อิ่ม จิตต์ภักดี : ศิลปินแห่งชาติ
อิ่ม จิตต์ภักดี หรือที่รู้จกกันในนาม "หนังอิ่มเท่ง"เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่งของจังหวัดสงขลาเป็นบุตรนายฉิม นางพรัด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ที่บ้านคลองช้างดำบลบางเหรียง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดบางทีง ตำบลบางเหรียง แล้วออกไปช่วยพ่อแม่ทำนา ช่วงนี้ชอบหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจแต่ก็ไม่ได้หัด จนอายุ ๑๘ ปี ได้บวชเรียน ๒ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี แล้วลาสิกขาออกมาอยู่บ้าน จิตใจที่เคยหลงใหลหนังตะลุงมาแต่เดิมก็แปรเปลี่ยนเป็นเฉยชา อายุ ๒๗ ปีแต่งงานกับนางสาวเนี่ยว หลังจากแต่งงานแล้วเกิดนึกชอบหนังตะลุงขึ้นมาอีก รุ่งขึ้นอีกปีจึงได้ปลูกโรงหัดหนังขึ้นในบ้านโดยไม่มีครู อาศัยประสบการณ์ที่เคยดูหนังมามาก ตลอดจนวัยและความนึกคิดที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จึงทำให้หัดได้รวดเร็ว
หลังจากหัดหนังไม่นาน หนังอิ่มก็ออกโรงและได้รับความนิยมตามสมควร เพื่อความเป็นหนังโดยสมบูรณ์ตามประเพณีจึงไปให้หนังหม้ง บ้านชะรัด กิ่งอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ครอบครูยื่นรูปให้ จากนั้นก็ออกโรงแข่งจนมีชื่อเสียงเป็นหนังชั้นแนวหน้าคนหนึ่ง เนื่องจากหนังอิ่มใช้รูปอ้ายเท่งเป็นตัวตลกเอกโดยเน้นให้เป็นตัววิพากษ์วิจารณ์สังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การบ้านการเมือง ทำให้อ้ายเท่งเป็นตัวชูโรงจนเป็นสัญลักษณ์ของหนังคณะนี้เลยทีเดียว หนังอิ่มจึงได้สร้อยว่า "เท่ง" ผู้คนจึงเรียกว่า "หนังอิ่มเท่ง" จนติดปากหนังอิ่มเท่งแข่งขันกับหนังดีมีชื่อเสียงมาแทบทุกคณะเป็นต้นว่าหนังปรีชา สงวนศิลป์ หนังเคล้าน้อย หนังเดี๋ยม หนังจู่เลี่ยมหนังประทิน หนังพร้อมน้อย เป็นต้น ส่วนโนราที่เป็นคู่แข่งสำคัญคือ โนราเดิม-วินวาด หนังอิ่มเท่งแข่งขันมากและเที่ยวแข่งขันไปทั่วภาคใต้จนรู้สึกว่าระยะหลังการแข่งขันเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไรตื่นเต้น
หนังอิ่มเท่งเป็นหนังที่ยังคงแบบฉบับของหนังตะลุงรุ่นเก่าไว้มากพอควร นิยายที่นำมาแสดงจะเป็นแบบจักรๆ วงศ์ๆต้องมียักษ์ เทวดา นรก สวรรค์ อำนาจวิเศษ เป็นเรื่องลึกลับตามสำนวนของหนังตะลุงที่ว่า "เหาะได้ ตายชบ" ทั้งสิ้นดนตรีและทำนองการบรรเลงก็ยังรักษาของเก่า สิ่งที่เด่นจนเป็นเอกลักษณ์ของหนังอิ่มเท่งคือ ทุกเรื่องที่แสดงต้องสอดแทรกคติธรรมสอนคนให้เห็นผิดชอบชั่วดี แต่ท่วงทำนองการสอนจะอิ่ม จิตต์ภักดีใช้วิธีวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีตัวตลกเอกคืออ้ายเท่ง เป็นสื่อดังกล่าวแล้ว สำหรับบทกลอนหนังอิ่มเท่งใช้กลอนด้นแทบทั้งสิ้นกลอนจึงไม่สู้จะคมคายนัก แต่ก็ชอบที่จะใช้กลอนต้นเพราะเห็นว่าเป็นนิยายเรื่องเดียวกันถ้าเล่นกลอนด้นและไม่แต่งบทใดๆไว้ก่อน ผู้ชมแม้จะชมซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่มีวันเบื่อ แต่ถ้าแต่งไว้แล้วเล่นตามบท ผู้ชมคนหนึ่งจะดูเรื่องนั้นได้ไม่เกิน ๒ ครั้งเพราะไม่มีอะไรใหม่ อนึ่ง การเล่นตามบทซึ่งชาวภาคใต้เรียกว่า"คำเรียน" นั้น ในวงการศิลปินพื้นบ้านถือกันว่าเป็นเรื่องสำหรับศิลปินแรกหัดเท่านั้น
หนังอิ่มเท่งเป็นคนใฝ่ใจหาความรู้ โดยเฉพาะด้านธรรมะและการเมือง แต่ในขณะที่ไม่เล่นหนังจะเป็นคนไม่อวดตนและประเมินตัวเองอยู่เสมอ เคยมีผู้มาติดต่อให้ไปแสดงหนังที่สหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธ มีผู้มาเชิญไปแสดงหนังหน้าพระที่นั่งเพื่อถวายการทอดพระเนตร ก็แนะนำว่าควรจะเชิญหนังฉิ้น(หนังอรรถโฆษิต) หรือไม่ก็หนังกั้น จะดีกว่า เหมาะกว่า ไม่ฉุกฉวยโอกาสเพื่อตนเอง แต่จะนึกถึงงานและความเหมาะสมเป็นเบื้องต้น
อิ่ม จิตต์ภักดี ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
สำหรับการสืบทอดวิชาหนังตะลุงให้แก่ศิษย์ อิ่ม จิตต์ภักดี มีศิษย์หลายคน แต่ที่พอจะเป็นที่รู้จักกันอยู่บ้างมีเพียง๒ คน คือ หนังครูเติมกับหนังโสภณน้อย
อิ่ม จิตต์ภักดี มีบุตรสืบตระกูล ๘ คน แต่ไม่มีบุตรคนใดที่สืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงเอาไว้ ปัจจุบันแม้อิ่ม จิตต์ภักดี ถึงจะอยู่ในวัยชราแต่ก็ยังรับงานแสดงเรื่อยๆ ว่างจากการแสดงก็ทำการเกษตรโดยพักอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๔๕๒/๓ตลาดรัตภูมิ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา (อุดม หนูทอง)