ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

กก : พืช

ภาค : ใต้

กก : พืช

          กก เป็นชื่อพรรณไม้เกิดในน้ำหรือที่ชุ่มแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินที่มีความเค็มปนเล็กน้อย แต่ไม่ขึ้นในน้ำเค็ม ที่พบมากในภาคใต้ คือ (๑) กกสานเสื่อ บางถิ่นเรียกว่า แจด บางถิ่นเรียกว่า หญ้าหัวโม่ง บางถิ่นเรียกว่า กกดอกขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus brevifolius Hassk. ลักษณะ ลำต้นกลม (๒) กกปรือ หรือ กกสามเหลี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirpus grossus Linn. ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม กกทั้ง ๒ ชนิดนี้ อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE

          กกสานเสื่อภาคใต้นิยมใช้สานเสื่อ หรือกระสอบ โดยเลือกถอนหรือตัดเอาต้นหนุ่มๆ (ไม่แก่เกินไป) ซึ่งมีอายุราว ๓-๕ เดือน ก่อนที่จะออกดอก (ถ้าเกินจากนั้นต้นจะแก่ กรอบหักง่าย) มาทั้งต้น ดัดโคนและปลายทิ้ง ตากแดดประมาณ ๑-๒ วัน แล้วใช้สากตำให้แบนก่อนสาน การสานทำในลักษณะเดียวกับกระจูด แต่คุณภาพด้อยกว่ากระจูด

          กกสามเหลี่ยมจะเลือกถอนเฉพาะต้นหนุ่มๆ เช่นกัน นำมาตัดโคนและปลายทิ้ง แล้วตากแดด แล้วจึงนำมาผ่าเอาไส้ทิ้ง ต้นหนึ่งๆ ผ่าได้ ๓ เส้น ใช้สานเสื่อหรือกระสอบ

          สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระสอบป่านขาดแคลน จึงต้องหันมาใช้กระสอบกกแทนกระสอบป่าน ผู้รับซื้อต้องการให้ได้ขนาดเดียวกัน จึงทำไม้วัดขึ้นให้มีความยาว ๙๐ เซนติเมตร เพื่อทาบวัดขนาดของกระสอบที่จะซื้อ ใครสานความกว้าง ไม่ได้ขนาดจะไม่ยอมรับซื้อ ชาวบ้านจึงเรียกกระสอบดังกล่าวว่า "สอบหนาด" (หนาด คือ ขนาด) "สอบหนาด" ในช่วงนั้นขายดีมาก พวกที่สามารถหาต้นกกได้สะดวกจึงนิยมสานสอบหนาดขายกันอย่างแพร่หลาย กระสอบเหล่านี้นำไปใช้ใส่ข้าวเปลือกและใส่ของอื่นๆ แทนกระสอบป่าน แต่ความเหนียวน้อยกว่า ดังนั้นถ้าใส่ของเต็มจะขาดง่ายต้องใช้วิธียก ๒ คน จึงต้องทำส่วนที่เม้มประกบริมให้มีปลายตอกเหลือค้างไว้สำหรับจับยก

          ประโยชน์ของกระสอบกกอีกอย่างหนึ่ง คือใช้ใส่น้ำแข็งจากโรงน้ำแข็งส่งลูกค้า กระสอบใบหนึ่งใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่ได้ ๑ ก้อนเต็มพอหลวมๆ แล้วใช้แกลบหรือขี้เลื่อยอัดล้อมรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งละลาย โดยวิธีนี้สามารถรักษาน้ำแข็งไว้ได้นานถึง ๑๕-๒๐ ชั่วโมง โรงน้ำแข็งจึงเป็นแหล่งรับซื้อ กระสอบกกที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง

          ชาวทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง นิยมใช้กระสอบกกใส่กะปิที่ทำจากปลา และชาวนาเกลือ จังหวัดปัตตานี นิยมใช้กระสอบกกใส่เกลือ