ปรับขนาดตัวอักษร

| |
  

ฟ้อนหอก

ภาค : เหนือ

ฟ้อนหอก 

หอกเป็นอาวุธโบราณที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ศิลปะหรือชั้นเชิงการต่อสู้ด้วยหอกจึงมีการกล่าวถึงและมีการบันทึกไว้ ทั้งที่ปรากฏในตำราอาวุธโบราณ เอกสารพับหนังสาและในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางพุทธศาสนาในล้านนา

ฟ้อนหอกเป็นศิลปะการร่ายรำ โดยนำอาวุธหอกมาประกอบ มีการนำเอาแม่ท่าเชิงหอกมาร่ายรำด้วยลีลางดงามและต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อความเพลิดเพลิน ตื่นเต้นเร้าใจ

การฟ้อนหอกดาบไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคใดสมัยใด แต่มีปรากฏในยุคหนึ่งซึ่งได้มีการบันทึกเป็นเรื่องราวใน "ตำนานสิงหนวัติ" จากหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑ (กรมศิลปากร, ๒๔๗๙ หน้า ๑๗๕-๑๗๘) กล่าวว่า

ในสมัยพระญาสามประหยาแม่ใน ลูกพระญาแสนเมืองมาได้เป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พวกฮ่อก็ยกกองทัพมาตีล้านนา พระญาสามประหยาแม่ในและมหาเถรศิริวังโสก็กระทำการบูชาเคราะห์เมือง ทำให้เหล่าเทวดาเมืองพึงพอใจ จึงบันดาลให้ฟ้าผ่ากองทัพฮ่อจนแตกพ่ายหนีไปจากล้านนา แต่พวกฮ่อก็ไปก่อกวนเมืองยองและสิบสองพันนา เจ้าเมืองยองและชาวเมืองต่างอพยพหนีไปจากล้านนา บ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้างเจ้าพระญาสามประหยาแม่ในจึงให้ขุนแสงยกทัพไปปราบฮ่อจนพ่ายไป จากนั้นขุนแสงจึงให้เจ้าเมืองยอง (พระญาอนุรุทธ) และชาวเมืองกลับเข้าไปอยู่ในเมืองตามเดิม

ในการนี้ ขุนแสงก็ได้มีโองการให้เจ้าเมืองยองกระทำตามประเพณีของกษัตริย์ คือ เมื่อถึงวันสังขานต์ปีใหม่ ก็ให้เจ้าเมืองยองมากระทำการคารวะดำหัวขุนแสง (ต่อมาได้เป็นท้าวศรีสุวรรณคำล้านนา ได้ครองเมืองเชียงแสน) และให้เจ้าเมืองยองนำเอาช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบลงไปฟ้อนบูชามหากษัตริย์เชียงใหม่ (พระญาสามประหยาแม่ใน) เป็นประเพณีทุกปี

ท่าฟ้อน (ลายเชิง)

เชิงหอก (แม่ท่า) มักจะปรากฏในคัมภีร์ใบลานล้านนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ในกัณฑ์มหาราชฉบับ (สำนวน) ต่าง ๆ เช่น ในกัณฑ์มหาราช กัณฑ์ที่ ๑๑ ฉบับวิงวอนเมืองเถื่อนของวัดลำปางกลางตะวันออก ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง หน้าลานที่ ๓๖ บรรทัดที่ ๒-๔ ดังนี้

"...ถือเอาหอกด้ามยาวศอกสามฝู เชิงกลิ้งดูไววะวาบ

ครบครับคราดเยียะทลี้ทลาย ชเลยดายเจิงจาน

แม่สี่ด้านเลยไพ เชิงชายไวทนแทบ

เชิงหอกอันหนึ่งชื่อว่า แม่หมัดนอนแกลบกลอนวาง

เสือลากหางเหินหอก ช้างงาทอกต่วงเต็ก

กำแพงเพ็กดินแตก พาดพกแวดไวเวียน

อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า เกินก่ายฟ้าสวักพระยาอินท์

นางเกี้ยวเกล้าชิดเชิงถี่ ช้องนางคลี่เกล้าพนเพกชายสน"

นอกจากนี้ก็ยังมีปรากฏในวรรณกรรมไทยเขินเรื่อง กาลาซาเครือดอก ซึ่งปริวรรตโดย ดร.อนาโตล เป็ลติเยร์ (พ.ศ.๒๕๓๓) ได้มีการกล่าวถึงเชิงหอกว่า

"ตนท่านเจ้าฤาษี สอนชายมีหากได้ ลายหอกไม้แหลมยาว แม่สาวมือทาววักลูบ ซัดเข้าหูบคืนมา วืนไปหาตำศอก ซัดเข้าออกหนคืน ลุกจุกยืนแล้วนั่ง ดูคัดคั่งเร็วไว"

ฟ้อนหอกที่พบในปัจจุบัน มี ๒ รูปแบบคือ หอกเล่มเดียว และหอกคู่ ซึ่งมีท่าฟ้อนดังนี้

๑. สางหลวง ๒. ปรมะ

๓. หลดศอกข้ามหอก ๔. คีมไฮ

๕. ข้างงาหลั่ง ๖. สนสันสนปลาย

๗. หมอกมุงเมือง

การแต่งกาย

การแต่งกายฟ้อนหอกก็เช่นเดียวกับฟ้อนดาบ คือสมัยก่อนอาจใส่ชุดนักรบโบราณ แต่ปัจจุบันนี้มักแต่งกายเหมือน ๆ กัน คือ นุ่งกางเกงสะดอ และสวมเสื้อหม้อห้อม คาดด้วยผ้าขาวม้า

ดนตรีประกอบ

เครื่องแห่ประโคมในการฟ้อนหอก มีดังนี้

๑. กลองปู่เจ่ (อุเจ่) กลองสิ้งหม้อง

๒. ฆ้อง

๓. ฉาบ (สว่า)

(เรียบเรียงจาก สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "เอกสารไมโครฟิล์ม รหัส 81 058 016-030 (025)" และจากการสัมภาษณ์นายมาณพ ยาระณะ ถนนเจริญเมือง ซอย ๒ ตำบลสันป่าข่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๓)

สนั่น ธรรมธิ