ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระแก้ว, จิตรกรรมฝาผนัง, พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, รามเกียรติ์, จิตรกรรม

ชื่อเรียกอื่นจิตรกรรมฝาผนังระเบียงคดวัดพระแก้ว
ชื่อหลักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นวัดพระแก้ว
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751874
Long : 100.493085
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661427.94
N : 1520784.7
ตำแหน่งงานศิลปะผนังระเบียงคด

ประวัติการสร้าง

กล่าวกันว่าจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อแรกสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อย่างไรก็ตาม ได้รับการเขียนซ่อมแซมเพิ่มเติมต่อมาในอีกหลายรัชกาล

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น

ประวัติการอนุรักษ์

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ได้รับการเขียนซ่อมแซมมาโดยตลอดหลายรัชกาล ที่สำคัญได้แก่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะในโอกาสครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะในโอกาสครบ 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

และในรัชกาลปัจจุบันเมื่อคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเนื่องในโอกาสสำคัญอื่นๆ มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ขนาดจำนวน 178 ห้องภาพ
ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานกับเทคนิคการเขียนภาพแบบสมัยใหม่ ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ได้แก่ ภาพบุคคลในเรื่องที่เป็นตัวละคนสำคัญแต่งกายยืนเครื่องเช่นเดียวกับการแต่งกายในการแสดงโขน กิริยาอาการอยู่ในท่านาฏลักษณ์ มีการปิดทองคำเปลวที่เครื่องทรงของตัวละครที่สำคัญ เป็นต้น ส่วนเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่แตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี ได้แก่ การกำหนดเส้นขอบฟ้าและวางระยะของวัตถุในภาพทำให้เกิดมิติ การเขียนภาพเหมือนของอาคารสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และการเขียนภาพทิวทัศน์ต่างๆ อย่างเหมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตชาววัง ชาวบ้าน และอารมณ์ขันต่างๆ ผ่านตัวละครประกอบของเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังมีทั้งสิ้น 178 ห้องภาพ ใต้ภาพมีโคลงเรื่องรามเกียรติ์ประกอบ รวมทั้งสิ้น 224 บท

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

จิตรกรรมฝาผนังของระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถ่ายทอดเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีบทบาทสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1

แม้จะเป็นการเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ แต่เนื้อหาของรามเกียรติ์เน้นให้เห็นถึงพระบรมเดชานุภาพของพระรามซึ่งเปรียบได้กับพระมหากษัตริย์ที่มีคติความเชื่อว่าเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์เช่นเดียวกัน แนวคิดในการนำเสนอเรื่องรามเกียรติ์จึงมีความสัมพันธ์กับการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์และชัยชนะที่ทรงมีเหนือฝ่ายอธรรมอันเป็นอริราชศัตรู

การเลือกเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเชื่อว่าเป็นเพราะวัดนี้มีความสำคัญต่อราชสำนัก จึงได้นำเสนอจิตรกรรมจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ แตกต่างจากจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาดังที่นิยมเขียนไว้ในพระอารามแห่งอื่น และบริเวณผนังของระเบียงคดรอบพระอุโบสถมีพื้นที่มากพอที่จะเขียนภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ได้โดยตลอด รูปแบบของจิตรกรรมเป็นแบบไทยประเพณีที่ปรากฏอิทธิพลการเขียนภาพแบบสมัยใหม่ น่าสังเกตว่าภาพสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในงานจิตรกรรมเป็นการจำลองภาพของพระมหาปราสาทและอาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังนั่นเอง
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25-26
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก, พราหมณ์
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

รามเกียรติ์

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ประติมากรรมนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่ศาลาทิศ มณฑปวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-06-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 : ภาคที่ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2538.

มลฤดี สายสิงห์. รายงานวิจัยเรื่องบทบาทของรามเกียรติ์ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : สำนักพระราชวัง, 2534.