กก
คำว่า กก ในภาษาล้านนามีหลายความหมาย ได้แก่
กก เป็นคำกริยา หมายถึง การสับ, บั่น, ฟัน เช่น กกชิ้น (อ่าน กกจิ๊น) คือการสับเนื้อเป็นชิ้นๆ กกเกิ่ง คือการตัดครึ่ง กกฅอ คือบั่นคอหรือตัดคอ เป็นต้น
กก หมายถึง ต้น หรือ โคน อย่างโคนต้นไม้ เรียก กกไม้ เรียกบุตรชายคนโตว่า อ้ายกก คู่กับเรียกบุตรหญิงคนโตว่า เอื้อยกก หรือ เอิ้ยกก
กก เป็นพืชหลายชนิดในวงศ์ CYPERACEAE ชอบขึ้นที่ชื้นแฉะ ลำต้นกลมหรือสามเหลี่ยม ลำต้นใช้ในงานหัตถกรรมได้ เช่น สานเสื่อ เป็นต้น ชนิดของกก เช่น กกเล็ก (Cyperus pulcherrimus Willd.ex Kunth) ลำต้นสามเหลี่ยม สูง ๒๐-๓๐ เซนติเมตร กกดอกขาว (Cyperus brevifolius (Rottb.) Hassk.) ลำต้นกลมสูง ๑๕-๒๐ เซนติเมตร กกรังกา (Cyperus flabelliformis Rottb.) ลำต้นสามเหลี่ยม สูง ๑.๐-๑.๕ เมตร กกสามเหลี่ยมใหญ่ (Scirpus grossus Linn.) ลำต้นสามเหลี่ยมสูง ๑-๒ เมตร เป็นต้น
ทางล้านนาเรียก "ต้นกก" ว่า หย้าสะลาบ ที่รู้จักกัน ทั่วไปมี ๒ ชนิด คือ หย้าสะลาบน้อย คือ กกกลม (scirpus mucronatus Linn.) หรือบ้างก็เรียกว่า สาด และอีกชนิด คือ หย้าสะลาบหลวง คือ กกช้าง หรือต้นธูปฤๅษี (Typha angustifolia Linn.)
กก (บางท้องที่ว่า นกเยือก) คือนกเงือกชนิดหนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buceros bicornis ชื่อสามัญว่า Great Hornbill ในวงศ์ BUCEROTIAE เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในจำพวกนกเงือกของไทย ปากใหญ่และหนา สีเหลือง ตอนเหนือโคนปากขึ้นไปโหนกมีลักษณะแข็งคล้ายปาก ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยม สีเหลือง ส่วนหน้าและหลังสีดำ คอสีเหลืองทอง เวลาเกาะจะเห็นมีแถบสีขาวตรงกลางปีกและที่ปลายปีก หางสีขาวและมีแถบสีดำพาดขวาง ลักษณะโดยทั่วไปตัวเมียคล้ายตัวผู้ทุกอย่าง แต่ตาตัวผู้แดง ตาตัวเมียขาว ปากและโหนกก็เล็กกว่า
นกกก
กก เป็นชื่อแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยทั่วไปเรียกว่า น้ำแม่กก ต้นน้ำอยู่ทางตะวันออกของทิวเขาแดนลาว ทางใต้ของเมืองเชียงตุง ทางด้านเหนือเมืองกก สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ไหลไปทางทิศใต้ผ่านเมืองกกและเมืองสาด เข้าเขตแดนประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก ทางทิศตะวันตกของดอยสามเส้า เหนือบ้านท่าตอน อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร แม่น้ำตอนนี้ยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร เมื่อไหลเข้าเขตประเทศไทยแม่น้ำกกหักไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดเชียงรายที่บ้านแม่สลัก ต่อจากนั้นไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงราย ผ่านอำเภอเมืองเชียงรายแล้วไหลหักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอแม่จัน เข้าสู่อำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปลงแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ตำบลป่าสักใต้ อำเภอเชียงแสน แม่น้ำกกตอนที่อยู่ในเขต ประเทศไทยกว้างประมาณ ๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร รวมความยาวทั้งหมดประมาณ ๒๙๐ กิโลเมตร แม่น้ำกกมีสะพานข้ามที่ตัวเมืองเชียงราย ๒ แห่ง นักทัศนาจรนิยมล่องแก่งโดยแพไม้ไผ่หรือเรือหางยาว จากบ้านท่าตอนไปตามลำน้ำนี้จนถึงตัวเมืองเชียงราย
สะพานข้ามแม่น้ำกกที่เมืองเชียงรายในอดีต