บ้านวังไฮ


โพสต์เมื่อ 15 ส.ค. 2021

ที่ตั้ง : บ้านวังไฮ

ตำบล : เวียงยอง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ลำพูน

พิกัด DD : 18.547778 N, 99.002778 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : กวง, ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดลำพูน บริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ใชช้ทางหลวงหมายเลข 106 (ถนนลำพูน-ป่าซาง) ไปทางใต้หรือไปทาง สภ.เมืองลำพูน ไปตามถนนประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ซอยที่มุ่งหน้าเทศบาลตำบลต้นธง (ซอยอยู่ตรงข้ามวัดสันต้นธง) ไปตามทางประมาณ 600 เมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวขวาใช้ถนนสนามกีฬา ไปตามทางประมาณ 500 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท ลพ.004 ไปตามทาง (สะพานข้ามแม่น้ำกวง) ประมาณ 180 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปอีกประมาณ 20 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวา ไปตามทางอีก 1.2 กิโลเมตร จะพบแหล่งโบราณคดีอยู่ทางขวามือ ลึกเข้าไปจากถนนประมาณ 200 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮตั้งอยู่ห่างจากเมืองลำพูนมาทางตอนใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำกวงฝั่งตะวันออกบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (low terrace) ความลาดเอียงของพื้นที่ประมาณ 0-2% (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล, 2540,93) สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่โล่งเพาะปลูกพืชเช่น ลำไย ชมพู่ ส้มโอ ผัก และขุดบ่อเลี้ยงปลา สภาพโดยรอบพื้นที่โดยรอบมีพืชยืนต้นและพืชล้มลุก และแหล่งน้ำรอบด้าน โดยที่เดิมเคยเป็นทุ่งนาปลูกข้าวมีการไถเกลี่ยหน้าดินเพื่อปรับพื้นที่และนำน้ำมาขังไว้ซึ่งหน้าดินที่ไถเกลี่ยออกไปหนาประมาณ 60-70 เซนติเมตรจากดินเดิม (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 12) โดยบริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณรอบๆเล็กน้อย

ทางทิศเหนือของแหล่งโบราณคดี เป็นทุ่งนาโล่งกว้างจนติดแม่น้ำกวง  ทิศใต้ มีลำน้ำเล็กๆวกจากทางทิศเหนือมาทางทิศใต้ ทิศตะวันออก มีแอ่งน้ำเป็นที่ชื้นแฉะ น้ำขังตลอดปี ส่วนทิศตะวันตก เป็นทุ่งนากว้างมีเนินดิน มีต้นไม้ยืนต้นที่เหลือจากการไถเกลี่ยเป็นหย่อมๆตลอดรอบแหล่ง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

288 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำกวง, แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

จากลักษณะของแม่น้ำกวง และแม่น้ำปิงทำให้บริเวณรอบข้างของแนวลำน้ำทั้งสองเกิดการทับถมเป็นตะกอนแม่น้ำทับถม (Alluvial) การทับถมนี้เกิดทั่วบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่ ลำพูน ในช่วง Quaternary ตะกอนทับถมเป็นแบบ Alluvial river gravel, sand, silt และ clay ซึ่งทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในการเกษตรกรรม พื้นที่บริเวณนี้จึงมีชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 12) 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก, สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์, สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์, สมัยหริภุญชัย

อายุทางโบราณคดี

ราว 1,500 ปีมาแล้ว

อายุทางวิทยาศาสตร์

1490±50 ปีมาแล้ว โดยวิธี Tandetron จากหลักฐานเศษกระดูกเผาไฟ

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : วรสุรางค์ โฉมทรัพย์เย็น, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

นางวรสุรางค์ โฉมทรัพย์เย็น ชาวบ้านวังไฮ ได้พบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ลุกปัดหินสีส้ม ต่างหูทำด้วยแก้ว หน่วยศิลปากรที่ 4 และโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) จึงได้สำรวจบนที่ดินของนางวรสุรางค์ โฉมทรัพย์เย็น พบว่าน่าจะเป็นแหล่งฝังศพ พบเครื่องมือสะเก็ดหิน และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (กรมศิลปากร, 2534, 175)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชัย ตันกิตติกร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วิชัย ตันกิตติกร นักโบราณคดีจากหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ ขุดค้นพบกระดูกมนุษย์ 7 โครง พร้อมกับสิ่งของอุทิศให้ผู้ตายได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ เครื่องมือหิน และเครื่องมือเหล็ก (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 128-129)

ชื่อผู้ศึกษา : ทรรศนะ โดยอาษา, ฌอง-ปิแอร์ โปโทร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : โครงการร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส

ผลการศึกษา :

ทรรศนะ โดยอาษา และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส นำโดย ฌอง-ปิแอร์ โปโทร ขุดค้นพบหลุมฝังศพ 4 หลุม หนึ่งในจำนวนนี้มีหลุมฝังศพเด็กเล็ก ฝังในลักษณะนอนหงาย พบว่ามีการใส่ภาชนะดินเผาเป็นสิ่งของฝังร่วมกับศพ (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 32 อ้าง ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546, 139)

ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดีสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ขุดค้นพบหลักฐานการฝังศพ และพบหลักฐานสามารถแบ่งชั้นวัฒนธรรมได้ 3 ชั้นแสดงการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยล้านนา (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล,, 2540, 76)

ชื่อผู้ศึกษา : ฌอง-ปิแอร์ โปโทร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : โครงการร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส

ผลการศึกษา :

ฌอง-ปิแอร์ โปโทร และคณะ ขุดค้นพบโครงกระดูก 4 โครง เป็นผู้ใหญ่ 3 โครง และโครงกระดูกเด็ก 1 โครง (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 32อ้าง ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546, 139)

ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, สุภมาศ ดวงสกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ผลการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์กับปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมสมัยก่อนล้านนาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกวง พบว่าชุมชนลุ่มแม่น้ำกวงพัฒนาขึ้นมาได้โดยมีปัจจัยด้านภูมิสัณฐานที่เอื้ออำนวย มีระยะห่างจากแม่น้ำกวงและแหล่งน้ำอื่นๆที่เหมาะสม (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล, 2540)

ชื่อผู้ศึกษา : ฌอง-ปิแอร์ โปโทร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : โครงการร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส

ผลการศึกษา :

ฌอง-ปิแอร์ โปโทร และคณะ ขุดค้นพบหลุมฝังศพจำนวน 17 หลุม สิ่งของอุทิศได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ เครื่องมือหิน และเครื่องมือเหล็ก มีร่องรอยหลักฐานการเผาไหม้อื่นๆ (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 33)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ปรากฏร่องรอยหลักฐานการใช้พื้นที่เป็นแหล่งสุสานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ สมัยหริภุญชัย โดยสมัยแรกสุดพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮเป็นแหล่งฝังศพในช่วงสมัยเหล็กตอนปลาย หรืออายุราว 1,500 ปีมาแล้ว โดยกำหนดอายุจากกระดูกเผาไฟโดยวิธี Tandetron ได้ค่าอายุ 1490 ±50 ปี (ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546, 143)

แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ได้รับการค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี พ.ศ.2529 จากการขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของชาวบ้าน โดยพบหลักฐานโบราณวัตถุต่างๆ อยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ (กรมศิลปากร, 2530, 10) ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นในปี พ.ศ.2530 โดยนายวิชัย ตันกิตติกร นักโบราณคดีประจำหน่วยศิลปากรที่ 4 กองโบราณคดี พบหลักฐานทางโบราณคดีได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน แวดินเผา และเครื่องมือเหล็ก  (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 128)

ต่อมาในปีพ.ศ.2539 มีการขุดค้นโดยโครงการก่อนประวัติศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส ภายใต้ความร่วมมือของฝ่ายวิชาการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ และคณะนักโบราณคดีฝรั่งเศส (ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546) โดยในปีเดียวกันมีการขุดค้นโดยฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ โดยนายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล, 2540) หลังจากนี้มีการขุดค้นโดยโครงการความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศสดำเนินการทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ.2540 และ 2541

การดำเนินการทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และ พ.ศ.2539-2541 พบโครงกระดูกทั้งหมด 33 โครง สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหลุมฝังศพเหล่านั้นเป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ 20 โครง เป็นโครงกระดูกเด็กและทารกแรกเกิด 11 โครง และอีก 2 โครง ไม่พบข้อมูลและมีสภาพผุพังมากจนไม่สามารถศึกษารายละเอียดได้ ส่วนขนาดและขอบเขตของแหล่งฝังศพบ้านวังไฮไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัด โดยเมื่อมีการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อศึกษาขอบเขตที่แน่นอน ได้ทำการขุดค้นพื้นที่โดยรอบของแหล่งขุดค้นเดิม ตามแนวเขตที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งฝังศพ ทำให้ได้พบลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน พบกำไลข้อมือสำริดอีกหลายอันในนาข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และพบกำไลแขนสำริด เศษภาชนะดินเผาทางด้านทิศเหนือ ประกอบกับคำบอกเล่าของชาวบ้าน สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าขอบเขตพื้นที่แหล่งฝังศพของแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮมีเนื้อที่ไกลออกไปอีกหลายสิบเมตรในทางทิศใต้ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากบริเวณที่ทำการขุดค้นในปี พ.ศ.2530 และ พ.ศ.2539-2541 เป็นพื้นที่ประมาณ 500 x 500 เมตร (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 32-33 ; (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล, 2540, 73)

สรุปชั้นดินในการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านวังไฮมี 5 ชั้นดิน

            ชั้นดินที่ 1 เป็นชั้นดินระดับล่างสุดเป็นชั้นทับถมของดินตะกอนแม่น้ำมาแต่ดั้งเดิม เป็นชั้นที่ไม่มีกิจกรรมมนุษย์

            ชั้นดินที่ 2 เป็นชั้นดินที่ยังคงมีรอยการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ และพบเครื่องมือหิน และสะเก็ดหินหลายชิ้น สันนิษฐานว่าอาจถูกน้ำพัดพามา

            ชั้นดินที่ 3 เป็นชั้นดินที่มีการปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม ปรากฏร่องรอยคูน้ำโบราณ พบหลุมฝังศพถูกขุดในระดับความลึกประมาณ 70 เซนติเมตร และ 1.2 เมตรโดยวัดจากผิวดินที่มีการไถปรับหน้าดินในปี พ.ศ.2541 เป็นหลุมฝังศพยุคเหล็กตอนปลาย อายุราว 1,500 ปีมาแล้ว ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546, 142)

            ชั้นดินที่ 4 พบร่องรอยหลุมเสา พบหลุมฝังศพ เศษกระดูกที่ผ่านการเผา พบภาชนะดินเผาสมัยหริภุญไชย โดยสันนิษฐานว่าชุมชนบ้านวังไฮในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 14 นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงประเพณีการฝังศพมาเป็นการฝังศพตามพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่ผู้คนในวัฒนธรรมหริภุญไชยนับถือ

            ชั้นดินที่ 5 เป็นชั้นดินสุดท้ายระดับบนสุด พบโบราณวัตถุปริมาณน้อยและมีลักษณะคล้ายกับที่พบในปัจจุบัน เช่น เศษภาชนะสมัยใหม่ จึงอาจเป็นไปได้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีอาจถูกรบกวนโดยการใช้พื้นที่ทำนาข้าวและเพาะปลูกมาอย่างต่อเนื่อง (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 34)

โดยสรุปผลการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2530 ได้ว่า แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮแสดงให้เห็นกลุ่มชนที่มีลักษณะสังคมดั้งเดิมที่มีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็กตอนปลาย หรือราว 1,500 ปีมาแล้วสมัยหนึ่ง และสมัยประวัติศาสตร์ที่รับวัฒนธรรมหริภุญชัยราวพุทธศตวรรษที่ 17 อีกสมัยหนึ่ง ทั้งนี้ในสมัยหลังนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนที่บ้านวังไฮไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นสังคมที่ยังคงมีประเพณีการฝังศพแบบสังคมดั้งเดิมแต่มีการรับวัฒนธรรมภายนอกได้แก่วัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลาง เช่น เครื่องประดับกำไลแก้ว ลูกปัดคาร์เนเลี่ยน ลูกปัดแก้ว เป็นต้น (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 128-129)

นอกจากนี้ การวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับศพที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ พบโบราณวัตถุปะปนกันตั้งแต่เครื่องมือหินทีเป็นของสังคมดั้งเดิมจนถึงแก้วที่ถือว่าเทคโนโลยีสูงกว่า ทำให้สันนิษฐานได้ถึงโครงสร้างทางสังคมที่มีการคลี่คลายผสมผสานจากลักษณะความเป็นแบบดั้งเดิมจนถึงรูปแบบสังคมที่มีความซับซ้อนขึ้นมีกลุ่มช่างฝีมือเฉพาะทางมากขึ้น (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 124)  โดยกลุ่มชนที่บ้านวังไฮคงเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง นอกเหนือไปจากกลุ่มชนแถบดอยสุเทพ โดยกลุ่มแถบแม่น้ำกวงนี้คงอยู่เป็นกลุ่มริมน้ำตั้งแต่ต้นน้ำแถบอำเภอดอยสะเก็ดถึงบ้านยางทองใต้ ลงมายังบ้านสันป่าค่า อำเภอสันกำแพง ทั้งนี้ทั้งสามกลุ่มนี้คงเป็นกลุ่มร่วมสมัยกันดังพบหลักฐานโบราณวัตถุสัมพันธ์กัน (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 125) กล่าวคือ ในชั้นวัฒนธรรมแรกของบ้านวังไฮพบภาชนะดินเผาเป็นชามก้นกลมทาน้ำดินสีข้นแดงซึ่งเป็นแบบที่พบร่วมกับโครงกระดูกที่แหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้และแหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า และระบบความเชื่อเรื่องความตายก็เป็นลักษณะของสังคมดั้งเดิมเหมือนกัน ได้แก่ การใส่สิ่งของฝังร่วมกับศพ ทิศทางการหันศีรษะไปทางเดียวกันคือทิศตะวันออก รวมถึงการทำลายสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพ ทั้งนี้บ้านวังไฮเป็นกลุ่มที่รับรูปแบบวัฒนธรรมหริภุญไชยมากกว่าสองกลุ่มแรก ซึ่งคงเนื่องจากอยู่ใกล้กับเมืองหริภุญไชยมากกว่าแหล่งโบราณคดีอีกสองแหล่ง (วิชัย ตันกิตติขจร, 2532, 54, 58, 128-129)

สมถวิล สุขเลี้ยง (2551)  ศึกษาพิธีกรรมความตายของเด็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก พบว่าช่วงอายุการตายของเด็กในแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮพบว่าเด็กในช่วงอายุระหว่าง 2 ปีถึง 5 ปี มีอัตราการตายมากที่สุด (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 80) สำหรับรูปแบบการฝังศพพบว่าหลุมศพถูกฝังโดยการวางศพแบบนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศทางต่างๆคือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก/ใต้ และระบุทิศทางไม่ได้ โดยหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด โดยพบจำนวน 20 หลุมจากหลุมฝังศพทั้งหมด 31 หลุม (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 82) ส่วนตำแหน่งการฝังศพของเด็กแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ ฝังใกล้กับผู้ใหญ่ ฝังโดดเดี่ยวไม่ติดกับหลุมใดๆ ฝังในหลุมเดียวกับผู้ใหญ่ และไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 82) เมื่อศึกษารูปแบบสิ่งของที่ฝังในหลุมฝังประกอบกันแล้ว ผู้วิจัยเสนอว่าการฝังศพเด็กสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ตำแหน่งที่การฝังมีความสัมพันธ์กับกับผู้ใหญ่ และตำแหน่งที่ฝังอย่างโดดเดี่ยวไม่ติดกับหลุมใดๆ โดยทั้งสองประเภทชี้ให้เห็นว่าการเลือกตำแหน่งการฝังคงขึ้นอยู่กับผู้ฝังไม่ได้มีบริเวณใดเฉพาะ (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 85)

สำหรับสิ่งของอุทิศให้เด็กที่นิยมคือ สร้อยคอลูกปัด และภาชนะดินเผาคู่ที่วางซ้อนกัน นอกจากนี้มีกระสุนดินเผาที่ไม่พบว่าเป็นสิ่งของฝังร่วมกับศพผู้ใหญ่ และพบเครื่องมือเหล็กปลายงอที่ถูกย่อส่วนให้มีขนาดเล็กเลียนแบบเครื่องมือของผู้ใหญ่ สำหรับการพบหลุมฝังศพเด็กที่ไม่มีสิ่งของฝังร่วมกับศพ สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิดที่เด็กได้รับจากครอบครัวผ่านการสืบทอดผ่านสายโลหิต (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 98)

ผลการศึกษาเปรียบเทียบพิธีกรรมความตายของเด็กในแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีเนินอุโลกพบว่า ช่วงอายุการตายของเด็กที่เนินอุโลกส่วนใหญ่เป็นทารกแรกเกิด และนิยมการฝังศพในภาชนะดินเผาซึ่งแตกต่างกับบ้านวังไฮ (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 153) สิ่งที่น่าสนใจของแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮคือสันนิษฐานจากลักษณะการเรียงตัวของกระดูกที่พบว่าอาจมีการใช้ที่บรรจุศพที่มีลักษณะโค้ง (ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ, 2546, 206)

ผลการศึกษาของสมถวิล สุขเลี้ยง (2551) สรุปว่าสถานภาพทางอ้อมของครอบครัวในสมัยเหล็กได้ส่งผลต่อพิธีกรรมความตายของเด็ก เนื่องจากปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในสมัยเหล็ก การขยายตัวของสังคมที่ทำให้ฐานะของแต่ละครอบครัวแตกต่างกันเกิดอาชีพเฉพาะด้านทำให้สถานภาพของบุคคลแตกต่างกันไป ซึ่งสอดรับกับการศึกษาโบราณวัตถุที่พบของที่มีเทคโนโลยีการผลิตอย่างง่ายปะปนกับของที่ต้องใช้เทคโนโลยีร่วมกัน สถานภาพของพ่อแม่จึงส่งผลทางอ้อมต่อเด็ก เมื่อเด็กตาย การแสดงออกของครอบครัวที่มีต่อเด็กซึ่งไม่สามารถสร้างสถานภาพด้วยความสามารถของตนได้จึงปรากฏให้เห็นจากรูปแบบสิ่งของอุทิศในพิธีกรรมความตาย (สมถวิล สุขเลี้ยง, 2551, 153)

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเกิดชุมชนดั้งเดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำกวง ได้แก่ บริเวณนี้มีลักษณะภูมิสัณฐาน ระยะห่างจากแหล่งน้ำที่เหมาะสม เนื่องจากแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนทั้งเป็นแหล่งอุปโภค บริโภค แหล่งอาหาร การใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม และแหล่งน้ำนำมาซึ่งสภาพธรณีวิทยา พืชพรรณที่สมบูรณ์ และยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อกับภายนอกได้สะดวก ทั้งติดต่อกับที่ราบลุ่มเชียงราย จีน พม่า อินเดีย  และที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล, 2540, 122) ส่งผลให้ชุมชนบริเวฯแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮและชุมชนริมแม่น้ำกวงซึ่งมีรูปแบบชุมชนเกษตรกรรม ตั้งถิ่นฐานถาวรสามารถมีพัฒนาการคลี่คลายเข้าสู่สังคมสมัยประวัติศาสตร์ในระยะแรกเริ่มของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้

ปัจจุบันโบราณวัตถุจากบ้านวังไฮ อยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

วิชัย ตันกิตติขจร. แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ลำพูน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, 2532.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล. โบราณคดีล้านนา 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2540.

สมถวิล สุขเลี้ยง. พิธีกรรมความตายของเด็กในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยเหล็ก) กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ จ.ลำพูน กับ แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก จ.นครราชสีมา. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 6 (ภาคเหนือ). กรุงเทพฯ : ไอเดียสแควร์, 2534.

ฌอง-ปิแยร์ โปโทร และคณะ. บ้านวังไฮ แหล่งฝังศพโบราณยุคเหล็กในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2546. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง