ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

โชคชัย, อำเภอ

ภาค : อีสาน

เชียงแหว, เมือง ดูที่ กุมภวาปี, เมือง

โชคชัย, อำเภอ

ที่ตั้ง

             อำเภอโชคชัย เป็นอำเภอชั้น ๑ ในจำนวน ๒๔ อำเภอ และ ๓ กิ่งอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (นครราชสีมา-โชคชัย) เป็นระยะทาง ๓๐กิโลเมตร หรืออยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔ องศา ๓๓ ลิปดา-๑๔ องศา ๔๖ ลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ ๑๐๒ องศา 5 ลิปดา-๑๐๒ องศา ๑๗ ลิปดาตะวันออก

อาณาเขต

             อำเภอโชคชัย มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่างๆ ของ จังหวัดนครราชสีมา คือ

             ทิศเหนือ       จดเขตอำเภอจักราช และอำเภอเมือง นครราชสีมา

             ทิศใต้           จดเขตอำเภอครบุรี

             ทิศตะวันออก  จดเขตอำเภอหนองบุนนาก

             ทิศตะวันตก    จดเขตอำเภอปักธงชัยอำเภอโชคชัยมีพื้นที่ทั้งหมด ๔๐๓.๔๑๗                                        ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ ๑๘ ของจังหวัด                                               นครราชสีมา

ลักษณะทางกายภาพ

             ภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือ เขตที่สูงทางตะวันออก เป็นที่ราบสูง ภูเขาเก่าตลอดแนวเขตแดนกับอำเภอหนองบุนนาก ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๒๗๕ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และ ลุ่มแม่น้ำทางด้านตะวันตกซึ่งยาวขนานกับที่สูงทางตะวันออกตลอดแนว ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๘๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล และพื้นที่จะค่อยๆสูงขึ้นทางด้านตะวันตกเขตติดต่อกับอำเภอปักธงชัย

             ภูมิอากาศ คล้ายคลึงกับอำเภออื่นๆ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา คือ มี ๓ ฤดู ฤดูร้อน อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดประมาณ ๔๐ องศาเซลเซียส ฤดูหนาว อากาศหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ ๑๒ องศาเซลเซียส ในฤดูฝนฝนจะตกชุกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ๑,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี

ทรัพยากร

             ดิน ในเขตอำเภอโชคชัยมีกลุ่มดินที่สำคัญอยู่ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มดินนาในเขตที่ราบลุ่มน้ำมูล และกลุ่มดินไร่ระดับดีในเขตที่สูงทางตะวันตกและตะวันออกของอำเภอ กลุ่มดินที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ "กลุ่มดินเหนียวแดง" ซึ่งพบมากในเขตบ้านด่านเกวียน นับว่าเป็นทรัพยากรดินที่สำคัญ ใช้ในการอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของอำเภอโชคชัย

             น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญได้แก่

             ๑) ลำน้ำมูล ซึ่งไหลผ่านตอนกลางของอำเภอ จากทิศใต้ตลอดจนถึงทิศเหนือ ทำให้บริเวณตอนกลางของอำเภอเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ลุ่มน้ำมูลในเขตอำเภอโชคชัย มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร

             ๒) ลำพระเพลิง เป็นสาขาลำน้ำมูล เกิดจากเขตกิ่งอำเภอวังน้ำเขียว ไหลผ่านอำเภอปักธงชัยเข้ามายังเขตอำเภอโชคชัย และมารวมกับแม่น้ำมูลที่บ้านโนนเพชร และมีลำสาขาของลำพระเพลิงอีกหลายสาย เช่น ลำสำรวย ลำเชียงสาเป็นต้น

             ๓) บึงพระ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมของลำน้ำมูลและโกรกหว้า เป็นหนองบึงที่เป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์และพืชน้ำที่สำคัญของอำเภอโชคชัย

             ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และตะวันออกของอำเภอ ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่มะค่า เต็ง รัง เป็นต้น เนื่องจากถูกแผ้วถางเพื่อการทำไร่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจึงเหลือพื้นที่ป่าไม่มากนัก ป่าสงวนแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่

             ๑) ป่าสงวนแห่งชาติโชคชัยมีเนื้อที่ประมาณ ๑๘,๕๒๕ ไร่

             ๒) ป่าสงวนแห่งชาติปักธงชัย-โชคชัยมีพื้นที่ประมาณ ๗๘,๗๕๐ ไร่

             ๓) ป่าดงอีจานใหญ่มีพื้นที่ประมาณ ๖0๕,๑๘๗ ไร่

ประวัติความเป็นมา

             ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เมืองนครราชสีมาอ่อนแอลงเนื่องจากถูกตัดทอนกำลังในสมัยพระเพทราชาขึ้นครองราชย์เจ้าเมืองนครราชสีมาไม่อ่อนน้อม จึงถูกปราบปรามและลดความสำคัญลง เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ.๒๓๑๐ ผู้นำคนไทยหลายแห่งได้ตั้งตัวเป็นอิสระหลายกลุ่ม ซึ่งเรียกกันว่าก๊ก เช่น ก๊กพิษณุโลก ก๊กพระฝาง ก๊กเจ้าตาก ก๊กเจ้านคร และก๊กเจ้าพิมาย ก๊กเจ้าตากยึดเอาเมืองธนบุรีเป็นที่ตั้ง เมื่อต่อสู้ชนะพม่าได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหา-กษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเพทราชาที่ ๔ แต่ราษฎรทั่วไปเรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

             พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบก๊กเจ้าพิมายเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๑ โดยยกกำลังเป็น ๒ ทาง พระองค์เองยกมาทางด่านจอหอและโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรีกับพระราชวรินทร์ยกกำลังเข้าทางด่านกระโทก กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าเมืองพิมายก็ให้กองกำลังทัพออกมาต่อต้านทั้งสองด่านแต่สู้กำลังของกรุงธนบุรีไม่ได้ พระยาวรวงศาธิราช ซึ่งเป็นแม่ทัพที่ด่านกระโทกได้หนีไปเขมร

             ด่านกระโทกยังเป็นด่านสำคัญตลอดสมัยกรุงธนบุรี

และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการ

ออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖)

ด่านกระโทกมีฐานะเป็นแขวง ขึ้นกับเมืองปักธงชัย

             พ.ศ.๒๔๔๘ ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เรียก "อำเภอกระโทก"

             พ.ศ.๒๕๕๐ แยกตำบลจระเข้หิน ตำบลสระตะเคียนและตำบลแซะ เป็น "กิ่งอำเภอแซะ"

             พ.ศ.๒๔๘๘ เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอโชคชัย" ตามรัฐนิยม

             พ.ศ.๒๕๒๖ แยกตำบลหนองบุนนากขึ้นเป็น "กิ่ง-อำเภอหนองบุนนาก" ปัจจุบัน ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลโชคชัยริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๒๐๗๑(โชคชัย-ครบุรี)

การปกครองและประชากร

             การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น ๑๐ ตำบล ๑๑๙ หมู่บ้าน ๑๕,๗๙๐ ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น๗๐,๒๕๑คน เป็นชาย ๓๔,๔๔๙คน และหญิงการปกครองส่วนท้องถิ่น มีสุขาภิบาล ๒ แห่งคือสุขาภิบาลโชคชัย และสุขาภิบาลด่านเกวียน(กรมการปกครอง ธันวาคม ๒๕๓๘)

อาชีพประชากร

             การเกษตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ดังนั้นอาชีพหลักของประชากรจึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา ซึ่งอาศัยน้ำจากโครงการเขื่อนลำพระเพลิงและในปี พ.ศ.๒๕๔๑ จะได้รับน้ำจาก โครงการเขื่อนมูลบนและเขื่อนลำแซะ อีกด้วย ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเจ้า ผลผลิตต่อไร่ประมาณ ๔๗๘  กิโลกรัม พืชไร่ที่นิยมปลูกคือมันสำปะหลัง การเลี้ยงปศุสัตว์มีน้อย

             การอุตสาหกรรม การอุตสาหกรรมทั่วไป ได้แก่ โรงไม่หิน อุตสาหกรรมดูดทราย อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและโรงสีข้าว อุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สำคัญ ได้แก่

             - การทำเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านด่านเกวียน ตำบลด่านเกวียน

             - การทำเครื่องทองเหลืองที่บ้านหนองไผ่ ตำบลโชคชัยการพาณิชยกรรม ในเขตสุขาภิบาลประกอบอาชีพทางพาณิชยกรรม ได้แก่

             ธนาคารพาณิชย์ ๓ แห่ง

             บริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด ๒๐ แห่ง

             ร้านค้าและบริการ ๑๑๐ แห่ง

             สถานีบริการน้ำมันมาตรฐาน ๔ แห่ง

การท่องเที่ยว

             อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอำเภอโชคชัยที่สำคัญที่สุดและสร้างรายได้ให้แก่อำเภอโชคชัย ได้แก่ "บ้านด่านเกวียน" ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศแวะเวียนเข้ามาชมและซื้อเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก

             บ้านด่านเกวียน หมู่ที่ ๑ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (นครราชสีมาโชคชัย) ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร เมื่อผ่านหมู่บ้านจะพบเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆ วางเรียงรายอยู่ข้างถนน และภายในร้านทั่วไป

             นอกจากด่านเกวียนแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้แก่ ปรางค์ปะโค หรือพะโค เป็นโบราณสถานแบบขอมศิลปะสมัยบาปวน เป็นปราสาท ๒ หลังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและคูน้ำรูปเกือกม้าตั้งอยู่ที่บ้านปะโค ตำบลกระโทก ห่างจากอำเภอโชคชัยไปทางตะวันออกเฉียงใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ประมาณ๔ กิโลเมตร

การบริการพื้นฐาน

             การคมนาคม

             มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ (นครราชสีมาเดชอุดม) ผ่านเป็นระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔ (สีคิ้ว-วารินชำราบ) ผ่านไปยังอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง

             สาธารณสุขและสาธารณูปโภค

             โรงพยาบาลขนาด ๑๐ ๑๐ เตียง ๑ แห่ง

             สถานีอนามัยขนาด ๑ เตียง ๙ แห่ง

             สำนักงานผดุงครรภ์ ๑ แห่ง

             การประปาส่วนภูมิภาค ๑ แห่ง

             การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๑ แห่ง

             การโทรศัพท์ ๑ แห่ง

             การไปรษณีย์โทรเลข ๑ แห่ง

การรักษาความสงบและปลอดภัย

             มีสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ๑ แห่ง และสถานีตำรวจ ภูธรตำบล ๒ แห่ง

             การศึกษาและศาสนา

             โรงเรียนสังกัดกรมสามัญฯ ๒ โรง

             โรงเรียนสังกัด สปช. ๖๔ โรง

             โรงเรียนสังกัด สช. ๑ โรง

             วัดในพุทธศาสนา ๓๕ วัด

             สำนักสงฆ์ ๑๐ แห่ง

ขนบธรรมเนียมประเพณี

             ประชากรที่อาศัยอยู่ในอำเภอโชคชัย ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นถิ่นโคราช ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาพูดจึงเป็นแบบ "ไทยโคราช" ทั่วไป นามสกุลของประชาชนในเขตอำเภอโชคชัยจะพิเศษกว่าที่อื่นๆ คือจะลงท้ายด้วยคำว่า "กระโทก" ตามชื่ออำเภอเดิม (พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๘๘)และตั้งเรียงตามตัวอักษรจาก "ก-ฮ" ถ้าหมู่บ้านใดอยู่ใกล้อำเภอจะขึ้นต้นด้วยอักษร ก. และจะไล่เรียงลำดับไปจนถึงอักษร ฮ. จะอยู่ไกลอำเภอที่สุด การตั้งนามสกุลเช่นนี้มีเหตุผลว่าสะดวกในการปกครองท้องที่ตัวอย่างนามสกุลที่ลงท้ายด้วย "กระโทก" มีจำนวนมาก เช่น กิ่งกระโทกกอลกระโทก กำกระโทก เขียนกระโทก ครีบกระโทกจุ้ยกระโทก จิบกระโทก ชุ่มกระโทก ดีกระโทก โตกระโทกป้องกระโทก เพิ่มกระโทก มองกระโทก ฯลฯ

จันทน์แดง คำลือหาญ เรียบเรียง

แผนที่สังเขปอำเภอโชคชัย

 

เครื่องปั่นดินเผาที่บ้านด่านเกวียน

 

ที่ว่าการอำเภอโชคชัย

 

งานหล่อทองเหลือง บ้านหนองไผ่ อำเภอโชคชัย