ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

คำสำคัญ : อุโบสถ, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ชื่อหลักวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลดุสิต
อำเภอเขตดุสิต
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.766563
Long : 100.514177
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 663697.88
N : 1522424.44
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด แล้วปรับพื้นที่ก่อสร้างโดยทรงมอบหมายให้ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นผู้รับผิดชอบ กับโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราวเพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในขณะนั้นเป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างโดยมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ดำเนินการก่อสร้าง ในการผูกลายพระราชลัญจกรเพื่อประกอบหน้าบันพระอุโบสถนั้น นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากรได้ทรงช่วยเขียนแบบในกำกับของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

การก่อสร้างพระอุโบสถยังไม่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงทรงดำเนินการต่อโดยโปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้วก็โปรดเกล้าฯให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์

มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า

บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสี

หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน

หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่

1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง

2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ"

3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต"

4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นวัดประจำพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สถาปนาใหม่ทั้งวัดพร้อมทั้งพระราชทานนามวัด เพื่อเป็นการผาติกรรมในคราวที่สร้างพระราชวังดุสิต

แผนผังและรูปแบบพระอุโบสถเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ที่มีการผสมผสานวัสดุในการก่อสร้างแบบตะวันตก เช่นการใช้หินอ่อนที่นำเข้าจากประเทศอิตาลี การประดับกระจกสี และมีการประดับตราสัญลักษณ์ตามแนวคิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปจอมเจดีย์หรือเจดีย์ที่สำคัญในประเทศไทย จำนวน 8 แห่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ที่พระแท่นรัตนบัลลังก์ของพระพุทธชินราชจำลอง

ซุ้มจรนำด้านทิศตะวันตกภายนอกพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง นามว่า "พระธรรมจักร" เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร กับโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ใต้ฐานพระด้วย
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

การออกแบบแผนผังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ มีรูปแบบแผนผังที่สัมพันธ์กับพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-06-15
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ชลธีร์ ธรรมวรางกูร, ทรงวิทย์ แก้วศรี. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, 2535

ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : ว่าด้วยการสถาปนา ก่อสร้างเพิ่มเติม ปฏิสังขรณ์ การพิเศษ และการเกี่ยวข้องต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543