ก.สุรางคนางค์
ก.สุรางคนางค์ เป็นนามปากกาของนางกัณหา เคียงศิริ นักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของไทย เกิดเมื่อ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา ที่คลองบางกอกใหญ่ ใกล้คานเรือเถ้าแก่เก้ง ปากคลอง นางลำเจียก จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันเป็นเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร) เป็นธิดาคนโตของขุนตำรวจโทพระสุริยภักดี (บุญช่วย วรรธนะภัฏ) ข้าราชการในราชสำนัก ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย กับนางสุริยภักดี (หวั่น) มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๒ คน เป็นชายชื่อ ชาลี และเป็นหญิงชื่อ ดารา (ถึงแก่กรรมแล้ว) ก.สุรางคนางค์ มีชื่อเดิมว่า ชื้น ต่อมาเมื่อ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้เด็กหญิงชื้นใหม่ว่า "กัณหา" พร้อมทั้งพระราชทานพรว่า "ขอจงมีความสุขสวัสดิ์เจริญ เทอญ"
ก.สุรางคนางค์ เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพร้อมมูลวิทยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงหยุดการเรียนไปประมาณเกือบ ๓ ปี ออกไปอยู่ที่วังหม่อมเจ้าอมรทัตที่ตำบลบางซื่อ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๔๗๒ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรัง ซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินีบน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากจบการศึกษา ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๘ ก.สุรางคนางค์ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนสตรีจุลนาค และโรงเรียนราชินีล่าง (ปากคลองตลาด) ก.สุรางคนางค์เคยอยู่ในวังสวนสุนันทา และเคยถวายพระอักษรพิเศษสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สมัยทรงพระเยาว์ ขณะเสด็จประทับแรม ณ พระตำหนักชายทะเลหัวหิน
ก.สุรางคนางค์ แต่งงานกับนายป่วน บูรณศิลปิน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปกรณ์ บูรณปกรณ์ หรือ ป.บูรณปกรณ์) นักเขียน นักแปล และนักหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ มีบุตรธิดา ๒ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ นุปกรณ์ คนที่สองเป็นชายชื่อ กิติปกรณ์ หลังจากนายปกรณ์ บูรณปกรณ์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ อีก ๒ - ๓ ปีต่อมา นางกัณหาจึงได้แต่งงานอีกครั้งกับนายเล็ก เคียงศิริ ซึ่งต่อมาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันกว่า ๓๐ ปี โดยไม่มีทายาท
ความใฝ่ใจที่จะเป็นนักเขียนของ ก.สุรางคนางค์ นั้น เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านมาก่อนตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากอ่านงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ และ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่างๆ จากหนังสือที่บิดาสะสม ไว้แล้ว ก.สุรางคนางค์ยังได้เช่าหนังสือตามร้านมาอ่านอีกด้วย เป็นต้นว่า งานเขียนของ ป.บูรณศิลปิน และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ส่วนหนังสือที่แปลจากภาษาต่างประเทศนั้น ก.สุรางคนางค์ชอบอ่านงานของชาร์ลส์ การ์วีซ (Charles Garvice) มากเป็นพิเศษ
ก.สุรางคนางค์ เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ชื่อ มาลินี ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ โดยได้รับความบันดาลใจจากหนังสือ คำประพันธ์บางเรื่อง ของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) จึงได้นำ ชื่อโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาผูกเป็นเรื่องให้เพื่อนๆ ในห้องเรียนอ่าน พี่ชายของเพื่อนคนหนึ่งสนับสนุนให้ส่งลงหนังสือโดยทางไปรษณีย์ ใช้นามปากกาว่า "ก.สุรางคนางค์" ซึ่งเป็นนามปากกาที่ได้มาจากอักษรย่อตัวแรกของนามจริง และชื่อกาพย์ที่ชอบแต่ง เรื่องสั้น มาลินี ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ จากนั้นก็เขียนเรื่องสั้นอีกประมาณ ๑๐ เรื่อง เป็นต้นว่า ชะรอยกรรม มารดา และ สุดสวาท ก่อนที่จะเขียนนวนิยายเรื่องแรกชื่อ ลูกรักลูกชัง ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ และนวนิยายเรื่อง กรองกาญจน์ ในปีต่อมา ก.สุรางคนางค์ได้รับการสนับสนุนในด้านงานเขียนจากสามี คือ ป.บูรณปกรณ์ หลังจากแต่งงานจึงได้ลาออกจากการเป็นครูและตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้น นับเป็นนักเขียนหญิงคนแรกของไทยที่ยึดการประพันธ์เป็นงานอาชีพ
พ.ศ. ๒๔๘๐ ก.สุรางคนางค์เขียนนวนิยายเรื่อง หญิงคนชั่ว ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงวรรณกรรมยุคนั้น บางคนเข้าใจว่าเป็นหนังสือ "โป๊" และหลายคนไม่เชื่อว่า ก.สุรางคนางค์เขียนเอง เพราะเป็นเรื่องราวของหญิงโสเภณี ไม่สมควรที่ผู้หญิงสาววัย ๒๕ ปี และเคยเป็นครูจะมาเขียนเรื่องทำนองนี้ แม้แต่สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ไม่รับพิมพ์ให้ด้วยเกรงว่าอาจจะขายไม่ได้ ก.สุรางคนางค์ จึงตัดสินใจจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายด้วยตนเอง ต่อมาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนบทความวิจารณ์ว่าเรื่อง หญิงคนชั่ว เป็นหนังสืออ่านเล่นที่ดีและเป็นประโยชน์ ทำให้เรื่อง หญิงคนชั่ว กลายเป็นนวนิยายขายดีจนต้องพิมพ์สองครั้งในปีเดียวกัน และได้สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้แก่ ก.สุรางคนางค์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ก.สุรางคนางค์สร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับความยากลำบากในเส้นทางแห่งการประพันธ์และรู้ซึ้งถึงความเป็น "นักประพันธ์ไส้แท้ง" เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่คิดย่อท้อและล้มเลิกความคิดที่จะเป็นนักเขียนอาชีพ แม้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘) ต้องอพยพไปอยู่ต่างจังหวัด ก.สุรางคนางค์ก็ยังคงเขียนหนังสือ เช่น เรื่อง พันทิพา และ เทพราช เป็นต้น ช่วงหลังจากสงครามสงบแล้ว ก.สุรางคนางค์ เขียนเรื่อง ชั่วชีวิตหนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๘๙) และ ค่าของชีวิตสาว (พ.ศ. ๒๔๙๒) ซึ่งได้รับคำท้วงติงว่าจืดชีดเกินไป ทำให้ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งเคยเขียนนวนิยายเสนอแง่คิดในลักษณะสมจริง (Realistic) เปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่องทำนองพาฝัน (Romantic) เพื่อตลาดหนังสือ เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ก.สุรางคนางค์มากที่สุด คือ บ้านทรายทอง (พ.ศ. ๒๔๙๓) ผู้อ่านติดใจมากจนกระทั่งสาววัยรุ่นในยุคนั้น พากันแต่งกายเลียนแบบพจมานนางเอกของเรื่อง
ปลาย พ.ศ. ๒๔๙๕ ก.สุรางคนางค์ได้รับความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงจากมรณกรรมของ ป.บูรณปกรณ์ กล่าวกันว่า ป.บูรณปกรณ์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานของ ก.สุรางคนางค์ ในฐานะคู่คิด นักวิจารณ์งาน ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชิ้นสำคัญหลายเรื่อง เพื่อเป็นการระลึกถึงสามี ก.สุรางคนางค์ จึงเขียนเรื่อง ดอกฟ้า (พ.ศ. ๒๔๙๖) โดมผู้จองหอง (พ.ศ. ๒๔๙๗) และ กุหลาบแดง (พ.ศ. ๒๔๙๘) โดยเฉพาะเรื่อง กุหลาบแดง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักระหว่าง ก.สุรางคนางค์ และ ป.บูรณปกรณ์นั้น เป็นผลงานที่ ก.สุรางคนางค์ กล่าวไว้ว่า รักเรื่องนี้มากที่สุด
ในฐานะนักเขียน ก.สุรางคนางค์ เชื่อว่าผู้อ่านเป็นผู้ให้กำลังใจและมีอุปการคุณแก่นักเขียน การยอมรับและทัศนคติที่ดีจากผู้อ่านเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของนักเขียน และทำให้ ก.สุรางคนางค์ ได้ก้าวขึ้น มายืนอยู่ ณ จุดที่สูงสุดของความเป็นนักเขียน กล่าวคือ มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างแพร่หลายในยุคนั้น แต่เกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่ ก.สุรางคนางค์ ได้รับจากผู้อ่านก็เกือบจะทำให้ ก.สุรางคนางค์ เกิดความท้อถอยที่จะเป็นนักประพันธ์ ในช่วงชีวิตหนึ่งที่ ก.สุรางคนางค์ ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับนายเล็ก เคียงศิริ และเปลี่ยนมาใช้นามสกุล เคียงศิริ ตามกฎหมาย การแต่งงานครั้งนี้มีผู้อ่านไม่เห็นด้วยที่ ก.สุรางคนางค์ ไม่สามารถรักษามาตรฐานของความรักและการครองเรือนให้สมตามความต้องการของผู้อ่านได้ จนทำให้ ก.สุรางคนางค์เกือบจะเบี่ยงเบนชีวิตออกจากการเป็นนักประพันธ์ อย่างไรก็ตามด้วยใจรักที่จะเป็นนักเขียน ก.สุรางคนางค์หยุดงานเขียนเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก็กลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้วางปากกาเนื่องจากวัยและสุขภาพไม่อำนวย เมื่ออายุเกือบ ๗๐ ปี รวมเวลาที่ ก.สุรางคนางค์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อความสุขแก่ผู้อ่าน นานถึง ๕๐ ปี โดยมีผลงานประพันธ์ทั้งหมดเป็น นวนิยายจำนวนประมาณ ๔๕ เรื่อง เรื่องสั้นประมาณ ๑๐๐ เรื่อง และข้อเขียนเบ็ดเตล็ดต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผลงานประพันธ์ที่พิมพ์รวมเล่มจัดเรียงตามลำดับอักษรมีดังต่อไปนี้
๑. กรองกาญจน์ (พ.ศ. ๒๔๗๙)
๒. กุหลาบแดง (พ.ศ. ๒๔๙๘)
๓. เกิดมาชั่ว (ชุดเรื่องสั้น)
๔. เขมรินทร์-อินทิรา
๕. คนรักของข้าพเจ้า (พ.ศ. ๒๔๙๘) (ชุดเรื่องสั้น)
๖. ความคิดคำนึง (พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๓)
๗. ความสุขครั้งสุดท้าย
๘. ค่าของชีวิตสาว (พ.ศ. ๒๔๙๒)
๙. ค่าทางใจ
๑๐. คุณครูอินทิรา (พ.ศ. ๒๕๐๔)
๑๑. คุณหญิงพวงแข
๑๒. คู่ครอง (พ.ศ. ๒๔๘๓)
๑๓. จอมเทียน
๑๔. จุดหมายปลายทาง
๑๕. ชั่วชีวิตหนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๘๙)
๑๖. ชุมทางรัก (พ.ศ. ๒๕๐๗)
๑๗. ดอกฟ้า (พ.ศ. ๒๔๙๖) (สร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๙๙)
๑๘. ดาวประดับเกียรติ ชุด ๑ - ๑๑ (ชุดเรื่องสั้น)
๑๙. โดมผู้จองหอง (พ.ศ. ๒๔๙๗)
๒๐. ถ่านไฟเก่า
๒๑. ทางสายเปลี่ยว (พ.ศ. ๒๔๙๔) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ๒ ครั้ง)
๒๒. เทพราช (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘)
๒๓. ธารโศก
๒๔. นี้แหละรัก (พ.ศ. ๒๕๐๒)
๒๕. บ้านทรายทอง (พ.ศ. ๒๔๙๓) (สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๙)
๒๖. บ้านและการสมรส
๒๗. ปราสาททราย (พ.ศ. ๒๕๐๐)
๒๘. ปราสาทรัก (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕)
๒๙. ปลายเนิน (ชุดเรื่องสั้น)
๓๐. ปัทมา วรารักษ์ (พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๒๕๐๐)
๓๑. ปิ่นไพร (พ.ศ. ๒๔๙๙)
๓๒. พจมาน สว่างวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๙๓)
๓๓. พวงร้อย (ชุดเรื่องสั้น)
๓๔. พันทิพา
๓๕. เพื่อนบ้าน
๓๖. ภายใต้ดวงดาว
๓๗. ภูชิชย์-นริศรา (พ.ศ. ๒๕๑๑)
๓๘. ยอดปรารถนา (ชุดเรื่องสั้น)
๓๙. รอยจารึก
๔๐. รักประกาศิต (พ.ศ. ๒๕๐๙)
๔๑. รักอันสุนทร
๔๒. ราชาวดีสีม่วง
๔๓. รุ่งอรุณ (พ.ศ. ๒๔๙๖)
๔๔. เรวดี (พ.ศ. ๒๔๘๔)
๔๕. แรงอธิษฐาน
๔๖. ลูกรักลูกชัง (พ.ศ. ๒๔๗๘)
๔๗. วสันต์พิศวาส
๔๘. สองข้างทาง
๔๙. สะใภ้ท่านข้าหลวง
๕๐. สุภาพบุรุษชาวดิน (พ.ศ. ๒๕๐๕)
๕๑. หญิงคนชั่ว (พ.ศ. ๒๔๘๐) (สร้างเป็นภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๙๘)
๕๒. หมอภัคพงศ์ (พ.ศ. ๒๕๑๔)
อาจกล่าวได้ว่า ก.สุรางคนางค์ เป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ระดับแถวหน้าในยุครุ่งอรุณของวรรณกรรมไทย มีผู้กล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า นักเขียนที่เป็นกระดูกสันหลัง หรือ Backbone ของนวนิยายไทย มี ๓ ท่าน กล่าวคือ ศรีบูรพา เป็นผู้บุกเบิกนวนิยายการเมืองและสังคม ดอกไม้สด เป็นผู้ก่อกำเนิดนวนิยายชีวิตครอบครัว (Domestic Novel) และ ก.สุรางคนางค์ เป็นผู้นำทาง ด้านนวนิยาย Romance
ผลงานประพันธ์ที่โดดเด่นของ ก.สุรางคนางค์ ได้แก่ นวนิยาย มีผู้ศึกษาและแบ่งกลุ่มนวนิยายเหล่านี้เป็น ๓ กลุ่ม กล่าวคือ นวนิยายเสนอข้อคิด นวนิยายชีวิตครอบครัว และนวนิยายรักพาฝัน นวนิยายหลายเรื่องของ ก.สุรางคนางค์ ยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างแพร่หลาย เช่น บ้านทรายทอง พจมาน สว่างวงศ์ ดอกฟ้า โดมผู้จองหอง เขมรินทร์-อินทิรา และ หญิงคนชั่ว ซึ่งได้รับการดีพิมพ์ซ้ำและผลิตซ้ำโดยการแปรรูปเป็นละครเวที ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์หลายครั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
นวนิยายของ ก.สุรางคนางค์สะท้อนถึงความคิดและทัศนคติของผู้คนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างค่านิยมเดิมกับค่านิยมใหม่ของสังคมที่กำลังพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย นอกจากคุณค่าในฐานะเป็นวรรณกรรมที่ให้ภาพสะท้อนสังคมในช่วงนั้นๆ อันสำคัญยิ่งแล้ว ผลงานของ ก.สุรางคนางค์ ยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนสตรี และผู้อ่านโดยทั่วไปสืบมาถึงปัจจุบัน ในด้านเนื้อหาผลงานของ ก.สุรางคนางค์ แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมในครอบครัว การดำเนินชีวิตอย่างดีงามและยึดมั่นในศีลธรรมจรรยา รวมทั้งแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของหญิงสาว ซึ่งเป็นแบบอย่างกุลสตรีไทยที่สังคมปัจจุบันยังต้องการ ในด้านกลวิธีการประพันธ์ ผลงานของ ก.สุรางคนางค์ มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ เป็นแบบอย่างของการใช้ภาษาไทยที่ดี มีศิลปะในการสร้างเรื่องและตัวละครได้อย่างน่าประทับใจ มีชีวิตชีวา ชวนให้ติดตาม นอกจากอรรถรสทางด้านความบันเทิงเริงรมย์แล้ว ผู้อ่านยังได้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์อีกด้วย งานเขียนของ ก.สุรางคนางค์จึงเป็นวรรณกรรมอมตะที่ทรงคุณค่าตลอดกาล
ก.สุรางคนางค์เป็นแบบอย่างของนักเขียนที่มีความรักและมุ่งมั่นในอาชีพการประพันธ์ ประกอบกับความกล้าหาญ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ จึงทำให้ ก.สุรางคนางค์ ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในบรรณพิภพ ก.สุรางคนางค์ ปรารถนาที่จะเขียนหนังสือให้คนอ่านได้ทุกเพศทุกวัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และให้อภัยซึ่ง กันและกัน นอกจากงานเขียนหนังสือ ก.สุรางคนางค์ ยังเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันเมืองทอง เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์วรรธนะศิลป์ สำนักพิมพ์รสมาลิน และสำนักงานนายศิลป์ซึ่งจำหน่ายหนังสือต่างประเทศ ตลอดจนเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์นารีนาถ (ยุคหลัง) นอกจากนามปากกา "ก.สุรางคนางค์" ที่ใช้เขียนนวนิยายและเรื่องสั้นแล้ว ยังมีนามปากกา อื่นๆ อีก ได้แก่ "รสมาลิน" ใช้เขียนคอลัมน์ต่างๆ ใน นิตยสาร เช่น คอลัมน์สองข้างทาง คอลัมน์บ้านและการสมรส คอลัมน์มิสเตอร์และมิสซิส เป็นต้น "นคร สุรพันธ์" ใช้เขียนสารคดี "พี่เล็ก" ใช้ตอบปัญหาชีวิต ในคอลัมน์ "ถามพี่เล็ก" "มลฤดี" ใช้เขียนคอลัมน์ตอบปัญหาประจำนิตยสารสกุลไทย ("มลฤดี" เป็นนามปากกาประจำคอลัมน์) และ "กัณหา บูรณปกรณ์" ใช้เขียนบทความทางวิทยุกระจายเสียงในฐานะกรรมการสภาวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ก.สุรางคนางค์ ยังได้อุทิศตนให้แก่ สังคมในด้านอื่นๆ อีก เช่น เป็นกรรมการสาขาความ ประพฤติ และสาขานิติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่ปรึกษาสมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์ช้างเผือก และเบญจมาภรณ์ มงกุฎไทย ชั้น ๔ จัตุรถาภรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ พ.ศ. ๒๔๙๗ และ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามลำดับ
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ก.สุรางคนางค์ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช ๒๕๒๙ นับว่าเป็นนักเขียนสตรีคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
ก.สุรางคนางค์ ป่วยด้วยโรคอัมพาตนานถึง ๑๒ ปี จนถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ขณะที่มีอายุได้ ๘๙ ปี
รายการอ้างอิง
ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๒. (ครอบครัว ก.สุรางคนางค์ จัดพิมพ์เผยแพร่ใน งานพระราชทานเพลิงศพ นางกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ วันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง)
บุญศิริ ภิญญาธินันท์. การศึกษาเชิงวิเคราะห์นวนิยายของ ก. สุรางคนางค์. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๗.
ก.สุรางคนางค์ ในช่วงที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
นางกัณหา เคียงศิริ
นางกัณหา เคียงศิริ รับพระราชทานรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พ.ศ.๒๕๒๙