ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

ก ข้อ ก กา สุภาษิต

ภาค : ใต้

ก ข้อ ก กา สุภาษิต

          ก ข้อ ก กา สุภาษิต เป็นวรรณกรรมคำสอนที่มีแนวเสนอเนื้อหาแปลก คือนำพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว มาเขียนเป็นสุภาษิตสอนใจ เรื่องนี้จารไว้ในบุดขาว แต่งโดยนายพันธุ์ สถิตสมบูรณ์ บ้านเลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แต่งด้วยกลอนสุภาพ

          ผู้แต่งเรื่องนี้ ทราบประวัติสั้นๆ เพียงว่า เป็นชาวตำบลวัดขนุน เกิดเมื่อวันที่ ๖ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๒

          เข้ารับราชการครู เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และได้แต่งเรื่องนี้หลังจากเข้ารับราชการครูแล้ว

          ในการแต่งเรื่องนี้ ผู้แต่งเริ่มเรื่องด้วยบทนมัสการ พระรัตนตรัยไหว้สุนทรภู่ครูกวี ขออำนาจให้มาช่วยดลใจในการแต่งกลอน แล้วจึงดำเนินเรื่องดังสรุปสาระมาแต่ต้น ตอนจบ บอกเจตนาในการแต่งว่าเพื่อสอนใจ และกล่าวถ่อมตนว่าพื้นความรู้ต่ำ

          เนื้อหาของเรื่อง ก ข้อ ก กา สุภาษิต เป็นคติสอนใจ สรุปสาระคำสอนได้ ๑๘ ประการ คือ

          ๑. การมองคน ควรมองคุณสมบัติ อย่ามองแต่รูปภายนอก

          ๒. อนุสรณ์ของคนเราหลังจากที่ตายแล้ว คือความดีและความชั่ว

          ๓. ศิษย์พึงเชื่อฟังครู

          ๔. พึงหลีกให้ไกลจากคนพาล

          ๕. บุคคลที่รักเราจริงคือบิดามารดา

          ๖. จงเป็นคนมีสติหนักแน่น ไม่หูเบา

          ๗. บรรพชิตควรละเว้นจากตัณหา

          ๘. ควรคิดให้รอบคอบก่อนพูด

          ๙. ความสามัคคีของหมู่คณะนำมาซึ่งความสำเร็จ

          ๑๐. ชีวิตครองเรือนจะเป็นสุขได้ ต่างฝ่ายต้องเข้าใจกัน

          ๑๑. อย่าคบคนหน้าไหว้หลังหลอก

          ๑๒. เสือเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ไม่ร้ายเท่าคนใจเสือ

          ๑๓. ความรู้เป็นอาภรณ์สำหรับบุรุษ ส่วนความงามเป็นอาภรณ์สำหรับสตรี

          ๑๔. ลูกเมียและทรัพย์สมบัติ เป็นบ่วงล่ามใจคน

          ๑๕. ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างแก่ผู้น้อย

          ๑๖. ภรรยาที่ดีต้องรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ที่สามีหามาได้

          ๑๗. ทหารเป็นรั้วของชาติ จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร

          ๑๘. ไม่มีใครเตือนตนได้ดีเท่ากับเตือนตนเอง


ตัวอย่างคำสอนบางตอน

          สอนให้ทำความดี

                    ค.ควายตายแล้วเนื้อเถือกินได้

                    หนังและเขาเอาไว้ใช้หลักฐาน

                    แต่คนตายไว้ชื่อเลื่องลือนาน

                    คือหลักฐานชั่วดีที่ทำไว้

          สอนให้หลีกเลี่ยงคนพาล

                    ง.งูรู้ว่ามีพิษที่เขียว

                    เราหลีกเลี้ยวเสียได้อ้ายมะเส็ง

                    แต่หลีกพาลหลีกยากมักมากเพลง

                    ควรกริ่งเกรงหลีกให้ไกลหูตา

          สอนให้กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

                    บ.ใบไม้ได้นั่งบังแดดฝน

                    พำนักตนได้บ้างบางสมัย

                    เหมือนคนมีคุณได้อุ่นใจ

                    ควรอาลัยคิดถึงคุณบูชา

        จากการพิจารณาเรื่องนี้โดยส่วนรวม จะเห็นว่าผู้แต่งมีแนวคิดที่เป็นประโยชน์และอยู่ในกรอบซึ่งสังคมกำหนด วรรณกรรมนี้จึงช่วยเสริมย้ำความดีงามซึ่งสังคมยอมรับแล้วว่าเป็นสิ่งพึงปฏิบัติ และควรสืบทอดต่อไป แต่กลวิธีแต่งนอกจากเอาพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว มาแต่งเป็นคติคำสอนแล้วก็ไม่มีอะไรเด่นพิเศษ ศิลปะเชิงกลอนก็ยังเป็นอย่างสามัญเท่านั้น