ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

พิเทนและนามสถานที่เกี่ยวข้อง : ตำนานและความเชื่อ

ภาค : ใต้

พิเทนและนามสถานที่เกี่ยวข้อง : ตำนานและความเชื่อ

การตามหาช้างสำคัญจากกรุงศรีอยุธยาในจังหวัดปัตตานีเป็นตำนานและความเชื่อที่เล่าสืบทอดกันมาว่า ประมาณปี พ.ศ.๒๒๑๘-๒๒๓๘ มีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยคนจำนวนมากได้เดินทางมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยใช้เวลาแรมเดือนเพื่อตามหาช้างคู่บ้านคู่เมืองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะเป็นช้างเผือกที่มึงาสีดำ เรียกว่า "ช้างขาวงาดำ" แต่บางคนก็เชื่อว่าอาจเป็นลักษณะ "ช้างขาวหน้าดำ" ซึ่งหนีเตลิดจากกรุงศรีอยุธยาลงมาทางภาคใต้ของประเทศไทย ในขณะที่เดินทางตามหาช้างนี้ บางคนได้ป่วยไข้และประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในระหว่างเดินทางเป็นจำนวนมาก สำหรับกลุ่มคนที่ได้เดินทางมาจนพบช้างดังกล่าวที่เมืองปัตตานี ไม่สามารถจับและพาช้างที่ตามหากลับคืนไปได้ ก็เกรงกลัวอาญาแผ่นดินไม่กล้าเดินทางกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในท้องที่ชนบทของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ๆ บริเวณรอยต่อของอำเภอต่างๆ คือ อำเภอทุ่งยางแดง กะพ้อ สายบุรี จังหวัดปัตตานี และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในปัจจุบัน โดยในท้องที่ดังกล่าวมีหลักฐานเกี่ยวกับุคคลสำคัญในดำนานนี้ปรากฏอยู่ เช่น หลุมฝังศพ สถูป ศาลเจ้า รูปปั้น เครื่องช้างหรืออุปกรณ์ช้าง นามสกุลของคนที่มาจากเชื้อสายนี้ งานพิธีต่างๆ ชื่อสถานที่ ภาษาพูด และตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับการตามหาช้างสำคัญ

ตำนานและความเชื่อที่ชาวบ้านตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง เล่าสืบทอดกันมาเกี่ยวกับการตามหาช้างสำคัญจากกรุงศรีอยุธยาว่า พระธิดาองค์เดียวของเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้เสด็จออกไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่ง เมื่อมีพระอาการกระหายน้ำก็ทรงสั่งให้ทหารองครักษ์ไปหาน้ำ แต่หาเท่าไรก็ไม่พบ จึงได้นำน้ำซึ่งอยู่ในรอยสิงห์มาถวาย หลังจากได้ทรงเสวยน้ำดังกล่าวเพียงประมาณ ๔ เดือน ก็ทรงมีอาการแพ้ท้องโดยที่ไม่เคยมีพระสวามีมาก่อนเมื่อครบกำหนดก็ประสูติเป็นชาย และเมื่อเจริญมายุได้ประมาณ ๔-๔ ขวบ ก็มีสิ่งห์ออกมาคำรามในบ้านเมืองบ่อยๆ ทำให้ผู้หญิงที่มีครรภ์ ๒-๓ เดือน เกิดการแท้งลูก พระเจ้าแผ่นดินจึงป่าวประกาศให้คนอาสามาฆ่าสิงห์ดังกล่าว หากใครฆ่าได้จะทรงมอบรางวัลให้อย่างงาม จึงได้มีผู้อาสาสมัครออกไปล่า แต่ปรากฏว่าล่าไม่สำเร็จและไม่มีผู้ใดอาสาอีก

เมื่อพระนัดดาองค์นี้มีพระชนมายุได้ประมาณ ๑๕ ปี ก็ทรงอาสาไปล่าสิงห์ด้วยพระองค์เอง โดยใช้กริชเล่มเดียวเป็นอาวุธ และใช้ทหารซึ่งไม่มีอาวุธประจำตัวเพียง ๗ คน เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งห์ สิงห์ก็พูดขึ้นว่า "ถึงวันตายแล้ว แต่ขอตายกับฝีมือของลูก" และก่อนตายก็สั่งความไว้ว่า "ให้เอาหัวไปทิ้งในทะเล ให้ตัดหนังออกมาใช้เป็นเชือก และให้เอาขาทั้ง ๔ ขาไปฝังไว้ทั้ง ๔ มุมเมือง มุมเมืองละ ๑ ขา" พอสั่งความเสร็จแล้ว พระราชนัดดาก็ชักกริชออกมาฆ่าสิงห์ได้โดยง่ายดายหลังจากนั้นประมาณ ๓ ปี ก็มีช้างสีขาวที่มีงาสีดำ เกิดขึ้นในทะเล เมื่อพระราชนัดดาทรงทราบก็พอพระทัย จึงทรงสั่งให้ข้าราชบริพารจับมาถวาย แด่ปรากฏว่าไม่มีใครจับได้ พระราชนัดดาจึงทรงสุบินไปว่าให้ทรงจับด้วยพระองค์เอง เมื่อราชนัดดาเสด็จไปทรงจับ ก็ทรงจับได้โดยง่ายดาย แต่เมื่อทรงใช้เชือกธรรมดาผูกก็ไม่ได้ จึงทรงสุบินอีกว่าให้ผูกด้วยหนังสิงห์ที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อทรงเอาเชือกที่ทำด้วยหนังสิงห์นั้นไปผูกก็ผูกอยู่ได้ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงโปรดปราน จึงทรงให้ทหารคนเดิมทั้ง ๗ คน เป็นผู้เลี้ยงและดูแลรักษาช้างเชือกนี้ตลอดมา บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข

ครั้นคืนวันหนึ่ง เชือที่ใช้ผูกช้างได้ขาด ทำให้ช้างหนีไปไม่มีร่องรอย พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ที่เลี้ยงช้างและอาสาสมัครออกไปตามหาช้างเชือกนี้กลับคืนมาให้ได้ หากไม่ได้ช้างกลับคืนมาก็จะถูกประหารชีวิต ฉะนั้นผู้ตามหาช้างคณะนี้ ซึ่งประกอบด้วย "พี่เณร" เป็นหัวหน้าคณะและญาติๆ อีก ๖ คน คือ เจ้าแก้ว เจ้าอ่อน เจ้ามอน เจ้าเภา นางผมยาวเก้าศอกหรือนางผมหอม และนางเลือดขาว นอกจากนี้ก็มีบุคคลอื่นอีกหลายคนแต่ไม่ได้เป็นญาติของพี่เณรได้ออกเดินทางติดตามลงมาทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยการเดินสะกดรอยเท้าช้างมาตลอดใช้เวลาแรมเดือนจึงมาถึงจังหวัดปัตตานีในปัจจุบันก็พบรอยเท้าช้างใหม่ๆ ที่มีน้ำใสๆขังอยู่ในรอยเท้าช้าง จึงเรียกสถานที่นั้นว่า บ้านน้ำใส ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอมายอ เมื่อออกจากที่นั่นก็ไปพบรอยเท้าช้างอีกที่ "บ้านน้ำดำ" ปัจจุบันอยู่ในตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดงจังหวัดปัตตานี คำว่า "น้ำดำ" เชื่อกันว่าในรอยเท้าช้างมีน้ำขุ่นดำขังอยู่ แต่บ้างก็เชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูท้องถิ่นที่ว่า "เนาะแด" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "ทัน" หรือ "จะทัน" เมื่อจับได้ก็ผูกไว้ที่บริเวณใกล้ๆ นั้น ปัจจุบันชื่อ "บ้านโฉลง" หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำดำ เมื่อผูกไว้ได้ประมาณ ๓ วัน เชือกที่ผูกช้างก็ขาดและช้างหนีหายไปอีก ฉะนั้นคณะที่ตามหาช้างก็ได้ปรึกษาหารือกันและตกลงกันว่าจะไม่ติดตามหาช้างเชือกนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะหมดเวทมนตร์และหมดเรี่ยวแรงที่จะตามหาอีกต่อไป ครั้นจะเดินทางกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาก็เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน จึงได้แยกย้ายกันไปั้งถิ่นฐานกันตามความพอใจ สำหรับสถานที่ที่พี่เณรตั้งถิ่นฐานนี้ มีคนอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว พี่เณรจึงได้ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมเป็นเงิน ๓ ตำลึงทอง พี่เณรก็อาศัยอยู่ที่นั่นจนตลอดชีวิต และได้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านด้วย ปัจจุบันคือ บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง และหลุมฝังศพของพี่เณรก็อยู่ที่หมู่บ้านนี้จนกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับเจ้าแก้วและเจ้าอ่อนไปดั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบือจะหมู่ที่ ๔ ตำบลพิเทน ซึ่งอยู่ติดต่อกับบ้านพิเทน (หมู่ที่ ๒) ส่วนเจ้ามอนไปตั้งถิ่นฐานที่ตำบลน้ำดำ และทั้งนี้มีหลุมฝังศพอยู่ ณ สถานที่นั้นด้วย สำหรับนางผมยาวเก้าศอกหรือนางผมหอมไปอยู่ที่บ้านโต๊ะชุด (หมู่ที่ ๖) ไม่มีหลุมฝังศพปรากฏ แต่มือนุสรณ์สถานเป็นโขดหินคล้ายปราสาทและลานดิน อยู่ริมลำธารเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่นางได้กลั้นใจตายเพราะเสียใจที่บุตรของตนมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ส่วนเจ้าเภาไปดั้งถิ่นฐานที่บ้านกะรุบี (หมู่ที่ ๒) อำเภอกะพ้อในปัจจุบันและบุคคลอื่นๆ ก็ได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในท้องที่ใกล้เคียง ส่วนช้างขาวงาดำ เชื่อกันว่าไปเสียชีวิตในรัฐเคดาห์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีสุสานชื่อ "บูเก๊ะกาเยาะปูเต๊ะ" อยู่ในรัฐดังกล่าว มีคนนำ "ปะหยี" (ธงทิว) ไปปักเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและแก้บนต่างๆ เป็นจำนวนมาก

บางตำนานซึ่งชาวอำเภอกะพ้อเล่าต่อกันมาว่า ในตอนปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้เกิดศึกสงครามกับพม่า เป็นเหตุให้ช้างคู่บ้านคู่เมืองซึ่งเป็นช้างเผือก ๒ เชือกโดยเป็นช้างพลาย ๑ เชือก และช้างพัง ๑ เชือก ได้หนีเตลิดจากกรุงศรีอยุธยาลงมาทางตอนใต้ของประเทศไทย พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระบัญชาให้ทหารพร้อมด้วยไพร่พลออกติดตามและให้พากลับไปให้ได้ หากพากลับไปไม่ได้ก็จะได้รับโทษถึงชีวิต ฉะนั้นทหารและไพร่พลจึงได้ออกติดตามลงมาทางภาคใต้ของประเทศไทย พร้อมกับนำเครื่องช้างหรืออุปกรณ์ช้างมาด้วยคือ หอก ๑ คู่ กระดึง ๑ คู่ และปี ๑ เลา โดยได้ติดตามอยู่เป็นเวลาหลายเดือน จนไพร่พลได้ล้มตายไปมาก และเมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดปัตตานีก็ยังไม่พบช้างแต่ประการใด จึงไม่กล้าเดินทางกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา เพราะกลัวจะได้รับโทษทัณฑ์ ก็ได้เดินทางไปจังหวัดอื่นบ้าง และส่วนใหญ่ได้ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งมีหลักฐานต่างๆ ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ตำนานทั้งสองแง่นี้ คนส่วนใหญ่เชื่อในแง่ที่ต้องตามหาช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็น "ช้างขาวงาดำ" เพียงเชือกเดียวดังที่กล่าวในตอนต้น

ตำนานการตามหาช้างสำคัญจากกรุงศรีอยุธยานี้ น่าเชื่อว่าบางส่วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีหลักฐานทางวัตถุและบุคคล ตลอดจนเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่คงปรุงแต่งขึ้นบ้าง อาจเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) เพราะช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอยู่ในระหว่างประมาณ พ.ศ.๒๒๐๒-๒๒๒๒ ประกอบกับตำนานที่กล่าวว่า พระธิดาองค์เดียวของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้เสด็จออกไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่ง...ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มีราชโอรสที่จะได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท มีแต่ราชธิดาองค์เดียวทรงตั้งให้เป็นกรมหลวงโยธาเทพ...ฉะนั้นตำนานที่เกี่ยวกับพระธิดา จึงอาจนำเค้าโครงนี้เล่าต่อกันมา หรืออาจนำเค้ามาจากเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๔๖) ซึ่งอยู่ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเสื่อม เพราะสมเด็จพระเพทราชาแต่เดิมเป็นเพียงนายกองช้าง และคิดการแย่งราชสมบัติกับหลวงสรศักดิ์ ประหารชีวิตคนสำคัญๆ เสียเป็นอันมาก แล้วราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์

อนึ่ง น่าสังเกตว่าในตำนานช้างขาวงาดำนั้น มีการใช้ "กริช" เป็นอาวุธศักดิ์สิทธิ์ประหารสิงห์ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของชาวภาคใต้ ตลอดถึงแหลมมลายูและชวา เรื่องนี้จึงมีคุณค่าในการศึกษานามสถานและวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่หลายประการ

หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับตำนานดังกล่าว ได้แก่

๑. นามสถาน

นามสถานที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องนี้ที่สำคัญ ๆ ในท้องที่อำเภอทุ่งยางแดง เช่น

ตำบลพิเทน เป็นชื่อดำบลและหมู่บ้านแห่งหนึ่งของ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี โดยเชื่อกันว่า คำว่า "พิเทน" เพี้ยนมาจากคำว่า "พี่เณร" ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะตามหาช้างสำคัญตามตำนาน และเป็นผู้นำหมู่บ้านในภายหลัง ตำบลพิเทนในปัจจุบันมี ๗ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ บ้านข่าลิง หมู่ที่ ๒ บ้านพิเทน หมู่ที่ ๓ บ้านป่ามะพร้าว หมู่ที่ ๔ บ้านบือจะ หมู่ที่ ๕ บ้านบาแฆะ หมู่ที่ ๖ บ้านโต๊ะชูด หมู่ที่ ๑ บ้านดือเบาะ และเชื่อกันว่าผู้ที่มีเชื้อสายพิเทนที่แท้จริงมาตั้งแต่ตั้งเดิมคือคนที่เกิดในหมู่ที่ ๒ บ้านพิเทน เพราะ "พี่เณร" อยู่ที่หมู่บ้านนี้มาก่อน และหลุมฝังศพของ "พี่เณร" ก็อยู่ที่หมูนี้ด้วย

ตำบลน้ำดำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คณะตามหาช้าง ได้ตามช้างสำคัญทันที่ตำบลนี้ และบ้าน "โฉลง" ซึ่งเดิมชื่อบ้าน "ฉลุง" และเพี้ยนมาเป็น "โฉลง" อยู่ติดต่อกับบ้าน "โต๊ะมอน" เป็นสถานที่ที่คณะตามหาช้างจับช้างสำคัญผูกไว้เป็นเวลา ๓ วัน แต่ช้างก็หลุดและหนีไปอีก จึงตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า "ฉลุง" หรือ "โฉลง" จนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีชื่อหมู่บ้าน " โต๊ะมอน" ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพ "โต๊ะมอน" จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อศพของบุคคลสำคัญที่ฝังไว้ เป็นต้น

สุสานโต๊ะยังพี่เณร (โต๊ะยังหรือโต๊ะ เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึง ทวด) เป็นหลุมฝังศพของชาวมุสลิม อยู่ที่บ้านพิเทน หมู่ที่ ๒ ตำบลพิเทน เชื่อกันว่าเป็นหลุมฝังศพของ "พี่เณร" ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะของผู้ตามหาช้างสำคัญและเป็นผู้นำหมู่บ้านในภายหลังชาวบ้านถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากและมีอาถรรพณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเนื่องๆ ชาวบ้านในตำบลพิเทนเคยจัดงานประเพณี เพื่อเคารพสุสานโต๊ะยังพี่เณร โดยมีเครื่องเซ่นและจัดทำระทา ประดับธูปเทียน จุดในคืนวันเพ็ญเดือนหกของทุกปี ประเพณีนี้ได้ทำครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๒ ปัจจุบันได้เลิกล้มไปแล้ว

สุสานเจ้าแก้วและเจ้าอ่อน เป็นหลุมฝังศพของชาวมุสลิมอยู่ใกล้เคียงกันที่บ้านบือจะ หมู่ที่ ๔ ตำบลพิเทน อยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านบือจะ ประมาณ ๔๐๐ เมตร และอยู่ห่างจากสุสานโต๊ะยังพี่เณร ประมาณ ๑ กิโลเมตร ณ สถานที่นี้เคยมีอาถรรพณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๒๙ ในขณะที่กระบวนช้างจากจังหวัดทางภาคอีสานมาแสดงเพื่อหาเงินที่โรงเรียนบ้านบือจะ ปรากฏว่าช้างเชือกหนึ่งมีอาการคลุ้ม-คลั่ง ควาญช้างบังคับไว้ไม่อยู่ จึงวิ่งไปเหยียบรถจักรยานยนต์ของผู้มาชมการแสดง ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอันมากชาวบ้านบือจะ จึงบอกกับควาญช้างว่าให้ไปขอขมาหลุมฝังศพเจ้าแก้วและเจ้าอ่อนเสียก่อน ดังนั้น เมื่อช้างเชือกนี้ไปถึงบริเวณใกล้ๆ หลุมฝังศพดังกล่าวก็หมอบลงกับพื้นดินโดยไม่ต้องบังคับ และอาการคลุ้มคลั่งก็หายไปอย่างฉับพลัน ทำให้การแสดงของช้างครั้งนั้นดำเนินไปด้วยดี เป็นต้น

สุสานเจ้ามอน ชาวบ้านเรียกสุสานโต๊ะมอน เป็นหลุมฝังศพของชาวมุสลิมอยู่ที่บ้านโต๊ะมอน หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำดำห่างจากสุสานโต๊ะยังพี่เณรประมาณ ๔ กิโลเมตร

ปราสาทนางผมหอม เป็นโขดหินซึ่งดูคล้ายปราสาทหินอยู่ใกล้ลำธารเล็กๆ ซึ่งไหลลงจากเนินเขา ในบริเวณใกล้ๆโขดหินนี้มีลานหิน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่นางผมหอมหรือนางผมยาวเก้าศอกกลั้นใจตาย เพราะเสียใจที่บุตรของตนมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ในปัจจุบันทางราชการได้จัดพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้เป็นวนอุทยาน ชื่อ "วนอุทยานนางผมหอม" อยู่ที่บ้านโต๊ะชูด หมู่ที่ ๖ ตำบลพิเทน

ในท้องที่อำเภอกะพ้อมีหลักฐานปรากฏในตำบลกะรุบี คือ

สุสานเจ้าเภาและเจ้าหมื่น ชาวบ้านเรียกสุสานโต๊ะเภาและโต๊ะหมื่น เป็นหลุมฝั่งศพของชาวมุสลิม อยู่ใกล้เคียงกัน ที่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลกะรุบี ห่างจากตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ประมาณ ๔ กิโลเมตร และเชื่อกันว่า "เจ้าเภา" ซึ่งมีหน้าที่ระวังรักษาเท้าช้าง เป็นคนต้นตระกูล "ซีบะ" และเป็นคนต้นตระกูล "จันทร์ทอง" นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าเจ้าเภาและเจ้าหมื่นชอบดื่มเหล้าเถื่อนหรือเหล้าขาวพร้อมกับไก่ย่าง (ไก่ปิ้งทั้งตัว) เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่จะประกอบพิธีเข้าสุหนัตดามหลักศาสนาอิสลามนิยมไปเคารพหลุมฝังศพเจ้าเภาและเจ้าหมื่นก่อนประกอบพิธี เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

สุสานโต๊ะกุแช (ควาญช้าง) เป็นสุสานฝังศพของชาวมุสลิม อยู่ที่บ้านคอลอก หมู่ที่ ๖ ตำบลกะรุบี ห่างจากตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ประมาณ ๕ กิโลเมตร เชื่อกันว่าเดิม ชื่อ "หมอรัตน์แก้ว" เป็นผู้ที่ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลาม เป็นเพื่อนสนิทกับ "หมอหวิน" ซึ่งอยู่ที่ตำบลแป้น อำเภอสายบุรีและมีตำนานเล่าว่าเมื่อหลายปีมาแล้ว ในรอบปีหนึ่ง ๆ จะมีเสือมาทำความสะอาดบริเวณสุสานนี้ให้สะอาดเรียบร้อยหนึ่งครั้งโดยไม่มีผู้ใดเห็นเสือ แต่เห็นรอยเท้าเสือเท่านั้น จึงเชื่อกันว่าเป็นเสือที่แปลงร่างมาจาก "หมอหวิน" นั่นเอง แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

ในท้องที่อำเภอสายบุรี มีหลักฐานปรากฏในตำบลเตราะบอน และตำบลแป้น คือ

สถูปปู่ทวดเจ้า ลักษณะเป็นสถูปสำหรับใช้บรรจุกระดูกผู้ตาย สูงประมาณ ๗ เมตร อยู่ในป่าช้า วัดปทุมวารี หมู่ที่ ๑ ตำบลเตราะบอน ห่างจากตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดงประมาณ ๕ กิโลเมตร

ศาลปู่ทวดจอม ลักษณะคล้ายศาลเจ้า อยู่ด้านหลังของสถานีอนามัยตำบลเตราะบอนหรือด้านข้างของโรงเรียนบ้านกะลาพอ หมู่ที่ ๑ ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ศาลปู่ทวดหมื่น ลักษณะคล้ายศาลเจ้า อยู่ด้านหน้าของโรงเรียนบ้านกะลาพอ ห่างจากโรงเรียนประมาณ ๗๐๐ เมตร หมู่ที่ ๑ ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

รูปปั้นหมอช้าง ชาวบ้านเรียก "พ่อแก่โต๊ะหมอ"ลักษณะปั้นด้วยปูนซีเมนด์อยู่ในท่านั่งมีความสูงประมาณ ๐.๘๐ เมตร อยู่ที่ป่าช้าวัดจุฬามณี (แป้น) ตำบลแป้น อำเภอสายบุรี ห่างจากตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีตำนานเล่าว่า เดิมชื่อ "หมอหวิน" เป็นหมอรักษาช้างที่มีคาถาอาคมแก่กล้า สามารถแปลงร่างเป็นเสือได้ แต่ไม่มีบุตรสืบตระกูล เมื่อมีอายุมากขึ้น จึงได้แปลงร่างเป็นเสือและเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า หลังจากนั้นได้ให้ความคุ้มครองกับคนในตำบลแป้นจากภยันตรายต่างๆ เมื่อมีคนนำสิ่งของและอาหารไปเซ่นไหว้ เสือก็ออกมากินจริงๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรูปปั้นและสถูปเล็กๆ อยู่ในป่าช้าดังกล่าวเท่านั้น แต่ชาวบ้านถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรัพย์สินสูญหาย หากใครทรัพย์สินสูญหายแล้วไปบนบานกับ "พ่อแก่โต๊ะหมอ"ส่วนมากจะได้รับทรัพย์สินนั้นคืน จึงมีคนไปบนบานและนำเครื่องเช่นตลอดจนพวงมาลัยไปบูชามากมาย

๒. ภาษา

ภาษาพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนในตำบลพิเทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ที่ ๒ บ้านพิเทน มี ๒ ภาษาคือ "ภาษาไทยพิเทน" และ "ภาษามลายูท้องถิ่น" ซึ่งตั้งแต่ตั้งเดิม คนในท้องถิ่นนี้พูด "ภาษาไทยพิเทน"ในชีวิตประจำวันเพียงภาษาเดียว แต่ต่อมาภายหลังเมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป และคนต่างถิ่นได้เข้าไปอยู่อาศัยในท้องถิ่นนี้มากขึ้นจึงทำให้นิยมใช้ภาษามลายูท้องถิ่นมากขึ้นด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามคนในท้องถิ่นนี้สามารถพูดและใช้ภาษาไทยได้ดีทั้งดำบลภาษาไทยพิเทนมีสำเนียงที่แปลกกว่าภาษาที่ใช้พูดในท้องถิ่นอื่นของประเทศไทย เพราะมีลักษณะเป็นภาษาถิ่น ๓ ภาษา ผสมกัน คือ ภาษาไทยภาคกลาง ผสมกับภาษาไทยถิ่นใต้และภาษามลายูท้องถิ่น ตัวอย่าง เช่น กลด (ร่ม), กาโสะ (รองเท้า), กินน้ำแต้ (กินน้ำชา), กรีสีนั่ง (เก้าอี้), แคระนอน (เตียงนอน), จะปิ้งหู (ตุ้มหู), เจ้าหมื่น (ผู้ใหญ่บ้าน), นกติเต (นกเขาเล็ก), คูวิหาไม่ (ไม่มีเงิน), โต๊ะขุน (กำนัน), โต๊ะยัง (ทวด), แถลง (พูด), น้ำหิน (น้ำแข็ง), บือเกา (ยาเส้น), ผ้าปล่อย (ผ้าขาวม้า), ยาม (นาฬิกา), ยามมือ (นาฬิกาข้อมือ), ลูกตีหลา (ลูกมะละกอ), ลูกพลวน (ลูกเงาะ), สรงน้ำ (อาบน้ำ), สะลูวา ตีนยาวหรือสนับเพลาตีนยาว (กางเกงขายาว), สะลูวาตีนสันหรือสนับเพลาตีนสั้น (กางเกงขาสั้น), สูดหรือประสูติิ (เกิด) เป็นต้น

ภาษาพูดของคนในคณะที่ตามหาช้างสำคัญนี้ ตั้งแต่ตั้งเดิมคงพูดภาษาไทยสำเนียงที่ใช้พูดในกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อนำมาพูดผสมผสานกับภาษาพื้นเมืองของคนในพื้นที่ ก็ผิดเพี้ยนไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเป็นภาษาไทยที่ใช้พูดอยู่ในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง และดำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน

๓. เครื่องช้างหรืออุปกรณ์ช้าง ประกอบด้วย

หอกสำหรับระวังรักษาเท้าช้าง เป็นหอกที่ทำด้วยเหล็กกล้า และมีด้ามทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ ๒.๕๐ เมตรจำนวน ๑ คู่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสุสานเจ้าเภา หมู่ที่ ๑ ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

กระดิ่งสำหรับใช้แขวนคอช้าง จำนวน ๑ คู่ ลักษณะทำด้วยทองเหลืองมีน้ำหนักลูกละประมาณ ๒ กิโลกรัม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสุสานเจ้าเภา หมู่ที่ ๗ ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

ปี่สำหรับใช้เป่าในกระบวนช้าง จำนวน ๑ เถา ลักษณะเป็นปี่ชวาแต่ด้านปลายของปี่คล้ายปี่มอญ มีความยาวประมาณ ๓๙ เซนติเมตร สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ (๑) ส่วนที่เป็นลิ้นปี่และส่วนประกอบของลิ้นปี ทำด้วยใบตาลและทองเหลือง ยาวประมาณ ๖.๕๐ เซนติเมตร (๒) ส่วนที่เป็นลำของปี่ทำด้วยเขาควายขาว มีรูสำหรับปิดเปิด ด้านบน ๗ รู และด้านล่าง ๑ รู ยาวประมาณ ๒๔ เซนติเมตร (๓) ส่วนปลายของปี่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ ๘.๕๐ เซนติเมตร ปัจจุบันเป็นสมบัติของนายมะแอ จันทร์ทอง เท่านั้น เพราะถ้าเก็บรักษาที่อื่นจะมีอาถรรพณ์ ทำให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานาแม้กระทั่งการเป่า ก็ต้องเป็นคนที่มีนามสกุล "จันทร์ทอง" เท่านั้น หากคนอื่นเป่าก็จะมีอาการปวดที่ปาก หรือปากเบี้ยวเป็นต้น และอาการเช่นนี้เคยมีผู้ประสบหลายรายแล้ว

๔. นามสกุลของชาวไทยมุสลิมที่เจ้าของนามสกุลมีความเชื่อว่าเป็นตระกูลของผู้ตามหาช้างสำคัญจากกรุงศรีอยุธยา มี ๗ ตระกูล คือ ชีบะ (สื่บาท หรือ ศรีบาท) พระศรี ดิเภา โต๊ะทอง จันทร์ทอง ศรีทอง และหลักเพชรโดยที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามชื่อบิดาเหมือนชาวมุสลิมทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ และดระกูลที่มีคนใช้มากที่สุด คือ "ซีบะ" (นามสกุลเหล่านี้คงเริ่มใช้กันในรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเริ่มมีพระราชบัญญัติการใช้นามสกุลในรัชกาลนี้)

๕. ประเพณีการบรรพชาสามเณรตามแบบศาสนาพุทธก่อนพิธีเข้าสุหนัตของชาวไทยมุสลิม การกระทำเช่นนี้เคยมีที่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานีเพื่อเป็นการเคารพคนต้นตระกูลของตน คือ ตระกูลซีบะพระศรี ดิเภา โต๊ะทอง จันทร์ทอง ศรีทอง และหลักเพชรแต่ปัจจุบันได้เลิกล้มไปแล้ว

๖. ประเพณีการแห่เครื่องช้างหรืออุปกรณ์ช้างที่อำเภอกะพ้อ ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณอุปกรณ์ที่ใช้แห่ประกอบด้วย กระดิ่ง ๑ คู่ หอก ๑ คู่ และปี ๑ เลา มัดรวมกันไว้เป็นก้าน (ราติง) โดยต้องใช้ไม้ไผ่งาช้างเป็นก้าน และต้องมีเครื่องเช่นไหว้ คือ ขนมแห้งที่มีสีด่าง ๆและไก่ย่าง (ปิ้งทั้งตัว) ผูกมัดด้วยด้ายดิบ แขวนไว้กับก้าน (ราติง) แล้วนำไปกับกระบวนแห่ การแห่ที่ใช้อุปกรณ์ช้างและเครื่องเช่นไหว้อย่างนี้ นิยมใช้ในพิธีเข้าสุหนัตของชาวมุสลิมและพิธีการที่สำคัญ ๆ อย่างอื่น

การนับถือศาสนาของคนในคณะนี้ ส่วนใหญ่คงนับถือศาสนาพุทธมาก่อน แต่เมื่อมาอยู่อาศัยและสมรสกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามในท้องถิ่น ก็เปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาอิสลามด้วย พิธีศพก็ทำตามแบบมุสลิม ถึงแม้บางคน เช่น "โต๊ะกูแซ" ในตำนานนี้ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลาม แต่เมื่ออยู่ในสังคมมุสลิม ก็ได้ทำพิธีศพแบบชาวมุสลิมด้วย จึงมีหลุมฝังศพดังกล่าวแล้ว (นเรศ ศรีรัตน์)

 

โบราณสถาน สุสานพี่เณร ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

 

 

 

เครื่องช้างหรืออุปกรณ์ช้าง หอก ๑ คู่ และกระดิ่งทองเหลืองอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ พื้นบนโต๊ะเภา, โต๊ะหมื่น ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

 

 

 

สุสานโต๊ะยังพี่เณร

 

 

 

สุสานโต๊ะเภาและโต๊ะหมื่น

 

 

 

ศาลเจ้าปู่ทวดหมื่น

 

 

 

สถูปปู่เจ้า อยู่น่าช้าวัดปทุมวารี

 

 

 

สุสานเจ้ามอน หรือโต๊ะมอน อยู่ที่หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

 

 

 

เครื่องช้าง หรืออุปกรณ์ช้าง ปี่ชวา ๑ เลา เป็นสมบิของนายมะแอ จันทร์ทอง อยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี