม้แกะสลักสำหรับพิมพ์หัวนาค เพื่อเป็นส่วนประกอบหลังคาอุโบสถและวิหาร

 

 

 

นิยมทำเรือพระเป็นรูปพญานาค

 

 

 

บันไดกุฏิวัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

 

 

 

คติความเชื่อเกี่ยวกับนาคของชาวภาคใต้จะปรากฏให้เห็นในงานศิลปะและประเพณีต่างๆ ดังเช่น ในประเพณีลากพระ

 

 

 

ไม้เท้าหัวพญานาค ฝีมือนายอำ ศรีสัมพุทธ ที่เก็บ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

 

 

 

ส่วนขยายด้ามไม้เท้า

 

 

 

การตกแต่งบ้านที่ช่องลมเป็นรูปครุฑจับนาค บ้านนายเนือบ ศรีฟ้า เลขที่ ๗๕ ตำบลลิปะ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

 

 

ด้ามมีดแกะสลักจากงาช้างเป็นรูปหัวพญานาค ที่เก็บ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

 

 

รูปหนังตะลุงทำเป็นรูปเหยียบนาค

 

 

 

รูปหนังตะลุงทำเป็นรูปเหยียบนาค

 

 

 

คันซอประดิษฐ์เป็นรูปพญานาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อเกี่ยวกับนาคของชาวภาคใต้ที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน

 

 

 

คันซอประดิษฐ์เป็นรูปพญานาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อเกี่ยวกับนาคของชาวภาคใต้ที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน

 

 

 

ประดิษฐ์คันซอเป็นรูปหัวพญานาค

 

 

 

ส่วนหนึ่งของนักเขียนกลุ่มนาคร

 

 

 

ส่วนหนึ่งของนักเขียนกลุ่มนาคร