วัดศรีเมือง


โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดเมืองหนอง

ที่ตั้ง : ถ.มีชัย ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองหนองคาย) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.885445 N, 102.7493 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดศรีเมืองตั้งอยู่ในตัวเมืองหนองคายหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ริมถนนมีชัย บริเวณตลาดท่าเสด็จ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดศรีเมืองปัจจุบันตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหนองคาย ติดกับตลาดท่าเสด็จ จึงหนาแน่นไปด้วยผู้คนและรถยนต์ที่เข้ามาจอดอยู่ภายในวัด อย่างไรก็ตาม โบราณปูชนียสถานต่างๆ ภายในวัดได้รับการเคารพบูชาและดูแลรักษาจากชาวจังหวัดหนองคายเป็นอย่างดี ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ที่เขื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านช้าง อย่างไรก็ตาม อาจมีการดูแลที่ผิดวิธี ดังที่ปรากฏสีแดงเป็นจุดๆ ที่ศิลาจารึก

อุโบสถและพิพิธภัณธ์เจดีย์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเฉพาะช่วงกลางวัน ไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดศรีเมือง, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดศรีเมืองได้รับการประกาศขึ้นะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1527 วันที่ 27 กันยายน 2479 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดศรีเมืองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหนองคายและในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หนาแน่น สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันวัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

169 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2109, พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดศรีเมืองปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ประวัติการสร้างไม่ชัดนัก แต่ตามประวัติวัดกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2100 หรือ 2120 โดยพระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง โดยสร้างขึ้น ณ บริเวณหนองน้ำตามที่ได้ทรงอธิษฐานให้จับนกเขาเผือกได้ พร้อมกับได้สร้างพระพุทธรูปยืนด้วย 1 องค์ เรียกชื่อวัดว่า “วัดเมืองหนอง” ต่อมาประมาณ พ.ศ.2450 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีเมือง” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2534

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดศรีเมือง ได้แก่ พระไชยเชษฐา เจดีย์ทรงปราสาทหรือกู่ พระพุทธรูปสัทธาธิกหรือหลวงพ่อศรีเมือง และศิลาจารึกสมัยล้านช้าง

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัดล้วนแต่อยู่ภายในอุโบสถ อุโบสถน่าจะเป็นอุโบสถใหม่ที่สร้างบนอุโบสถเดิมตามอิทธิพลจากภาคกลาง แต่ยังคงรูปแบบศิลปะพื้นถิ่นหรือศิลปะล้านช้างไว้ โดยเฉพาะสัตบริภัณฑ์ที่ประดับบนสันหลังคา อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

พระไชยเชษฐา ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทาสีทองทั้งองค์ มีแผ่นรองรับด้านหลัง พระกรสองข้างแนบลำพระองค์ ครองจีวรห่มคลุมปลายจีวรโค้ง พระหัตถ์ปรากฏรูปแบบศิลปกรรมพื้นถิ่นอิทธิพลล้านช้าง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

หลวงพ่อศรีเมือง (พระพุทธสัทธาธิกะ) ประดิษฐานเป็นประธานในอุโบสถ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัยบนฐานปัทม์ พระพักตร์เสี้ยม พระนาสิกใหญ่โด่งงุ้ม มีเส้นเชื่อมระหว่างขอบพระโอษฐ์สองข้างกับขอบพระนาสิก เม็ดพระศกเล็กรัศมีรูปเปลวแหลม ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัด นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน ฐานเป็นขาสิงห์ประกอบกับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ฉลุลายโปร่ง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

ที่ส่วนฐานด้านหน้าปรากฏจารึกอักษรธรรมอีสาน 6 บรรทัด ระบุจุลศักราช 1125 (ตรงกับ พ.ศ.2306) มีสาระสำคัญว่า พระราชมารดามหากษัตริย์ขัตติยวรกัญญาเจ้า ได้หล่อพระพุทธรูปองค์นี้ ชื่อว่า สัทธาธิก ในวัดกลางหลวงจันทบุรี พร้อมตั้งคำอธิษฐาน

จากเนื้อความทำให้เข้าใจว่าพระองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากเวียงจันทน์ (เอกสารบางฉบับระบุว่าย้ายมาเมื่อหลัง พ.ศ.2369)

เจดีย์ทรงปราสาท (กู่) หรือ กรงนกพระไชยเชษฐา อยู่ภายในอุโบสถ ด้านหลังพระพุทธรูปสัทธาธิก ลักษณะเป็นอาคารมณฑปโถงหรือเจดีย์ทรงปราสาทหรือกู่ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายใน ลักษณะก่ออิฐถือปูน อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ยอดเป็นหลังคาลาดซ้อนกันตกแต่งด้วยลายปูนปั้น โดยเฉพาะรูปนาคหรือมังกร มีซุ้มสี่ด้าน คล้ายคลึงกันกับปราสาทหรือกู่ของศิลปะล้านนามาก อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

ศิลาจารึก ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ ติดกับรั้วระเบียง ทำจากหินทราย เป็นจารึกที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดศิลาเลข อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มาไว้ที่วัดนี้นานแล้ว (วัดศิลาเลขอยู่ในเวียงคุก เมืองโบราณที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกตามแม่น้ำโขงราว 20 กิโลเมตร)

ลักษณะจารึกเป็นแผ่นหินทราย รูปทรงเสมาสูง มีจารึก 1 ด้าน (ค่อนข้างเลือนลาง) จารึกด้วยอักษรไทยน้อย 40 บรรทัด ระบุจุลศักราช 928 (ตรงกับ พ.ศ.2109) มีสาระสำคัญว่า พระไชยเชษฐาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดศรีสุพรรณอาราม และอุทิศที่ดิน ทาสโอกาสแก่วัด และสาปแช่งผู้ทำลายทานวัตถุเหล่านั้น

ขอบและด้านหลังจารึกปัจจุบันทาด้วยสีแดง ในขณะที่ด้านที่มีจารึกปรากฏร่องรอยเปรอะเปื้อนสีแดงเป็นจุดๆ

หลักเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ลักษณะเป็นเสมาหินทราย 2 ใบ ปักซ้อนกันอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกนอกรั้วระเบียงอุโบสถ หรือด้านหน้าของศิลาจารึก โดยตั้งอยู่ภายในศาลขนาดเล็กที่เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ไม่ทราบที่มาแน่ชัด

หลักเมืองหรือเสมาด้านหน้ามีขนาดเล็ก ความสูง (เฉพาะที่โผล่พ้นพื้นศาล) ประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนหลักเมืองหรือเสมาด้านหลัง มี่ความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ปัจจุบันมีการทาเสมาทั้ง 2 ใบด้วยสีแดง พร้อมทั้งมีเครื่องเซ่นต่างๆ วางอยู่โดยรอบและบนหลักเมือง

นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เจดีย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต)” อดีตพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง ภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง รูปปั้น ชีวประวัติ อัฐบริขาร และข้าวของเครื่องใช้ของพระธรรมโลกาจารย์ รวมทั้งยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของท่าน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดศรีเมือง หนองคาย.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/460

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จารึกที่เกี่ยวข้อง

     - จารึกวัดศรีเมือง

     - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีเมือง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี