ก.ส.ร. กุหลาบ
ก.ส.ร. กุหลาบ มีนามเต็มว่า นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นนักคิดนักเขียนหัวสมัยใหม่ในช่วงระยะปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ.๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อนายเส็ง มารดาชื่อนางตรุษ "ตฤษณานนท์" เป็นนามสกุลที่นายกุหลาบได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐
ในวัยเด็กนายกุหลาบเคยเรียนหนังสือกับพระรัตนมุนี ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเดียวกันนี้เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นพระอุปัชฌาย์ มีสมญาว่า เกสโร เมื่อลาสิกขาแล้วได้เข้ารับราชการในกองร้อยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในระหว่างนั้น นายกุหลาบได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ จากบาทหลวงปาเลอกัวซ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพระอาจารย์สอนหนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
เมื่อนายกุหลาบอายุ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับนางหุ่น มีบุตรชาย-หญิงรวม ๙ คน หลังจากแต่งงานแล้ว ๑ ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุและมาเรียนธรรมะที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เรียนการแต่งกาพย์ กลอน การเขียนร้อยแก้ว ภาษาสันสกฤต กฎหมายโบราณและการปกครองจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) ด้วย เมื่อลาสิกขาแล้ว นายกุหลาบ มาทำงานเป็นเสมียนตามห้างฝรั่งและมีโอกาสเดินทางไปประเทศใกล้เคียง คือ ปีนัง สิงคโปร์ สุมาตรา มนิลา ปัตตาเวีย มาเก๊า ฮ่องกง กัลกัตตา และอังกฤษ จากการที่นายกุหลาบได้เรียนรู้หลายภาษาและได้ทำงานกับชาวตะวันตก ทำให้นายกุหลาบมีแนวความคิดตลอดจนมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างเป็นตะวันตกอย่างมาก และการที่นายกุหลาบใช้ชื่อย่อ นำหน้าว่า ก.ส.ร. ก็อาจเป็นการเอาอย่างชาวยุโรปที่นิยมเขียน ชื่อหน้าเป็นตัวย่อ อีกทั้งยังเป็นที่นิยมในหมู่นักเขียนสมัยใหม่ เช่น ต.ว.ส. วรรณาโภ เป็นต้น
จากซ้ายไปขวา นายชาย ตฤษณานนท์ (บุตร) ก.ส.ร. กุหลาบ และนายพิจน์ ทรัพยสาร (หลาน)
การที่นายกุหลาบมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนั้น มาจากการที่นายกุหลาบเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีความรู้ทางวิชาการพิมพ์ ค้นคว้าและปรับปรุงวิธีการพิมพ์ให้ทันสมัยและชวนอ่าน ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นกิจการพิมพ์ยังเพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย โดย ดร.บรัดเลย์ นักสอนศาสนาชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้นำเครื่องพิมพ์และแท่นพิมพ์เข้ามาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นบทความทางวิชาการ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางด้านการค้าและธุรกิจทั่วไป ข่าวพระราชพิธีและข่าวต่างประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกกาเลนดา (Bangkok Calendar) สยามเรโพสิทอรี (Siam Repository) และสยามวิคลี แอดเวอไทเซอร์ (Siam Weekly Advertiser) นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาษาไทย คือ กิจจานุกิจ ซึ่งพิมพ์พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หนังสือวชิรญาณ ซึ่งผู้ก่อตั้งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายในราชสำนัก เนื้อหาเป็นชีวประวัติบุคคลสำคัญ กาพย์ กลอน การเดินทางท่องเที่ยว สุภาษิต ประวัติศาสตร์และการต่างประเทศ สำหรับหนังสือที่นายกุหลาบพิมพ์นั้นเป็นวรรณคดีไทยและเรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ โดยใช้แท่นพิมพ์ในโรงพิมพ์ของ ดร.แซมมวล สมิธ ขณะเดียวกันก็รวบรวมหนังสือโบราณไว้หลายเล่ม จนเป็นที่รู้กันว่านายกุหลาบเป็นผู้รักและสะสมหนังสือ จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกห้องสมุดวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗
ก่อนหน้านี้ ๒ ปี คือ พ.ศ.๒๔๒๕ นายกุหลาบมีโอกาสรู้จักกับเจ้ากรมอาลักษณ์ ขณะนั้นคือกรมพระยาบดินทรไพศาลโสภณ ทำหน้าที่ดูแลหนังสือเก่าซึ่งเป็นต้นฉบับพิมพ์ของหลวง นายกุหลาบจึงสามารถยืมหนังสือโบราณอันมีคุณค่าเหล่านั้นออกมาอ่านได้ ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วหนังสือในกรมอาลักษณ์นี้ไม่ค่อยมีใครได้เข้าไปอ่านแม้แต่เจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ยิ่งเป็นบุคคลธรรมดาสามัญแล้วยิ่งไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่เก็บไว้ในกรมอาลักษณ์ได้เลย นายกุหลาบใช้วิธีคัดลอกเอกสารโบราณที่ยืมไว้เหล่านั้นเกือบทุกเล่ม ด้วยวิธีการนี้ นายกุหลาบจึงได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน แล้วนำมาเขียนและพิมพ์เผยแพร่หลายเล่ม ทั้งที่เป็นพงศาวดาร ประวัติบุคคลสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า นายกุหลาบเป็นสามัญชนคนแรกที่บุกเบิกการเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เผยแพร่ผลงานชิ้นสำคัญคือหนังสืออานามสยามยุทธ ซึ่งนายกุหลาบรวบรวมและเรียบเรียงโดยคัดจากรายงานการทัพญวน ๕๕ เล่มสมุดไทย ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ที่ตรงไปตรงมาอย่างที่ไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์หรือนักพงศาวดารอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกันจะทำได้ อย่างไรก็ดี นายกุหลาบมักดัดแปลงแก้ไขข้อมูลเหล่านั้นตามความพอใจของตน เช่น พระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นองค์อุปัชฌาย์และทรงคุ้นเคยมาก่อน แต่นายกุหลาบเขียนพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) อย่างไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง อีกทั้งยังมีเรื่องที่นายกุหลาบเขียนบรรยายพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศอย่างผิดๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้ชำระความมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีกรมหลวงวชิรญาณวโรรสเป็นประธาน กรมพระนเรศวรฤทธิ์และพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นรองประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ผู้คุ้นเคยรู้จักและติดตามสมเด็จพระสังฆราช (สา) มาโดยตลอด ผลการพิจารณาปรากฏว่านายกุหลาบมีความผิดจริง มีโทษถึงขั้นจำคุก แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทัณฑ์บนไว้ก่อน
จากการที่นายกุหลาบชอบแต่งเติมเสริมต่อ วิเคราะห์ วิจารณ์และตัดทอนเนื้อความในประวัติศาสตร์ งานของนายกุหลาบจึงไม่ได้รับความสนใจและศึกษามากเท่าที่ควรแม้แต่คำว่า "กุ" ซึ่งแปลว่า เดา เรื่องไม่มีมูล ก็มาจากชื่อนายกุหลาบตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ตอนหนึ่งว่า
"กุละนี้เป็นศัพท์แผลงใช้กัน หมายความว่า ทำฤๅกล่าวจริงเกินไป ศัพท์นี้มาจากชื่อนายกุหลาบ์ ซึ่งเป็นคนแต่งหนังสือตามใจชอบตนเอง ไม่มีความกริ่งเกรงว่าจะเกินจริงไป ฤาไม่มีความจริงเลย คัดชื่อนั้นให้สั้นเข้าใช้ว่า กุละ ฤๅ กุ ก็เข้าใจได้เหมือนกัน"
ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของนายกุหลาบคือ หนังสือสยามประเภท เริ่มตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ออกเป็นรายเดือนในระยะแรก ต่อมาเป็นรายปักษ์ รายสัปดาห์ โดยออกทุกวันพระ มีโรงพิมพ์สยามกิจพานิชเจริญเป็นที่จัดพิมพ์ หนังสือสยามประเภทมีข่าวและความรู้โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งโฆษณา คอลัมน์แสดงความคิดเห็นของบรรณาธิการคือนายกุหลาบเอง จึงหนักไปทางเยาะเย้ยถากถางสังคม หรือให้ข้อคิดซึ่งล้ำสมัย แปลกกว่าความคิดของคนในยุคนั้น มีการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านที่สนใจซักถามข้อข้องใจในเรื่องต่างๆ ได้ นายกุหลาบเป็นผู้ตอบคำถามเอง นอกจากนี้ ยังมีวิธีการพิมพ์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน มีการแจกรางวัลแก่ผู้ซื้อ เป็นต้น หนังสือสยามประเภทนี้เป็นที่นิยมอยู่ระยะหนึ่งและทำให้นายกุหลาบเป็นที่รู้จักมากขึ้น
แม้ว่านายกุหลาบจะได้ชื่อว่าเป็นนักกุเรื่องและเขียนเรื่องราวเกินความจริงอยู่เสมอแต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่านายกุหลาบ เป็นนักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีความรู้กว้างขวางมากผู้หนึ่ง เป็นผู้เปิดประตูแห่งความรู้ รวมทั้งปลุกความสนใจของคนในยุคนั้นซึ่งกำลังมีความตื่นตัวทางวิชาการกับเนื้อหาในเอกสารโบราณซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอหลวงให้มีการตรวจสอบ และเผยแพร่ในเวลาต่อมา หนังสือต่างๆ ที่นายกุหลาบเขียนปัจจุบันนี้ยังเก็บรักษาไว้ในห้องหนังสือโบราณ หอสมุดแห่งชาติ
นายกุหลาบถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๔ อายุได้ ๘๗ ปี