ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

กู่กาสิงห์ : ปราสาทหิน

ภาค : อีสาน

กู่กาสิงห์ : ปราสาทหิน

           กู่กาสิงห์ หรือ ปราสาทหินกู่กาสิงห์ เป็นโบราณสถานตั้งอยู่ที่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด (ชายทุ่งกุลาร้องไห้) อยู่ห่างจากจังหวัดร้อยเอ็ด (ไปทางอำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอเกษตรวิสัย) ขอมขนาดกลางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร โดยเดินทางจากร้อยเอ็ดตามทางหลวงสายที่ ๒๑๕ ผ่านอำเภอเมืองสรวง ก่อนถึงอำเภอสุวรรณภูมิ เลี้ยวขวาที่บ้านดอกไม้ตามทางหลวงสายที่ ๒๐๒ เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางคู่กาสิงห์-เมืองบัว เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านดงยาง กู่กาสิงห์ตั้งอยู่ด้านขวามือในวัดกู่กาสิงห์

โบราณสถานและโบราณวัตถุ

          กู่กาสิงห์เป็นสถาปัตยกรรมแบบขอม หน่วยศิลปากรที่ ๖ กรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะอยู่ในสภาพค่อนข้างดีอาคารประกอบด้วยปรางค์ ๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์ที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้างมีอาคารวิหาร ขนาดย่อมตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ และขวามือหน้าปรางค์ประธานทั้งสองด้าน อาคารดังกล่าวอยู่ในกำแพงสี่เหลี่ยม ผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงย่อมุม ขนาดกว้าง ๓๖.๔๐ เมตรยาว ๔๓ เมตร

         กู่กาสิงห์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปรางค์ประธาน (๓ องค์) วางเรียงในแนวเหนือ-ใต้ ส่วนฐานองค์ปรางค์ประธานก่อด้วยหินทรายสลักลวดลายเป็นชั้นเป็นแนว ทั้งลายกลีบบัว และลายกระหนกยังปรากฏเป็นร่องรอยอยู่บางส่วนห้องในปรางค์ประธานองค์กลางค้นพบศิวลึงค์อันเป็นศาสนสถานที่สร้างในลัทธิไศวนิกาย

          ๑. กำแพง ก่อด้วยแลงย่อมุม ขนาด ๓๖.๘๐ x ๔๓ เมตร มีประตูซุ้มสี่ทิศก่อตด้วยหินทราย เป็นประตูเข้าออกได้เพียงทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก คือด้านหน้าและด้านหลังปราสาท ขนาด ๗ x ๑๓.๖o เมตร ส่วนทางทิศเหนือกับทิศใต้มีช่องประตูแต่เฉพาะภายในเท่านั้น ขนาด ๕.๓๐ x ๑๓.๘๐ เมตร

         ๒. ปรางค์ เป็นปรางค์ ๓ หลัง ย่อมุมขนาด ๖ x ๖ เมตร อยู่บนฐานเดียวกัน หลังกลางมีมุขยื่นเป็นทางเดิน ขนาด ๓.๒๐ x ๕ เมตร ส่วนอีก ๒ หลัง มีช่องทางเดินติดต่อกับปรางค์องค์กลาง บนฐานปรางค์นี้ มีศิลาทับหลังประตูตั้งอยู่ ๔ แผ่น แผ่นหนึ่งจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยืนอยู่บนเศียรเกียรติมุข ซึ่งคาบท่อนมาลัย อีก ๓ แผ่น จำหลักเป็นรูปเทวะนั่งในซุ้มเรือนแก้วเหนือเศียรเกียรติมุขคาบท่อนมาลัยเหมือนกัน และยังมีศิลาซุ้มหน้าบันด้วยแผ่นหนึ่ง จำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีลายก้านขดประดับ

       ๓. วิหารน้อย ๒ หลัง ขนาด ๔.๓๐ x ๖.๘๐ เมตรสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย อยู่หน้าปรางค์ริมซ้ายและขวาข้างละ ๑ หลัง มีประตูทางทิศตะวันตก

       นอกจากนี้มีศิลาจำหลักลวดลายสวยงามหลายชิ้น เช่นชิ้นส่วนประดับยอดปรางค์ รูปนาคราชประดับปรางค์ และ รูปพระนารายณ์สี่กรชำรุด ๑ องค์ สูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ซึ่งโดยปกติเก็บรักษาไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านของตำบลนั้น ถึงฤดูเทศกาลจึงจะนำเอามาทำการสรงน้ำที่ปราสาทหินแห่งนี้

ธวัช ปุณโณทก เรียบเรียง


แผนผังกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

 



ทับหลังรูปเทวดาในเรือนแก้ว

 



ทับหลังรูปเทวดาในเรือนแก้ว

 



ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือเศรียรเกียรติมุข

 



ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเศียรเดียว

 



พระนารายณ์ศิลา

 



ลายจำหลักประดับยอดปรางค์

 



ปราสาทจำลอง

 



ปรางค์ประทาน

 



ด้านหน้า